พลังจิตอาสาสร้างสุขภาวะเมือง : (5) คำถามและการถอดบทเรียนกลุ่มปัจเจก


"..........โดยกระบวนการแล้ว อาจจะเป็นความรู้และทฤษฎีที่แตกต่างจากการสร้างขึ้นโดยกรรมวิธีซึ่งเน้นความรู้เพื่อความรู้ ทว่า จัดว่ามีคุณค่าอย่างยิ่ง ตรงที่เป็นความรู้และทฤษฎีของผู้ที่ปฏิบัติ เชื่อมโยงอยู่กับการปฏิบัติ สะท้อนรูปการณ์ทางจิตสำนึก กระบวนการคิด และการดึงออกมาใช้ในโลกความเป็นจริง ซึ่งเรียนรู้และพัฒนาให้งอกงามต่อไปได้......."

              พลังทวีคูณของการจัดการเป็นกลุ่มและการดึงศักยภาพอย่างบูรณาการของปัจเจกออกมาใช้อย่างเต็มที่ เป็นสมมุติฐานอย่างหนึ่งของการทำงานแนวราบและการจัดการแบบพลวัตรของเครือข่ายที่ซับซ้อนว่า ปัจเจก ประชาชน และพลเมือง ที่มีจิตใจเอื้ออาทรต่อเรื่องส่วนรวมหรือการร่วมทุกข์สุขกันของเพื่อนมนุษย์  ลงมือปฏิบัติและร่วมแรงใจกันด้วยคุณธรรมอาสาส่วนตน (Voluntary action) แล้วสามารถเป็นพลังจัดการ พอเพียงแก่การสร้างสรรค์ความเปลี่ยนแปลงเรื่องต่างๆ ของสังคมและชุมชนได้อย่างไร

             การเรียนรู้การปฏิบัติที่สะท้อนการมีจิตสำนึกต่อเรื่องส่วนรวม ซึ่งขัดเกลาให้ปัจเจกสามารถพัฒนาตัวตนเข้าสู่การสร้างพื้นที่สังคมเพื่อการมีสุขภาวะร่วมกัน เปิดรับความแตกต่างหลากหลาย พร้อมๆ กับมีอิสรภาพทางปัญญาและความเป็นตัวของตัวเอง มีความพอดีของจุดหมายส่วนตนและส่วนรวม จึงเป็นการเรียนรู้ที่มีความหมาย  ทั้งต่อการขับเคลื่อนพลังจิตอาสา และการพัฒนาความสัมพันธ์แนวราบให้เกิดขึ้นผ่านการจัดระเบียบตนเอง (Self-organized) ให้เหมาะสม ระหว่างการได้ปฏิสัมพันธ์ทางปัญญาจากการปฏิบัติของตนเองโดยตรง

             แนวทางดังกล่าว สามารถออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ในวิถีประชาคมด้วยเช่นกัน โดยการนำเอาประสบการณ์มาคิดใคร่ครวญ ตรวจสอบ ช่วยกันวิเคราะห์ ตกผลึก ค้นหาปัญญาและแรงบันดาลใจใหม่ๆ ที่มีความลุ่มลึกและสะท้อนการยกระดับการพัฒนาตนเองมากยิ่งๆขึ้นของปัจเจก...

            ทีมจัดการ ซึ่งประกอบด้วยทีมนักวิจัยสหสาขา จากคณะพยาบาลศาสตร์ศิริราช คณะเทคนิคการแพทย์ และสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน ของมหาวิทยาลัยมหิดล ทีมนักวิจัย และทีมผู้ช่วยนักวิจัย ได้ช่วยกันตีโจทย์ดังกล่าว สู่การจัดกระบวนการของเวที..

  • ใช้ Mind Mapping ระดมพลังกลุ่ม ออกแบบกระบวนการ ตั้งกรอบปฏิบัติ แบ่งภารกิจและประเด็นความรับผิดชอบ วางแผนปฏิสัมพันธ์และเก็บรวบรวมบทเรียน ซักซ้อมจังหวะและการนัดหมาย เพื่อปฏิบัติเป็นทีมแบบให้รู้จังหวะกันเอง
  • ตั้งประเด็นและโจทย์เพื่อการถอดบทเรียน โดยมุ่งไปยังการค้นพบตัวตนและพลังการจัดการเป็นเครือข่ายของปัจเจก เพื่อเห็นวิถีการจัดการแบบใหม่ของชุมชน-เทศบาล ซึ่งพ้นกรอบความเป็นองค์กรและส่วนรวมแบบแยกส่วน คือ...ปัจเจก รวมกลุ่มกันแบบจิตอาสา สร้างความรู้และบทเรียนจากประสบการณ์ ให้เป็นพลังสร้างความตื่นตัวของชุมชน-ท้องถิ่น เพื่อพัฒนา การสาธารณสุขท้องถิ่น ได้อย่างไร โดยมีประเด็นย่อย เพื่อเป็นกรอบในการสกัดบทเรียนจากประสบการณ์ให้สะท้อนกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ คือ

          (1)  พื้นที่ เป็นอย่างไร

          (2) มีจุดเปลี่ยนแปลง อะไร (ที่น่าสนใจและถอดบทเรียนมาแลกเปลี่ยนกัน) สภาพก่อนและหลังจุดเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นอย่างไร

          (3) กลุ่มคน (ที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปง) เป็นมาอย่างไร

          (4) องค์ความรู้ และ บทเรียน ที่ได้ เป็นอย่างไร

          ประเด็นคำถามเพื่อการถอดบทเรียนแบบนี้ เป็นแนวทางการวิเคราะห์โดยวิธีปรากฏการณ์วิทยา(Phenomenology) มีตัวคนสร้างเหตุการณ์ (Social Actors) มีองค์ความรู้จากการปฏิบัติ และสามารถเป็นรายละเอียด ถ่ายทอดสื่อสารกันไปในตัว สร้างทฤษฎีจากการปฏิบัติด้วย และได้เรื่องเล่าอย่างเป็นระบบด้วย

          โดยกระบวนการแล้ว อาจจะเป็นความรู้และทฤษฎีที่แตกต่างจากการสร้างขึ้นโดยกรรมวิธีซึ่งเน้นความรู้เพื่อความรู้ ทว่า จัดว่ามีคุณค่าอย่างยิ่ง ตรงที่เป็นความรู้และทฤษฎีของผู้ที่ปฏิบัติ เชื่อมโยงอยู่กับการปฏิบัติ สะท้อนรูปการณ์ทางจิตสำนึก กระบวนการคิด และการดึงออกมาใช้ในโลกความเป็นจริง ซึ่งเรียนรู้และพัฒนาให้งอกงามต่อไปได้

         ทั้งทีม ประชุมกันหลังการเสร็จสิ้นกิจกรรมเวทีประจำวัน จาก 4 ทุ่มถึงเกือบตีหนึ่ง โดยหลังจากการถอดบทเรียนรายวัน สะท้อนความคิดเห็น และต่างให้ข้อแนะนำกันด้วยความเป็นกัลยาณมิตรแล้ว ก็ช่วยกันระดมความคิด วางแผนปรับกระบวนการในวันรุ่งขึ้น จัดสถานที่ บรรยากาศ และสภาพแวดล้อม ซึ่งในเช้าวันรุ่งขึ้น ก็มาช่วยกันจัดในรายละเอียดอีกรอบ

          กระบวนการทั้งหมดในวันที่สอง ออกแบบเพื่อดำเนินการอย่างพิถีพิถัน ผมเองก็ได้เรียนรู้พลังของทีมมากเป็นอย่างยิ่ง คือ.....

  • ยามเช้า 06.00-8.00 น. เป็นกิจกรรมสร้างสุขภาพและสร้างประสบการณ์ทางการปฏิบัติในกับตนเองในแนวทางของชมรมชีวเกษม-ชมรมมนัสเกษม มี ปรีชา ก้อนทอง เป็นผู้ออกแบบและจัดกระบวนการให้ เริ่มจากการเดินภาวนาอย่างสันติและสงบนิ่งจากภายใน การรำกระบองป้าบุญมี การทำโยคะ การเจริญสติภาวนาด้วยสมาธิแบบเคลื่อนไหวแนวหลวงพ่อเทียน...ใช้สถานที่รอบสระน้ำของโรงแรม ซึ่งตั้งอยู่กลางแมกไม้ริมแม่น้ำแคว เมื่อนอนแผ่  แผ่นหลังสัมผัสได้ถึงความเย็นของแผ่นดิน มองเห็นท้องฟ้าและปุยเมฆ เสียงนกและหมู่จักจั่นเรไร กลมกลืนอยู่กับสายลมรอบตัว
  • ทบทวนวันวาน วางกติกาเวที แนะนำเครื่องมือและวิธีการถอดบทเรียน จัดกลุ่ม มอบวัสดุอุปกรณ์ จากนั้น ก็ให้ชุมชน-เทศบาล ร่วมกันถอดบทเรียนและเตรียมการนำเสนอ ครึ่งวัน
  • ช่วงบ่าย เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละพื้นที่ 14 ชุมชน-เทศบาล มีคณหมอวิไลรัตน์...ผศ.พญ.วิไลรัตน์ นุชประมูล หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ชันสูตร คณะเทคนิคการแพทย์ และ อาจารย์ประภพ ด่านเศรษฐกุล มือชีวเคมี คณะเทคนิคการแพทย์ และผู้จัดการเครือข่ายการวิจัยสร้างสุขภาพชุมชนคลองใหม่ เป็นทีมกำกับกระบวนการให้อย่างน่าอัศจรรย์  
  • ระหว่างการนำเสนอ 2-3 กรณี จะมีทีมจัดกระบวนการ สร้างพลังตื่นตัว (Energizer) ทั้งจากทีมจัดการและจารการอาสาขึ้นมาของทีมท้องถิ่น มาช่วยกันทำให้เวทีมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ
  • หลังเสร็จสิ้นเวทีแล้ว ก็ล่องแพ  นั่งกินข้าว ให้รางวัลแก่การทำงานและความเหน็ดเหนื่อยกันทั้งวัน
  • จนถึง 2 ทุ่ม ก็เข้าห้องประชุม  ล้อมวงคุย เรียนรู้การฟังอย่างลึกซึ้งและการทำสมาธิเคลื่อนไหวแบบหลวงพ่อเทียน  ก่อนแยกย้ายกันไปพักผ่อนเมื่อเกือบ 4 ทุ่ม แล้วทีมจัดการ ถอดบทเรียนรายวัน และประชุมวางแผน เพื่อจัดกระบวนการในวันที่สาม ซึ่งเป็นวันเสร็จสิ้นเวที ให้ได้สาระและมีพลังต่อการสร้างพลังกลับไปทำงานของเครือข่าย ให้มากที่สุด กระทั่งเกือบตีหนึ่งเหมือนเดิม  

          การตั้งประเด็นและคำถาม  รวมทั้งการจัดกระบวนการเพื่อการถอดบทเรียน จัดว่าเป็นหัวใจของการจัดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ ของ 14 ชุมชน-เทศบาล ที่เข้าร่วมในครั้งนี้เลยทีเดียว.

              

หมายเลขบันทึก: 48581เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2006 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 07:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท