๒๘๗.มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและภูมิปัญญามรดกวัฒนธรรมล้านนา


   

     วันที่ ๓๐-๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕ วัดศรีโคมคำ อำเภอเมืองพะเยา ได้จัด "โครงการงานนิทรรศการและเวทีความรู้ รวมพลังเพื่อฟื้นฟูพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ประสบอุทกภัย"  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและภูมิปัญญามรดกวัฒนธรรมล้านนา" ขึ้นหน้าพระวิหารหลวงวัดศรีโคมคำ

     งานนี้มีพิพิธภัณฑ์ใน ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน(เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน แม่ฮองสอน ลำพูน และพะเยา) รวมเป็นเครือข่าย จำนวน ๑๘ แห่งคือ

     ๑.พิพิธภัณฑ์เล่นได้ จากกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย โดยมีแนวคิดหลักว่าสิ่งของที่จัดแสดงทุกชิ้นสามารถจับต้อง สัมผัส และนำมาเล่นได้

     ๒.พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นสถานที่จัดแสดงเครื่องมือและเครื่องใช้ในการสูบฝิ่น การปลูก ตลอดถึงอุปกรณ์ทุกอย่างเกี่ยวกับฝิ่น

     ๓.พิพิธภัณฑ์เสรีไทย ตั้งอยู่ที่โรงแรมภราดร ถ.ยันตรกิจโกศล อำเภอเมืองแพร่ แสดงถึงหัวหน้าเสรีไทยสายแพร่ ที่ได้ต่อสู้และผลของสงครามโลกครั้งที่สอง

     ๔.พิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง ตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย เชียงใหม่ ที่ได้สะสมโบราณวัตถุ เครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวัน ที่มีคุณค่าแต่ถูกละเลย

     ๕.หอศิลป์ริมน่าน ตำบลบ่อ อำเภอเมืองน่าน เป็นบ้านใหญ่ของศิลปะ สำหรับศิลปินเมืองน่าน ซึ่งมีผลงานของศิลปินหมุนเวียนศิลปะมาให้ชมตลอดปี

     ๖.พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดหนองบัว ตำบลป่าค่า อำเภอท่าวังผา น่าน จำลองวิถีชีวิตของชาวไตลื้อ ผ้าทอ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน โดยจัดแสดงเป็นเรือนไม้ไตลื้อ

     ๗.พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ จัดแสดงผ้าโบราณและสิ่งทอ

     ๘.พิพิธภัณฑ์วัดศรีดอนคำ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ จัดแสดงพระพุทธรูปเก่าแก่ และอารยธรรมยุคพระนางจามเทวี

     ๙.พิพิธภัณฑ์แม่สะเรียง  อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตัวสถาปัตยกรรมของอาคารเป็นศิลปะไทยใหญ่ ในพม่า สิ่งสำคัญคือการจัดแสดงกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย

     ๑๐.พิพิธภัณฑ์วัดนันตาราม ตำบลเชียงคำ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา จัดแสดงวัฒนธรรมพุทธของไทยใหญ่ ทั้งวิหาร พระพุทธรูป เจดีย์ อุโบสถ์ แม้แต่วิถีชีวิตของพระภิกษุสามเณรในวัดทั้งการสวด การเทศน์ ฯลฯ

     ๑๑.พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวง เป็นพิพิภัณฑ์ที่จัดเก็บคัมภีร์ใบลานบันทึกอักษรล้านนาอายุกว่า ๕๐๐ ปี ตู้ธรรม เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเขิน เครื่องประดับ เครื่องสาน เครื่องดนตรี ฯลฯ

     ๑๒.ศูนย์อนุรักษ์ภาพยนต์ย้อนยุค ตำบลบ้านร้อ อำเภองาว ลำปาง ได้จัดแสดงภาพยนต์ระบบ ๘, ๑๕, ๓๕ ม.ม.พากษ์เอง เครื่องฉายและอุปกรณ์อื่น ๆ

     ๑๓.พิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย จัดแสดงอาคารล้านนาประยุกต์ได้อย่างลงตัว

     ๑๔.พิพิธภัณฑ์ปั๊มน้ำมันสามทหาร สี่แยกประตูลี้ อำเภอเมืองลำพูน จัดแสดงปั๊มน้ำมันเก่าของ ๓ กองทัพคือบก-เรือ-อากาศ

     ๑๕.พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว(วัดลี) อำเภอเมืองพะเยา จัดแสดงโบราณวัตถุกว่า ๑๐,๐๐๐ ชิ้น

     ๑๖.พิพิธภัณฑ์วัดปงสนุก ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่น เชื่อและที่มาของวัด สถานที่ดำน้ำชิงเอาเมืองกัน ที่ตั้งของเสาหลักเมืองเดิมเป็นต้น

     ๑๗.โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จัดแสดงความเป็นชุมชน-คนล้านนา วิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ฯลฯ สามารถเข้าไปเรียนรู้ ดูภูมิปัญญาได้ และ

     ๑๘.หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ เจ้าภาพ จัดแสดงวัตถุโบราณ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ ศิลาจารึก นิทรรศการหมุนเวียน ฯลฯ

     นอกจากการจัดแสดงจากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ล้านนาทั้ง ๑๘ แห่งแล้ว ยังมีการจัดของดีจากอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดพะเยาด้วย แม้ผู้เขียนเองก็อดแจมไม่ได้คือบรรดาลูกศิษย์ได้จัดบูธแสดงหนังสือด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นของผู้เขียนร่วมกับหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำและมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยาด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 483822เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2012 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ถ้าท่านพระครู จะไหว้วานให้ลูกศิษย์ช่วยนำภาพในงาน บูู๊ธต่างๆ
มาประกอบเรื่องด้วย จะได้เห็นบรรยากาศดีมากเลยครับ

ชอบพิพิธภัณฑ์เล่นได้ครับ
เอ พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่นก็มีด้วยเนาะ
ชุมชนล้านนาเคลื่อนไหวตลอดเลยครับ 

ภาพประกอบมาแล้วครับ ขอบคุณที่เสนอแนะ

ส่วนพิพิธภัณฑ์เล่นได้ และพิพิธภัณฑ์ฝิ่นจะนำเสนอต่อไปครับ

ขอบพระคุณอย่างมากเลยครับ
ทำให้ผมได้เห็นบรรยากาศในงาน
เหมือนกับได้ไปเดินชมสถานที่จัดงานจริง
 
บูธเกี่ยวกับหนังสือของท่านพระครูบูธนี้ คนไทยเราสนใจมากไหมครับ

อาทิตย์ที่แล้วผมกับดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ไปจัดนิทรรศการเวทีคนหนองบัว
ร่วมกับงานงิ้วงานประจำปีไหว้เจ้าเจ้าแม่หลวงปู่ฤาษีนารายณ์ ที่อำเภอหนองบัวมา
ปีนี้จัดเป็นปีที่ ๒

งานความรู้ หรือให้การปัญญาแก่ชุมชน สำหรับบ้านเรา คงต้องหาโอกาสทำไปเรื่อยๆ
ผมทำเวทีเล็กๆแทรกอยู่ในงานวัฒนธรรมชุมชน พอไ้ด้ทำแล้วก็ได้เห็นคนมาเรียนรู้เรื่องของตัวเอง แม้ไม่มาก แต่ก็สุขใจดี มีคนมาให้ข้อมูลชุมชน นำภาพเก่าๆที่บอกเล่าเรื่องราวชุมชนได้เรียนรู้ร่วมกัน มีผู้เฒ่าผู้แก่มายืนอ่านนานๆ ก็ประทับใจ ทำให้เรามีกำลังใจ 

งานให้ความรู้เห็นผลช้า แต่ยั่งยืนครับ การที่ผู้คนนำผลงานเราไปอ้างอิง และนำเสนอต่อในมิติอื่น ๆ ผมว่าประสบความสำเร็จแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท