หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : (รายงานสด)... เปิดตัวกระบวนการติดอาวุธทางปัญญาก่อนลงสู่ชุมชน


วันนี้เป็นวันแรกของการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "ความคิดเชิงระบบในการศึกษาวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม”  โดยโครงการดังกล่าวดำเนินการในระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 1 เมษายน 2555 ณ ห้องประชุมศูนย์นวัตกรรมไหม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

โครงการดังกล่าวเป็นกระบวนการหนึ่งในการดำเนินงานโครงการบริการวิชาการแก่สังคม ภายใต้นโยบายเชิงรุกของกิจกรรม “หนึ่งหลักสูตร หนึ่งชุมชน”  ที่มุ่งให้อาจารย์ในแต่ละหลักสูตรได้เรียนรู้ชุมชนผ่านการบริการวิชาการแก่ชุมชนแบบมีส่วนร่วมทั้งในมิติของอาจารย์ บุคลากร นิสิต และชาวบ้าน รวมถึงภาคีเครือข่ายต่างๆ ในบริบทที่เกี่ยวข้อง

 

 

กิจกรรมหนึ่งหลักสูตร หนึ่งชุมชน เป็นกิจกรรมแห่งการส่งเสริมและสนับสนุนให้แต่ละหลักสูตรได้ประยุกต์การเรียนการสอนและการวิจัยไปสู่การเรียนรู้และให้บริการแก่สังคม รวมทั้งการมุ่งประสานความร่วมมือกับชาวบ้านเพื่อสรรค์สร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง โดยใช้ชุมชนเป็นโจทย์ หรือเป็นฐานการเรียนรู้

 

เบื้องต้นโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ได้ตั้งเป้าหมายให้ทุกหลักสูตร (94 หลักสูตร) ได้ลงสู่ชุมชน โดยมหาวิทยาลัยสนับสนุนงบประมาณโครงการละ 80,000 บาท และให้แต่ละหลักสูตรสมทบอีกโครงการละ 20,000 บาท ซึ่งระยะที่ 1 นั้นมีโครงการที่ผ่านการพิจารณาให้ดำเนินการ 51 โครงการ (51 หลักสูตร) ครอบคลุมพื้นที่ดำเนินการในจังหวัดมหาสารคาม 44 โครงการ และที่เหลือกระจายไปสู่จังหวัดใกล้เคียง อาทิ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และสกลนคร

สำหรับกิจกรรมในวันนี้  กิจกรรมหลักๆ เป็นกิจกรรมที่มุ่งเตรียมความพร้อมให้กับอาจารย์และบุคลากรได้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับการ “ทักษะในการทำงานร่วมกับชุมชน”  รวมถึงการมุ่งเน้นให้อาจารย์และบุคลากร รวมถึงคณะวิทยากรกระบวนการจากทีม “สกว” ในภาคอีสานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในสิ่งอันเป็น “ปัญญาปฏิบัติ” ของการทำงานในชุมชน

 

 

ครับ-อาจกล่าวได้ว่ากิจกรรมในวันนี้  เหมือนนำพาอาจารย์ บุคลากรมาแบ่งปันความรู้ร่วมกัน พร้อมๆ กับการลับอาวุธทางปัญญาให้แหลมคมมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นของการเรียนรู้และทำงานกับชาวบ้าน...

 

ภาคเช้า :

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยความเรียบง่าย พิธีกรทักทาย ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการกล่าวทักทายและแถลงกรอบแนวคิดเกี่ยวกับการขับเคลื่อนกิจกรรมหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนให้ร่วมรับรู้กันอีกรอบ  ถัดจากนั้นพิธีกรละลายพฤติกรรมแบบเรียบง่าย เพื่อเน้นย้ำให้อาจารย์และบุคลากรได้ร่วม “ถอดหัวโขน” หรือ “ถอดวางยศตำแหน่งทางวิชาการ” ออกจากตัวตน เพื่อ “เปิดใจ” แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างจริงจัง และจริงใจ

นอกจากนั้นยังรวมถึงกิจกรรมถามทัก “ความคาดหวัง” ผ่าน “บัตรคำ” เพื่อนำกลับมาให้ทีมงานได้สังเคราะห์ความคาดหวังตามกระบวนการ “BAR” 

 


ถัดจากนั้นก็นำเข้าสู่บทเรียนผ่าน “วีดีทัศน์” ที่เกี่ยวกับการวิจัยท้องถิ่น (นักวิจัยไทบ้าน) เพื่อให้อาจารย์และบุคลากรได้ทบทวนทักษะการ "ดู-ฟัง-คิด”  เป็นการเน้นย้ำการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านชุดบทเรียนแห่งความสำเร็จ เพื่อปะติดปะต่อสู่ “ฐานความรู้และความคิด” ในตัวตนของแต่ละคน เสมือนการชวนให้แต่ละคนได้วิเคราะห์สังเคราะห์ศักยภาพของตัวเองไปพร้อมๆ กับการ “ถอดบทเรียน” จากสื่อ
วีดีทัศน์ภายใต้วาทกรรมสำคัญ ๆ คือ “แนวคิด-เครื่องมือ-กระบวนการ”  ที่นำพาให้เกิดงาน "วิจัยที่กินได้”  ผ่านการ “โสเหล่” ร่วมกัน

 

 

ภาคบ่าย :

กระบวนการทั้งปวงจะมุ่งเน้นให้อาจารย์และบุคลากรทุกคนถอดวางหัวโขน ไว้ที่มหาวิทยาลัย เพื่อเดินทางลงสู่หมู่บ้านร่วมกัน  โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ทุกคนได้ฝึกการปฏิบัติจริงในการเรียนรู้ชุมชน เน้นการเรียนรู้ “บริบทชุมชน” ร่วมกัน โดยไม่มีพรมแดนความเป็นหลักสูตรหรือสาขาวิชาชีพ ไม่แบ่งแยกความเป็นนักวิชาการและชาวบ้าน ทุกอย่างจะเรียนรู้ร่วมกันแบบเนียนๆ ภายใต้วาทกรรมหลักๆ อาทิ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ฯลฯ

ครับ-นั่นคือกระบวนการภาพรวมที่ถูกจัดวางไว้ในวันนี้  โดยพรุ่งนี้อาจารย์และบุคลากรกลุ่มต่างๆ จะนำพาผลแห่งการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการมาบอกเล่าสู่กันฟังอีกรอบ-

 

ขอบคุณทีมวิทยากร
นำโดย
รศดร.สุจินต์ สิมารักษ์
อาจารย์บุญเสริฐ เสียงสนั่น
และทีมงาน

 

หมายเลขบันทึก: 483805เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2012 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

ชื่นชมแบบอย่างดีๆอย่างนี้ค่ะ..ตรงจุดของสายวิชาการเพื่อสังคมจริงๆ

สวัสดีครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

งานครั้งนี้ท้าทายน่าดูครับ ปักธงสู่การเรียนรู้กลไกเกี่ยวกับการบริการวิชาการแก่สังคมและการวิจัยถึงกระบวนการของมหาวิทยาลัยในการเรียนรู้และให้บริการวิชาการแก่สังคม อันเป็นวิสัยทัศน์หลักที่มหาวิทยาลัยได้กำหนดไว้

กิจกรรมเหล่านี้เป็นกลไกการหนุนเสริมพลังร่วมกัน เพราะโดยแท้จริงอาจารย์และบุคลากรหลายท่านก็มีความรู้ความสามารถ หรือทักษะในการทำงานร่วมกับชาวบ้านอยู่แล้ว และเวทีครั้งนี้จะปลดล็อกเพื่อให้แต่ละท่านนำความรู้และประสบการณ์มาแบ่งปันต่อกันและกัน  ซึ่งคาดหวังไว้ว่าจะช่วยให้มีการเติบโตในทางระบบและบุคคลควบคู่กันไป

ขอบพระคุณครับ

 

ส่งกำลังใจ หนุ่มกลางทุ่งสารคาม เสมอ เช่นเคยค่ะ :)

ขอบคุณมากครับ คุณปู Poo

ภาคบ่ายแบ่งกลุ่มเป็น 3 กลุ่มลงเรียนรู้ชุมชน เป็นการเรียกน้ำย่อยในการศึกษา "บริบท" ของชุมชน โดยเลือกพื้นที่ใกล้ๆ มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ  ซึ่งคาดหวังไว้ว่าอาจารย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะเกิดทักษะ ความรู้ หรือแม้แต่แรงบันดาลใจในการที่จะสร้างสรรค์การเรียนการสอน โดยมีชุมชนเป็นฐานอันสำคัญของการเรียนรู้ทั้งในและนอกหลักสูตร...

ครับช่วงบ่าย เสมือนชวนให้เก็บข้อมูลชุมชน วิเคราะห์ชุมชน ..ฯลฯ..

 
 

ยินดีด้วยค่ะ ที่แนวคิด หนึ่งตำบลหนึ่งหลักสูตร ผ่านการพิสูจน์ตัวเองจนได้รับการยอมรับ

สวัสดีครับ คุณป.

กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ก็เหนื่อยน่าดูครับ เรื่องราวระหว่างทางสุขและทุกข์ปนมาต่อเนื่อง แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ มีความสุขกับการเรียนรู้ต่อปรากฏการณ์ที่อยู่ตรงหน้า การทำงานกับชุมชน ทำให้เรามีชีวิตชีวา...เห็นความงดงามของจิตใจอันละเอียดอ่อนของชาวบ้าน

จากหนึ่งคณะ ..หนึ่งหมู่บ้าน
สู่..หนึ่งคณะ หนึ่งชุมชน
และวิวัฒน์สู่
หนึ่งหลักสูตร หนึ่งชุมชน

นี่คือภาพสะท้อนเล็กๆ ของทิศทางที่เป็นรูปธรรมของการตระหนักว่า "เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน"..

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.วัส Wasawat Deemarn

ผมพยายามเรียนรู้ที่จะทำในสิ่งที่ตนเองรัก..และทำสิ่งเหล่านั้นให้ดีที่สุด ทั้งในระดับปัจเจก และระดับกลุ่ม...

ขอบคุณที่แวะมาเติมกำลังใจ นะครับ

 

เบิกบาน...ชื่นบาน ชื่นชมค่ะ

มาเชียร์ชอบกิจกรรมแบบนี้ รถเป็นอย่างไรบ้างครับ ดีใจที่น้องไม่เป็นอะไรมาก

ขออวยพรให้ทุกคนในโครงการทั้งอาจารย์และศิษย์มีพลัง มีสติ-ปัญญา มีความสุขในการเรียนรู้ เพื่อทำกิจกรรมในพื้นที่จริงต่อไป แนวคิดแบบนี้น่าจะมีในสถาบันการศึกษาทุกแห่งนะคะ เพราะเรามักเห็นบ่อยๆว่า การศึกษาจาก text ตำราเรียน ทุกคนก็ยึดมั่นเช่นนั้น พอไปทำงานจึงขาดความสนใจต่อบริบท หรือ context

สวัสดีปีใหม่ค่ะอาจารย์

  • นับเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่น่าชื่นชมมากค่ะ
  • ขอให้มีความสุขในการแบ่งปันทุกถ้วนหน้านะคะ

เพื่อนดิฉันไงก็ยังเป็นอาจารย์อยู่วันยังค่ำ

มาเชียร์ชื่นชมหลักสูตร สู่ชุมชน

ชุมชนมีทุนทางภูมิปัญญา ทุนทรัพยากร สิ่งแวดล้อม

ได้ปัญญาชนมาเสริมความรู้การจัดการ นำไปสู่การจัดการตนเองของชุมชนในอนาคต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท