เรียนนิเวศน์ชีวิต@อมก๋อย


ช่วงเวลา 3 วัน 2 คืน ที่ได้ออกหน่วยร่วมกับมูลนิธิ รพ.สวนดอก
ในเขตพื้นที่ อำเภออมก๋อย 
ได้เปลี่ยนแปลงบางสิ่งในตัวข้าพเจ้า
เป็นบทเรียนที่ "เขียนไม่ออก" หลายประการ
ขณะเดียวกัน..ภาพที่มีก็เป็นเพียงวันแรก ก่อนแบตเตอรี่มือถือจะหมด
(และไม่มีไฟฟ้าให้ชาร์ตอีกเลย)
ขออนุญาตเล่าด้วยภาพ กับความคิดท่อนๆ ที่อาจไม่ตรงกันนัก

###

สุขภาวะ vs วิถีชีวิต
.


ภาพ: โปรดสังเกตข้างๆ คุณโปร่งนภา แม่งานของเรา  ถุงดำไม่ได้ใส่ขยะแต่ใส่กระเป๋าเสื้อผ้า ที่ใส่ท้ายมาเพื่อกันฝุ่น

ภาพจาก www.med.cmu.ac.th : ตรวจไป นั่งเรียนภาษาที่สามไป

ข้าพเจ้าพกนิยาม "สุขภาวะ" จาก อ.เมือง เชียงใหม่ ไปด้วยความมั่นใจ
...
ผู้ป่วยชาวเขารายแรก มาด้วย จุกแน่นท้อง ( "ชา" พร้อมชี้ไปที่ท้อง )
ข้าพเจ้าขอให้ล่ามช่วยแปล
"บอกคนไข้ว่า ช่วงนี้อย่ากินอาหารรสจัด"
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ หันมาบอก
"คนที่นี่ อาหารเขาต้องเค็ม เผ็ด มันเลือกไม่ได้"
.
ผู้ป่วยรายที่สอง มาด้วย แสบเคืองตา เป็นต้อเนื้อ
ข้าพเจ้าขอให้ล่ามช่วยแปล
"บอกคนไข้ว่า อย่าอยู่ใกล้เตาไฟ"
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขคนเดิม หันมาบอก
"คนที่นี่ เขาต้องก่อไฟ นอนในครัวกันทุกคน"
.
ข้าพเจ้าเริ่มรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจเสียแล้วซี :)
ขณะที่มอง ท่าน ผู้อำนวยการ รพ.อมก๋อย คุณหมอประจินต์ ด้วยความชื่นชม
ถึงความ "เฉพาะทาง เชียงใหม่-อมก๋อย" ของท่าน
ที่ซักประวัติเป็นภาษากะเหรี่ยงอย่างคล่องแคล่ว

 ภาพ: คุณหมอประจินต์ ผอ.รพ.อมก๋อย กำลังตรวจคนไข้ชาวไทยภูเขา

###

เรื่องใหญ่ vs เรื่องเล็ก


ภาพ: เส้นทางเป็นหินก้อนเขื่องๆ คนนั่งหัวสั่นหัวคลอนไม่ง่วงดี

การอยู่อาศัยของชนเผ่ากะเหรี่ยงในพื้นที่ อ.อมก๋อย เป็นแบบกระจาย
เป็น "หย่อมบ้าน" เล็กๆ ตั้งในหุบเขา
การเข้าไป นอกจากต้องใช้รถ Four wheel แล้ว
ก็ต้องเดินเข้าไปอีกแต่ละหมู่บ้าน ประมาณ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง
ด้วยรองเท้า Four wheel
ที่มีปุ่มสตั้ด เกาะกับพื้นรูกรังแน่นหนาดีมาก
เสียแต่ ไม่มีระบบโช้ค ทำให้หัวแม่เท้าผู้สวมใส่ระบมไปตามๆ กัน 

ภาพ : รองเท้า "Fourwheels" ขายหน้า รพ.อมก๋อย คู่ละ 65 บาท

ภาพจาก www.med.cmu.ac.th : ลุยแบบเสมอภาค

มองไปที่หนูน้อย ก็พบรองเท้าตราช้าง (หนังธรรมชาติ) กันเป็นส่วนใหญ่
ทีมมูลนิธิ จึงเตรียมรองเท้ามาบริจาค
โดยหวังลดอุบัติการณ์ โรคพยาธิ อันชุกชุม
คนที่นี่เรียกพยาธิ "ช็อคโกลา" 
ที่จำได้เพราะไพล่นึกไปถึง "ช็อคโกแล็ต" :)
แต่ท่านอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญปรสิตวิทยาที่ไปด้วยกัน
กล่าวว่า ชนิดพยาธิที่เจอบ่อยที่สุด ไม่ใช่ พยาธิใส้เดือน (Hookworm)
ที่ชอบชอนไชเท้า
กลับเป็น พยาธิเข็มหมุด (Pinworm หรือ Enterobious - ชื่อนี้คล้องจองกับไข่ของมันที่แบนข้างโป่งข้างเหมือนโดนเบียด)
ที่ติดมือเด็กเล่นดินเล่นทรายแล้วเอาเข้าปาก
อย่างไรก็ตาม
ทั้งสองชนิด ติดจาก (อุจจาระ) คนสู่ (ลำไส้) คน
การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่เพียงการขนเอายาถ่ายพยาธิหรือรองเท้าไปแจก
แต่ทำอย่างไรให้คนมีส้วมใช้

และปัญหาที่ท้าทายยิ่งกว่าคือ ทำอย่างไรให้เขาใช้ส้วมตลอดไป

ภาพ : คุณครูสาลี่ (ซ้าย) ของเด็กๆ ที่เสียสละเป็นครูบนดอยสูงแห่งนี้

###
อนุรักษ์ vs พัฒนา


ภาพ: โปรดสังเกตแผงโซล่าเซลล์ ที่อยู่ซ้ายมือ

ชาวบ้านในพื้นที่ใช้วิถีชีวิตอยู่กับ "ธรรมชาติ"
ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกเพียงเพื่อรับประทานในครัวเรือน มานับร้อยปี
มีมุมมอง เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่อง "ธรรมชาติ"
แต่ละครอบครัวมีลูกหลานเยอะๆ เพื่อช่วยเป็นแรงงาน และ "เผื่อตาย"
ใครอยู่รอดจนเป็นผู้ใหญ่ ก็คือบุคคลที่ "ธรรมชาติ"คัดสรร
วันหนึ่งที่เทคโนโลยีการแพทย์เข้าถึง
ประชากรที่เพิ่มขึ้น
ทำให้การหาที่ทำเกษตรแบบเดิมลำบากยิ่งขึ้น
การพัฒนาเพียงด้านหนึ่ง
มีผลกระทบต่อสมดุลนิเวศน์เดิมอย่างเลี่ยงไม่ได้
หรือถึงเวลาที่วิถีชีวิตดั้งเดิม
จำต้องปรับให้เข้ากับโลกภายนอกที่ก้าวล้ำไปกว่าช่วงตัว
มองในแง่อนุรักษ์วัฒนธรรม อาจเสียดาย
แต่เป็นสิ่งที่ต้องเป็นไป
เพราะมนุษย์ทุกคน ย่อมน่าจะได้รับโอกาส
เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สูงสุดตามศักยภาพตน
มิใช่หรือ..

ภาพ : ห้องครัวของโรงเรียนที่เราพักค้างคืน แบบนี้เรียกว่าหรูสุดในหมู่บ้านละค่ะ

###

บทเพลงที่ท่าน ผู้อำนวยการ รพ.อมก๋อย ครวญให้พวกเราฟัง
ที่ร้านอาหารเปิดดึกแห่งเดียวใน ตัวอำเภอ
ก่อนแยกย้ายกันกลับ
มีผู้แปลเนื้อร้องเป็นภาษาไทยชวนสะเทือนใจไว้ใน pantip.com

ฉันจะก้าวต่อไป
ตามหัวใจปรารถนา
ฉันจะก้าวไปกับเธอ ดาวน้อยที่ด้อยรัศมี
ลาแล้ว ดาวจรัสแสง

โอ้ว่าสักวันหนึ่ง
คงจะมีใคร เลือกหนทางนี้บ้าง
หนทางที่เปล่าเปลี่ยวยากลำบาก
แต่ท้าทาย

ฉันจะก้าวต่อไป
แม้ดวงหน้าจะซีดเซียวด้วยเหนื่อยยาก
ฉันจะก้าวต่อไป เป็นดาวน้อยที่คนเมิน
ลาแล้ว ดาวจรัสแสง ลาแล้ว ดาวที่คนชม

Credit : http://www.thaipoem.com/forever//ipage/poem64982.html

แก้ไขเมื่อ 04 ส.ค. 50 19:02:29

แก้ไขเมื่อ 04 ส.ค. 50 18:10:45



จากคุณ : ป่ามป๊าม - [ 4 ส.ค. 50 18:09:43 ]
 

หมายเลขบันทึก: 484272เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2012 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 12:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (36)

เขียนบันทึกเสร็จก็ดึกเหมือนกันนะครับ คุณหมอบางเวลา ;)...

"หย่อมบ้าน" คำที่ถูกใช้เรียกสถานที่ตั้งของหมู่บ้านในดอยสูง

รวมถึงเป็นที่อยู่ของโรงเรียนที่อยู่ตาม "หย่อมบ้าน" ในดอยสูงด้วยเช่นกันครับ

โรงเรียนที่อยู่ตาม "หย่อมบ้าน" ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนอาจจะอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต ๑ ก็ได้ครับ ซึ่งหมายถึง เขตอำเภอเมือง !?!?!

คุณหมอบางเวลาเขียนบันทึกนี้ จนผมอยากเรียกว่า "ลดความเหลื่อมล้ำ" ของอาชีพที่แตกต่างกันได้เลย

ผมเป็น "ครูน้อย" อ่านบันทึกแล้วก็รู้สึกถึงภาระหน้าที่ ความรู้สึกนึกคิดของคนเป็นหมอเวลาทำงาน

ขอบคุณจริง ขอบคุณจัง ครับ ;)...

ปัญหาที่มีในที่ทำงานของเรา "เล็กลง" ในทันใด ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับการแก้ปัญหาที่สาเหตุนะคะ..

ฝันดีค่ะคุณหมอ

  • การเข้าใจ การเข้าถึง เพื่อการพัฒนา เป็นหลักการปฏิบัติที่องค์พ่อหลวงของชาวไทย ทรงให้แนวทางในการทำงานกับท้องถิ่นห่างไกล

  • คุณหมอมีเจตนาดีและมีความมุ่งมั่นสูง ขอให้กำลังใจค่ะ

อ่านเรื่องคุณหมอ ป.จากอมก๋อย เชียงใหม่ ในขณะที่เดินสำรวจหาดป่าตอง ช่างต่างกันสิ้นดี บางลาถนนโลกียชนของป่าตอง คนต่างชาติและคนไทย เขาใช้วีวิตกันที่นี้เหมือนไม่ใช่วิถีของคน

แวะมาเยี่ยมการเดินทางของคุณหมอครับ

  • คนที่ด้อยโอกาสในบ้านเรา ยังมีอีกเยอะนะครับ..
  • ขอบคุณความรู้ครับ

อาจารย์ครับ....คิดถึงครับหายไปนานครับ...อาจารย์เล่าว่า....เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ หันมาบอก "คนที่นี่ อาหารเขาต้องเค็ม เผ็ด มันเลือกไม่ได้"...ผมได้อ่านงานวิจัยคลาสลิกสำหรับผมมาก ผู้เขียนอภิปรายว่า คนบนดอย จะทานเกลือมาก ๆ เค็มมาก ๆ เพราะการกินเค็มทำให้อยู่กับสภาพที่หายใจบนดอยได้ครับ... กินเผ็ด เผื่อคลายหนาวและเพิ่มกำลังวังชา....ดีใจด้วยนะครับ ที่อาจารย์ได้เป็นสาวภูเขาครับ...อาจารย์สบายดี...ผมก็สบายดีครับ...ขอบคุณครับ

...มาเป็นกำลังใจ ยกกำลังสอง..ให้เจ้าค่ะ..(อ่านแล้ว..ย้อนไปคิดถึง..เมื่อเริ่มไปทำความรู้จักกับต้นไม้..และ"คิด"ที่จะปลูก..ทั้งๆที่ไม่เคยรู้จัก"ต้นไม้และป่า")...คงจะเหมือนกัน..ตรงที่..ไปทำ"ส้วม"และให้"คนป่า.."ใส่รองเท้า"..และเลิก กินเกลือกินเผ็ด..นะเจ้าคะ..ยายธี

 สวัสดีค่ะคุณหมอ...คิดถึงและขอเป็นกำลังใจให้คุณหมอและคณะทำงานนะคะ.

...เห็นสภาพป่าภูเขาแล้วคิดถึงสมัยพ่อบ้านตามหาเมล็ดสุกผักหวานป่าค่ะบางครั้งหลบฝนนอนในถ้ำนึ่งข้าวในกระบอกไม้ไผ่.

...หากสัมผัสวิถีชีวิตคนในป่าจริงๆแล้ว บางอย่างก็ชวนให้คิดถึงตัวเองและคนส่วนมากในเมืองที่ใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยเกินความเป็นจริงค่ะคุณหมอ...

เข้ามาอีกรอบ เพราะ-ทิมดาบ-เปิดลำโพงค้างไว้ครับ เพลงดังกระหึ่มปลุกใจในยามยากไร้ ...ฉันจะก้าวต่อไป แม้ดวงหน้าจะซีดเซียวด้วยเหนื่อยยาก ฉันจะก้าวต่อไป เป็นดาวน้อยที่คนเมิน ลาแล้ว ดาวจรัสแสง ลาแล้ว ดาวที่คนชม... ...อยู่บนที่สูง ย่อมหนาวและเหงา...อยู่ในที่ต่ำ ๆ ใต้ต้นไม้ใหญ่ จะเย็นใจและสุขสบายครับ สู้ ๆ ครับ อาจารย์

  • ถึงแม้ว่า

"มนุษย์ทุกคน ย่อมน่าจะได้รับโอกาส
เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สูงสุดตามศักยภาพตน
มิใช่หรือ.."

  • แต่เรื่องจริง คำว่าย่อมยังห่างไกลสำหรับคน(ด้อยโอกาส)ส่วนใหญ่ นะคะคุณหมอ
  • ส่งกำลังใจให้ด้วยค่ะ

ขอบคุณที่ให้เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ "หย่อมบ้าน" ค่ะ
ในพื้นที่ เป็น "หย่อม" ที่ให้ความหมายต่างจาก "หมู่" จริงๆ 
คุณครูใส่เสื้อสีม่วงที่เห็นในภาพ รับมอบบริจาค รองเท้า นั้น
ก็เป็นอีกคนที่น่านับถือในความอดทนเสียสละค่ะ
ทั้ง "ศศช = ศูนย์ศึกษาชุมชน" มีครูท่านนี้ สอนคนเดียวทุกชั้น
เด็กบางคนเข้าเรียน ป. 1 ตอนอายุ 10 ปี พูดไทยไม่ได้เลยก็มี
 

จริงค่ะ คุณปริม
ไปดูปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อน กว้างใหญ่
ซึ่งทีม รพ.อมก๋อย ทำแล้ว
รู้สึก อุปสรรค ในการทำงานของตัวเอง เล็กลงไปถนัดตา

คิดถึงการออกแบบรองเท้าที่มีปุ่มสตั้ดและระบบโช้ค กันหัวแม่เท้าระบมค่ะ :)

และคิดถึง "ส้วมหลังแรกของหมู่บ้าน" ของตัวเองค่ะ

พี่เป็นช่าง จึงสร้างเอง มีอ่างใหญ่ไว้ใส่น้ำสำหรับอาบ จุน้ำ สิบห้าหาบ! ครุถังใบจัมโบ้ :)

อ่างใส่น้ำราด... จุห้าหาบ! จำแม่นมาก เพราะหาบน้ำใส่ถังจนหลังอาน :)

ผ่านมายี่สิบกว่าปี ห้องน้ำหลังนี้ สภาพยังดีๆอยู่เลยค่ะ


ส้วมชาวเขา คงยาก เพราะลำบากเรื่องน้ำค่ะอาจารย์

ขอส่งกำลังใจให้ทีมงานคุณหมอด้วยค่ะ


(ห้องน้ำและที่เก็บน้ำฝนชุดแรกของหมู่บ้าน อยู่ผิดที่ผิดทาง เพราะรื้อบ้าน สร้างใหม่ขยับห่างออกไปนิด)



 

สวัสดีค่ะคุณหมอ ชื่นชมการที่เป็นทั้งผู้ให้และผู้เรียนรู้ไปในตัวพร้อมๆกันของคุณหมอค่ะ

การแก้ปัญหาเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาไม่มีสูตรสำเร็จจริงๆ แต่ละบริบทมีเรื่องให้เรียนรู้เหตุปัจจัยของปัญหาต่างๆนาๆ พี่ขอเป็นกำลังใจให้ด้วยอีกคนค่ะ

ขอบคุณค่ะ พี่ใหญ่ เจ้าหน้าที่ภาครัฐและคุณครูในพื้นที่ ต่างพยายามนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ ให้คนอยู่กับป่าได้อย่างสมดุล ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา(สาขาอมก๋อย)

โห บังปล่อยหมัดเด็ด
...

วิถีชีวิตคนแตกต่างกัน
ขนาดในจังหวัดเชียงใหม่เอง
อย่าว่าแต่คนอำเภอเมือง กับคนใน อ.อมก๋อย
คน อ.หางดง กับคนใน อ.แม่แจ่ม ยังต่างกันขนาด

เพลงฮึกเหิมมากค่ะ บางที VS ก็ดูต่างขั้ว หากมองว่าในขาวมีดำในดำมีขาว ในเรื่องร้ายก็มักมีบางเรื่องที่ดีซ่อนอยู่ ความสุขท่ามกลางธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร ความคิด จิตใจ อากาศ น้ำ....บริสุทธิ์ คงจะเป็นจุดแข็ง และคงมีสิ่งดี ๆ อีกหลายสิ่ง ที่จะเป็น "รากฐาน" ที่จะวิวัฒน์ พัฒนาต่อ ให้กำลังใจนะคะ อาจารย์หมอ ป. กลับมาพื้นราบ.....เล็บขบไหมคะ

พี่แก้ว เคยไปออกหน่วยชาวเขาที่ใกล้เมืองปาย กับคุณหมอสุพัฒน์ ขึ้นเขาน่ากลัวมาก เห็นชีวิตความเป็นอยู่ชาวเขาดูน่าจะเจ็บป่วยได้ง่ายเพราะบ้านเตี้ย ก่อไฟ ควันไฟอยู่ในบ้าน

จิตอาสาgotoknow....หมอเมืองปายและพยาบาลขอนแก่น  ตามดูสุขภาพชาวม้งและ ปกาเกอญอ

ขอบคุณ อาจารย์โสภณที่มาเยี่ยมค่ะ
สนุกดีค่ะ ทำงานไป เที่ยวไป(แบบโหดๆ หน่อย :) 

คำว่า "ด้อยโอกาส" แทนสภาพได้ชัดเจนค่ะ
มองมุมหนึ่่ง เขาอาจมีความสุขตามอัตภาพ แบบที่เคยเป็นมากว่าร้อยปี
แต่โอกาสจะปรับตัวเข้ากับ สภาพแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง แทบจะไม่มี

 

ขอบคุณที่เพิ่มเติมเกร็ดท้ศนะน่าสนใจค่ะ

คนบนดอย จะทานเกลือมาก ๆ เค็มมาก ๆ
เพราะการกินเค็มทำให้อยู่กับสภาพที่หายใจบนดอยได้ครับ...
กินเผ็ด เผื่อคลายหนาวและเพิ่มกำลังวังชา...

ลองค้นเรื่อง เกลือ กับการทำให้ทางหายใจโล่ง
ที่นี่ บอก น้ำเกลือเข้มข้น 1/4 ชช. ในน้ำครึ่งถ้วยตวง ใช้หยอดจมูก
ช่วยทั้งละลายน้ำมูก และทำให้เยื่อบุจมูกยุบ (คงด้วย osmosis) 
โดยไม่ต้องใช้ Pseudoephidrine (ที่ทางการสั่งเก็บขณะนี้)

สำหรับพริก
ได้อ่านเพิ่มเติม ถึงทราบว่ามีวิตามินซี (กรด ascobic) สูง
ซึ่งถ้ากินพริกเกิน 1 ขีด (จะได้วิตามินซี 87-90 mg) จะทำให้เคืองกระเพาะได้
ขณะเดียวกัน พริกก็มีสารเผ็ด ช่วยให้เส้นเลือดขยาย ร่างกายอบอุ่น
ชื่อ "capsaicin" 

....

จุดประกายความคิดได้มากเลย ขอบคุณค่ะ

 

สวัสดีค่ะคุณหมอปัทมา :

  • อ่านแล้วยิ่งเห็นความเชื่อมโยงต่อระบบสุขภาพชุมชนอย่างมากนะคะ ทุกนิเวศน์ของชีวิตส่งผลถึงกันและกัน และก็ส่งผลต่อสุขภาวะองค์รวมของชุมชนตามแต่บริบทของตน ..
  • บทความคุณหมอแม้เพียงการเล่าเรื่องผ่านภาพก็ช่วยเร่งการหลั่งสารบางอย่างในตัวอย่างพร่างพรูหล่ะค่ะ ขอบคุณค่ะ
  • ขอให้คุณหมอมีความสุขในวันหยุดยาวนี้นะคะ

ขอบคุณ ยายธี ชอบที่เปรียบเปรยค่ะ
การเปลี่ยนแปลง โดยคนภายนอก
คงไม่ยั่งยืนเท่า การเปลี่ยนแปลงจากภายในของคนในพื้นที่เอง
...

ตอนพิมพ์อยู่นี้
ข่าวชาวพม่าเริ่มละโสร่งมาสวมกางเกง
มองได้หลายแง่มุมนะค่ะ 

คุณน้อยเล่าเห็นภาพ ประสบการณ์อยู่กับป่า "หุงข้าวในไม้ไผ่" 
คนภายนอกเมื่อมาเห็น ชาวกะเหรี่ยงทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม
อาจรู้สึกใช้ทรัพยากรพื้นที่สิ้นเปลือง เพราะผลผลิตต่อไร่ต่ำ
แต่มองในแง่การใช้ทรัพยากรน้ำ น้ำมัน ไฟฟ้า  น้อยกว่าคนพื้นราบเยอะค่ะ

ในความมืดมน เริ่มเห็นแสงปลายอุโมงค์

คนดอยส่วนใหญ่ อาจยังห่างไกลโอกาสก็จริง

แต่มีลูกหลานคนดอย หลายคน ได้เรียนหนังสือ บางคนจบตรีแล้ว
ก็กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของทีม รพ.ค่ะ 

อยู่ชายแดนกาญจนบุรี แถวทองผาภูมิ เพิ่งกลับมาอ่าน แอบอ่านตอนใช้ net ได้ แถวนี้เป็ยมอญและปกากะญอครับ เรื่องส้วมและการป้องกันโรค เรื่องน้ำนี่เป็นเรื่องความเคยชินหรือ การขาดน้ำครับ ชาวปกากะญอ ดูแลธรรมชาติได้ดีกว่าความรู้สึกที่เราเข้าใจเขาผิดครับ

คุณตะวันดิน มีประสบการณ์รู้จริงเลยค่ะ ว่า
น้ำเป็นสิ่งสำคัญของสุขอนามัย
ทั้งส้วม (พยาธิ) และการอาบน้ำ (หิด เหา) 
บางพื้นที่ซึ่งอยู่เป็น หมู่บ้านใหญ่หน่อย ก็เริ่มมีประปาภูเขา
คือน้ำห้วยที่ต่อเข้าไป เปิดก๊อกออกใช้ได้เลย 
เห็นเด็กๆ เอาแก้วน้ำไปรอง แล้วดื่มสดๆ ตรงนั้น
น่าวิตกว่า จะดื่มตัวอ่อนปลิงเข้าไปด้วย
คนที่นี่ ถ้ามาด้วย ไอหรือน้ำมูกเป็นเลือด ต้องคิดถึง "ปลิง"
ดังข่าวนี้ค่ะ  

ประสบการณ์ครั้งนี้ สะท้อนมาถึงการสอนนักศึกษาด้วยค่ะ
ดั่งที่อาจารย์ว่า การแก้ปัญหาในแต่ละบริบท ไม่มีสูตรสำเร็จ
ตอนออก OPD การใช้ "Dialogue" บอกผู้ป่วย อย่ากินหวาน กินมัน กินเค็ม
คงไม่ได้การแล้ว
 

ขอบคุณ คุณหมอธิรัมภาที่ย้ำเตือนว่าในขาวมีดำ ในดำมีขาว
จุดแข็งที่ไม่ได้กล่าวถึงคือ วิถีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ
ทำให้ชาวเขา มีร่างกายอดทนแข็งแรง โรคเรื้อรังเบาหวาน ความดัน พบน้อยค่ะ
ส่วนเรื่องเท่า..แค่ระบม โชคดีเล็บไม่ขบค่ะ

ชื่นชมทั้งทีมขอนแก่นและคุณหมอสุพัฒน์ ใจงามค่ะ
ตัวเองมีโอกาสได้ไปร่วม เป็นส่วนเล็กๆ 
ภายใต้การนำของตัวจริงอย่าง ท่านอาจารย์ พงษ์รักษ์ และพี่โปร่งนภา 
ประทับใจมากที่อาจารย์อาวุโสผู้บริหาร ท่านลุยจริงๆ 

ขอบคุณค่ะ 
สรุปเป็นข้อความที่มีความหมายและงดงามมากค่ะ

ทุกนิเวศน์ของชีวิตส่งผลถึงกันและกัน

และก็ส่งผลต่อสุขภาวะองค์รวมของชุมชนตามแต่บริบทของตน ..

ชาวปกากะญอ เขาผูกพันกับธรรมชาติ แต่มีความจำเป็น
เช่น การอาบน้ำ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะอากาศหนาว
(พวกเราเองยังขี้เกียจเลยค่ะ) แล้วกลายเป็นความเคยชิน
ไม่อาบน้ำ เป็นหิดเหา ถือเป็นธรรมดาไป 

อยากมีโอกาสไปบ้างเป็นความตั้งใจอย่างหนึ่งในชีวิต..พยาบาล ที่ยังไม่มีโอกาสได้ทำค่ะ..........

เป็นอุดมการณ์ที่น่าชื่นชมค่ะ

การได้ออกไปเป็นครั้งคราวเช่นนี้

ช่วยเติมไฟ ให้เห็นว่า คนที่ทำงานในพิ้นที่เช่นนี้ทุกวัน
มีอุปสรรคปัญหา ขาดทรัพยากร เขายังทนได้
ปัญหาในรั้ว รร.แพทย์ ดูจิ๊บๆ ไปเลยค่ะ

หากคุณหมอขึ้นไปช่วง พ.ค.-มิ.ย. อาจจะได้เห็นช้างไถนาด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท