“น้ำ” กับพัฒนาการที่ดีของชีวิตลูกน้อย


ประโยชน์ของการออกกำลังกายในน้ำ

คอลัมน์ Hot Topic for Baby

นิตยสารบันทึกคุณแม่

ฉบับที่  152 March 2006

โดย Atidtarn

 

น้ำ” กับพัฒนาการที่ดีของชีวิตลูกน้อย

ก่อนที่ลูกน้อยจะลืมตาดูโลก เขาเคยอาศัยอยู่ในน้ำ ภายใน “ถุงน้ำคร่า” มานานถึง 9 เดือน ซึ่งช่วยให้เขาปลอดภัยในครรภ์ น้ำในถุงน้ำคร่ำยังช่วยพัฒนาระบบประสาทสัมผัสต่างๆ ของลูกน้อยในพัฒนาพร้อม เมื่อออกมาสู่โลกภายนอก

 

น้ำพัฒนาเซลล์ประสาทสัมผัสของลูกน้อยในครรภ์

ขณะที่ลูกน้อยอยู่ในน้ำคร่ำ ธรรมชาติได้สร้างให้ลูกน้อยได้รับการพัฒนาระบบประสาทสัมผัสต่างๆ คือน้ำหนักตัวของลูกน้อยในครรภ์ระยะแรกยังมีน้อย จึงลอยอยู่ในน้ำคร่ำคล้ายสภาพสุญญากาศ ทำให้เขาสามารถเคลื่อนไหว แขน ขา ได้สะดวก คล้ายการแหวว่ายในน้ำ และการเคลื่อนไหวของน้ำคร่ำรอบๆ ตัวลูก ยังเปรียบเสมือนมือแม่ที่คอยลูบไล้ตัวเขา แต่เมื่อน้ำหนักตัวของลูกน้อยในครรภ์มากขึ้น ก็จะเริ่มจมลงสู่ฐานของมดลูก ทำให้ผิวหนังของลูกสัมผัสกับผิวด้านในของมดลูก เกิดการกระตุ้นพัฒนาการของระบบประสาทสัมผัสรับความรู้สึก ทำให้เกิดใยประสาทของการรับความรู้สึกที่แตกแขนงประสานกันมากขึ้น เพื่อพร้อมใช้งานได้ในอนาคต

 

น้ำพัฒนาศักยภาพของร่างกายและจิตใจให้ลูกน้อยเติบโต

แม้เมื่อลูกน้อยเกิดมาแล้ว คุณพ่อคุณแม่คงเห็นด้วยว่า น้ำไม่ได้ให้ประโยชน์เพียงแค่ดื่ม กิน อาบ แต่ยังมีประโยชน์ต่อพัฒนาการของลูกน้อยดังนี้

1.การออกกำลังกายในน้ำ ช่วยให้ร่างกายของลูกน้อยแข็งแรงและมีจิตใจที่เข้มแข็ง เชื่อมั่นใจตนเอง เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันเด็กเล็กสามารถออกกำลังกายในน้ำได้ ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ พลเรือตรี นพ.สุริยา ณ นคร ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์ใต้น้ำ เคยชี้แจงว่า อดีตประเทศออสเตรเลียมีปัญหาเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำจำนวนมาก ทำให้มีการหาวิธีที่จะทำให้เด็กลอยตัวอยู่ในน้ำได้ประมาณ 20 นาที พอที่ผู้ใหญ่จะมาพบและช่วยไว้ได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีทักษะการว่ายน้ำที่ดีจะไม่เสียชีวิตจากการจมน้ำ เพราะแม้แต่นักกีฬาว่ายน้ำ ก็อาจจมน้ำได้จากตะคริวกิน ศีรษะกระแทกขอบสระจนหมดสติ ฯลฯ ดังนั้นความปลอดภัยที่แท้จริงคือความไม่ประมาท โดยควรดูแลลูกอย่าให้คลาดสายตา เมื่ออยู่ใกล้น้ำหรือเล่นน้ำ ส่วนทักษะการว่ายน้ำของลูก เป็นเพียงช่วยให้เขามีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมการกลั้นหายใจในน้ำ

 

แต่เด็กก่อนขวบปียังไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ จึงไม่สามารถว่ายน้ำในท่าต่างๆ ได้ แต่มีทักษะการกลั้นลมหายใจในน้ำ เป็นสัญชาติญาณที่สมองสร้างไว้ เพื่อให้ดำรงชีวิตได้ขณะอยู่ในครรภ์ จึงทำให้ง่ายต่อการดำน้ำหลังคลอดถึง 4 เดือน  แม้เด็กยังบอบบางจนอาจทำให้ผู้ปกครองกังวล แต่ความจริงสัญชาติญาณของเด็กจะมีทักษะและโลกทัศน์ทางน้ำค่อนข้างมาก เขาจะกลั้นหายใจทางน้ำได้เอง เหมือนการดูดนมได้เอง ซึ่งเขาทำได้ง่ายกว่าการเปิดปิดท่อลมหายใจเพื่อเอาอากาศเข้า-ออกจากปอดขณะดูดนมเสียอีก แต่หากเขาไม่ได้รับการกระตุ้นเตือนก่อนอายุ 4 เดือนภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ สัญชาติญาณนี้จะเลือนไป เพราะสมองด้านอื่นจะเจริญเติบโตขึ้นแทนจากประสบการณ์การเรียนรู้เรื่องใหม่ในแต่ละวัน มากดสมองส่วนดั้งเดิมไว้ (ศีรษะของเด็กวัยนี้หนักถึง 1 ใน 3 ของน้ำหนักตัว ทำให้ไม่สามารถยกศีรษะขึ้นให้พ้นน้ำเพื่อหายใจได้ จึงควรมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลด้วยตลอด)

 

ประโยชน์ของการออกกำลังกายในน้ำ

การพัฒนาด้านร่างกาย และสติปัญญาเป็นการเรียนรู้ที่ได้จากประสบการณ์เองว่า ควรทรงตัวอย่างไรเพื่อให้สามารถลอยตัวอยู่ในน้ำได้ มีกล้ามเนื้อและกระดูกจะแข็งแรงเร็วขึ้น จึงอาจทำให้เด็กคลานหรือยืนได้เร็วกว่าเด็กวัยเดียวกันเล็กน้อย และมีรายงานการวิจัยของลีเชลอต ดีม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศีกษาและวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคโลญ เยอรมัน ถึงผลของการกระตุ้นกล้ามเนื้อต่อพัฒนการพบว่า เด็กที่เริ่มออกกำลังกายในน้ำอายุก่อน 3 เดือน ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างจะ...

  • แสดงความฉลาดและความสามารถมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ
  • เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว สอดประสานกัน และรักษาสมดุลของร่างกายได้ดีกว่า การพัฒนาด้านจิตใจ จากผลงานการวิจัยข้างต้น ยังได้แสดงถึงผลลัพธ์ที่ส่งผลต่อการพัฒนาด้านจิตใจด้วยดังนี้
    • เข้าสังคมกับผู้อื่นได้ง่ายและรวดเร็วกว่า โดยพบว่าเด็กอายุ 5-6 เดือน มีพัฒนการเข้าสังคมแล้ว ทั้งที่เด็กจะมีพัฒนาการที่อายุประมาณ 3 ปี ทั้งนี้เนื่องจากเขามาที่สระ ได้เจอเพื่อน มีโอกาสอยู่กับพ่อแม่อย่างใกล้ชิด ได้อ่านใจจากการใช้ภาษากายในการหัดออกกำลังกายในน้ำ ซึ่งเป็นพื้นฐานการเข้าสังคม เมื่อเด็กเข้าโรงเรียนก็จะปรับตัวได้ดี
    • สามารถเอาชนะความผิดหวังจากเพื่อนเล่นได้ดีกว่า
    • มีความเป็นอิสระและไม่หวาดหวั่น เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน ทั้งนี้เป็นผลจากกระบวนการเรียนรู้ของเด็กจากการออกกำลังกายในน้ำ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดหากไม่ฝืนความรู้สึกตามธรรมชาติของเขา เมื่อเด็กดำน้ำไปได้สัก 2-3 ครั้ง เขาจะเกิดความเครียดหรือความตื่นตัวที่ได้มาจากการเรียนรู้ แต่ถ้าไม่มีความเครียดหรือตื่นตัวเลย ก็จะคล้ายกับการเรียนไม่รู้เรื่อง เรียนแล้วผ่านลอยไป แต่ถ้าเครียดมากก็จะทำให้ไม่สนุก ก่อให้เกิดความวิตกกังวล ความเครียดปานกลางจึงนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเด็กควบคุมมันได้แค่ไหน หากสามารถผ่านความเครียดนี้ไปได้ มันจะช่วยเปลี่ยนลูกน้อยไปสู่ผู้ที่มีความมั่นใจ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากแววตาของลูก

 

2.น้ำช่วยฟื้นฟูพัฒนาการของลูกน้อย ให้สามารถฟื้นคืนกลับมาเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ได้อีกครั้ง เช่นกรณีน้องป่าน (นามสมมติ) อายุ 1 ปี 2 เดือน คอพับ กล้ามเนื้อหลังไม่มีแรง นั่งไม่มั่นคง ไม่มีจุดศูนย์รวมของสายตา (เหมือนคนตาเหล่) จากกลุ่มอาการดาวน์ซินโดม (Down Syndrome) หลังจากที่คุณแม่พาน้องป่านมาออกกำลังกายในสระ 15 ครั้ง ขาของน้องเริ่มถีบตัวและมีลักษณะความพร้อมที่จะลุกขึ้นยืน การทรงตัวในการยืนดีขึ้น นอกจากนั้นยังมีพัฒนาการด้านสังคม เริ่มคุยและส่งยิ้ม ทั้งที่ปกติเด็กกลุ่มอาการนี้จะเป็นเด็กที่ค่อนข้างขี้ตกใจ จึงไม่ค่อยยอมปฏิสัมพันธ์กับใครง่ายๆ แต่การกระตุ้นด้วยการออกกำลังกายในน้ำ จะทำให้เด็กปิดกั้นตัวเองน้อยลง ช่วยสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับเด็ก ที่จะทำให้เขากล้าแสดงออกเหมือนเด็กปกติ

    ส่วนกรณีของน้องเพื่อน (นามสมมติ) อายุ 1 ปี 2 เดือนแล้วเช่นกัน แต่คอยังพับและนั่งเองไม่ได้ กล้ามเนื้อซกซ้ายอ่อนแรงทั้งซีก คล้ายอัมพาตครึ่งซีก เป็นผลจากหลอดเลือดทางสมองพิการมาแต่กำเนิด คุณแม่จึงพามาออกกำลังกายในน้ำ เพื่อต้องการให้ลูกมีการเคลื่อนไหว หลังจาก 1 ปีผ่านไป น้องเพื่อนสามารถเกาะยืนด้วยตัวเองได้ กล้ามเนื้อมือจากที่เคยอ่อนแรง กลับหยิบจับสิ่งของได้มากขึ้น คุณรัชนก เหลืองแจ่ม นักกายภาพบำบัด แผนกธาราบำบัด รพ.แห่งหนึ่ง เคยชี้แจงว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ได้ เพราะผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อนจะขยับตัวเองแทบไม่ได้เมื่ออยู่บนบก แต่การอยู่ในน้ำช่วยให้ผู้ป่วยสามารถขยับตัวไปมาด้วยแรงของตัวเองได้อีกครั้งโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ผู้ป่วยจึงเกิดความหวังทั้งพลังกายและใจ ที่จะปรับปรุงศักยภาพของตัวเองให้ดีขึ้น การพัฒนาเด็กกลุ่มที่มีปัญหาทางสมอง จะต้องให้เด็กได้เรียนรู้อะไรที่ซ้ำๆ  สมองจึงจะเกิดการเรียนรู้เอง ซึ่งเป็นการบแกให้สมองส่วนที่เหลือเข้ามามีส่วนควบคุมส่วนที่เสียหายไป

 

แม้น้ำจะช่วยฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กที่มีกลุ่มอาการได้ แต่จำต้องได้รับการฝึกฝนผ่านการบำบัดในน้ำที่เด็กยืนไม่ถึง เพื่อเน้นให้น้ำเป็นแรงพยุงตัวเด็ก และเพื่อให้ร่างกายของเขาได้เคลื่อนไหวให้มากที่สุด ทำเช่นนี้ต่อเนื่องอย่างน้อยวันละประมาณ 20 นาที ทุกวันถ้าทำได้

 

ข้อแนะนำในการเลือกสระน้ำให้ลูก

ถ้ามองในด้านสุขภาพของลูกน้อยที่ยังมีภูมิต้านทานต่ำ และผิวอ่อนบางกว่าสารคอรีน ซึ่งทำอันตรายต่อผิวหนังอ่อนๆ ของลูกน้อยได้ ผู้ปกครองจึงควรหาสระที่มีการควบคุมเฉพาะสำหรับเด็ก  เช่น เป็นสระที่อยู่ภายในตัวอาคารในร่ม (Indoor) สระน้ำสามารถปรับสิ่งแวดล้อมของน้ำได้คือ สามารถปรับลักษณะของกระแสน้ำ เช่น ปรับให้เป็นระบบน้ำวน และปรับอุณหภูมิของน้ำได้ ซึ่งจะแตกต่างจากสระน้ำโดยทั่วไปที่จะปรับอุณหภูมิไม่ได้ รวมถึงหากมีสิ่งแปลกปลอม เช่น เศษผล ฝุ่นละออง ซึ่งจะลอยตัวขึ้นมาอยู่บนผิวของน้ำ

 

ศาสตร์ของน้ำจึงมีผลต่อชีวิตของมนุษย์ หากผู้ปกครองท่านใดสนใจพาลูกน้อย โดยเฉพาะลูกน้อยอายุไม่ถึงขวบปีไปออกกำลังกายในหน้าร้อนนี้บ้างแล้วล่ะก็ ควรจะอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ จึงจะสามารถฝึกการออกกำลังกายดำน้ำได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดค่ะ

หมายเลขบันทึก: 483850เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2012 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยครับ ว่าน้ำช่วยสรรค์สร้างจินตนาการและพัฒนาการของลูกน้อยได้ดีเลยครับ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/484593

 

..ปัจจุบัน..ในยุโรป..มีการสร้างสระว่ายน้ำ"ระบบหมุนเวียนทางธรรมชาติ"..เพื่อไม่ใช้..คลอรีน..ด้วยค่ะ...(ยายธี)..ขอบคุณกับข้อเขียนนี้..ให้ความรู้มากๆๆเกี่ยวกับน้ำและ..กำเนิด..คน..และสัญชาติญาณ..(ยายธี)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท