พ่อขัดใจ ไม่ให้ไปเรียนซัมเมอร์


เรียนซัมเมอร์.. บ้านเราอยู่ต่างจังหวัด เดี๋ยวนี้ผู้ปกครองหลายท่าน คุ้นเคยกับคำนี้กันนะครับ “เรียนซัมเมอร์” คำที่ว่านี่เป็นอะไรที่ช่วยสอนให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์นะครับ

สิ่งที่ว่านี้.. ดีทีเดียว

เรามาว่ากันถึงเรื่องของสนนราคากันบ้าง แพงหรือเปล่า เขาคิดกันเป็นรายวิชานะครับ ชั่วโมงละเท่าไหร่ มีทั้งหมดกี่ชั่วโมงก็คูณออกมา เราก็จะได้เจ้าราคาที่ต้องควักกระเป๋านำไปจองไปจ่ายกันครับ

อย่างผมอยู่พิจิตรแต่ถ้าหากเราต้องไปเรียนในจังหวัดนครสวรรค์ เราต้องมีค่าอาหาร ค่าที่พัก รวมทั้งค่าเรียนพิเศษอย่างนี้ เรื่องดังกล่าวตรงนี้ ซีเรียส...คงต้องพูดคุยกันละเอียดหน่อย นะครับ

ในจำนวนไม่ถึงสามสิบวันในช่วงเดือนเมษายนนั้น ค่าใช้จ่ายต่อสามวิชา วิทย์ ,คณิต, อังกฤษ นี้นับแล้วราวหนึ่งหมื่นบาทเลยทีเดียว

จากเหตุที่ต้องจ่ายเงินเยอะหน่อยก็ต้องตามมาเรื่องการสอบถามถึงผลลัพธ์ของการเรียนนะว่า

 เราต้องการอะไร และเราสามารถได้ในสิ่งต่างๆ ที่มุ่งหวังนั้น จับต้องได้หรือเปล่า

ตรงนี้ก็ผ่านการคุยกันนะ ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่เจ้าลูกสาวไปสอบถามและวางแผนไปเรียนแล้ว

แต่เวลาช่วงนี้ยังสามารถขยับได้อยู่คือยังไม่ได้ยืนยัน เราถามถึงสาเหตุว่า

มันมีเหตุอะไรไหมที่ระบุว่าจะต้องไปเรียน ผลปรากฏว่ายังไม่ได้คิดอะไร จริงๆ การเรียนเนี่ยก็จะทำให้หนูทำคณิตศาสตร์ซึ่งไม่ค่อยคล่อง ทำได้ดีขึ้นนะ ผมได้คำตอบแบบนี้ ในใจก็ได้กลั่นกรองมาโดยตลอด ติดตามผลการเรียน ระดับการเรียน ส่วนขาด ส่วนต้องเติมมาโดยลำดับอยู่แล้ว ผมมั่นใจว่าในส่วนของวิทย์ ,อังกฤษ นั้นไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เหตุผลก็เค้าไปเรียนก็คือแบบว่า เพื่อนๆ เค้าก็เรียนกัน เค้าทำคะแนนได้เยอะนะ นี่เป็นเหตุผลที่เขาตัดสินใจไปเรียน

ผมเองก็ทวนให้ลูกฟังนะว่า ในการเรียนซัมเมอร์ครั้งนี้มันไม่เหมือนครั้งแรกที่เราเพิ่งมาเข้าเรียนนะ ในวันนั้น..เราเรียนเพราะเราจะต้องปรับพื้นความรู้ให้สามารถเทียบเท่าเพื่อนๆ เนียนเป็นเนื้อเดียวกันกับเพื่อน แต่วันนี้เราเรียนเพื่ออะไร? ..สอบเพื่อเก็บคะแนนหรือแข่งขันกับใครก็ไม่ต้องสอบ จะต้องนำความสามารถไปเพิ่มเกรดก็ยังไม่ต้องเพราะ เทอมหนึ่งของมอสองยังไม่เริ่มเลย

สรุปว่า..หนูเรียนตามๆเพื่อนไป โดยที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัดที่จะต้องมุ่งมั่นและลงทุนทั้งเงินและเวลามาเรียนไปกับ ผลลัพธ์ไม่ชัดเจนใช่หรือเปล่า ไม่คุ้มกับการลงทุนไปใช่หรือเปล่า เขาก็อึ้งนะ ดูตาแดงๆ เพราะมันขัดกับสิ่งที่เขามุ่งหวัง ตั้งใจ ผมก็ค่อยๆ ประคองอารมณ์และก็บอกว่า..

เราค่อยๆ ไล่ด้วยเหตุด้วยผลกันไปนะลูก เขาเองก็เริ่มคล้อยตาม.. ผมบอกว่าจะไปเอาอย่างเด็กในพื้นที่ไม่ได้หรอก อย่างเอิน หรือเพื่อนคนอื่นๆ ซึ่งเขาอยู่นครสวรรค์อยู่แล้ว วันๆ เค้าก็ไม่ได้ทำอะไร พ่อแม่ก็ให้ไปเรียนน่ะ ดีกว่าอยู่เปล่าๆ ส่วนเรานะอยู่พิจิตรต้องมาเช่าหออยู่เพื่อเรียน ด้วยราคาเกือบหมื่นในช่วงเวลาไม่ถึงเดือนอย่างนี้ สู้เก็บตังส์ไว้ไม่ดีกว่าหรือ ถึงตรงนี้ เราคุยกันไปกันมา โปรแกรมที่คิดว่าจะได้เรียนสามวิชาทำท่าจะไม่ต้องเรียนสักวิชาแล้ว ผมยังบอกต่อว่า การเรียนแล้วไม่ได้เอาไปทำอะไร เรากลับมาพักที่บ้านดีกว่า เจ้าสามวิชาที่ว่านี่ก็ไม่ต้องเรียน มันก็ไม่เสียหายอะไรเพราะไม่มีการออกผลใดๆ ทั้งสิ้น ท่าทางเจ้าลูกสาวก็ผ่อนคลายลง และเค้าก็ยอมรับ นี่ก็คือสิ่งที่เมื่อเราได้พูดคุยกัน ก็ก่อให้เกิดผลดีต่อครอบครัว สอนให้ลูกได้รู้ว่าเงินทองของพ่อแม่ไม่ได้มีเยอะ ฉะนั้นการใช้เงินจะต้องสามารถตอบคำถามเรื่องความคุ้มค่าได้ เวลาในการพักช่วงหยุดภาคเรียนนี่ก็ควรจะใช้ให้ถูกต้อง เขาให้หยุดเราก็ควรหยุด หรือทำในสิ่งที่คิดแล้วทวนแล้วว่าคุ้มค่าเท่านั้น ค่อยทำ สุดท้ายเราก็ประหยัดสตางค์ไปราวครึ่งหมื่น และเงินจำนวนนี้ก็จะได้เก็บไปจ่ายในเทอมสามต่อไปนะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 482274เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2012 17:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 11:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นี่เป็นความเห็นของพ่อลูกสามนะครับ

เคยอ่านความเห็นของนักเรียนที่เรียนเก่งมากๆ อายุไม่ถึงยี่สิบก็จบมหาวิทยาลัยแล้ว

เคล็ดลับก็คือเรียนให้ต่อเนื่องไม่มีวันหยุด  หยุดเทอมก็ต้องเรียนต่อ

ลูกสาวคนเล็กตอนเรียนอยู่ ป ๓ ปิดเทอมพาไปเรียนภาษาไทยที่วัดไทย พอเปิดเทอมอาทิตย์แรกต้องสอบวัดความสามารถ  ลืมเลขลืมภาษาอังกฤษ โดนจัดให้เป็นอยู่ชั้นที่เรียนแย่ที่สุด  กว่าจะรู้ต้องจับมาเรียนทุกเทอมตอนฤดูร้อน เรียนประมาณห้าปี  ค่อยๆเลื่อนชั้นดีขึ้นมาเรื่อยๆ  จนเมื่อจบชั้นประถมต้นปลาย  มาเรียนอยู่ชั้นสูงสุด  สอบได้เป็นหนึ่งในสิบของนักเรียนเรียนดี  ตอนนี้เธอเรียนเภสัชปีที่สามอยู่ 

ลูกสาวบอกว่าตอนเด็กๆ ที่สนุกที่สุดคือได้ไปเข้าทีมว่ายน้ำของสวนประจำหมู่บ้าน เพราะว่ายกันสนุกๆ ไม่ต้องแข็งขันกันมาก แข่งทุกทีก็ได้รับรางวัล  เด็กๆพอใจ และมีความสุข ได้เล่นกับเพื่อนๆ  และได้เพื่อนใหม่ด้วย

หน้าที่ของผู้ปกครองตอนปิดเทอมก็คือ  ตอนเช้าพาไปฝึกว่ายน้ำประมาณหนึ่งชั่วโมง 

ส่วนมากจะเป็นเจ็ดแปดโมงเช้า  บ่ายๆพาไปเรียนพิเศษที่มหาวิทยาลัยข้างบ้าน มหาวิทยาลัยข้างบ้านจะมีวิชาให้เด็กๆชั้นประถมและมัธยมได้เรียน  ให้เธอเรียนเลข เรียนวิชาอะไรก็ได้ที่เธอชอบ  เช่นการเป็นผู้นำ การพูดในที่สาธารณะ คอมพิวเตอร์ ฝึกสมองอยู่ทั้งฤดูร้อน  เรียนสองสามวิชา

ตอนเย็นๆอาทิตย์ละครั้งต้องมาเรียนเปียโนกับคุณครู  และต้องฝึกวันละอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ลูกผมสามคนต้องฝึกเหมือนกันหมด  พอไปเรียนชั้นมัธยมเธอจะไปเลือกเรียนดนตรีเอาเอง บางคนเป่าขลุ่ย แซกโซโฟน  

ทุกวันมีค่ามีความหมาย  เพราะตอนนั้นพวกเธอยังไม่ยุ่งมาก  พอเรียนชั้นมัธยมแล้ว เวลาไม่มีครับ  จะทำอะไรก็ต้องรีบทำตอนเธอเป็นเด็ก  เงินทองใช้ไปเถิดครับ  อย่าเสียดายเพราะถ้าเวลาผ่านไปแล้ว มันผ่านไปจริงๆ

สรุปก็คือตอนเปิดเทอม  ลูกๆควรมีกิจกรรมสามอย่าง

เช้าออกกำลังกาย  

กลางวันเรียน อะไรก็ได้ที่ชอบ  แต่เลขและภาษาอังกฤษต้องมาก่อน

เย็นเรียนดนตรี

ตอนนี้ลูกผมเรียนเภสัชสองคน เรียนหมอหนึ่งคน

ทุกอย่างเป็นผลจากการกระทำตอนเด็กๆทั้งนั้น

บทความและความเห็นคุณไกลบ้าน ได้แง่คิดดีจังค่ะ

..

เรียนต่อเนื่องไม่หยุด

ฟังดูอาจฝีนธรรมชาติตัวเองไปนิด

แต่พออ่านดูดีๆ ผสมผสานระหว่าง การออกกำลัง,ดนตรี, สังคม, พักผ่อน กับ วินัย

คิดว่าถ้าเป็นตัวเอง ก็คงไม่ให้ไปเรียนแบบ "กวดวิชา"

แต่เรียนอะไร ที่พัฒนา "ทักษะ" ค่ะ

ได้คิดเลยครับ วันเวลามันผ่านแล้ว มันผ่านไปจริงๆ

แลกเปลี่ยนด้วนคน

ในแง่คิดของคนไม่มีลูกแต่มีหลานที่ต้องรับผิดชอบ 2 คน

ปิดเทอมไม่ได้เรียนกวดวิชา

แต่เพิ่มทักษะ เรียนการพูดอังกฤษ

และกีฬาค่ะ

เวลาผ่านแล้วผ่านเลยจริงๆ

ถ้าไม่ได้ให้เรียนอังกฤษตอนปิดเทอม

ป่านนี้คงพูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท