17. ทำไมศรีลังกาจึงต้องขอช้างจากไทย


ช้างคงคา วัดคงคาราม โคลัมโบ

 

 

 

อยู่ศรีลังกาสิ่งที่เห็นคู่กับความเป็นพุทธคือช้าง ถ้าเป็นอินเดียคงได้แต่เห็นวัว หรือไม่ก็ลิง แต่ในศรีลังกา ตามวัดพุทธ มักจะมีช้างด้วยเสมอ ทั้งช้างที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต จะเรียกว่าประเทศเกาะนี้มีช้างเป็นสัญลักษณ์ก็คงไม่ผิด ซึ่งก็คล้ายกับประเทศเราในสมัยโบราณซึ่งมีช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง ถึงกับมีธงชาติเป็นธงช้างมาเป็นเวลานานกว่าจะมาเปลี่ยนเป็นธงชาติแถบสีเช่นในปัจจุบัน

วัดคงคารามเป็นวัดที่ผู้แสวงบุญชาวไทยที่เคยไปศรีลังการู้จักดี  เพราะหากมาเที่ยวโคลัมโบ ก็ต้องมาแวะชมวัดคงคาราม

วัดนี้เป็นวัดสายนิกายสยามวงศ์  เป็นวัดที่มีพื้นที่ไม่ใหญ่ อยู่ในเขตที่ดีมาก ไม่ไกลจากถนนเลียบทะเล

สิ่งที่น่าดูของวัดนั้นมีมากมายเพราะมีของมีค่าหลายหมื่นชิ้น (อาจถึงแสน) ราวกับพิพิธภัณฑ์ก็มิปาน ผมไปชมวัดนี้มิใช่เป็นวัดแรก อาจเพราะอยู่ใกล้ที่พักมาก ก็เลยเก็บเอาไว้ก่อน ตามรูปแบบวัดพุทธในศรีลังกา คือต้องมีวิหารที่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ทั้งปางนั่งและปางนอน ต้องมีภาพวาดฝาผนัง ต้องมีพระบรมสารีริกธาตุ ต้องมีต้นโพธิ์ ต้องมีเจดีย์  และสุดท้ายต้องมีช้าง จึงจะถือว่าครบสมบูรณ์ เพราะช้างนั้นมีเอาไว้คู่บารมีของวัดเพื่อใช้ในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุในงานสำคัญๆ วัดคงคารามก็เช่นกัน มีลูกช้างอายุ 7 ปี ชื่อว่า “คงคา” ซึ่งเนื่องจากเป็นวัดที่อยู่ในเมือง คงคาจึงได้อยู่ในร่มใต้หลังคา ในทุกวันจะมีคนที่มาชมวัดซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็จะมาหยุดที่ลูกช้างน้อยตัวนี้  ผมไปเยี่ยมวัดนี้เป็นครั้งที่สอง ได้มีโอกาสให้อาหารเจ้าคงคา มีความสุขมาก โดยเฉพาะอีกไม่กี่วันจะเป็นวันช้างไทย 13  มีนาคม จึงถือว่าเป็นการทำบุญในวันช้างไทยด้วย และสัญญาในใจว่าจะพยายามหาเวลาไปให้อาหารคงคาอีกบ่อยๆ ทุกสัปดาห์

คนศรีลังกาซึ่งเป็นนักธุรกิจใหญ่บอกผมว่าการที่วัดพุทธในศรีลังกาเลี้ยงช้างไว้ทุกวัดนั้นเป็นเสมือนการสร้างศักดิ์ศรีและความมีเกียรติเพราะช้างเป็นสัญญลักษณ์ของราชาในสมัยก่อน

ช้างเป็นสิ่งที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ เช่นในกรณีของไทยกับศรีลังกา ทั้งสองประเทศมีช้างเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าเหมือนกัน แต่สิ่งที่เฉพาะของศรีลังกาก็คือช้างศรีลังกาเป็นพันธ์ E. m. maximus  จะมีรูปร่างขนาดใหญ่ ตัวสีดำ ขนาดใบหูใหญ่และมีสีกระจายมากบริเวณใบหู ใบหน้า งวงและลำตัว มักจะเป็นช้างสีดอหรือไม่มีงา เป็นช้างที่มีอยู่ในป่าตามธรรมชาติเฉพาะในประเทศศรีลังกาเท่านั้น ช้างเอเชียพันธุ์ศรีลังกาตัวผู้ หรือช้างพลายส่วนใหญ่จะเป็นช้างสีดอ คือไม่มีงาคงมีแต่ขนายซึ่งเป็นงาขนาดเล็กโตประมาณเท่าข้อมือ (เส้นรอบวงประมาณ 15-20 เซนติเมตร) และพันธ์นี้ ในช้างเพศผู้จะพบว่ามีงาเพียง ร้อยละ 10 เท่านั้น  สำหรับช้างไทย เป็นพันธ์ E. m. indicus เป็นช้างที่เพศผู้จะมีงา และงายาวถึงยาวมาก นี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมศรีลังกาจึงมีความต้องการที่จะได้ช้างที่มีงายาว สวยงามเพื่อนำมาใช้ในพิธีกรรมในเทศกาลทางศาสนาซึ่งถือว่าเป็นความสง่างามสมเกียรติแก่แผ่นดินและสถาบันกษัตริย์ในสมัยโบราณ

เมื่อได้ทราบข้อมูลนี้ ก็ทำให้หายสงสัยว่าทำไมศรีลังกาจึงต้องขอช้างไทย ซึ่งเท่าที่ทราบก็มิได้ขอเฉพาะช้างไทยแต่ช้างจากประเทศต่างๆ หลายประเทศ เช่นบังคลาเทศ แอฟริกา อินเดียเป็นต้น

เจ้าคงคาชอบเล่นกับคนที่มาเยี่ยม เหมือนเด็กๆ ที่ชอบเล่นสนุก วันนั้นจึงเป็นอีกวันที่ผมมีความสุขและตั้งใจว่าจะเป็นคนเลี้ยงช้างที่ดีในการอยู่บนเกาะนี้

 

คำสำคัญ (Tags): #ช้างศรีลังกา
หมายเลขบันทึก: 482221เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2012 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

Ico24 ทิมดาบ.

ขอบคุณครับสำหรับดอกไม้กำลังใจ

ทำให้มีแรงใจที่จะเขียนบอกเล่ากันต่อไป

Ico24 Mr. SAKDA SUEABUNTHONG

ขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจครับ

ช้างกับพุทธศาสนาเป็นของคู่กันนะครับ

 

Ico24 Poo,

ศรีลังกาน่าไปเที่ยวนะครับ ขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจครับ

ขอบคุณทุกดอกไม้กำลังใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท