สัมมาสมาธิ...


 

สมาธิเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของเรา คนเราถ้าไม่มีสมาธินี้ไม่ได้ สมาธิที่เราจะได้ใช้ก็คือสมาธิที่อยู่ในอิริยาบถต่าง ๆ ไม่ว่าเราจะเดิน ยืน นั่ง นอน พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีสมาธิ พยายามให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ชีวิตของเรามันจะได้มีความสุข ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะไม่เป็น ตัวของตัวเอง สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มันจะดึงเราไปหมด เราจะเป็นคนเคร่งเครียดกับสิ่งแวดล้อม ถ้าเราเจอกับสิ่งไหนใจของเราก็จะไปกับสิ่งเหล่านั้น ถ้าเราไม่มีสติ

 


หลักง่าย ๆ คือพระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราเจริญอานาปานสติ...


เราจะเดิน ยืน นั่ง นอน ให้เราหายใจเข้าสบายออกสบายไว้ก่อน เราไม่ต้องเจริญ อานาปานสติถึงขั้นที่เรานั่งสมาธิ ให้เราเจริญอานาปานสติเพื่อเป็นเครื่องผูกใจไม่ให้เราหลง ไปตามอารมณ์ หลงไปตามสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมถึงมันจะดีหรือไม่ดี พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้จักรู้แจ้ง เราอย่าหลงไป อย่าตามไป ให้ถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเป็นสิ่งที่ดับไป ทุกสิ่งทุกอย่าง มันตั้งอยู่ไม่ได้หรอก มันก็จะผ่านไปทุกขณะจิต ทุกย่างก้าว


พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้จักรู้แจ้ง เรากลับมาหาใจเข้าสบายออกสบาย กลับมาอยู่กับ ลมหายใจ


คนเรามันเลือกไม่ค่อยได้ มันอยู่ในสถานที่สบาย ๆ ก็มี บางครั้งอยู่ในสถานที่ไม่สบายก็มี จึงจำเป็นต้องได้ฝึกอานาปานสติ หายใจเข้าสบายออกสบาย

“เพื่อไว้เป็นบ้านพักทางจิตใจ ของเรา เป็นบ้านพักของนักปฏิบัติ”


ถ้าเราไม่ทำทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ เราอาจจะไปเมาในอารมณ์ เมาในสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เช้าจนหลับ


พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีสติ มีความสุข มีความพอใจในการทำงาน...


ถ้าเราไม่มีปิติ ไม่มีความสุขในการทำงาน เรามันจะเกิดความเครียด ให้เราอยู่กับปัจจุบันให้ได้ ให้จิตใจของเรามีความสุขให้ได้ พร้อมด้วยหายใจเข้าสบาย หายใจออกสบายไว้ก่อน


อย่างเรามีอาชีพเป็นคุณหมอ เป็นพยาบาลดูแลผู้ป่วย จำเป็นมากที่จะต้องใช้สมาธิ ต้องเจริญอานาปานสติ เพราะเรามองดูคนป่วยมีแต่ความทุกข์ ญาติเขาก็มีความทุกข์ คนทั่วไปก็ทุกข์ มองใครๆก็ทุกข์ ถ้าเราไม่มีหลัก ไม่ได้หายใจเข้าสบายออกสบาย การที่เรา อยู่กับเขาตั้งหลายวัน หลายเดือน หลายปี

จิตใจของเรามันก็จะรับเอาแต่อารมณ์ที่มันเป็นทุกข์ ที่มันเศร้าหมอง จึงจำเป็นที่จะต้องเจริญอานาปานสติเจริญอุเบกขา ทำใจให้เบิกให้บานไว้ให้มากๆ


ในชีวิตประจำวันของเรามันมีเรื่องทุกข์ใจมาก เรายังดีอยู่ เรายังเอาตัวรอดอยู่ แต่สิ่งแวดล้อม มันมีปัญหานะ ญาติพี่น้องไม่สบาย ญาติพี่น้องเป็นหนี้เป็นสิน เขามีเรื่องมีคดีกัน เขากำลัง อยู่ในความยากลำบาก มีแต่ความทุกข์แก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าใจของเราไปหมกมุ่นครุ่นคิด แต่อารมณ์นั้น ๆ เราก็ต้องเคร่งเครียด

 


ถ้าอารมณ์อย่างนี้เกิดกับเรา พระพุทธเจ้าท่านให้เราฝึกหายใจเข้าสบายออกสบายไว้ ถ้ามันไม่สงบ เราก็หายใจเข้าสบายออกสบายไว้ ถ้ามันไม่สงบเราก็หายใจเข้าสบายออกสบาย ไปเรื่อย ๆ จนกว่าอารมณ์นั้นจะไม่เข้ามาแทรกจิตใจของเรา


พยายามเปลี่ยนเรื่องใหม่คิด...


ถ้าเราเครียด ถึงเราจะเป็นผู้มีปัญญามาก ถ้าลองได้เครียดแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะระบบสมองมันถูกความเครียดครอบงำหมดแล้ว อานาปานสติ หายใจเข้าสบายออกสบาย มันจะช่วยเราได้


พระพุทธเจ้าของเรานี้นะ ท่านจะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน จิตใจของท่านอยู่กับลมหายใจ เข้าออกทุกลมหายใจ

 

คนที่ง่วงเหงาหาวนอนเป็นเพราะว่าอานาปานสติน้อยไป ที่นั่งอยู่ ทำอะไรอยู่ หาวนอน หวอด ๆ อานาปานสติช่วยเหลือเราได้


เรามีของดีอยู่กับตัวเอง เราต้องเอาอานาปานสติไปใช้ให้มันเกิดประโยชน์ เกิดประโยชน์ ทั้งร่างกาย ทั้งจิตใจ มันเป็นสิ่งที่ดีมาก เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ของอยู่ในตัวบางทีเราก็ไม่รู้จัก เอาออกมาใช้ มันเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ไปในตัว


สำหรับสมาธิในการนั่ง พระพุทธเจ้าท่านให้เรานั่งให้มันสบาย ปล่อยวางภาระทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ออกเสีย ปล่อยวางให้มันหมดแล้วหายใจเข้าก็ให้สบายออกสบาย ให้ใจของเรามีปิติสุข กับหายใจเข้าออก รู้เข้ายาวสั้น รู้มีหน้าที่รู้ลมหายใจเข้าออก

 


เราอย่าไปมีความอยาก อยากให้มันสงบ อยากให้มันไม่ปวดแข้งไม่ปวดขา ความอยากอย่างนี้ มันเป็นนิวรณ์ มันทำให้เราไม่เกิดสมาธิ คนเรายังไม่ได้นั่งสมาธิก็อยากให้มันสงบแล้ว ไม่อยากให้มันปวดแข้งปวดขาแล้ว


การนั่งสมาธิไม่ใช่ว่าเรามาเอาความสงบ ความสงบเราก็ไม่เอา ความวุ่นวายเราก็ไม่เอา เราปล่อยเราวางหมด


เรามาอยู่กับการทำงาน งานคือหายใจเข้า งานคือหายใจออก สมาธิเป็นสิ่งปราศจากนิวรณ์ ปราศจากความโลภ ปราศจากความโกรธ ปราศจากความหลง
ถ้าเรายังมีนิวรณ์อยู่ มีความโลภอยู่ มีความโกรธอยู่ มีความหลงอยู่ สมาธิมันตั้งไม่ได้ ใจของเรามันเข้าสมาธิไม่ได้


การฝึกสมาธิก็คือการมาทำงานชนิดหนึ่ง การรู้ลมเข้าลมออกสบาย งานปล่อยงานวาง งานไม่มีไม่เป็น ให้เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ตั้งไว้ให้นาน ๆ


ปกติใจของเรามันไม่ค่อยสงบ ไม่ค่อยมีสมาธิ เดี๋ยวมันเผลอในความคิดในอารมณ์ เราฝึกบ่อย ๆ ฝึกทุกวันที่เรามีเวลาว่าง โดยเฉพาะก่อนนอนหรือว่าตื่นขึ้นในเวลาเช้า หรือเวลา ที่เราว่างเราไม่ได้ทำอะไร ให้เราฝึกสมาธินี้สำคัญมากนะ


เราจะเอาแต่ปัญญา เอาแต่ความหลุดพ้นมันไม่ได้...


ทุก ๆ คนเวลาร่างกายมันแข็งแรง มันก็ไปไหนมาไหนได้ ทำงานทำการได้ แต่เวลาเจ็บป่วย หรือมีอารมณ์ที่ไม่สบายใจอย่างนี้ เราจำเป็นที่จะต้องได้สมาธิเหมือนกัน


ต้องฝึกจิตใจให้มันมีบ้านอยู่มีที่อยู่... อย่างเรานั่งรถไปมีคนเขาขับรถให้เราก็ไม่ได้ ทำงานอะไร เราก็พักผ่อนทำสมาธิของเราไป


คนเราทุกวันนี้มีปัญหาเยอะ มีปัญหาที่อยู่กับตัวเองไม่ได้ อยู่คนเดียวไม่เป็น ให้อยู่กับ ความเงียบสงบไม่ได้ อย่างนี้มันเป็นเครื่องหมายแสดงว่าเรามีแต่บ้านพักทางกาย เราไม่มีบ้านพักทางจิตใจเลย


ใจของเราอยู่กับสิ่งแวดล้อม ใจของเราจะมีความตั้งใจอยู่กับสิ่งเหล่านั้น แต่ไม่มีสมาธิ อยู่กับตัวเอง โบราณเขาสอนเด็กให้อยู่กับพุทโธ ให้ท่องพุทโธ ไปอยู่ที่ไหนก็ท่องพุทโธ ๆ เพราะเด็กจะไปสอน เจริญอานาปานสติมันก็ยาก

 

สำหรับเด็ก ที่จริงการเจริญอานาปานสติกับการท่องพุทโธมันเป็นเครื่องหมายอันเดียวกันนั่นแหละ หายใจออกยุบเข้าพอง หรือสัมมาอรหัง มันก็ความหมายอันเดียวกัน คำบริกรรมต่าง ๆ มันมีความหมายอันเดียวกันหมด มันต่างแค่ชื่อเฉย ๆ


ความหมายได้แก่ ทำจิตใจสงบ จิตใจเป็นหนึ่ง จิตใจมีบ้านพักอาศัย นักปฏิบัติอย่าไปทะเลาะกันนะ มันความหมายเดียวกันนั่นแหละ ไม่ว่าสำนักไหน ที่ไหน ก็ต้องหมดกิเลสสิ้นอาสวะเหมือนกัน อย่าไปว่าของเราดีกว่าของคนอื่น มันเหมือนกันหมดนั่นแหละ


เปรียบเสมือนเราทานข้าว ทานอาหาร ทานผลไม้ทุกอย่างเข้าไป ผลที่ได้รับก็คือร่างกาย ดับกระหายหายเหนื่อย ส่วนใหญ่ก็จะไปพูดแต่เอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่น ว่าของเราดีคนอื่นไม่ดี “ถ้าเราฝึกมาทางไหน ก็เอาอย่างนั้นก็ใช้ได้...”


พระพุทธเจ้าก่อนที่ท่านจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท่านก็เจริญอานาปานสติ เข้าฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ จากนั้น ก็ถอยกลับไปกลับมาแล้วจึงค่อยเสด็จดับขันธปรินิพพาน


เราฝึกสมาธิของเราไปอย่างนี้แหละ ทั้งขั้นพื้นฐานในการทำงาน การดำรงชีวิต เป็นหลักที่พักทางจิตใจ เหมือนกับเรามีบ้านของจิตใจ


เมื่อเรามีสมาธิแล้ว ปัญญาของเราก็จะค่อยเกิดเพราะสมาธิไม่มีความโลภความโกรธความหลง


“ศีล สมาธิ กับปัญญา มันแยกกันไม่ได้หรอก” เหมือนร่างกายของเรามันมีอาการ ๓๒ มันถึงถือว่าเป็นคนถือว่าเป็นมนุษย์


พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนเราให้กายกับใจมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จิตใจของเราถึงจะเป็นสมาธิ


คนเราเมื่อยังไม่ตายมีขันธ์ ๕ อาการครบ ๓๒ มันก็คิดโน่นคิดนี่ คิดไปเรื่อยน่ะ


พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราอยู่กับลมหายใจเข้าหายใจออก ความคิดที่มันเกิดกับใจของเรา มันก็เหมือนกับคน ๆ หนึ่งที่ยืนอยู่กลางสนาม และมีอีกคนหนึ่งส่งลูกบอลให้ คนเราก็เหมือนกันเมื่ออารมณ์อะไรเกิดขึ้นมันก็ชอบปรุงแต่งไปเรื่อย เหมือนกับคน ๆ นั้นเมื่อเขาส่งลูกฟุตบอลให้ ก็ไปเล่นฟุตบอลใหญ่เลย


ใจของเราก็เหมือนกัน ในชีวิตประจำวันตามันได้เห็นมันก็ตามไป หูมันได้ยินมันก็ตามไป จมูกมันได้กลิ่นมันก็ตามไป ลิ้นมันลิ้มรสมันก็ตามไป ส่งที่มันกระทบกับกายของเราใจเราก็ตาม ไปหมด ใจของเราก็เหมือนกัน มันตามไปอย่างนั้น


พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เรามีหลัก สิ่งไหนมากระทบทั้งทางกายทั้งทางใจ รับรู้แล้วปล่อยวาง อย่าตามไป เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันเกิดขึ้นมันตั้งอยู่มันก็ดับไป

 

 


เราฝึกใจของเราให้สงบ อย่าได้หลงอารมณ์ อย่าได้ตามอารมณ์


เราอยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงาน อยู่ที่สังคม สิ่งต่าง ๆ มากระทบเราเยอะแยะมากมาย

พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้จักรู้แจ้งนะ ไม่ให้เราตามไป ถ้าตามไปแล้วเราจะเป็นคนจิตใจที่ไม่สงบ จิตใจที่มีปัญหา ถูกอารมณ์มาครอบงำ ถูกโลกธรรมมาครอบงำ


ถ้าเราไม่รู้จักทำใจ เราไม่รู้จักเจริญสมาธิ เราจะหาความสงบความดับทุกข์ไม่ได้ เราจะไปโทษสิ่งแวดล้อม ว่าสิ่งแวดล้อมมันทำให้เรามีปัญหา ความเป็นจริงแล้วสิ่งแวดล้อมมันไม่มีปัญหา ใจของเราเองมันมีปัญหา ใจของเรามันไปรบกวนสิ่งแวดล้อม เสียงก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ รูปก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ ลาภ ยศ สรรเสริญก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ ใจของเรามีปัญหาเอง ชอบเอาสิ่งต่าง ๆ มาใส่จิตใส่ใจ ของเรา เมื่อเรายังมีลมหายใจอยู่ตาของเราก็ต้องเห็นรูป หูก็ได้ยินเสียง เราต้องสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ

 


พระพุทธเจ้าท่านถึงมีเมตตาให้เราฝึกสมาธิ ฝึกให้ใจของเราไม่ตามอารมณ์ตามสิ่งแวดล้อม คนเขาตาบอดเขาอยากมองเห็นนะ คนเขาหูหนวกเขาอยากได้ยินเสียงน่ะ


เราอย่าไปโทษสิ่งภายนอกโทษนั่นโทษนี่ การฝึกสมาธิถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ใจของเรามันก็เหมือนกัน ลิงตัวหนึ่งมันอยู่นิ่งไม่เป็น มันกระโดดนั่นกระโดดนี่ ใจของเราบางทีก็ยิ่งกว่าลิงอีกนะ ให้เรารู้จักใจของเราอย่าไปวิ่งตามมัน


พระพุทธเจ้าท่านเมตตาบอกสั่งสอนเราว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่แน่ มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป มันเป็นอย่างนี้ตลอดนะ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป มันเกิดต่อตนจนเป็นเรื่องเป็นราวจนเป็นสายน้ำ จนเป็นแม่น้ำ ต่อเนื่องกัน จนเป็นมหาสมุทร “ถ้ามันไม่เกิดไม่ดับ ก็แสดงว่าคนตาย เราตายแหละ...”


ให้ทุกท่านทุกคนถือว่าเป็นเรื่องธรรมดานะ อย่าไปดีใจ อย่าไปเสียใจ อย่าไปพิลัยรำพรรณ มันเกิดขึ้นอย่างนี้แหละ มันตั้งอยู่อย่างนี้แหละ เรื่องนี้หมดไปถ้าเรายังมีลมหายใจอยู่เรื่องใหม่ มันก็เกิดมา


ถ้ามันยังไม่หมดเหตุหมดปัจจัย มันก็หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้แหละ มันเป็นวัฏจักร มันเป็นวัฏฏะสงสาร เราจะไปเบื่อไปชอบไม่ได้

 


พระพุทธเจ้าท่านให้เราตั้งอยู่ในความสงบ ถือว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป มาให้โอกาสเราได้ทำสมาธิ ได้เจริญปัญญา ได้สร้างบารมีนะ


ใจของเราถ้าเราไม่ฝึกไม่ปฏิบัติมันก็ไม่มีสมาธิ มันก็ไม่เป็นสมาธิ ส่วนใหญ่ทุกคนชำนิชำนาญในการทำงานทำการต่าง ๆ แต่กับการทำสมาธิไม่ค่อยเก่งไม่ค่อยเป็น ไปเน้นทางภายนอก เน้นทางธุรกิจต่าง ๆ มากไป ชีวิตของคนเรามันไม่มีความสุขนะ ถ้าจิตใจไม่เป็นสมาธิ เราวิ่งตามสิ่งภายนอก เราเหมือนวิ่งตามเงา เราวิ่งเร็วเงามันก็วิ่งหนีไปเรื่อย


การฝึกสมาธินี้ดีนะ ดีมาก ทุก ๆ คนจำเป็นต้องฝึก เราอย่าไปคิดว่าไม่ใช่ของจำเป็น เพราะตัวดับทุกข์ของทุกคนก็คือจิตใจสงบ ที่มันมีปัญหาต่าง ๆ ก็เพราะจิตใจไม่สงบ


คนบางคนนะน่าสงสาร เกิดมาทุกข์จริง ๆ ทุกข์มาก ๆ ทุกข์ทั้งกายทุกข์ทั้งใจ ทุกข์ทั้งการ ทำมาหากิน ทุกข์เพราะเรื่องคนอื่น เพราะเขาไม่รู้จักทำใจให้สงบ เป็นคนเปราะบาง จิตใจไม่หนักแน่น เข้มแข็ง ชอบตามความคิด ชอบตามอารมณ์ไป เพราะว่ามีสมาธิน้อย ไม่มีความหนักแน่น ชอบตามอารมณ์ชอบรับอารมณ์ เขาว่าอะไรก็รับเอาหมด เห็นอะไรก็รับ เอาหมด อย่างนั้นไม่ได้ อย่างนั้นไม่ถูก


เรื่องกายของเราก็เหมือนกัน มันมีโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ นะ ถ้าเราไม่รู้จักทำใจให้สงบมันก็ทุกข์ทั้งทางกาย ทุกข์ทั้งทางใจ ใจของเรามันชอบต่อต้านในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่อยากให้มันแก่ ไม่อยากให้มันเจ็บ ไม่อยากให้มันตาย มันเป็นไปไม่ได้ มันเจ็บบ้างก็ช่างหัวมัน มันแก่แล้ว มันเดินไม่ได้ก็ช่างหัวมัน ถ้าเราไม่ยอมรับอย่างนี้ก็เปรียบเสมือนเราไม่รู้จักทำใจให้สงบ

 


เราอยากได้เดือนก็ไม่ได้ อยากได้ดาวก็ไม่ได้ ด้วยเหตุปัจจัยนี้เราต้องฝึกจิตใจของเราให้สงบ ไม่ให้วิ่งตามอารมณ์ ไม่ให้วิ่งตามสิ่งแวดล้อม ฝึกเป็นคนฉลาดขึ้น




 

พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย
ค่ำวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕
(เพิ่มเติมจากเช้าวันอาทิตย์ที่ ๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๕)

 

หมายเลขบันทึก: 487427เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท