พระคเณศ และพระพิฆเนศ


หลายท่านอาจสับสน ว่าสองคำนี้แตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร

เทวรูปที่มีร่างเป็นคน เศียรเป็นช้าง พุงพลุ้ย เห็นจะมีอยู่องค์เดียว นั่นคือ พระคเณศ หรือพระพิฆเนศ นั่นเอง โดยมากจะเป็นปางประทับนั่งขัดสมาธิ ภายหลังมีปางอื่นๆ มากขึ้น แต่ก็ยังเรียกพระคเนศ เช่นเดิม

พระคเณศนี้ถือว่าเป็นเทพเจ้ารุ่นหลัง ไม่ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวท แต่อยู่ในยุคสูตระ หรือปุราณะ ดังกล่าวว่า พระคเณศเป็นผู้จดเรื่องมหาภารตะที่ฤษีวยาสะเป็นผู้เล่า สำหรับประวัติเทพองค์นี้มีผู้กล่าวไว้มากแล้ว ขอละไว้ ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะคำว่า คเณศ และพิฆเนศ

 

หลายท่านอาจสับสน ว่าสองคำนี้แตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร

เฉลยให้ตั้งแต่ต้น ว่าแตกต่างกัน

 

ความหมายของ คเณศ

คเณศ หมายถึง เจ้าแห่งคณะ มาจากศัพท์ คณ + อีศ 

คำว่า คณ (อ่านว่า คะนะ) แปลว่า เหล่า คณะ และยังหมายถึงเทพชั้นผู้น้อยจำพวกหนึ่งด้วย ส่วน คำว่า อีศ (อ่านว่า อีสะ) แปลว่า ผู้เป็นใหญ่

คณ + อีศ มีการรวมเสียงกัน เรียกว่า สนธิ (สนธิ แปลว่าการรวมกัน) จึงกลายเป็น คเณศ (ตามหลักแล้ว อ่านว่า คะเนสะ)

ถามว่าทำไม คณ  + อีศ จึงไม่เป็น คณีศ?

ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะ คณ (gana) มีสระอะติดอยู่  สระอะ เจอะกับสระอี ทำให้สระ อี ต้องยืดเสียงอีก 1 จังหวะ

พี่ กลายเป็น เพ่

สิ กลายเป็น เซ่ ฉันใด

สระ อี กลายเป็น เอ  ก็ฉันนั้น...

 

ลองเขียนด้วยโรมัน จะเห็นขั้นตอน  gana + isha

(มีหลักสนธิอยู่ว่า ลงท้าย สระอะ หรือ อา,  สระอื่นดันตามมา, ยืดสระอื่นนั้นทันที)

 

พระคเณศ ยังมีสมัญญา คณปติ ความหมายเดียวกับ คเณศ  (คณ + ปติ) ในภาษาไทยเราใช้ว่า คณบดี กลายเป็นเจ้าคณะในมหาวิทยาลัย ทว่าเป็นคนธรรมดา มีส่วนเหมือนพระคเณศอยู่บ้าง ถ้าคณบดีบางคนพุงพลุ้ย หรือมีเขี้ยวลากดิน

 

ความหมายของพิฆเนศ

คำนี้คล้ายกับคำแรก ตรงมี อีศ ต่อท้าย คือ พิฆน + อีศ (โปรดสังเกต พิฆเนศ ใช้ น หนู)

เขียนแบบสันสกฤตอย่างนี้ พิฆฺเนศ มาจาก พิฆฺน + อีศ

พิฆฺน เปิดพจนานุกรมสันสกฤตไม่เจอ เจอแต่ วิฆฺน, ความหมายเดียวกัน

(ศัพท์หลายตัว บางคัมภีร์ใช้ พ บางคัมภีร์ใช้ ว ผู้รู้บอกว่าเป็นความนิยม หรือเป็นภาษาถิ่นอะไรทำนองนั้น ฉะนั้น ถ้าเปิดหาคำที่มี พ ไม่เจอ ลองเปิดไปดูที่ ว, หรือกลับกัน ถ้าเปิดที่ ว ไม่เจอ ลองเปิดไปที่ พ  พจนานุกรมบางเล่มใจดี ให้ไว้ทั้งสองคำก็โชคดีไป)

วิฆฺน แปลว่าอะไรล่ะ ผู้อ่านบางท่านบ่นมาว่า ภาษาสันสกฤตคำหนึ่งมีตั้งหลายความหมาย ซึ่งก็จริง

 

เปิดพจนานุกรมไทยก็ได้

วิฆนะ [วิคะ-] น. การขัดขวาง, เครื่องขัดขวาง, อุปสรรค, ความขัดข้อง. (ส.).

ผมเองก็ไม่ค่อยคุ้นเคยคำนี้ในภาษาไทย จำได้แค่ว่ามีอยู่ในโองการแช่งน้ำ “ฆ่าพิฆนจัญไร”

“ทรงอินทรชฎา สามตาพระแพร่ง แกว่งเพชรกล้า ฆ่าพิฆนจัญไร

ในที่นี้ พิฆน ควรแปลว่า อุปสรรค หรือสิ่งกีดขวาง

 

ที่นี้ก็เป็นอันแจ่มแจ้ง วิฆฺน + อีศ = วิฆฺเนศ เจ้าแห่งอุปสรรค คือ ผู้กำจัดอุปสรรค นั่นแหละ

 

ต่อไปนี้คงไม่งงแล้วนะครับ ว่าจะเขียนอย่างไร

 

สรุปและส่งท้าย

สรุปอีกครั้ง คเณศ ใช้ ณ เณร แปลว่าเจ้าแห่งคณะ, ส่วน พิฆเนศ หรือ วิฆเนศ ใช้ น หนู หมายถึง  ผู้กำจัดอุปสรรค

 

ฝากคาถาบูชาพระคเณศ

 

โอมมมมม ศรีคเณศาย นมะฯ (หลายๆ ครั้ง)

(โอมมมมม ศรี คะเณศายะ นะมะหะ, ออกเสียงโอมยาวกว่าเสียงสระโอปกติ)

หมายเลขบันทึก: 482217เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2012 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีคะอาจารย์หมู ..

วันนี้หนูไปถามหาหนังสือแบบเรียนสันสกฤต หน้าปกสีชมพู ของอาจารย์วิสุทธิ์มาคะ

ไปดูที่ศูนย์หนังสือจุฬา สยาม เขาบอกว่าไม่มีคะ ฮือๆ

ทำไมถึงไม่มีละคะ เขาไม่พิมพ์แล้วหรืออย่างไร

ส่วนตัวแล้วอยากจะได้เล่มนี้มากๆ แบบที่มีคำอธิบายเป็นภาษาไทย

ไม่ทราบว่าอาจารย์พอจะมีช่องทางอื่นไหมคะ

หรือหนังสือแบบเรียนในแนวเดียวกันนี้ที่เป็นภาษาไทยอะคะ

ขอบพระคุณมากคะ ...

ขอบคุณครับ อ.Ico48 โสภณ เปียสนิท

เห็นภาพทะเลแล้วค่อยหายร้อนหน่อยนะครับ ;)

 

สวัสดีครับ คุณ Ico48 คุณ ศรี บรมอีศวรี

เอ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ บอกไม่มี สงสัยจะหมด

เพราะ สนพ.จุฬาฯ เอง

อีกวิธีก็ถ่ายเอกสารจากหอสมุดนะครับ

หรือมาที่มหาุจุฬาบรรณาคาร ท่าพระจันทร์

มีหนังสือแบบเีรียนภาษาหลายเล่มครับ

ถ้าไม่ได้จริงๆ บอกมาอีกทีนะครับ...

วันนี้หนูลองโทรไปถามที่สาขาอื่นๆ สรุปคือได้แล้วนะค่ะ

แต่สั่งให้เขาส่งทางไปรษณีย์เอา ต้องขอโทษอาจารย์ด้วยนะค่ะ อิอิ

แล้วอาจารย์มีแบบเรียนที่เป็นภาษาไทยเล่มอื่นจะแนะนำอีกไหมคะ

เป็นของที่ท่านอื่นเขียน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท