การคัดวัวและทำเวทมนต์ให้หลุดจากเกณฑ์ทหาร


ผมได้มีโอกาสไปบ้านโยมพ่อและครอบครัวน้องเขยของท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข) และได้กราบคารวะคุณลุงผล ขำสุข บ้านหนองกลับ โยมพ่อของท่านพระอาจารย์มหาแล จากนั้นก็ได้นั่งคุยกันไปตามประสาวิถีชีวิตชาวบ้าน จึงทำให้ได้ทราบเรื่องราวหลายอย่างจากคุณลุงผล ซึ่งท่านพระอาจารย์มหาแลก็ไม่เคยทราบมาก่อนเช่นกัน บ้านคุณลุงผลโยมของท่านพระอาจารย์มหาแลนั้นโหญ่โต และอยู่รวมกันในบริเวณกว้างขวาง บ้านแต่ละหลังไม่มีรั้วกั้น ลานบ้านหลายแห่งเตียนโล่งสลับกับตัวบ้านได้จังหวะที่กลมกลืน ซึ่งยังคงลักษณะกลุ่มบ้านเรือนแบบดั้งเดิมของชาวบ้านหนองบัวและหนองกลับเป็นอย่างดี

คุณลุงผลเล่าเรื่องย้อนรำลึกถึงวัยหนุ่มและเมื่อเริ่มสร้างครอบครัว ท่านเป็นคนที่ขยันทำมาหากินไม่มีใครเทียบ ในย่านบ้านหนองกลับเมื่อ ๔๐-๕๐ ปีก่อนนั้น ท่านเป็นคนใช้เกวียนเทียมวัวรับจ้างบรรทุกข้าวเปลือกจากหนองกลับและหนองบัวไปขายให้กับชาวบ้านที่ท่าข้าวชุมแสง สามารถขี่เกวียนไปตามเส้นทางลัดและมีผู้ที่รักใคร่ชอบพอกันตลอดเส้นทาง รวมทั้งหลายคนที่บ้านตาลินบ้านของผม ซึ่งเมื่อคุณลุงผลเอ่ยถึงชื่อให้ทราบก็พบว่าหลายคนนั้นเป็นญาติพี่น้องของผมเอง

คุณลุงผลขยันทำนา อีกทั้งเป็นคนบ้านหนองกลับและบ้านหนองบัวเพียงไม่กี่เจ้าที่สามารถเดินทางไปไกลเพื่อไปทำนาแถวทุ่งนาใกล้กับวัดย่านบ้านเกิดของผมซึ่งต้องเดินทางด้วยเท้าครึ่งค่อนวัน และแม้ในปัจจุบันหากเดินทางด้วยรถยนต์ก็ยังเดินทางเข้าถึงได้ลำบาก

คุณลุงสามารถย้อนรำลึกไปจนถึงแม่ใหญ่เหลา ซึ่งเป็นญาติและคนเก่าแก่ที่ชาวบ้านแถวบ้านเกิดผมรู้จักเป็นอย่างดีทุกครอบครัว โดยเล่าว่าเคยช่วยแม่ใหญ่เหลาเข้าทรงตั้งไข่ตามที่คนหนุ่มแถวบ้าน ๔ คนมาขอร้องเพื่อจะได้ไม่โดนทหาร คุณลุงผลทำพิธีช่วยกันอย่างเคร่งครัด แต่หลังจากเกณฑ์ทหารแล้วก็พบว่าทั้งหมดโดนทหารทุกคน การเข้าทรงตั้งไข่ที่คุณลุงผลเล่าให้ฟังนี้ ลักษณะคล้ายกับพิธีที่แถวบ้านผมเรียกว่าการเล่นจุมลา

ประมาณปี ๒๔๘๔ คุณลุงผลเล่าว่ามีทางการไปที่บ้านหนองกลับและออกหมายประกาศเรียกชาวบ้านทุกครอบครัวที่มีวัว ให้นำวัวไปคัด ชาวบ้านเพียงรู้จากปากต่อปากว่าทหารญี่ปุ่นร่วมกับทางการของไทยต้องการคัดวัวไปใช้ในกองทัพ คุณลุงและชาวบ้านได้นำวัวไปให้คัดทุกตัวและวัวของคุณลุงได้ลักษณะตามเกณฑ์ที่ทางการต้องการ ๑ ตัว จากนั้น ก็นำวัวเดินจากหนองกลับไปชุมแสง เมื่อไปถึงก็ได้คัดอีกรอบ

แต่ที่ชุมแสงนั้น วัวของคุณลุงกลับตกเกณฑ์ คุณลุงเลยพาวัวเดินทางกลับและยกมือไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยความดีใจไปตลอดทางที่วัวยังอยู่กับครอบครัวของคุณลุง.

หมายเลขบันทึก: 484051เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2012 21:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เจริญพรอาจารย์

วิเคราะห์จากมุมมองของอาตมาเอง โดยยังไม่ได้ถามโยมพ่อ
เหตุที่ทำโยมพ่อเป็นคนเข้มแข็ง น่าจะมาจากความเปลี่ยนแปลง
ในครอบครัวของท่านคือแม่ของโยมพ่อ(ย่า)ท่านได้เสียชีวิตตั้งแต่โยมพ่อยังเล็ก

จากนั้นก็ช่วยพ่อ(ปู่)ทำมาหากินตั้งแต่อายุยังน้อยและต่อมาปู่ก็มีครอบครัวใหม่
เคยได้ยินท่านเล่าว่า ทำอะไรทุกอย่างต้องพึ่งตนเอง ทำเองทั้งหมด
ฝึกทำมาตั้งแต่เด็ก อุปกรณ์เครื่องมือทำนาทุกชนิดต้องทำเอง ไม่ว่าไถ คราด คลุบ อุปกรณ์เกวียน เครื่องจักสาน งานไม้ งานช่างไม่พึ่งคนอื่น เครื่องดนตรีก็เห็นทำได้หลายประเภท

ท่านต่อสู้มาแต่เด็ก สร้างเนื้อสร้างตัวโดยการพึ่งตนเอง จึงเป็นคนเข้มแข็งอดทน
ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่าโยมพระนั้นทำงานเก่งและค่อนข้างประหยัดอีกต่างหาก(ภาษาชาวบ้านเรียกว่าตระหนี่) โดยเฉพาะก่อนมีครอบครับนั้น ได้รับจ้างขนข้าวเปลือกจากชาวบ้านและเจ๊กในหนองบัวไปขายที่ชุมแสงนี้ไม่มีใครเกิน ทำอยู่หลายปีแม้มาอยู่หนองกลับแล้วก็ยังรับจ้างต่อไปอีก

สิ่งที่บ่งบอกว่าโยมพ่อเป็นคนแกร่งสู้ชีวิตและสร้างฐานะมาแต่เด็กนั้น ที่จริงก็ไม่ได้หยุดแค่นั้น หลังจากมีครอบครัวแล้ว ก็สร้างต่อโดยไม่หยุด จะเห็นได้จากท่านสามารถขยายที่ทำกิน(ซื้อที่ดิน-นา) เพิ่มขึ้นจากเดิม ที่ตากับยาย มอบให้โยมแม่ ซึ่งไม่มากนัก

จนต่อมาได้ซื้อนาเพิ่มขึ้นเป็นสองสามเท่าของที่ดิน(นา)ที่พ่อตาำำแม่ยายยกให้รวมๆแล้วเกือบร้อยไร่ในตอนนี้

                        

                        

ดูฝีมือช่างเข้าไม้ทำบ้าน และทำงานฝีมือ ถักแห ทำเครื่องมือเกษตร และอีกสารพัดแล้ว ก็เห็นความเป็นคนทำมาหากินและมีวิถีปฏิบัติที่สมบูรณ์แบบอย่างยิ่งเลยนะครับ คุณลุงผลโยมพ่อของพระคุณเจ้าดูมีพลังชีวิตและมีพลังความสดใสเปล่งประกายออกจากข้างในอยู่อย่างเป็นปรกติ ทั้งหมดนี้สะท้อนลงสู่การทำทุกอย่างให้เห็นถึงร่องรอยของความมีชีวิตจิตใจสอดแทรกอยู่ในทุกอณู ประนีต งดงาม สงบ ต่อเนื่อง อ่อนโยนแต่แน่วแน่แข็งแกร่ง สะท้อนอยู่ในงานฝีมือทุกอย่างเลยครับ

ส่วนการคัดวัวและทำเวทมนต์ไม่ให้ถูกทหารนี่
ไม่ทราบมาก่อน ก็เลยได้รู้พร้อมกับอาจารย์ในวันนั้นนั่นเอง

มีหลายกรณี ที่ชาวบ้านหาที่พึ่ง
เรื่องทำให้ลูกไม่ถูกทหาร
หลวงพ่อองค์ไหนขลัง พาไปอาบน้ำมนต์
หมอดูแม่นๆ ก็ให้ดูดวงด้วยว่าจะถูกไหม

บนต่อศาลพระภูมิเจ้าที่เจ้าทาง
เจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าพ่อเจ้าแม่
บนกับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
ทั้งหมดนี้คือบนไม่ให้ถูกทหาร

พอถึงวันคัดเลือก เช้ามืดพ่อแม่ญาติๆนำข้าวปลาอาหาร
ไปตั้งบวงสรวงที่ทุ่งนา แล้วเลี้ยงญาติๆเอาฤกษ์เอาชัย
ก่อนเดินทางไปวัด(คัดเลือกที่วัด) 

ไม่รู้เป็นอะไรกลัวจริงๆเรื่องลูกหลานถูกทหารนี่

เจ้าไหนจับได้ใบดำนี่ มีเฮ กลับไปกินเลี้ยงที่บ้านกันต่อ
คนที่จับได้ใบแดง ญาติๆก็ไปให้กำลังใจกันถึงบ้าน
นี่เป็นบรรยากาศงานคัดเลือกทหารของคนบ้านหนองบัว หนองกลับ
ดูแล้วก็อบอุ่นดี
เล่าไม่ละเ้อียดนักเพราะเริ่มจะลืมไปแล้วเหมือนกัน
แต่โดยภาพรวมก็ประมาณนี้
 

บรรยากาศวันคัดเลือกทหารนี่สนุกดีนะครับ ผมก็เคยเห็นและพอจะจำได้ลางๆครับ บางคนก็มีผ้ายันต์แบบแคล้วคลาดหอบไปด้วย บางคนก็เดินก้มหน้าไม่พูดไม่จา เพราะหมอไสยศาสตร์บอกไห้ทำสิ่งต่างๆในวันเกณฑ์ทหารคือเดินออกจากบ้านด้วยเท้าข้างใดข้างหนึ่ง เวทีเท่านั้นเท่านี้ จากนั้นให้ก้มหน้าและห้ามพูดกับผู้คนจนกว่าจะจับใบดำใบแดง  บางคนก็แกล้งแต่งตัวเป็นกระเทยและทำกระตุ้งกระติ้งอย่างเต็มที่เพื่อให้ทางการไม่อยากเลือกไปเป็นทหาร บางคนญาติพี่น้องก็ยกขบวนไปรำบนบานศาลกล่าวอยู่ข้างศาลาวัดหลวงพ่ออ๋อยระหว่างกำลังเกณฑ์ทหารนั่นแล้ว นึกๆแล้วก็ขำและสนุกดีนะครับ

แต่กระนั้น หากใครได้เป็นทหารเกณฑ์และปลดประจำการ กับได้บวชเรียนครบพรรษา ก็จะเป็นที่รักและชื่นชมทั้งของชาวบ้าน พ่อแม่ และญาติพี่น้อง มากอย่างยิ่ง ทำอะไรก็เป็นที่เชื่อถือ จัดว่าเป็นคนที่สุกแล้ว

เจริญพรขอบคุณคุณโยมIco24 ถาวร ที่แวะมาเยี่ยมให้กำลังใจในบันทึกนี้

ได้แอบไปอ่านบันทึกของโยมถาวร หลายเรื่องแต่ไม่ได้ทิ้งรอยให้ปรากฏ
ชอบที่โยมเขียนเกี่ยวกับท้องนาท้องไร่ ธรรมชาติรอบๆตัว
โยมเขียนสั้นๆ แต่มีข้อคิดดีๆ แฝงไว้มากมาย

ที่เห็นสีสันในงานคัดเลือกทหารอีกอย่างหนึ่งคือ
การคัดเลือกทหารนั้น คัดเดือนห้า(เมษายน)
ช่วงนี้เป็นช่วงที่พระท่านสึกมาใหม่ๆ
สึกเดือนสี่ก่อนคัดเลือกทหาร

พี่ทิดสึกใหม่ทั้งหลายนี้(หมายถึงคนหนองบัว หนองกลับ)
ส่วนใหญ่จะมีคู่ดอง เลยทำให้งานคัดเลือกนี้เต็มไปด้วยญาติทุกฝ่าย
นับเป็นงานใหญ่รองจากงานบวชเลยแหละ
ซึ่งทิดสึกใหม่ที่จะคัดเลือกนั้น ก็บวชเมื่อปีก่อนหน้าคัดเลือกนั่้นเอง

จะเล่าให้อาจารย์ํฟังอย่างหนึ่ง ซึ่งคิดว่าไม่มีที่ใดเหมือนแน่นอน
คือคนหนองบัวหนองกลับ งานคัดเลือกก็มีการไปเยี่ยมกันด้วย
คนเฒ่าคนแก่ ลุงป้าน้าอา ญาติพี่น้องที่มีลูกหลานคัดเลือก
วันก่อนวันคัด พี่น้องผองเพื่อน คู่ดอง ญาติพี่น้องคนรู้จักกัน 
จะไปเยี่ยมผู้คัดเลือกถึงที่บ้านเป็นการให้กำลังใจกัน

เด็กๆและแขก(ญาติพี่น้อง)มีโอกาสได้กินลาบด้วย
ถึงขั้นมีลาบเลี้ยงกันด้วยนี่ ไม่ธรรมดาแล้ว
เพราะเมื่อก่อนนั้น การจะได้กินลาบกันแต่ละครั้งนั้น
นั่นหมายถึงต้องมีงานในหมู่บ้านนั่นเทียว 

นึกถึงแล้ว มันเป็นบรรยากาศที่คึกคักอบอุ่น
และคอยลุ้นกันตอนจับใบดำใบแดงด้วยใจระทึกจริงๆ

 

ยุคนั้น การเป็นทหารกับการบรรพชาอุปสมบท ถึงได้เป็นวัตถุดิบและแรงบันดาลใจของการสร้างสรรค์สังคมวัฒนธรรมมากมายหลายอย่างเลยนะครับ มีชุดเพลงแหล่เกี่ยวกับการบวช เพลงเกี่ยวกับทหารออกไปรบ ทหารจากลาคนรัก รวมทั้งเพลง ตชด และจดหมายจากแนวหน้า ที่ทำให้ยอดรัก สลักใจเกิดในวงการเพลงลูกทุ่ง ก็เป็นเรื่องการถ่ายทอดอารมณ์เพลงเกี่ยวกับทหารเหมือนกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท