มองโรคในแง่ดี ตอนที่ 10 ( ได้เพิ่มอีกโรค 1 )


โรคที่ได้มาอีกอย่างก็คือ หอบหืด ( Asthma ) จริงๆโรคนี้ มันเป็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่มันหายหน้าไปนานจนไม่คิดว่ามันจะกลับมาอีก

จากที่เคยเล่าใน สุขใจที่ได้เป็นโรคพาร์กินสัน ตอนที่ ว่าตัวเองไม่ใช่มีแค่โรคพาร์กินสันนั้น ก็จะขอเริ่มเล่าในตอนนี้ก็แล้วกันว่า โรคที่ได้มาอีกอย่างก็คือ  หอบหืด ( Asthma ) จริงๆโรคนี้ มันเป็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว  แต่มันหายหน้าไปนานจนไม่คิดว่ามันจะกลับมาอีก ความทรมานของคนเป็นโรคนี้ก็ไม่แพ้กับพาร์กินสันทีเดียว  เวลามีอาการนี่มันช่างทรมานนักเชียว หายใจยังไงมันก็ไม่มีออกซิเจนเข้าร่างกาย ใจจะขาดให้ได้  สมัยที่ทำงานที่สถานีอนามัยนี่ทรมานสุด ทำงานอยู่ไกลมาก ระยะทางเข้าสถานีอนามัยจากอำเภอ จนถึงอนามัย 30 กม. ทางดินตลอด ขี่รถมอเตอร์ไซด์ เข้าอำเภอนี่ก้นไม่ติดเบาะเลย ต้องยืนขับ เพราะหลุมมันเยอะมาก ชนิดแข็งมอเตอร์ไซด์วิบากได้เลย  ที่ต้องใช้รถมอเตอร์ไซด์นี่ในสมัยนั้นคือสะดวกสุดแล้ว สาเหตุเพราะ

           1 . ไม่มีตังค์ซื้อรถยนต์ เงินเดือนสมัยก่อน น้อยมาก ได้อยู่เดือนละ 4500 บาท

           2. มีรถโดยสาร วันละ 1 เที่ยว ออก 06.30 กลับ 16.00 น. เรียกว่ามาอำเภอนี่คืออยู่ทั้ง วัน 

            3. รถยนต์ เข้าอำเภอใช้เวลา 1.5 ชม.  มอเตอร์ไซด์ ใช้เวลา 1 ชม.ในการเดินทางอยากไปไหนก็ได้

           ยิ่งทางเข้าอำเภอนะฝุ่นตลบอบอวน  ไม่เป็นหอบหืดให้มันรู้ไป  ยิ่งเวลา  ฝนตกไม่มีฝุ่นแต่ตกพกไม้ ไปอันหนึ่ง เพราะโคลนตลอดทาง ต้องเอาไม้ไปงัดโคลนออกจากล้อรถมอเตอร์ไซด์ นึกๆไปทุลักทุเลนน่าดู  นี่ลำบากไม่พอ เวลาน่าแล้งในหมู่บ้านนั้นไม่มีแหล่งน้ำ  ต้องเอารถเข็ญไปเข็ญน้ำจากหมู่บ้านใกล้ๆ  มาใช้ ระยะทางประมาณ 1.5 กม.  ชลัญธร ใช้ชีวิตอย่างนั้นมา เป็นเวลา 3  ปีกว่าๆ  พอย้ายออก ความเจริญเข้าทีเดียว ทั้งถนนราดยาง ปะปา เข้าเพียบ  กลับไปเดียวนี้เจริญน่าดู ( ก็เลยมาคิดเล่นๆ ว่าชลัญธร ย้ายออกไปไหน ความเจริญเข้าที่นั่น เอ๊ะ ยังไง ) ไหนๆ ก็เล่าถึงสภาพ สมัยอยู่อนามัยแล้ว  ก่อนจะถึงเรื่องหอบหืดก็ขอเล่าต่ออีกหน่อยก็แล้วกัน  เผื่อคนที่ไม่เคยลำบากมาอ่านจะได้รู้ว่าความลำบากนี่ มันสวยงามยังไง 

        ที่บอกว่าความลำบากมันสวยงามนี่ก็เพราะว่า  มันทำให้เราได้รู้ได้เห็น ซึ่งความทุกข์ในใจของคนอื่นแล้ว เราต้องมาปรับตัวเรา ใจเราให้เข้าถึงความรู้สึกของคนเหล่านั้น  ใจเราจะละเมียดขึ้น  ความเป็นคนของเราจะเพิ่มมากขึ้น 

       ไปอยู่สถานีอนามัย ตั้งแต่ พ.ศ.2537 - 2540  3 ปีกว่าที่อยู่  ไม่นานแต่ถ้านึกถึงว่าอยู่แบบลำบากนานมาก ที่นั่นจะเป็นตำบลเขตแดน ของนครราชสีมาติดกับขอนแก่น  ตอนเรียนจบใหม่ๆ จบพยาบาลเทคนิค แต่ถูกรัฐกลั่นแกล้ง ให้ไปบรรจุข้าราชการในตำแหน่ง  เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน  ตำแหน่งเดียวกันกับ คนที่จบสาธารณสุข  ตอนจบแรกๆก็งง  จบพยาบาลมาแล้วทำไมไม่ใช่ตำแหน่งพยาบาล  เพื่อนเราอยู่โรงพยาบาลได้ตำแหน่งพยาบาลกันหมด แต่เขาบอกว่า สถานีอนามัยขาดแคลนบุคคลากร ให้ไปช่วยกันก่อน  เอ้า ด้วยอุดมการณ์อันแก่กล้า ไปก็ไป  แต่สุดท้ายตอนจะปรับตำแหน่งกลับเป็นพยาบาล นี่ กลายเป็นความผิดของเราซะนี่  บอกว่า คุณไม่ใช่ตำแหน่งพยาบาล จะปรับต้องโน่น  นี่  นั่น  สาระพัด  เพื่อนเราก้าวกระโดด ฉับ ฉับ  แต่ชลัญธร ยังไม่ได้เงินประจำตำแหน่งกับเขาเลย  เอ้า .... เอาเข้าไป แต่ไม่เป็นไร กฏหมายมันไม่ได้อยู่ในมือเรา  ...ถือว่าเป็นประสบการณ์เล่าลูกหลานได้คนอื่นไม่เจอเหมือนเรา  ... อย่างน้อยฉันก็มีประสบการณ์มากกว่าคนอื่น

     สถานีอนามัยตั้งอยู่ ท้ายหมู่บ้าน ติดกับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำเฉพาะหน้าฝน  หน้าแล้ง เดินผ่านได้สบาย ไม่มีน้ำสักหยด  สถานีอนามัยเป็นอาคารเก่าไม้ชั้นเดียว มีบ้านพัก 2 หลัง บ้านไม้เก่าๆ มีใต้ถุนสูง   ผู้เขียนเป็นคนเดียวที่พักที่สถานีอนามัย มีเจ้าหน้าที่ 3 คน  2 คนเป็นผู้ชาย พักในอำเภอ แบ่งกันอยู่เวรกลางคืนคนละ 10 วัน  แต่ ชลัญธร เหมา 30 วัน  เงินออก หาร 3 ยุติธรรมจริงๆ  เป็นน้องก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออก  อนามัยปกติจะเปิดบริการ 08.00-16.00 น.  แต่ต้องบริการ 24 ชม. มาตอนไหนต้องบริการตอนนั้นเพราะเราพักที่นั่นปฏิเสธไม่ได้  มีหมู่บ้าน 11 หมู่บ้าน  ชาวบ้านพูดภาษาอีสาน กินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก   ในสมัยก่อน เริ่มมีการใช้สิทธิการรักษาพยาบาล ยังไม่มีบัตรทอง  มีบัตร ประกันสุขภาพ 500 บาท  และ บัตรสงเคราะห์ต่างๆ   เวลาคนไข้ จะเข้าไปรักษาที่ โรงพยาบาลชุมชน นี่ ต้อง เอาใบRefer จาก สถานีอนามัยถึงจะได้สิทธิ์  เป็นข้อกำหนด ของผู้หลักผู้ใหญ่ที่นั่งบริหารงานบนโต๊ะ  ไม่เคยรู้ว่า คนในพื้นที่ลำบากแค่ไหน  เพราะคนไข้ จะมาขอใบส่งตัวตั้งแต่ตี 5 – 6 โมงครึ่ง  ต้องตื่นขึ้นมาเขียนให้เขา ที่เขาไม่มาขอก่อนก็เพราะไม่มีรถมา เขาต้องอาศัยรถโดยสาร มาจอดรอที่ สถานีอนามัย  ถ้าที่ไหนหมออนามัยใจร้ายไม่ลงมาเขียนให้ คนไข้ก็ต้องรับกรรม เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเอง  ซวยจริงๆ  เกิดมาซวยที่บ้านอยู่ไกล มาหาหมอในอำเภอลำบากแล้วยังแถมต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง  แพทย์พยาบาลในโรงพยาบาลก็ไม่เห็นใจ  บอกเป็นความผิดของหมออนามัยที่ไม่เขียนให้  คนไข้ก็พลอยโกธรหมออนามัย  แต่เขาไม่เคยรู้ว่า ตอนกลางคืนเกิดอะไรขึ้นกับหมออนามัยบ้าง  ไหนจะเด็กชักกลางคืน  คนไข้ปวดท้อง  ท้องเสีย  บางครั้งตื่นคืนละ 3-4 รอบ  บางครั้งต้องเฝ้าคนไข้ diarrhea เกือบเช้า  กว่าจะได้นอน ตี 4-5 แล้ว นอนไม่ถึงงีบ คนไข้มาขอใบ refer แต่เช้าอีก  บางวันเขียน เป็น10 ใบ  กว่าจะเขียนเสร็จ  คนไข้มาตอนเช้ามาตรวจพอดี  คุณพี่ร่วมงานกว่าจะเข้ามาได้ 9-10 โมงเช้า บางวันไม่เข้าเฉยบอกติดธุระที่อำเภอ ชลัญธร ก็รับกรรมไป บางทีใส่ชุดนอนตรวจคนไข้ ตั้งแต่ ตี 5 ถึงเที่ยงวัน  ถึงได้อาบน้ำกินข้าว  แถมข้าวก็ไม่มีจะกิน เพราะ ไม่มีอะไรขายในหมู่บ้าน   จะพอได้กินบ้างก็คนไข้ห่อมาให้กิน หรือชาวบ้านสงสาร ทำมาวางไว้ให้ อาหารที่กินก็จะบอกว่าตั้งแต่เกิดมาก็ได้กินที่นี่แหล่ะ  ไม่กินก็ไม่ได้เขาอุตส่าห์เอามาให้  เช่น  ปลาไหลต้มเปรต   อ่อมฮวก ( ชาวบ้านบอกว่า เป็นลูกกบตัวเล็กๆไม่แน่ใจว่ามีลูกคางคกด้วยหรือเปล่า ที่เพิ่งออกจากไข่เอามาแกงแบบป่าๆ ปีหนึ่งจะได้กินครั้งหนึ่งหน้าฝนเท่านั้น เป็นอาหารเหลา ของชาวบ้านเลยล่ะ เขาบอกไม่รักกันจริงไม่เอามาให้กิน )  เนื้อแมวผัดเผ็ด  หนูนาย่าง  เนื้องูผัดเผ็ด   แย้ผัดเผ็ด อีกสารพัดบรรยายไม่หมด  ตอนแรกไม่กล้ากิน แต่ไม่มีจะกินเพื่อเอาชีวิตรอด ก็ต้อง  เรือน้อยลอยตามน้ำกินทุกอย่างที่ขวางหน้า   ผลก็คือถูกใจชาวบ้าน อาหารมาเพียบทุกวัน ทำให้ชลัญธร สามารถเอาชีวิตรอดไปได้เขาร่ำลือกันว่า  อาหารพวกนี้หมอทอมชอบ

      วันนี้ขอเล่าแค่นี้ก่อน  เดี๋ยวมาเล่าต่อ ว่าที่มาของชื่อหมอทอมนี่มาได้อย่างไร  แล้ว  อีกโรคที่เพิ่มจากพาร์กินสันนี่เป็นอย่างไร

หมายเลขบันทึก: 482216เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2012 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กรกฎาคม 2013 05:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท