หมออนามัย ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ


หมออนามัย ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหินซ้อน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี นายอานนท์ ภาคมาลี นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ

สถานการณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพและการแพทย์พื้นบ้านไทย ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าการแพทย์แผนปัจจุบันเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาสุขภาพได้ทั้งหมด เนื่องจากเป็นระบบการแพทย์ที่มีราคาสูง ต้องพึ่งพิงเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่สำคัญที่ทำให้การแพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ดังนั้น การหันไปศึกษาภูมิปัญญาในการดูแลรักษาสุขภาพของการแพทย์พื้นบ้านอย่างลุ่มลึกในทุกมิติเพื่อดึงสิ่งที่ยังเหมาะสมกับยุคสมัยมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในสถานการณ์จริงของชุมชนย่อมเป็นสิ่งที่ควรพิจารณา เพราะในทัศนะของชาวบ้านนั้น การแพทย์พื้นบ้านไม่ได้แยกออกจากการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างเด็ดขาดแต่ดำรงอยู่อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ดังนั้นการพัฒนาสาธารณสุขจึงควรพัฒนาการแพทย์ทุกระบบไปพร้อมกัน แล้วให้ประชาชนเป็นผู้เลือก รูปแบบของการรักษาที่เหมาะสมด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้ภาครัฐและองค์กร สถาบันต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชน เริ่มให้ความสนใจ พยายามฟื้นฟูและพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังจำกัดในส่วนกลางของประเทศ ที่สืบทอดมรดกจากราชสำนักเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า “การแพทย์แผนไทย” ในขณะที่แต่ละภูมิภาค ต่างมีมรดกการแพทย์ของตนที่แตกต่างกันตามระบบนิเวศและวัฒนธรรมของตน การละทิ้งภูมิปัญญาด้านการแพทย์พื้นบ้านมาเป็นเวลานานโดยการขาดการวิจัย และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความรู้ด้านนี้ไม่ได้รับการพัฒนาแล้ว ยังกำลังจะสูญหายไปจากสังคมไทย จึงจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องศึกษาวิจัยและพัฒนา ฟื้นฟู ให้เป็นระบบที่ชัดเจนเหมือนระบบการแพทย์แผนไทยจากส่วนกลาง ที่สำคัญคือ กฎหมายยังไม่ยอมรับอย่างเป็นทางการว่า แต่ละท้องถิ่นมีระบบการแพทย์พื้นบ้านของตนดำรงอยู่คู่กับชุมชน แม้ว่าจะถูกกำหนดไว้ในทิศทางและนโยบายของการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติแล้วก็ตาม การดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้าน (Indigenous Self-Care) เป็นภูมิปัญญาที่มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพให้สมดุลและสอดคล้องกับกฎทางสังคมวัฒนธรรมและกฎธรรมชาติ เป็นการดูชีวิตในมิติทางกาย ทางจิตใจ ทางจิตวิญญาณและทางอารมณ์ให้อยู่ในสภาวะ กลมกลืมกับโลกรอบตัว และหากชีวิตละเมิดกฎทางธรรมชาติ ชีวิตจะเสีย สมดุล อ่อนแอ และเจ็บป่วย การแพทย์พื้นบ้าน (Flok medicine) เป็นระบบวัฒนธรรมในการดูแลรักษาสุขภาพแบบพื้นบ้านมีเอกลักษณ์เฉพาะวัฒนธรรม และมีการเรียนรู้ โดยอาศัยรากฐานประสบการณ์และรากฐานความเชื่อศาสนา ระบบการแพทย์พื้นบ้านประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ หมอพื้นบ้าน ผู้ป่วย และบริบททางสังคมวัฒนธรรม นอกจากนั้นระบบการแพทย์พื้นบ้านยังมีปฏิสัมพันธ์ระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน และระบบการแพทย์อื่นในสังคมด้วย เหตุนี้จึงทำให้ระบบการแพทย์พื้นบ้านไม่หยุดนิ่งและมีการปรับตัวตลอดเวลา พบว่า หมอพื้นบ้านส่วนใหญ่ จะมีพื้นฐานความเชื่อ และระบบวัฒนธรรมเช่นเดียวกับชุมชนที่หมอพื้นบ้านอาศัยอยู่ร่วมไปถึงความเชื่อเกี่ยวกับสุขภาพและความเจ็บป่วยด้วย เลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับสาเหตุของผู้ป่วยแต่ละคนและบ่อยครั้งที่ใช้วิธีรักษาโรคหลายวิธีประกอบกันมักมีการผสมผสานแนวคิดและวิธีการรักษาความเจ็บป่วย 2 ประเภทร่วมกัน ตัวอย่างเช่น หมอกระดูกจะรักษาความเจ็บป่วยลักษณะกระดูกหัก กระดูกเคลื่อน และเคล็ดขัดยอก จะมีการใช้เฝือกไม้ การจัดกระดูก การใช้ยาสมุนไพร การบีบนวด ผสมผสานกับวิธีการเป่า มนต์คาถาหรือสมาธิ เป็นการสะสมความสามารถเพื่อพึ่งตนเอง และเป็นที่พึ่งของคนในชุมชนใกล้เคียง มิได้เป็นอาชีพหลักในการประกอบอาชีพ และหมอพื้นบ้านทั่วไปมีความรู้เชิงทฤษฎีการแพทย์แผนแพทย์ไทย หรือการแพทย์พื้นบ้านอย่างเป็นระบบค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ มีความชำนาญในการใช้ตำรับยาสมุนไพรไม่กี่ตำรับ (1-10 ตำรับ) อย่างไรก็ตาม หมอพื้นบ้านบางคนที่สะสมความชำนาญมาอย่างยาวนานจะมีความรู้เรื่องยาสมุนไพรหลายร้อยตัว และสามารถรักษาโรคได้หลายโรค มีตำรับยามาก และสามารถพลิกแพลงส่วนประกอบในตำรับยาได้ด้วย โรคและอาการที่หมอพื้นบ้านรักษานั้นอาจจำแนกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มอาการทั่วไป ได้แก่ กระดูกหัก ปวดเมื่อยล้ากล้ามเนื้อ เคล็ดขัดยอก สัตว์มีพิษกัดบาดแผล ไข้ ผื่นคัน การคลอด คางทูม ท้องเสีย เป็นต้น 2. กลุ่มอาการเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน โรคกระเพาะ ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงจมูก มะเร็ง อัมพาต แผลเรื้อรัง ฯลฯ 3. กลุ่มโรคพื้นบ้าน มีอาการและโรคที่แตกต่างกันหลากหลาย และอยากที่จะทำความเข้าใจโดยการเทียบเคียงกับโรคสมัยใหม่ ตัวอย่างเช่น ลมผิดเดือน ผิดสำแดง ตาน ซาง ไข้หมากไม้ ผิดกาบูร ทำมะลา ประดง เป็นต้น กลุ่มอาการที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์ ได้แก่ อาการที่มีสาเหตุจากผี พลังอำนาจที่มองไม่เห็น เช่น เด็กร้อง ผีเข้า ถูกคุณไสย ปัจจุบันพบว่า องค์ความรู้ภูมิปัญญาส่วนใหญ่มักเป็นทักษะแลประสบการณ์ที่สะสมอยู่กับหมอยาผู้นั้นเอง ไม่มีการขีดเขียนบันทึกเป็นตำรา สำหรับหมอพื้นบ้านที่สะสมความรู้ในรูปของตำราก็พบว่า ตำราเหล่านี้อยู่ในสภาพที่เสี่ยงต่อการชำรุดเสียหาย หรือมีการชำรุดสูญหายไปแล้ว ส่วนใหญ่ยังไม่มีศิษย์หรือผู้สืบทอดความรู้ต่อ สภาพที่ดำรงอยู่ดังนี้บ่งบอกแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงในการสืบต่อความรู้ของหมอพื้นบ้าน และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับสาเหตุที่เป็นอุปสรรคในการหาผู้มาสืบต่อความรู้หมอยาพื้นบ้านที่ลดน้อยลง ดังนี้ 1. ค่านิยมและแรงจูงใจที่คนจะสืบต่อความรู้หมอพื้นบ้าน เปลี่ยนแปลงไป แรงจูงใจเดิมที่สนใจศึกษาเพราะอยากเป็น อยากช่วยเหลือผู้อื่นและเห็นการรักษามาตั้งแต่ครอบครัว อาจไม่เพียงพอแล้ว แรงจูงใจทางเศรษฐกิจและการเลี้ยงชีพมีความสำคัญกว่า จะเห็นได้ว่ามีคนจำนวนมากสนใจเรียนและสอบใบประกอบโรคศิลปะแผนไทย เพราะสามารถนำมาเป็นอาชีพเพื่อหารายได้ และได้รับการยอมรับจากทางราชการ ในขณะที่หมอพื้นบ้านแม้ได้รับการยอมรับในชุมชน แต่อาจไม่สามารถประกอบเป็นอาชีพหลักได้และไม่ได้การยอมรับจากทางราชการ 2 . ข้อจำกัดเฉพาะ ในการคัดเลือกผู้สืบต่อความรู้ของหมอพื้นบ้านเอง แม้หมอพื้นบ้านส่วนใหญ่บอกว่ายินดีสืบทอดความรู้ให้แก่ใครก็ได้ที่สนใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนเป็นหมอได้ ซึ่งหมอพื้นบ้านแต่ละคนมักจะมีหลักเกณฑ์กำหนดว่าผู้จะสามารถรับการถ่ายทอดความรู้จากหมอพื้นบ้านได้
3. ความรู้และทักษะประสบการณ์ ในการบำบัดรักษาของหมอพื้นบ้านอาจดูด้อยประสิทธิภาพ และขาดความเป็นระบบ ความรู้เหล่านี้อาจเสื่อมสภาพตามกาลเวลา กลายเป็นเทคนิควิทยาที่ล้าสมัย
4. การลดลงของแหล่งวัตถุดิบสมุนไพร การรักษาของหมอพื้นบ้านต้องอาศัยวัตถุดิบสมุนไพร ซึ่งได้มาจากป่า และทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน เมื่อพื้นที่ป่าและทรัพยากรธรรมชาติลดลง มีผลให้การรักษาของหมอยาพื้นบ้านยากลำบากมากขึ้นและมีประสิทธิภาพลดลง รวมถึงความสะดวกในการจัดหายาสมุนไพรมาบำบัดรักษาผู้ป่วยก็จัดหามาบริการได้ยากลำบากขึ้น สำหรับสถานการณ์ด้านองค์กร/เครือข่าย พบว่ามีการจัดตั้งเป็นกลุ่มชมรมตามชุมชน เช่นกลุ่มสมุนไพรหรือชมรมหมอพื้นบ้านในอำเภอต่าง ๆ โดยมีกิจกรรมร่วมกันคือ การแลกเปลี่ยนความรู้และตำรายาระหว่างหมอยา หรือการรวมกลุ่มกันไปหาสมุนไพรในป่า เป็นต้น ต่อมาเมื่อทางภาครัฐมีนโยบายเข้ามาส่งเสริมการใช้สมุนไพรและการแพทย์แผนไทยในชุมชน ก็มีหน่วยงานสาธารณสุขเข้าไปจัดตั้งและส่งเสริมกลุ่มชมรมสมุนไพรและหมอพื้นบ้านมากขึ้น โดยพยายามจัดกิจกรรมผ่านชมรมดังกล่าว บางแห่งหมอพื้นบ้านมีการรวมตัวกันเองเพื่อให้บริการรักษาโรคแบบพื้นบ้านร่วมกันเป็นกลุ่ม (ไม่ได้จัดตั้งโดยองค์กรภาครัฐ) ต่อมาเริ่มรวมตัวกันเป็นเครือข่ายในระดับภูมิภาค มีการจัดรูปแบบองค์กรเครือข่ายที่ชัดเจน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นองค์กรในการส่งเสริมและฟื้นฟูการแพทย์พื้นบ้าน และดูแลควบคุมกันเองระหว่างหมอพื้นบ้านเพื่อให้เกิดการยอมรับหมอพื้นบ้านมากขึ้น ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้มีความพยายามที่จะผลักดันการแพทย์พื้นบ้านให้เข้าสู่ระบบสุขภาพ มีการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนในพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติเพื่อให้หมอพื้นบ้านได้มีบทบาทและใช้องค์ความรู้ภูมิปัญญาในการดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้น จากคณะทำงานดังกล่าว ในปี 2544 เกิดการรวมตัวเป็นเครือข่ายข่ายสุขภาพวิถีไทย ซึ่งมีทั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เอกชน และหมอพื้นบ้าน และได้ร่วมกันพัฒนาโครงการภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพเพื่อสร้างเสริมสุขภาพของชุมชน ต่อมาสมาชิกเครือข่าย ได้ร่วมกันร่วมกันตั้งเป็นเครือข่ายหมอพื้นบ้าน 4 ภูมิภาคขึ้น โดยมีกลุ่มงานการแพทย์พื้นบ้านไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นผู้ประสานงานในส่วนกลาง เครือข่ายสุขภาพวิถีไทย(2546) ได้สรุปสถานการณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค ไว้ดังนี้ ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย เป็นจังหวัดที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสูงในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพมาประยุกต์ใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพ เนื่องจาก หมอพื้นบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรภาครัฐ มีบทเรียนในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ เช่นอาหาร การปฏิบัติตน และการแพทย์พื้นบ้านมาใช้เพื่อการเยียวยาผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา มีความพยายามในการสังเคราะห์ความรู้จากปั๊บสา จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการแพทย์พื้นบ้าน การจัดตั้งชมรม/เครือข่ายหมอพื้นบ้าน เพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างหมอพื้นบ้าน แต่ก็พบว่ามีข้อจำกัดหลายประการ เนื่องจากการเคลื่อนไหวดังกล่าวยังกระจัดกระจาย ไร้ทิศทาง อีกทั้งกระแสการบริโภคนิยามได้ทำให้สมุนไพรและภูมิปัญญาท้องถิ่น กลายเป็นสินค้า ซึ่งเป็นการลดทอนคุณค่าและศักยภาพของภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงเป็นเหตุให้ความพยายามในการรื้อฟื้นองค์ความรู้ยังไม่สามารถดำเนินไปได้เท่าที่ควร ภาคใต้ เป็นการพัฒนาศักยภาพของชุมชนด้านการดูแลสุขภาพในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ หลังจากที่ชุมชนมีประสบการณ์ชุดหนึ่งด้านงานวิจัยอาหารพื้นบ้าน การดูแลทรัพยากร และการดูแลด้านพันธุกรรม และพบว่า ปัจจุบันนี้ หมอพื้นบ้านได้ลดบทบาทลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะหมอด้านพิธีกรรม เช่นหมอทำขวัญนาค หมอบ่าวสาว นอกจากนี้ยังพบว่า บทบาทของหมอพื้นบ้านที่ลดลงนั้นยังสัมพันธ์กับการแทรกแซงของความรู้การแพทย์สมัยใหม่ ความเจริญและความทันสมัยที่เข้ามาทำลายความสัมพันธ์ในชุมชน ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาศักยภาพหมอพื้นบ้านให้มีบทบาทในชุมชนเช่นเดิม เนื่องจาก หมอพื้นบ้านเป็นทั้งผู้อาวุโสและปราชญ์ชาวบ้าน เป็นแหล่งภูมิปัญญา ซึ่งสามารถเป็นทางออกหนึ่งในการนำชุมชนไปสู่การพึ่งตนเองได้ และยังทำให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสมและยั่งยืน ภาคอีสาน จุดเด่นของภาคอีสาน คือความหลากหลายของเครือข่ายภูมิปัญญา และมีการประสานความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ นักพัฒนา และต่างก็เห็นร่วมกันว่า ป่า ยังเป็นแหล่งความรู้ เป็นโรงพยาบาล เป็นโรงครัว ซึ่งสามารถที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการได้ อย่างไรก็ตาม ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผืนป่าได้ถูกทำลายไปเป็นอันมาก ทำให้สมุนไพรหลายอย่างสูญหายไป หรือที่มีอยู่ก็ลดน้อยลงไปมาก ดังนั้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย/กลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในชุมชนโดยใช้ป่าเป็นศูนย์กลาง จึงเป็นวิธีการหนึ่งซึ่งสามารถนำไปสู่การสืบทอด การอนุรักษ์ และการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
จากการทบทวนสถานการณ์ ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จะเห็นได้ว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ ดำรงอยู่บนความหลากหลายของวัฒนธรรมความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น แต่ก็หาได้หยุดนิ่งเฉพาะในท้องถิ่นนั้นๆไม่ ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มหมอพื้นบ้านด้วยกันเอง และเรียนรู้เลือกรับปรับใช้องค์ความรู้ของการแพทย์ระบบอื่นๆของประชาชนผู้บริโภค ซึ่งก็มีทั้งหมอพื้นบ้านที่ยังคงบทบาทอยู่ในจรรยาของหมอพื้นบ้าน และส่วนที่ปรับไปตามกระแสสังคมและเศรษฐกิจ กลายเป็นหมอขายสมุนไพร จึงทำให้เกิดภาพลักษณ์ของหมอพื้นบ้านใน 2 ลักษณะ คือหมอพื้นบ้านที่พึงพอใจในความเป็นหมอพื้นบ้านไม่ให้ความสำคัญกับใบประกอบโรคศิลป์ แต่ต้องการการรับรองให้มีที่ยืนอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ใช้ความรู้ความสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ กับอีกลักษณะหนึ่งคือหมอพื้นบ้านที่ต้องการประกอบอาชีพ กลุ่มนี้ต้องการได้รับใบประกอบโรคศิลปะเพื่อเป็นตัวนำทางให้สามารถนำองค์ความรู้การแพทย์พื้นบ้านของตนมาใช้เป็นอาชีพ ดังนั้นในบางพื้นที่จึงอาจเห็นความขัดแย้งในสถานบทบาทของหมอพื้นบ้าน และเกิดมีกลุ่มเครือข่ายต่างๆที่เกิดการรวมตัวกันด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน
จะเห็นได้ว่า ทุนทางสังคม ทุนทางภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพที่มีอยู่ กำลังถูกคุกคามจากภายนอกและภายในชุมชน การเปลี่ยนแปลงภายในที่สำคัญ ได้แก่ องค์ความรู้ที่ขาดการสืบทอดและองค์ความรู้ที่มีอยู่ก็ยากต่อการทำความเข้าใจของคนรุ่นใหม่ หมอพื้นบ้านซึ่งมีบทบาทหลักในการสืบทอดความรู้ ล้วนแต่เป็นผู้สูงอายุ ขาดการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงภายนอกที่มีผลกระทบต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นสุขภาพอย่างมากคือ แนวคิดการบริโภคนิยมของชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งมีอำนาจซื้อสูงได้เข้ามากระตุ้นและสร้างแรงจูงใจการพัฒนาสมุนไพรเดี่ยว มากกว่า การพัฒนาสมุนไพรตำรับ และสมุนไพรพื้นบ้าน และยังมีผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ในชุมชนที่หันไปให้คุณค่าการบริโภคเทคโนโลยีและความทันสมัย นอกจากนี้ ฐานทรัพยากรที่สำคัญของชุมชน ได้แก่ป่า ซึ่งเป็นแหล่งยาสมุนไพรก็ถูกทำลายลงไปมาก ทุนทางสังคมและทรัพยากรที่ลดทั้งคุณภาพและปริมาณ จึงเป็นอุปสรรคหนึ่งที่จะทำให้ชุมชนบรรลุเป้าหมายการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ

สถานภาพ บทบาท และการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพในสังคมไทย ในระยะ 20 ปีมานี้ กระทรวงสาธารณสุข เริ่มส่งเสริมสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน หมอพื้นบ้านก็ได้รับความสนใจมากขึ้นในฐานะบุคคลที่ใช้สมุนไพรเยียวยารักษาควาเจ็บป่วย ส่งเสริมการใช้สมุนไพรในแผนพัฒนาการสาธารณสุข ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 6 กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายส่งเสริมการใช้สมุนไพรและการแพทย์แผนไทย ให้มีประโยชน์ต่องานด้านสาธารณสุข โดยได้จัดทำแผนงานรองรับชัดเจนและต่อเนื่อง โดยเน้นการพัฒนางานด้านสมุนไพร และให้ความสนใจกับสมุนไพร เพื่อส่งเสริมสุขภาพและรักษาอาการเบื้องต้น หมอพื้นบ้านที่มีความรู้ด้านยาสมุนไพร ได้เข้ามีบทบาทในด้านความรู้เกี่ยวกับยาสมุนไพรอยู่บ้าง มีการส่งเสริมการสใช้สมุนไพร โดยโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิโกมลคีมทองตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 เป็นต้นมา ได้เก็บรวบรวมและจัดระบบความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพรจากหมอพื้นบ้าน ชาวบ้าน และตำราต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่สู่ประชนให้สามารถป้องกันและรักษาโรคด้วยตัวเอง มีการฟื้นฟูการนวดไทยและพัฒนาหมอนวดพื้นบ้านโดยโครงการฟื้นฟูการนวดไทย มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาและคณะ ทำให้หมอนวดพื้นบ้านเริ่มได้รับการยอมรับ และถูกนำเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขของภาครัฐ โดยในปี 2528 มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ได้จัดตั้งโครงการฟื้นฟูการนวดไทยขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้การนวดไทย กิจกรรมของโครงการให้ความสำคัญที่การส่งเสริมการนวดในระดับสาธารณสุขมูลฐาน ในปี 2534 - 2535 ฝ่ายสมุนไพรและแพทย์แผนไทยในชุมชน สำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐาน ได้ร่วมกับศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข คณะสังคมศาสตร์แลมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การอนามัยโลก ได้จัดทำโครงการวิจัยเรื่องศักยภาพหมอพื้นบ้านกับการสาธารณสุขมูลฐานขึ้น โดยศึกษาวิจัยในพื้นที่ 6 จังหวัด ทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พิจิตร ประจวบคีรีขันธ์ ยโสธร นครพนม และสุรินทร์ และได้จัดทำรายงานภาพรวมของศักยภาพหมอพื้นบ้านขึ้นอีกชุดหนึ่ง โดยหวังจะให้เป็นข้อมูลในการเกิดนโยบาย การพัฒนาแพทย์แผนไทยที่ชัดเจนและจริงจัง งานวิจัยดังกล่าวช่วยทำให้ภาพของหมอพื้นบ้านชัดเจนขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถให้คำตอบที่เด่นชัดพอที่จะเสนอเป็นนโยบายการพัฒนาหมอพื้นบ้านได้ และได้ตั้งข้อสังเกตจากการใช้ประโยชน์จากหมอพื้นบ้านในงานสาธารณสุขมูลฐานไว้ว่า การคัดเลือกวิถีการปฏิบัติของการรักษาความเจ็บป่วยแบบพื้นบ้าน ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย เมื่อนำเข้ามาสู่นโยบายและโครงการปฏิบัติควรพิจารณาอย่างรอบคอบและอาศัยมุมมองแบบหลายสาขา ความสำเร็จของวิถีการปฏิบัติของการเจ็บป่วยแบบพื้นบ้านมีมิติทางสังคม วัฒนธรรม และด้านจิตใจเป็นมิติสำคัญ หากพิจารณาเพียงด้านประสิทธิภาพทางกายอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นการประเมินคุณค่าวิถีการปฏิบัติของการรักษาความเจ็บป่วยแบบพื้นบ้านอย่างรอบด้านจึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้การเข้าถึงหมอพื้นบ้านเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ควรคำนึงถึงการเพิ่มศักยภาพด้านวิชาการที่เกี่ยวกับการแพทย์ดั้งเดิมและการทำความเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของหมอพื้นบ้านในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชนในลักษณะสังคม วัฒนธรรมเฉพาะ มิฉะนั้นการใช้ประโยชน์จากหมอพื้นบ้านอาจเป็นแผนงานและ โครงการที่มีลักษณะฉาบฉวยและมิได้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงกับหมอพื้นบ้านหรือชุมชนก็เป็นได้
ถึงแม้ว่าการแพทย์พื้นบ้านจะมีลักษณะเด่นที่มองความเจ็บป่วยแบบองค์รวมไม่ได้แยกกายละจิตใจแยกจากกัน ไม่แยกปัจเจกบุคคลออกจากสังคมก็ตามแต่เมื่อพิจารณาในประเด็นของความน่าเชื่อถือแล้วพบว่า การแพทย์พื้นบ้านมีข้อด้อยบางประการ ได้แก่ 1. เป็นระบบการแพทย์ที่ขาดการบันทึก ขาดข้อมูลทางสถิติ ขาดข้อมูลที่ระบุถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก 2. การวัดประสิทธิภาพการรักษาโดยพิจารณาจากความพึงพอใจ และความคาดหวัง ของผู้รับการรักษาแต่เพียงอย่างเดียวคงไม่ได้เพราะความรู้สึกดังกล่าวเป็นเรื่องที่วัดได้ยาก ดังนั้นการวัดประสิทธิภาพของการแพทย์พื้นบ้านนอกจากจะพิจารณาจากมิติทางสังคม วัฒนธรรมแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักฐานทางการแพทย์มาพิสูจน์ความเชื่อถือนั้นด้วย ในช่วงที่ผ่านมาการตั้งคำถามจากนักวิชาชีพ และสังคมอยู่เสมอในประสิทธิภาพของหมอ พื้นบ้าน จากการทบทวนงานวิจัยยังพบว่า การศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการรักษาโรคแบบพื้นบ้านยังมีอยู่น้อยมาก โดยเฉพาะขาดการเก็บข้อมูลถึงกระบวนการรักษาโรคจากการปฏิบัติจริงของหมอพื้นบ้าน และข้อมูลของผู้ป่วยที่มารับการบริการจากหมอ 1. ระบบผูกขาด (Monopolistic system) เป็นระบบที่ให้สิทธิทางกฎหมายในการรักษาผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ปัจจุบันแต่เพียงกลุ่มเดียว แต่ในความเป็นจริงก็มีการใช้การแพทย์พื้นบ้านในหมู่ประชาชน รัฐจึงจำยอมรับความเป็นจริงอย่างไม่เป็นทางการ ประเทศที่มีระบบเช่นนี้ ได้แก่ ประเทศใน ยุโรป และอเมริกา รวมทั้งอดีตอาณานิคมของประเทศเหล่านั้น 2. ระบบจำยอม (Tolerant system) เป็นระบบที่ใช้การแพทย์แผนปัจจุบันเป็น ระบบบริการสาธารณสุขของชาติและในระบบประกันสุขภาพ แต่ก็ยอมรับสิทธิส่วนบุคคลที่จะเลือกใช้บริการทางการแพทย์ได้ จึงยอมรับบุคคลากรที่ให้บริการด้วยระบบการแพทย์พื้นบ้านที่ผ่านการทดสอบจากหน่วยงานของรัฐให้ทำการรักษาได้ในขอบเขตที่กำหนด แต่ระบบประกันสุขภาพไม่ยอมให้ใช้จ่ายในส่วนนี้ ตัวอย่างประเทศที่มีระบบเหล่านี้ คือ ไทย อังกฤษ และเยอรมัน 3. ระบบคู่ขนาน (Parallel system) เป็นระบบที่การแพทย์ทั้งสองแบบได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการและเท่าเทียมกัน แต่ต่างคนต่างปฏิบัติ ไม่มีการผสมผสานกัน ประเทศที่ใช้ระบบนี้ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ศรีลังกา และพม่า 4. ระบบผสมผสาน (Integrated system) เป็นระบบที่การแพทย์ทั้งสองแบบผสมผสานกลมกลืนกันเป็นระบบเดียว ตั้งแต่การเรียน การสอนบุคลากรทางการแพทย์ไปจนถึงการปฏิบัติงาน ประเทศที่ใช้ระบบนี้ ได้แก่ จีน เนปาล และเกาหลีเหนือเมื่อการแพทย์แผนปัจจุบันได้ขยายขอบเขตการให้บริการอย่างกว้างขวางทำให้การแพทย์แผนปัจจุบัน กลายเป็นการแพทย์แผนหลักของสังคมไทย ในขณะที่การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไม่ได้รับการเหลียวแลและสนับสนุนจากรัฐเท่าที่ควร การดำรงอยู่ของระบบบริการสาธารณสุขของไทย จึงเป็นระบบจำยอม ส่วนจะพัฒนาขึ้นเป็นระบบคู่ขนาน หรือระบบผสมผสานหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐว่าจะสนับสนุนและเห็นคุณประโยชน์ของระบบการแพทย์อื่นๆ นอกเหนือจากการแพทย์แผนปัจจุบันหรือไม่ ถึงแม้ว่าการแพทย์พื้นบ้านจะดำรงอยู่ในระบบจำยอม แต่จากข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่ายังมีชุมชนในชนบทอีกจำนวนไม่น้อยที่การแพทย์พื้นบ้านยังคงได้รับความนิยมจากประชาชน และเมื่อทำการศึกษาว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้การแพทย์พื้นบ้านสามารถดำรงอยู่ได้อย่างเหนียวแน่นในชุมชนดังกล่าว ก็พบปัจจัยที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้ ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ความสอดคล้องของวิถีชีวิตชุมชน รูปแบบและวิธีการรักษาของหมอพื้นบ้านที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต สถานะทางเศรษฐกิจของชาวบ้าน มีการรักษาที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนและที่สำคัญ คือ ไม่แบ่งแยกผู้ป่วยออกจากครอบครัวและญาติพี่น้อง 2. ลักษณะของความเจ็บป่วย และประสิทธิภาพในการรักษา มีความเจ็บป่วยบางประเภท ที่ชาวบ้านเชื่อว่าต้องรักษากับหมอพื้นบ้านเท่านั้นจึงจะหาย เช่น ไข้หมากไหม้ (ไข้รากสาด) และโรคกำเริด งูสวัด เป็นต้น ละการแพทย์พื้นบ้านก็มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคดังกล่าวได้ค่อนข้างดี 3. ความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรค ที่สอดคล้องกันระหว่างหมอพื้นบ้านและผู้ป่วย ที่เชื่อว่าความเจ็บป่วยมีสาเหตุมาจากอำนาจเหนือธรรมชาติและสาเหตุจากธรรมชาติ 4. ลักษณะทางสังคมที่เอื้ออำนวย ต่อการดำรงอยู่ของหมอพื้นบ้าน ได้แก่ ระบบสังคมแบบเครือญาติและระบบอาวุโสที่เหนียวแน่น เนื่องจากความเจ็บป่วยไม่ใช่เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลแต่เป็นเรื่องของครอบครัวและชุมชน ดังนั้นความเป็นเครือญาติและความเคารพในระบบอาวุโสจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการชี้แนะรูปแบบการรักษาอันมีผลอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ของการแพทย์พื้นบ้าน ปัจจัยเสริม ได้แก่ 1. ระยะทาง ระหว่างหมู่บ้านและสถานพยาบาลของรัฐ ถ้าไกลมากประชาชนเดินทางไม่สะดวก ก็มีแนวโน้มว่าประชาชนจะหันไปใช้บริการจากการแพทย์พื้นบ้าน 2. ค่ารักษาพยาบาล ที่ถูกกว่าและเป็นค่าใช้จ่ายที่ชาวบ้านทราบล่วงหน้า นอกจากนั้นผู้ป่วยและญาติสามารถกำหนดค่ารักษาได้ตามฐานะทางเศรษฐกิจของตน 3. ความพึงพอใจในรูปแบบการบริการ ไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่ต้องรอหมอนานเพราะหมอมีจำนวนคนไข้ไม่มาก ญาติและผู้ป่วยสามารถเลือกรูปแบบการรักษาที่คนต้องการหรือพอใจ และญาติมีส่วนร่วมในการรักษาผู้ป่วย 4. คุณสมบัติของหมอพื้นบ้าน เช่น ความเป็นผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์การรักษา ความมีคุณธรรมและจริยธรรม เหล่านี้ล้วนสร้างความศรัทธาและความน่าเชื่อถือแก่ชาวบ้าน 5. ปริมาณของสมุนไพรในชุมชน เนื่องจากสมุนไพรเป็นรูปแบบของการเยียวนารักษาหลักของระบบการแพทย์พื้นบ้าน ความขาดแคลนสมุนไพรย่อมส่งผลกระทบต่อการแพทย์พื้นบ้านอย่างไรก็ตาม การดำรงอยู่ของแพทย์พื้นบ้านมิได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกปัจจัยมีความเชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างมีกระบวนการ

ข้อเสนอแนะและแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ
โรงพยาบาลใช้เอกซเรย์ช่วยวินิจฉัยให้เห็นตำแหน่งที่กระดูกหัก เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาซึ่งเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย สำหรับบุคลากรแผนปัจจุบัน หากยังไม่สามารถลงไปสัมผัสกับหมอพื้นบ้านได้โดยตรง ก็ขอเพียงแต่ยอมรับข้อจำกัดของตนเอง เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยร่วมตัดสินใจเลือกใช้บริการ จึงมีข้อเสนอแนะดังนี้ 1) ระดับนโยบายควร ส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขระดับปฏิบัติงาน ให้มากขึ้น โดยเน้นการ วิจัยเชิง สหวิทยาการ กล่าว คือ มีการร่วมมือกันระหว่างนักวิชาการ (ซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านทฤษฎี) และนักปฏิบัติ (ซึ่งอยู่ท่ามกลางข้อมูลเพราะใกล้ชิดกับปัญหาในพื้นที่) ระดับนโยบายจะได้เห็นรูปแบบการพัฒนาที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในท้องถิ่นมากขึ้น และเปิดโอกาสใช้วิธีการพัฒนาที่หลากหลายยิ่งขึ้น ดีกว่าจะคิดเป็นสูตรสำเร็จจากส่วนกลางแล้วสร้างความขัดแย้งให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน 2) ส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนาต่อยอดจากฐานความรู้เดิม (Renovation) เพื่อเป็นทางเลือกในการดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งน่าจะดีกว่าการลอกแนวคิด การพัฒนาจากชาติตะวันตก ซึ่ง มีบริบททางสังคมต่างจาก ไทย หมอพื้นบ้าน จึงควรได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพมากขึ้น มิฉะนั้นจะถูกกลืนเหมือนกรณีผดุงครรภ์โบราณ ระดับนโยบายจึงควรมีเป้าหมายหลักที่จะพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านมาเป็นทางเลือกให้ประชาชนใช้บริการตามความเหมาะสมกับวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการดูแลกันเองได้ในระดับหนึ่ง ก่อนที่จะต้องเข้าไปแออัด ยัดเยียดกันในสถานบริการของรัฐ

การแพทย์แผนไทย หรือมักเป็นที่รู้จักกันว่า การแพทย์แผนโบราณ เป็นความพยายามจะอธิบายภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งสภาวะปกติ และสภาวะที่ผิดปกติ (เป็นโรค) โดยใช้ทฤษฎีความสมดุลของธาตุต่าง ๆ ในร่างกายเข้ามาอธิบาย ผสมผสานองค์ความรู้จากวัฒนธรรมอินเดีย พุทธศาสนา และองค์ความรู้ที่ถูกพัฒนาขึ้นเองโดยครูการแพทย์แผนไทย คือ ชีวกโกมารภัจจ์ การแพทย์แผนไทย อาจหมายถึง กระบวนการทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย บำบัด หรือป้องกันโรค หรือการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ การผดุงครรภ์ การนวดไทย และหมายความรวมถึงการเตรียมการผลิตยาแผนไทย ประดิษฐ์อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ โดยอาศัยความรู้หรือตำราที่ได้ถ่ายทอดและสืบต่อกันมา การแพทย์แผนไทยอาจจะไม่มีองค์ความรู้ด้านกลไกการเกิดโรค และเทคนิคทางศัลยกรรมมากนัก แต่ต้องมีองค์ความรู้ด้านกลวิธีทางคลินิก เช่น การซักประวัติ และการรักษาด้วยยา เพียงแต่ขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ทางคลินิก (Evidence-based clinical knowledge) ซึ่งก็มาจากกฎข้อบังคับตามใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทย ที่ว่า มิให้แพทย์แผนไทยกระทำการอันเป็นวิทยาศาสตร์ใด ๆ นั่นเอง ทำให้ไม่สามารถมีการตั้งสมมุติฐานและวิจัยได้อย่างเต็มที่ ธาตุเจ้าเรือน ตามทฤษฎีการแพทย์ไทย กล่าวว่า คนเราเกิดมาในร่างกายประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งในแต่ละคนจะมีธาตุหลักเป็น ธาตุประจำตัว เรียกว่า“ธาตุเจ้าเรือน ” ซึ่งธาตุเจ้าเรือนนี้มี 2 ลักษณะ คือ ธาตุเจ้าเรือนเกิด ซึ่งจะเป็นไปตาม วันเดือนปีเกิด และธาตุเจ้า เรือนปัจจุบัน ที่พิจารณาจาก บุคลิกลักษณะ อุปนิสัยและภาวะด้านสุขภาพ กายและใจ ว่าสอดคล้องกับลักษณะของบุคคลธาตุเจ้าเรือน อะไร เมื่อธาตุทั้งสี่ในร่างกายสมดุล บุคคลจะไม่ค่อยเจ็บป่วย หากขาดความสมดุลมักจะเกิดความเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจาก จุดอ่อน ด้านสุขภาพของแต่ละคนตามเรือนธาตุ ที่ขาดความสมดุล ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นการปรับพฤติกรรมการบริโภค อาหารของแต่ละคนในชีวิตประจำวัน โดยใช้รสของอาหารคุณลักษณะที่เป็นยามาปรับ สมดุลของร่างกายเพื่อป้องกันความเจ็บป่วย จะได้รู้อย่างไรว่าเป็นคนธาตุอะไร มีจุดอ่อนด้านสุขภาพด้วยโรคอะไร และควรจะรับประทานอาหารอย่างไร ให้ตรงกับธาตุ เจ้าเรือนของตนสามารถอ่านได้จากอาหาร สมุนไพรประจำธาตุดังต่อไปนี้ คัมภีร์แพทย์แผนไทย คัมภีร์ที่เกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคโดยทั่วไป คัมภีร์เวชศึกษา กล่าวถึงสาเหตุการเกิดโรค และ วิธีการตรวจโรคต่างๆ คัมภีร์สมุฎฐานวินิจฉัย ซึ่งกล่าวถึงถึงสาเหตุการเกิดโรค โดยอาศัยทฤษฎีธาตุในการวินิจฉัยและพยากรณ์โรคคัมภีร์โรคนิทาน กล่าวถึงสาเหตุของโรค และ ความผิดปกติ

คำสำคัญ (Tags): #สุขภาพ
หมายเลขบันทึก: 487435เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 16:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท