Mind Mapping : กระบวนการเชื่อมโยงความรู้สู่การปฏิบัติ


วิทยากรได้เริ่มต้นกระบวนการด้วยการนำเสนอรูปภาพ ซึ่งเป็นภาพวาดเชิงเส้นทั้งในรูปของการ์ตูน และการทำ Mind Mapping สรุปเนื้อหา ซึ่งทราบมาว่าท่านมานะในการผลิตกว่าจะเสร็จเรียบร้อยก็เกือบตีห้าของวันที่ต้องบรรยาย ทำให้พวกเรามุ่งมั่นที่จะตักตวงความรู้จากท่านวิทยากรอย่างยิ่ง พวกเราช่วยกันติดรูปภาพจากกระดาษลอกลายที่ท่านนำมาไว้ในห้องเรียนสำหรับนิสิตปริญญาเอก ทำให้สีสันและบรรยากาศของห้องเรียนเปลี่ยนไป สร้างความกระตือรือร้นและสนใจใคร่รู้ในสิ่งที่ท่านจะบรรยายให้ฟังยิ่งนัก

                    เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2549  พวกเราชาวนิสิตปริญญาเอก สาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ม.นเรศวร ได้มีโอกาสได้เรียนรู้กระบวนการการพัฒนาความคิดด้วยวิธีการทำ Mind Mapping  จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการทำ Mind Mapping  ให้เห็นเป็นรูปธรรม คือ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล  ด้วยภารกิจทั้งด้านการบริหารหน่วยงาน  การเป็นผู้นำในกระบวนการวิจัยเครือข่ายชุมชน และภาระการสอนนักศึกษา ทำให้อาจารย์ไม่ค่อยที่จะมีเวลาเท่าใดนัก แต่อาศัยความรู้จักคุ้นเคยของ ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร อาจารย์ในภาควิชาเทคโนฯ ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้สอนในรายวิชาที่พวกเรากำลังเรียนในภาคเรียนนี้ ที่ได้มีโอกาสไปร่วม เวทีเสวนาการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 3 หรือ UKM 3/2549  ที่มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเจ้าภาพให้กับเครือข่าย 8 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ  แล้วอาจารย์ได้พบกับท่านวิทยากร แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความคุ้นเคยในฐานะเพื่อนร่วมศาสตร์ทางเทคโนฯ  ดร.รุจโรจน์ ได้นำเสนอบทสรุปเนื้อหาและกระบวนการ Mind Mapping  ซึ่งได้รับจากวิทยากร ในขณะที่ไปร่วมประชุมฯ ที่ม.มหิดล  จนทำให้พวกเรากระตือรือร้นที่จะเรียนรู้วิธีการและกระบวนการ Mind Mapping  อย่างแท้จริงในเชิงปฏิบัติ จึงเป็นที่มาของการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การพัฒนากระบวนการคิด กับการประยุกต์ใช้ Mind Mapping" ของพวกเราชาวนิสิตปริญญาเอกเทคโนฯ

                     วิทยากรได้เริ่มต้นกระบวนการด้วยการนำเสนอรูปภาพ ซึ่งเป็นภาพวาดเชิงเส้นทั้งในรูปของการ์ตูน และการทำ Mind Mapping สรุปเนื้อหา ซึ่งทราบมาว่าท่านมานะในการผลิตกว่าจะเสร็จเรียบร้อยก็เกือบตีห้าของวันที่ต้องบรรยาย ทำให้พวกเรามุ่งมั่นที่จะตักตวงความรู้จากท่านวิทยากรอย่างยิ่ง  พวกเราช่วยกันติดรูปภาพจากกระดาษลอกลายที่ท่านนำมาไว้ในห้องเรียนสำหรับนิสิตปริญญาเอก ทำให้สีสันและบรรยากาศของห้องเรียนเปลี่ยนไป สร้างความกระตือรือร้นและสนใจใคร่รู้ในสิ่งที่ท่านจะบรรยายให้ฟังยิ่งนัก ในวันนั้น มีทั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.ประหยัด จิระวรพงศ์  ประธานสาขาและที่ปรึกษาของนิสิตปริญญาเอก  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาณี  เส็งศรี หัวหน้าภาควิชาเทคโนฯ ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร  อาจารย์ผู้สอนในรายวิชาประเด็นปัญหาปัจจุบันทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา รวมถึงนิสิตปริญญาเอก ปริญญาโท สาขาวิชาเทคโนฯ และนิสิตปริญญาเอกสาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษญ์  ทำให้เราได้กลุ่มเล็กสำหรับการอบรมฯ จำนวน 15 คน ซึ่งท่านวิทยากรบอกว่ากำลังดีสำหรับการปฏิบัติ

                     วิทยากรเริ่มด้วยการชี้ให้พวกเราเห็นถึงความเป็นบุคคลของมนุษย์ ตั้งแต่ความเป็นปัจเจก บุคคล และนิติบุคคล ก่อนการเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นทางสังคมและประเด็นในอนาคต ความคิดอย่างเป็นระบบ ก่อนที่จะนำไปสู่กระบวนการถ่ายทอดความคิดในรูปแบบของ  Mind Mapping และการประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการใช้เทคนิคกระบวนการของ Mind Mapping สำหรับการขจัดความขัดแย้ง ซึ่งทำให้ผู้เขียนนึกภาพไปถึงการถกเถียงบางประเด็นที่เราเคยพบ แล้วไม่อาจหาข้อสรุปได้ การนำ Mind Mapping  น่าจะใช้ได้ดีในทางปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว 

                     ในช่วงบ่าย พวกเราได้ลงมือปฏิบัติกันจริงๆ โดยการแบ่งเป็นกลุ่มย่อย 2-3 คน ลงมือปฏิบัติจากประสบการณ์ของพวกเราที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย จนออกมาเป็นยุทธศาสตร์ทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในอนาคต  ท่านสามารถเชื่อมโยงสังคมและการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม กลับเข้ามาในศาสตร์เชิงลึกทางเทคโนฯ ได้อย่างพอเหมาะพอดี  พวกเราลงมือปฏิบัติกันอย่างกระตือรือร้น หลังจากนั้นนำเสนอแนวคิดของกลุ่มตนเอง ซึ่งแต่ละคนก็มีมุมมองและแนวคิดในประเด็นของยุทธศาสตร์ทางเทคโนฯ และสื่อสารการศึกษาในอนาคตของตนเองออกมาเป็นประเด็นให้เห็นจากยุทธวิธี Mind Mapping  ถึงแม้เวลาที่เรามีอยู่อย่างจำกัด แต่ได้ปฏิบัติด้วยตนเองจริงๆ ทำให้เราเข้าใจถึงระบบและการพัฒนากระบวนการคิดและการประยุกต์ใช้ Mind Mapping ได้อย่างชัดเจน หลังจากอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้อง ลองหัดทำ จับประเด็นมาก็นานแล้ว เพิ่งจะเข้าใจกระจ่างชัดเจนก็จากการได้ลงมือปฏิบัติ

                     สุดท้ายก่อนที่จะเสร็จสิ้นการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ วิทยากรได้ให้แนวคิดและการแนะนำวิธีคิด 10 แบบ โดยกระบวนการโยนิโสมนสิการ  ด้วยการอธิบายที่ชัดเจน มองเห็นภาพของวิธีคิดแต่ละแบบจากตัวอย่างง่ายๆ ที่วิทยากรนำเสนอ ทำให้พวกเราเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องของการคิดแบบโยนิโสมนสิการ ด้วยเวลาเพียงไม่ถึง 5 นาที  ผศ.ดร.สุภาณี ถึงกับเอ่ยปากว่า อ่านหนังสือเกี่ยวกับวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการมาก็มาก พยายามทำความเข้าใจก็แล้ว เพิ่งจะเข้าใจชัดเจนทะลุปรุโปร่งก็วันนี้นี่เอง พวกเราก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน

                     หลังจากเสร็จสิ้นการอบรมฯ พวกเราได้พาท่านวิทยากรไปรับประทานอาหารก่อนที่จะขึ้นเครื่องในเที่ยวบิน 2 ทุ่ม  ซึ่งวันนั้นฝนตกอย่างหนักซึ่งค่อนข้างเป็นอุปสรรค แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบกับพวกเรา เราได้ร้านอาหารใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัยและไม่ไกลกับสนามบินเท่าไหร่นัก  ไม่น่าเชื่อว่า ในขณะที่พวกเรารับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อนนิสิตหลายคนได้ประเด็นเกี่ยวกับการทำวิทยานิพนธ์ของตนเอง  ได้แนวคิดสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิทยากร ได้ฟังประสบการณ์อันหลากหลายในเชิงปฏิบัติ ทั้งในด้านการวิจัยอย่างมีส่วนร่วม การจัดทำเครือข่ายชุมชนแนวปฏิบัติ การออกพื้นที่เพื่อดำเนินการวิจัย ฯลฯ  ที่วิทยากรนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพวกเรา ซึ่งนับว่าในการดำเนินงานโครงการอบรมฯ ในครั้งนี้ ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งจากกระบวนการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการประสานสัมพันธ์ต่อไปในอนาคต  ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงที่พวกเราประทับใจและส่งผลดีต่อการเรียนและการทำงานของพวกเราอย่างยิ่ง ต้องขอขอบคุณ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ที่ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรให้กับพวกเราได้เรียนรู้อะไรต่างๆ มากมาย และคงต้องประสานสัมพันธ์กันต่อไปในอนาคตของพวกเรา เพราะหลายคนเรียนเชิญท่านมาเป็นที่ปรึกษาร่วมในงานวิทยานิพนธ์ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 48586เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2006 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 00:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • เป็นการถอดบทเรียนมาเล่าได้เยี่ยมจริงๆ
  • ยุมีทักษะในการจับประเด็นและการเขียนถ่ายทอดทางวิชาการ เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความเป็นบูรณาการมากเลย
  • ฝากความรำลึกถึงทุกท่านด้วยนะ โดยเฉพาะท่านอาจารย์ ดร.ประหยัด...ด้วยความเคารพ และอาจารย์ ดร.สุภาณี -ดร.รุจโรจน์ ..การเสวนาก่อนเดินทางกลับวันนั้น เหมือนได้กลับไปอยู่ในแวดวงหมู่เพื่อนชาวเทคโนจริงๆ
  • ยินดีต้อนรับสู่ gotoknow ครับ
  • ฝากความระลึกถึงอาจารย์ ดร รุจโรจน์ด้วยครับผม

ขอบคุณค่ะที่ชม ส่วนหนึ่งได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงที่มาฝึกงานที่สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียนค่ะ ต้องขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยแนะแต่สิ่งดีๆ ให้ค่ะ  เรียนท่าน รศ.ดร.ประหยัด ผศ.ดร.สุภาณี ดร.รุจโรจน์ ให้แล้วนะคะว่าอาจารย์ฝากความระลึกถึง ของคุณขจิตด้วยนะคะ เรียนท่าน ดร.รุจโรจน์ ให้แล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท