๑. วิกฤตการศึกษาไทย


วิกฤตการศึกษาไทย

บทนำ   :  วิกฤตการศึกษาไทย 

 

  • ผมเชื่อว่า  มีครูหลายคน  อาจยังไม่ตระหนักถึงผลของการจัดการศึกษา(ฝีมือครู) ของโรงเรียนในประเทศไทย  มีผลทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง  จากการที่ทำให้ได้เยาวชน หรือพลเมืองที่ไม่มีคุณภาพพอ  เป็นบุคลากรที่ไม่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง  ขาดการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ให้เป็นคุณธรรม หรือ จริยธรรมอย่างจริงจัง   จึงทำให้สังคมวุ่นวาย  แตกแยกกัน  ค้าขายขาดทุน  ประเทศชาติขาดการพัฒนา ฯลฯ  ทั้งๆที่สังคมไทยให้โอกาสครูทางสังคมมากกว่าทุกอาชีพ  แถมกระทรวงศึกษาธิการ  รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย  ได้จัดสรรงบประมาณสูงมากกว่าทุกกระทรวงติดต่อมาอย่างต่อเนื่อง  และให้เงินเดือน รวมทั้งการเลื่อนขั้นตำแหน่งได้อย่างรวดเร็วกว่าข้าราชการทุกกระทรวง  แต่...ผลการจัดการศึกษา “ล้มเหลว-ขาดทุน” ไม่คุ้มค่าที่รัฐและประชาชนลงทุนให้มาโดยตลอด  

  • เพียงแค่ผลการทดสอบระดับชาติ (O-net)  ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6  ขอยกตัวอย่างปีการศึกษา 2549  ซึ่งมีทั้งหมด  2,594 โรงเรียน  โรงเรียนที่มีผลการทดสอบเกินครึ่ง (250 คะแนน) มีจำนวน  21  โรงเรียน  คิดเป็นร้อยละ 0.8  มีผลการทดสอบเกิน 200  คะแนน  จำนวน  169  โรงเรียน   คิดเป็นร้อยละ 6.52

  • แต่...ปรากฏว่ายิ่งทดสอบ  คะแนนก็ยิ่งถดถอยลงไปทุกปี  เพราะเหตุใดล่ะ  ถ้าไม่ใช่ผลงานการจัดการศึกษาของคนที่มาประกอบอาชีพครูหรือ?  ซึ่งผู้ใดสนใจต้องการรู้ผลการทดสอบแห่งชาติในแต่ละปีในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  มัธยมศึกษาปีที่ 3  และมัธยมศึกษาปีที่ 6  สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซด์ของ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ) (องค์การมหาชน)  https://www.niets.or.th/th/

  • และแม้จะมีการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาทุกสังกัด   โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา (สมศ) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544  จนถึงปัจจุบัน หมดเงินภาษีอากรประชาชนไปหลายพันล้าน  จำนวนโรงเรียนที่ได้รับการรับรอง จาก สมศ.มีมากขึ้นทุกวัน    แต่ก็ไม่เห็นว่าผลของการศึกษาจะมีประสิทธิภาพขึ้นตามไปด้วย  จนสังคมตั้งข้อสงสัยวิธีการทำงาน  และมีบางคนบางกลุ่มเสนอให้ยุบสถาบันองค์กรนี้ด้วย

  • แม้กระทั่งผลการแข่งขันในเวทีระดับต่างๆ ของสากล ผลปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับเกือบสุดท้ายทุกครั้งไป  ยิ่งถ้าต้องการทราบผลการประเมินหรือทดสอบความสามารถของคุณครูที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการทดสอบ  ก็ยิ่งเป็นที่น่าตกใจ  เพราะผลการทดสอบ พบว่า  ความรู้ความสามารถของครูประเทศไทยต่ำกว่าเกณฑ์ทุกวิชา   โดยเฉพาะผลการทดสอบวิชาภาษาอังกฤษ   คณิตศาสตร์   วิทยาศาสตร์ ฯลฯ

ผลการจัดการศึกษาที่ล้มเหลวเช่นนี้    จะเป็นความผิดของใคร ?   ใครจะรับผิดชอบ  ?


ถ้า...ตราบใด การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนมีแต่ปัญหา

ก็จะทำให้เกิดวิกฤตทางการศึกษา

เมื่อการศึกษาวิกฤต  สังคมก็วิกฤต  และพาประเทศวิกฤตไปด้วย



  • แท้จริงแล้ว  คุณภาพของนักเรียน  เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของโรงเรียน  และคุณภาพของโรงเรียนก็สามารถเป็นตัวชี้วัดคุณภาพสังคม และประเทศในที่สุด     ซึ่งถ้าพวกเราครูทุกคน  สามารถปฏิบัติงานของเราเป็นไปอย่างมีหลักการ และมีขั้นตอน  เป็นไปตามกระบวนการเรียนรู้  หรือธรรมชาติการเรียนรู้ หรือจิตวิทยาการเรียนรู้ในการฝึกนักเรียนแล้ว นักเรียนก็จะกลายเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและศักยภาพในการพาสังคมเจริญก้าวหน้ามั่นคงไปตามลำดับ    ดังนั้น  กล่าวได้ว่า  “ครู” หรือ พวกเรานั่นเอง คือ ผู้กำหนดชะตากรรมของประเทศ


  • เมื่อผมนึกถึงความหลังสมัยยังเป็นครูตามโรงเรียนต่างๆ ผมมั่นใจว่า ผมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมหรือประเทศ  ได้พลเมืองที่มีคุณภาพดีขึ้นอย่างแน่นอน   สำหรับผมเองผมชอบเป็นครู  เพราะเป็นงานที่ผมทำเสร็จแต่ละภาคหรือปี ผมจะมีความสุข  มีความภูมิใจเมื่อนั้นทันที  ทั้งนี้ เพราะผมเห็นนักเรียนมีพัฒนาการดีขึ้นทั้งด้านความคิด อารมณ์ จิตใจ และทักษะการเรียนรู้ต่างๆ จากการฝึกของผม  นี่คือความจริงที่ผมได้มาตลอดความเป็นครู 40  ปี   ผมเชื่อว่าคงมีเพื่อนครูหลายท่านมีโอกาสสัมผัสถึงความรู้สึกเช่นนี้   ผมเคยสังเกตสิ่งที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนจากตัวครูที่สามารถฝึกฝนเด็กๆ หรือช่วยเหลือเด็กให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้น    ล้วนเหมือนกันทุกคน  นั่นคือ แววตา ใบหน้าที่มักมีความสุข ความภูมิใจเสมอ


  • ผมเองเชื่อว่า  จริงๆแล้ว  เพื่อนครูทุกท่านตั้งแต่วันแรกที่เป็นครูตามโรงเรียนต่างๆ ล้วนมาด้วยใจอยากเป็นครู ตั้งใจอยากสอน  อยากพัฒนาเด็กให้ดีขึ้นทุกคน  โดยการพยายามหาแนวทางการสอนใหม่ๆ  หรือพัฒนาคุณภาพวิธีการสอนของตัวเองอยู่เสมอ  แต่การที่ครูจะทำได้อย่างนี้อย่างต่อเนื่องทุกปีจนเกษียณอายุ ล้วนต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคนานัปการ  ไหนต้องทุ่มเทเสียสละเหน็ดเหนื่อยกับการสอน-อธิบายความรู้ให้เด็ก ยังต้องเตรียมสื่ออุปกรณ์เกือบทุกวิชา  เพื่อมาฝึกฝนนักเรียน รวมทั้งตรวจสอบ ติดตามการเรียนรู้ของเด็กๆแต่ละคนว่าได้ผลเป็นอย่างไร  และยังต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ  จนดูเหมือนว่าครูเหล่านี้จะไม่สามารถจะสานฝันให้เป็นจริงได้  เพราะนอกจากภาระการสอนแล้ว  ยังต้องมีภาระงานพิเศษที่ผู้บริหารมอบหมายให้ช่วยงาน   ในแต่ละวันพอถึงบ้านก็หมดแรง   แถมภาระที่จะต้องดูแลครอบครัวที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัสพอควร   ในขณะที่ทุ่มเทเสียสละเพื่อนักเรียน  ก็ยังมีเพื่อนที่มาแค่ “ประกอบอาชีพครู” บางคนคอยเยาะเย้ย  ถากถาง  ซ้ำเติม  หรือตอกย้ำว่าบ้าบ้าง  อยากดังบ้าง  อยากให้เด็กรักบ้างอยู่ตลอดเวลา   ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หาคนที่จะ “เป็นครู” ที่ปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพคงเส้นคงวายากยิ่งขึ้นทุกปี

  • เมื่อหาผู้ที่จะคงเส้นคงวาในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องได้ยาก  จึงทำให้วิกฤตการเรียนการสอน เกิดขึ้นในโรงเรียนทั่วประเทศ  ครูที่ใจแข็งไม่พอ  จึงยอมแพ้  ละเลยเพิกเฉยต่อการพัฒนาคุณภาพการสอน  กลายเป็นครูส่วนใหญ่ในทุกโรงเรียนที่ต้องอยู่อย่างหมดกำลังใจ และทำให้มีปัญหาจากการปฏิบัติงานครู  สะสมในจิตใจของเขาวันแล้ววันเล่า  กลายเป็นคนที่มีบุคลิกหมดอาลัยตายอยาก   เบื่อ  เซ็ง  หน้าตาไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส  แววตามีแต่ความแห้งแล้ง  ไม่มีความสุข   มาโรงเรียนก็มาแต่ตัว  มาถึงก็บ่นแต่ปัญหาต่างๆให้เพื่อนครูฟัง  หรือบ่นว่าอะไรต่ออะไรให้เด็กฟัง  บางครั้งก็ตีเด็ก ทำร้ายเด็ก ด่าเด็กด้วยถ้อยคำรุนแรง  ดูเหมือนคนเหล่านี้เอาเด็กๆเป็นที่ระบายความเครียดของตัวเองก็มี  จนคนฟังเอือมระอาหมดศรัทธาครูไปอย่างแพร่หลาย 

 

ในที่สุดวิกฤตการเรียนการสอน  ก็กลายเป็นวิกฤตของชีวิตครูไปด้วย


  • เพื่อนครูที่รักครับ  ผมอยากให้เพื่อนครูรำลึกถึง “ความรู้สึกที่เป็นครู” ในวันแรก-ปีแรกที่มาทำงานบ่อยๆครับ  ความรู้สึกที่เพื่อนครูอยากสอน อยากให้เด็กรู้ เด็กเข้าใจสิ่งที่เราพูดเราสอน  ยิ่งถ้าเพื่อนครูจำแววตา รอยยิ้ม ใบหน้าที่ตื่นเต้นของเด็กๆ ที่ได้ฟังเราพูดเราอธิบาย  ก็จะทำให้เพื่อนครูเข้าใจเป้าหมายความเป็นครูที่แท้จริง  ได้แน่นอน   ยิ่งถ้าเพื่อนครูสามารถรำลึกถึงวันที่เรา “ฝึกฝน มากกว่า สอน-อธิบาย-แนะนำ”   จะเห็นตรงกันกับผมว่า ความตื่นเต้น  กระหายในความรู้ในดวงตาของนักเรียน  และความสุข  ความภาคภูมิใจบนใบหน้าเด็กๆ  คือ รางวัลอันสูงส่งที่เราได้รับ   และคงเป็นสิ่งที่เราไม่มีวันลืมจนวันตายแน่นอน

      • ผมไม่อยากเห็นใบหน้าดวงตาของครู  และเด็กตามสถาบันการศึกษา หรือโรงเรียนต่างๆ มีแต่ความเครียด  หมดอาลัยตายอยาก เบื่อ เซ็ง หน้าตาไม่มีชีวิตชีวา  ไม่มีรอยยิ้มแย้มแจ่มใส  แววตามีแต่ความแห้งแล้ง  ไม่มีความสุข  เห็นแต่บุคลิกที่ยอมแพ้   แม้กระทั่งอาคารเรียน  ห้องเรียนก็ไม่สดใส  ไม่ค่อยสะอาดเรียบร้อย ขาดบรรยากาศความกระตือรือร้นในการเรียนรู้   เพราะทุกครั้งที่ผมไปประเมิน  ตรวจเยี่ยมโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ   ผมก็หดหู่  เซ็ง  หมดอาลัยตายอยากตามไปด้วยครับ
      หมายเลขบันทึก: 482279เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2012 17:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2020 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


      ความเห็น (4)

      อ่านแล้ว "หึกเหิมใจ" จริงๆ ครับ จะคอยติดตามอ่านบันทึกต่อไปครับ

      โรงเรียนในฝันเป็นโรงเรียนที่ครูหลายท่านต้องการและกำลังจะเริ่มต้นสร้างให้เป็นจริง

      แต่คงจะรอเวลาที่จะเติบโต(หากมีผู้ใหญ่ใจดีคอยส่งเสริมเติมกำลังใจ)  จะติดตามคำแนะนำ

      ที่มีคุณค่านำมาปรับใช้ตามบริบทของตนเองและเด็กๆค่ะ

      ขอบคุณคุณครูศิริลักษณ์ แทนเด็กและสังคมไทยที่คุณครูตั้งใจทำเพื่อพวกเขาครับ

      ขอบคุณอาจารย์ฤทธิไกรที่ให้กำลังใจ  และขอบคุณคุณครูศิริลักษณ์ แทนเด็กและสังคมไทยที่คุณครูตั้งใจทำเพื่อพวกเขาครับ

      พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
      ClassStart
      ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
      ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
      ClassStart Books
      โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท