ลูกรักในมหานครกับก้าวใหม่ด้านการบริหารจัดการ(2)


ภารกิจพ่อ-แม่ ตอน สาวน้อยจะไป work ค่ะ

"แม่คะ ปิดเทอมปีสองหนูขอไปทำงานด้วยเที่ยวด้วยนะคะ" 

ภารกิจใหม่ของพ่อแม่เริ่มต้นแล้วค่ะจากกิจกรรมอินเทรนด์ของนักศึกษาวัยรุ่น  Work & Travel ค่ะ

เอ่ยปากคราวนี้ เหมือนจะมากกว่าการขออนุญาต มากกว่าจะหยั่งเสียงดูว่าพ่อแม่จะยอมให้ไปไหม คราวนี้ลูกเราเอาจริงแน่เลยค่ะหลังจากการเคยสมัครไปลองข้อสอบเพื่อไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนต่างประเทศเมื่อครั้งเรียนหนังสือระดับเตรียมอุดมศึกษา

คราวนั้นพ่อแม่ก็อีกๆ อักๆ อยู่ เมื่อผลสอบข้อเขียนผ่าน แต่น้ำหนักเหตุผลที่ร้องขอยังมีมากพอที่ลูกจะยอมฟัง  รอให้มีความเป้นผู้ใหญ่(วุฒิภาวการณ์ตัดสินใจ) หรือเรียนระดับปริญญาตรีก่อนดีไหม ความจริงของพ่อแม่อย่างฉันคือ ความเห็นแก่ตัว? หรือความขี้เป็นห่วง? ไม่อยากให้ลูกคนเดียวจากตัวเองไปนานเป็นปี สาวน้อยสมัครไปลองข้อสอบข้อเขียนเล่นๆ อยู่สองครั้ง ก็ผ่านทั้งหมด สอบข้อเขียนผ่านครั้งแรก พอถึงวันพรุ่งนี้นัดสัมภาษณ์ ฉันค่อยโล่งอกเมื่อปรากฏว่าหนูเปลี่ยนใจไม่ไปแล้ว ส่วนอีกครั้งไม่มีการสัมภาษณ์เพราะคะแนนผ่านเกณฑ์ เหลือแค่ตกลงใจไปแต่ไม่สานต่อ เหตุผลคงแค่อยากรู้แนวข้อสอบ (ว่าหนูก็แน่เหมือนกัน)

แต่ฉันคิดว่ากว่าสาวน้อยจะผ่านจุดการตัดสินใจมาได้ ในสมองของเธอคงจะแบ่งเป็นสองฝ่าย คิดหาข้อดีข้อเสียสลับว่าไปหรือไม่ไปดีนะ และอาจจะมีความคิดฝ่ายดี(ดีหรือไม่!) คือให้ความสำคัญกับความรู้สึกของพ่อแม่ปู่ย่า แต่การขอไป Work & Travel  ที่พ่อแม่ไม่อาจปฏิเสธและไม่อาจต่อรองให้เธอรอจบการศึกษาระดับปริญญาตรีก่อนค่อยไป ก็คือพันธะสัญญาในครั้งนั้น "รอให้เรียนมหาวิทยาลัยก่อนแล้วค่อยสอบชิงทุนไปดีไหม ถึงตอนนั้นหนูก็ เป็นผู้ใหญ่มากขึ้นแล้ว" เอาละค่ะ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เราก็มาพูดคุยกันแบบผู้ใหญ่ๆ  จะเริ่มต้นกันตรงไหน พ่อและแม่และเจ้าของความคิดจะไป Work & Travel  นี้จะต้องทำอะไรบ้าง

สรุปได้ว่างานนี้พ่อแม่มีภารกิจอยู่ที่ต้องเตรียมสตางค์จ่ายตามกำหนดเวลาที่บริษัทที่ลูกเลือกเป็นตัวแทน แจ้ง (รวมแล้วประมาณแสน) แอบลุ้นเวลาที่มีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์มาจากบริษัท/ร้านค้าในต่างประเทศที่ลูกเลือกสมัครไปทำงาน  และเตรียมใจเตรียมอาการเป็นห่วงวิตกจริต กินไม่ได้นอนไม่หลับสามเดือนค่ะ

เท่านั้นเอง ฟังดูเหมือนไม่ยากแต่หนักใจนะคะ ถึงแม้ว่าโลกวันนี้เราสื่อสารถึงกันเหมือนกำลังเผชิญหน้ากันห่างแค่คืบเดียวก็ตามเถอะ แต่มันขาด"กอด" ไปใช่ไหมคะ

เอาละค่ะ เมื่อเราคุยกันแล้วว่า “อนุญาต” ก็ต้องยอมรับความจริงกันละค่ะ ที่เหลือๆ ก็เตรียมตัวเตรียมใจเมื่อลูกรักห่างเราออกไปไกลกว่าเดิม จากที่ไปเรียนหนังสือห่างเรา 700 กิโลเมตร เรายังห่วงนักห่วงหนา แต่เข้าใจ-ทำใจได้ แล้วนับประสาอะไรกับห่างไกลเกินครึ่งฟ้าก็แค่สามเดือนเอง อีกหน่อยลูกอาจสอบชิงทุนไปเรียนต่อนานเป็นปี ฝึกใจไว้ค่ะ

ส่วนภารกิจของสาวน้อย ในระยะฟักไข่ เริ่มแรกเธอจะหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาป้อนผู้เป็นพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ สืบเสาะทั้งจากผู้รู้ผู้มีประสบการณ์การเดินทางไปมาก่อน ปรึกษาหารือกับเพื่อนๆที่ตัดสินใจร่วมหัวจมท้ายไปทำภารกิจนี้ร่วมกันว่าจะไปอยู่ร่วมกันที่ไหนดี ตรงนี้ผู้ปกครองสบายใจค่ะที่เด็กๆ คิดวางแผนกันเองและไม่ทำอะไรคนเดียว ไปที่ไหน ทำงานอะไร เลือกเมืองที่จะไปที่เขารับเด็กเข้าทำงานเป็นทีม 3-5 คน และที่สำคัญที่สุดคือการเลือกบริษัทที่ไว้วางใจได้ และมีการเตรียมตัวเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ อย่างไร และรวมไปถึงเรื่องการเรียนพิเศษเพิ่มเติมด้านภาษาที่สาวน้อยของฉันอดทนขวนขวายขยัน

อย่างที่เหมือนจะเคยเล่านะคะว่า ถ้าเรื่องการเรียนจ่ายได้เต็มที่ค่ะ เพราะเห็นประโยชน์ที่จะตกกับผู้เรียนโดยเราจะไม่ไปบังคับต้องอย่างนั้นอย่างนี้ น่าดีใจที่สาวน้อยเป็นเด็กเรียนเสมอต้นเสมอปลาย และรู้ที่จะแก้ไขจุดอ่อนของตัวเอง อย่างเช่นระยะหลังๆ มาฉันจะได้รับรายงานเสียงเริงร่ามาตามสายว่า"สอบผ่านมีนแล้ว" หรือได้คะแนนเยอะมากวิชานั้นวิชานี้

การไปทำหนังสือเดินทางใหม่ การไปยื่นสอบวีซ่า. ล้วนเป็นประสบการณ์ที่สาวน้อยของฉันต้องผ่านมันด้วยตัวเองลำพัง ซึ่งจะว่าไปแล้วเธอโชคดีนะคะที่สามารถทำอะไรได้เองในวัยเพียงเท่านี้ เพราะผู้ปกครองไม่ได้อยู่ด้วยใกล้ๆ ประสบการณ์แรกอาจจะหนักหนาสาหัสอย่างเช่นการขึ้นรถเมล์ที่วิ่งในเส้นทางที่ไม่เคยไปมาก่อน การลงรถเมล์ก่อนหน้าป้ายเป้าหมายเพียงป้ายเดียวที่ค่อนข้างจะสาหัสกับการเดินเท้า. การหาสะพานลอยเพื่อข้ามฟาก แล้วพบว่าเพิ่งจะเดินผ่านมันมา หรือแม้แต่การถามเส้นทางและอาคารเป้าหมายที่จะไป ทำให้รู้อีกว่ายังมีผู้คนในบริเวณพื้นที่ที่เธอไปนั้น ไม่ค่อยจะรู้ว่าสถานที่ที่เห็นอยู่ตรงหน้าคือสถานที่อะไร เป็นประสบการณ์ดีๆที่สาวน้อยได้รับและคงจดจำได้ไปอีกนานค่ะ

ในที่สุดสาวน้อยก็ได้เดินทางไปทำงาน ได้ท่องเที่ยว ได้เรียนรู้โลกใหม่ของการทำงาน การทำความรู้จักเพื่อนต่างชาติ การใช้ชีวิตในต่างประเทศแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ  การพบเจอปัญหาสารพัดและการแก้ไขปัญหาระหว่างใช้เวลาในต่างแดน  ซึ่งการที่เธอมีประสบการณ์อยู่คนเดียวในมหานครมาสองปีนี้ ทำให้ฉัน “เบาใจ” (แต่ยังไม่วางใจ) มากกว่าคุณแม่ของเพื่อนสาวน้อยที่ไม่เคยจากบ้านจากอ้อมกอดแม่ไปไหนไกลมาก่อน

อย่างไรก็ตาม มีข้อดีและเสียในภารกิจนี้ที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้ามค่ะ ...ในปีเดียวกันที่สาวน้อยของฉันไป Work & Travel นี้เอง ถ้าติดตามข่าวทางสื่อมวลชนจะพบว่ามีข่าวการเสียชีวิตของนักศึกษาหญิงคนหนึ่งที่ไปทำภารกิจพิเศษนี้ เป็นข่าวหน้าหนึ่งอยู่หลายวันและหลายฉบับเล่นเอาบรรดาพ่อแม่อย่างฉันและอีกหลายๆ คนผวานอนไม่หลับ ไปตามกัน แม้นว่าเวลานั้นภารกิจ work ของเด็กๆ กำลังจะสิ้นสุดลง. และเริ่มอยู่ในช่วงเวลาการ Travel ซึ่งแน่นอนค่ะว่า เป็นห่วงไม่รู้จบสิ้น

และแล้วทุกอย่างก็ดำเนินไปอย่างราบรื่น  สาวน้อยได้ทำงานตามเวลาและข้อกำหนดภารกิจ  Work & Travel ได้มีรายได้พิเศษๆ มาจับจ่ายซื้อของและใช้ในการท่องเที่ยวหาประสบการณ์ที่ดี มีรายได้ส่วนหนึ่งกลับคืนมาให้พ่อแม่ด้วย และได้ผลการเรียนที่น่าพอใจยิ่งขึ้น เห็นได้ชัดโดยเฉพาะด้านความมั่นใจและกล้าแสดงออกด้านภาษา

เวลาเดินไป ทุกชีวิตดำเนินไป และความเป็นตัวเองของสาวน้อยที่ค่อยๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทำให้เราเรียนรู้ว่า ผู้เป็นพ่อแม่ต้องยอมรับให้ได้ว่าเราจะตัดสินใจอะไรแทนเขาไม่ได้ทั้งหมด จงวางใจและเฝ้าดูห่างๆ แต่พร้อมที่จะพุ่งเข้าไปช่วยเหลือประคับประคองทันทีที่เขาต้องการหรือออกปาก บางสิ่งบางอย่างเขาอาจคิดว่าตัดสินใจได้ ยอมปล่อยโอกาสให้เขาทำไปเถอะค่ะ ประสบการณ์แรกไม่ว่าผลจะออกมาดีหรือไม่ดีอย่างไร เขาจะจำมันได้ชัดเจนค่ะ



ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับ Work & Travel

  • Work & Travel คืออะไร? มีข้อมูลให้ศึกษาได้จากบริษัทต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจ-กิจกรรมนี้ อาทิเช่น   Global-X Work and Travel Program ของบริษัท โกลบอล เอ็ดดูเคชัน เอ็กซ์เชนจ์ จำกัด , Work and Travel USA ของ บริษัทอเมริกัน เลิร์นนิ่ง จำกัด , Work and Travel USA  ของ บริษัท ไฮเออร์ เอ็ดดูเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น
  • หนังสือที่มีการพิมพ์เผยแพร่ ถามหาได้ตามร้านหนังสือทั่วไป
  • เว็บไซต์และบล็อกที่มีการบอกเล่า  อาทิ รู้กันไว้ ก่อนไป... Work and Travel...  รวมทั้งบ่นๆๆ ถึงการไป Work & Travel ซึ่งมีอยู่อีกมากมาย 
    สำหรับผู้ปกครองที่เกาะติดสถานการณ์ของเด็กในความดูแลไม่ควรพลาดอย่างยิ่งค่ะ ฉันขอย้ำนะคะ อาทิเช่น    Work & Travel  ส่ง "คุณหนู" ไปเป็นแรงงานเถื่อน? , Work & Travel ความจริงที่ต้องเปิดเผย (คลิปวิดิโอค่ะ)

 

ในที่สุดแล้ว

ขอบคุณวันเวลาอันราบรื่นที่สาวน้อยของฉันผ่านพ้นภารกิจนั้นมาได้

เอ๊ะๆ! หรือจะเป็นภารกิจพ่อแม่มากกว่า....หรือเปล่าคะ?

คำสำคัญ (Tags): #Work & Travel
หมายเลขบันทึก: 484419เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2012 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ผมว่าจะเขียนความเห็น เขียนไปเขียนมายาวเป็นบันทึกนี้ครับ

อยากให้เครื่องตรวจสุขภาพ มาที่ประเทศเราบ้างจังเลยครับ

เพราะบ้านเรา อยากมาก ได้แค่ แบบนี้

สวัสดีค่ะอาจารย์ Ico48 ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์

  • ขอบคุณค่ะอาจารย์ เห็นด้วยทุกประการเลยค่ะ กับการดูแลอย่างจริงจังเรื่องนี้
  • เคยคุยกับครอบครัวที่มีลูกมากกว่า 1 คน เมื่อคนพี่ได้รับอนุญาตให้ไปได้ ปีหน้าคนน้องก็จะขออนุยาตไปตามแบบพี่บ้าง มีการวางแผนสำหรับค่าใช้จ่ายหมุนเวียนที่ผู้ปกครองต้องเตรียมสำหรับจัดส่งลูกๆ ไป โดยพี่คนโตจะมีเงินเดือนมาคืนให้ใช้เป็นทุนสำหรับน้อง
  • ทั้งนี้เพราะกระแสของการไป Work & Travel มันแรง เหมือนเป็นหลักสูตรที่เด็กๆ ต้องได้ผ่าน ไม่งั้น เชยไปเลย นะคะ

สวัสดีค่ะท่าน เกษตร(อยู่)จังหวัด

  • ในไอแพดมีฟังก์ชั่นกล้อง  Thermal Cameral เอามาแทนปรอทวัดไข้ชั่วคราวก็ได้ 5555
  • แต่เครื่องตรวจสุขภาพแบบไฮเทค ในบ้านเราอาจจะมีก็ได้นะคะ เพียงแค่เราไม่รู้ว่ามีอยู่ที่ไหน  แต่อะไรเรียบๆ ง่ายๆ ก็ดูดีนะคะ ไหนๆ ก็ไหน งั้นเอาเครื่องตรวจวัดสุขภาพมาฝาก ทายซิคะ ใช้ทำอะไร

ผมก็ได้แค่ออกความเห็นครับ งานที่มีอยู่ก็ล้นมือเกินกว่าจะแบ่งเวลามาทำเรื่องนี้ได้ หวังว่าจะมีใครในแวดวงมหาวิทยาลัยผ่านมาอ่านเจอแล้วจุดประกายอยากทำขึ้นมาครับ ผมว่าเริ่มต้นง่ายๆ จากการ accredited บริษัทผู้ให้บริการก่อนเลยก็ได้ครับ

นึกเล่นๆ ว่าเก้ามหาวิทยาลัยวิจัยไทยลงทุนมหาวิทยาลัยจะล้าน องค์กร accreditation นี้ก็มีทุนดำเนินการเลี้ยงตัวเองอยู่ได้แน่ๆ แล้วครับ หนึ่งล้านบาทต่อมหาวิทยาลัยนี่คุ้มมากเมื่อเทียบกับความปลอดภัยของนักเรียนนักศึกษาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท