การคิดวิเคราะห์และให้ความหมาย ๓ ระดับ : การฝึกฝนความลึกซึ้งละเอียดอ่อนของนักวิจัยแบบ PAR


น้องๆและเครือข่ายคนทำงานชุมชนเชิงพื้นที่และเครือข่ายคนทำงานวิจัยชุมชน ได้ส่งต่อบทความแลกเปลี่ยนความคิดและแลกเปลี่ยนกันอ่านต่อๆกัน แล้วก็ส่งต่อมาให้ผมได้ทราบด้วยว่าบทความหนึ่งได้ดึงไปจากบันทึกของผมใน gotoknow [๑] พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะด้วยว่าผมควรจะดึงออกมาทำเป็นบันทึกรวบรวมไว้ต่างหากอีกหัวข้อหนึ่ง ซึ่งก็ตรงกับที่ผมกำลังคิดถึงอยู่พอดี แม้บางส่วนของเรื่องนี้จะได้เคยเขียนไว้บ้างแล้ว [๒] แต่ในบันทึกนี้สั้นแต่มีความครอบคลุมบางด้านต่างออกไป

ต้องให้เกียรติที่จะกล่าวถึงที่มาของบันทึกดังกล่าว ก่อนที่จะนำมาทำเป็นบันทึกต่างหากนี้ไปด้วยว่าเกิดจากการได้สนทนากับคุณวศิน ชูมณี นิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน [๓] ซึ่งได้เข้ามาสนทนาในบันทึกของผมใน GotoKnow ในเรื่องที่ว่าด้วยการฝึกวิธีอ่าน คิด มอง และพิจารณาสิ่งต่างๆอย่างลึกซึ้งและมีความหมาย เพื่อสามารถเข้าถึงสิ่งที่อยู่เหนือปรากฏการณ์และเหนือประสบการณ์เชิงสัมผัส ซึ่งเรียกด้วยภาษาพูดว่าเห็นสิ่งที่ไม่ปรากฏ ได้ยินเสียงที่ไม่ได้ยิน เห็นความหมายระหว่างบันทัดของการอ่าน เหล่านี้เป็นต้น

ผมประทับใจไม่เพียงการตั้งหัวข้อความสนใจของคุณวศินเท่านั้น แต่ประทับใจในความเป็นคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวต่อการเรียนรู้ หาประสบการณ์ทางวิชาการและประสบการณ์ชีวิตในวัยคนหนุ่มคนสาวผ่านการอาสาทำงานต่างๆ ซึ่งทำให้ผมได้รู้จักกับเขาและเพื่อนๆเมื่อได้ไปร่วมค่ายพัฒนาทักษะการเรียนการสอนของเครือข่ายครูบ้านสระยายโสม จังหวัดสุพรรณบุรีของท่านอาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทอง อาจารย์ของคุณวศินและเพื่อนๆ ดังนั้น จึงยินดีที่จะได้แบ่งปันและถ่ายทอดบางสิ่งตามที่เขาได้แสดงความสนใจตั้งหัวข้อสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผม บันทึกนี้ จึงเป็นส่วนที่ดึงเอาเนื้อหาที่ผมได้เล่าถ่ายทอดให้กับคุณวศิน ชูมณี มาทำเป็นบันทึกต่างหากอีกทีหนึ่ง

ในการวิจัยแบบ PAR การถอดบทเรียน การทำกรณีศึกษา รวมไปจนถึงการเรียนรู้ตนเองและการสะท้อนคิดออกจากภายในตนเองเหล่านี้ มักเป็นการวิจัยและกระบวนการทำงานความรู้ที่มีสัดส่วนของการลงมือทำกิจกรรมและการปฏิบัติการต่างๆร่วมกับผู้คน รวมทั้งต้องพึ่งกระบวนการทำงานข้อมูลภายในตนเอง มากกว่าการได้นั่งทำงานข้อมูลบนเอกสาร เมื่อการปฏิบัติและความเป็นจริงทางการปฏิบัติของสังคมได้เคลื่อนไหวพอจะศึกษาและถอดบทเรียนได้แล้ว หรือได้ก่อเกิดสิ่งต่างๆแล้ว จึงจะนำเอาสิ่งที่ปรากฏมาเป็นข้อเท็จจริงทางการปฏิบัติเพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงและสร้างความรู้การปฏิบัติในมิติต่างๆ

ดังนั้น กระบวนการดังกล่าวจึงมีข้อจำกัดอยู่ในตนเองที่จะทำให้ต้องใช้เวลานานอยู่กับหน่วยปฏิบัติการและวิจัยขนาดเล็ก หากสามารถสร้างความรู้เพียงแสดงข้อมูลและข้อเท็จจริง ที่ปรากฏการณ์ต่างๆจะบอกเล่าและแสดงตนเองแต่เพียงลำพัง ก็จะให้ประโยชน์ในวงกว้างไม่มากเท่าที่ควร ดังนั้น พลังความรู้ของการวิจัยแบบนี้จึงจะอยู่ที่การทำให้ปรากฏการณ์ต่างๆมีความชัดเจน แล้วใช้เป็นภาพสะท้อนเพื่อเข้าถึงความรู้และความเป็นจริงที่เชื่อมโยงออกไปจากสิ่งที่เห็น วิธีต่อไปนี้เป็นอีกวิธีหนึ่งสำหรับใช้ฝึกฝนตนเองเพื่อความเป็นนักวิจัยแบบ PAR ดังที่กล่าวมาในข้างต้น

๑.การจัดระบบคิด ๓ ระนาบ ๓ มิติ ในเรื่องราวต่างๆที่ผ่านเข้ามา

          ระนาบที่ ๑ ปรากฏการณ์ที่เห็น การเข้าถึงความจริงของสิ่งต่างๆอย่างที่เห็น อย่างที่เป็น เห็นให้ทั่วอย่างตรงไปตรงมา รับรู้และเข้าใจบนข้อเท็จและข้อมูลเชิงประจักษ์ เช่น เห็นส้ม ๔ ผล สีเหลืองทอง ใส่จานสะอาด เป็นส้มซื้อมาจากภูมิภาคอื่น เป็นส้มนำเข้าจากต่างประเทศ ฯลฯ................. 

          ระนาบที่ ๒  คุณค่าและความหมายของสิ่งที่เห็น เข้าถึงความหมายของสิ่งนั้น เช่น ส้ม ๔ ผลในทางวัฒนธรรมของชาวจีน เป็นสิ่งมงคล เป็นเครื่องหมายของความมีโชค ความสมานสามัคคีของญาติพี่น้อง ความกตัญญูต่อวงศ์ตระกูล ฟ้าดิน ฯลฯ ............ 

          ระนาบที่ ๓ นัยสำคัญของปรากฏการณ์ เห็นความเชื่อมโยงและนัยสำคัญของสิ่งนั้นต่อสังคมและความเป็นจริงอันซับซ้อน เช่น ส้มนำเข้าจากต่างประเทศเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงผลกระทบต่อการจัดการผลผลิตกับการตลาดของส้มและผลไม้ของเกษตรกรไทย ยิ่งใช้และบริโภคส้มจากต่างประเทศ แม้เป็นการปฏิบัติความดี แต่ก็เป็นวิถีบริโภคที่ทำให้ระบบสังคมโดยส่วนรวมอ่อนแอ ไม่ยั่งยืนฯลฯ ...

ระดับแรก เป็นวิธีคิดที่ใช้ได้ระดับสร้างความรู้ความจำ หากไม่เคยมีประสบการณ์ต่อสิ่งนั้น รวมทั้งหากไม่มีทฤษฎีและไม่มีความรู้ที่รอบด้านเกี่ยวกับสิ่งนั้น ก็จะไม่รู้จักและไม่เห็น หรือเห็นได้แคบ ระดับที่สอง เป็นความเข้าใจ หากไม่ละเอียดอ่อนต่อผู้คนและไม่รอบรู้ต่อสังคมวัฒนธรรมในโลกกว้าง ก็อ่านความหมายและแปรความสิ่งต่างๆได้อย่างจำกัด

ระดับที่สาม เป็นปัญญาและการมีวิจารณญาณ หากนักวิจัยแบบ PAR ไม่มุ่งใช้ชีวิตและไม่เข้าถึงสถานการณ์ความเป็นจริงของสังคม ไม่ร่วมทุกข์กับความเป็นจริงของสังคม และไม่สร้างประสบการณ์ต่อสังคม เข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับสังคมผ่านความรู้ที่นำเข้าจากแหล่งประสบการณ์อื่นอย่างเดียว ก็จะไม่สามารถเข้าถึงความเชื่อมโยงและสามารถเข้าถึงแบบแผนความเป็นจริงของสิ่งต่างๆที่มีความเป็นซึ่งกันและกันอย่างทั่วถึงได้ รวมทั้งถ้าหากไม่พัฒนาชีวิตด้านใน ให้จิตใจและความสำนึกร่วมทางสังคมเปิดกว้าง ยกระดับทางจิตวิญญาณที่ข้ามพ้นความคับแคบทางตัวตนอยู่เสมอๆ ก็เป็นการยากที่นักวิจัยจะรู้ธรรมชาติของชีวิตจิตใจซึ่งอยู่เหนือการบรรยายแจกแจงด้วยความรู้ทางอ้อมและต้องใช้ประสบการณ์ตนเองเข้าทำความรู้จัก อีกทั้งจะช่วยให้สามารถเข้าถึงสภาวกาณ์ทางสังคมแบบใจเขาใจเราของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายได้

นักวิจัยแบบ PAR สามารถที่จะฝึกฝนให้เกิดแผนที่ระบบจัดการความรู้อย่างนี้ในหัว จะทำให้สามารถพัฒนาทักษะการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลปรากฏการณ์ต่างๆที่มีความซับซ้อนได้ดี

๒.การสั่งสมข้อมูลประสบการณ์ที่รอบด้าน

ทั้งสามระดับนั้น จะเห็นว่ายิ่งเราสามารถมีข้อมูลเพื่อทำความรู้จักและสามารถจำแนกแยกแยะได้ด้วยหลักเกณฑ์ที่ละเอียดอ่อน หลากหลาย ซับซ้อน และยืดหยุ่นไปกับโลกความเป็นจริงได้มากเท่าใด เราก็จะสามารถเห็นสิ่งต่างๆด้วยความรู้และเห็นด้วยสายตาทางปัญญาได้มากยิ่งๆขึ้น ซึ่งก็คือการสามารถเห็นในสิ่งที่อาจจะไม่สามารถเห็นด้วยตา ดังนั้น การศึกษาค้นค้วา อ่าน และแสวงหาความรู้อย่างรอบด้านจึงต้องทำอย่างต่อเนื่อง มากกว่าทำจำเพาะตอนทำวิจัย เช่น

  • อ่านและศึกษาค้นคว้าเรื่องต่างๆอยู่เสมอ ไม่จำกัดการศึกษาค้นคว้าเพียงความรู้จากตำรา หมั่นสะสมการเห็นโลกกว้างด้วยความรู้และงานทางความคิด ที่สร้างสรรค์และสื่อสะท้อนอยู่ในงาน ตลอดจนกิจกรรมชีวิต และวิถีปฏิบัติต่างๆของผู้คน ทั้งงานวรรณกรรม นิยาย การ์ตูน ภาพยนต์ สารคดี
  • ทำกิจกรรม ใช้ชีวิตทางการเรียนรู้ และขวนขวายมีประสบการณ์ชีวิตให้กว้างขวางที่สุด
  • ทำการงาน ดำเนินชีวิต และปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ด้วยการมีการเรียนรู้และได้คิดอยู่เสมอๆ ดำเนินไปอยู่บนมรรควิถีของการเรียนรู้ผ่านการทำงานและดำเนินชีวิตที่จริงจัง
  • สดับฟังผู้รู้ เปิดรับสื่อเพื่อการเรียนรู้ ดูหนังฟังเพลง สัมผัสบันทึกและการถ่ายทอดประสบการณ์ของมนุษย์ที่ใช้ภาษาใจในสังคมวัฒนธรรมต่างๆ
  • มีวัฒนธรรมกลุ่มในการพูดคุยและแบ่งปันสิ่งต่างๆให้กันอยู่ในชีวิตหลากหลาย

องค์ประกอบที่สองนี้ จะช่วยให้เรามีความรู้และทฤษฎีที่รอบด้าน บูรณาการ มีมุมมองและสายตาที่ดี สามารถเข้าถึงความหมาย ขบปัญหา ชี้นำตนเองและผู้อื่นให้เข้าถึงวิธีคิดและวิธีปฏิบัติในวิถีหรือแง่มุม (Aproach) ที่สร้างสรรค์ดีๆอยู่เสมอๆ แม้นในสิ่งเดียวกันก็จะสามารถมองเห็นโอกาสที่แตกต่างไปจากคนอื่นได้

๓. การฝึกฝนและอบรมชีวิตด้านใน

การวิจัยแบบ PAR ต้องมีความละเอียดอ่อนในตนเอง ทั้งความละเอียดอ่อนลึกซึ้งของตนเองและความละเอียดอ่อนต่อนัยสำคัญเชิงทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ความละเอียดอ่อนดังกล่าวจำเป็นต้องหยั่งถึงความเป็นชีวิตจิตใจ เห็นความหมายและความเป็นจริงของสิ่งต่างๆอย่างมีชีวิตและจิตวิญญาณแบบใจเขาใจเรา มีอิสรภาพทางปัญญา มีความเป็นตัวของตัวเอง ขณะเดียวกันก็มีความพอดีต่อการเห็นผู้คนจากจุดที่เป็น ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องกำหนดรู้ด้วยการศึกษาและสร้างพัฒนาการให้มีความพอเหมาะพอดีตามกาลเทศะต่างๆ ช่วยให้นักวิจัยและชุมชนสามารถเข้าถึงความรู้และความเป็นจริงตามบริบทจำเพาะได้ดียิ่งๆขึ้น จึงควรฝึกฝนตนเองจากชีวิตด้านในให้พอเพียงแก่การใช้ตนเองทำงานที่ลึกซึ้งอยู่เสมอ

  • ทำสมาธิ เจริญสติภาวนา เพื่อเป็นกำลังแห่งสติ การมีสติทำให้เราสามารถรู้สึกและคิดเห็นต่อสิ่งต่างๆได้ดี การอยู่ในปราการณ์ต่างๆแม้นเป็นกระบวนการเรียนรู้และการทำงานที่สำคัญ ระดับการครองสติกับความเป็นสมาธิอยู่ระดับไหน ก็จะนำไปสู่การรับรู้และการเรียนรู้ได้ในระดับนั้นๆ หากฝึกวิธีคิดได้ ๓ ระดับ แต่อยู่ในภาวะสติอ่อนกำลัง ก็ใช้วิธีคิดที่ซับซ้อนไม่ได้ ดังนั้น การฝึกสิ่งนี้จะช่วยเป็นวิธีบริหารจัดการภายในตนเองได้ครับ
  • ทำงานศิลปะและงานที่สะท้อนใจเพื่อการได้ฝึกฝนอยู่กับตนเอง เห็นตนเอง และเห็นการเคลื่อนไหวสายธารชีวิตที่ดำเนินไปอย่างเชื่อมโยงกับโลกภายนอก เป็นการฝึกตามองเข้าไปด้านใน การเห็นความหมายระดับคุณค่าและความหมายระดับความเชื่อมโยง ต้องมีจิตใจที่ละเอียดลึกซึ้ง ใคร่ครวญได้ต่อเนื่อง การฝึกตนเองไว้อย่างนี้จะทำให้เห็นและรู้สึกได้ต่อสิ่งที่ไม่ปรากฏ ได้ยินเสียงที่ไม่มีเสียง เห็นความหมายระหว่างบรรทัด
  • ฝีกความละวางและปล่อยว่าง ฝึกความไม่ติดยึดกับสิ่งต่างๆ ฝึกความปลอดโปร่งโล่งใจ ฝึกความเบิกบานรื่นรมย์ใจ ให้เป็นกำลังที่พอเพียงอยู่เสมอที่จะโน้มนำจิตใจไปสู่สิ่งที่สร้างสรรค์และเป็นโอกาสดีๆของตนเองและผู้อื่น

สิ่งเหล่านี้ จะเป็นทักษะสำหรับการปฏิบัติของตนเองให้สามารถเข้าถึงความรู้และสัมผัสปรากฏการณ์ต่างๆได้อย่างแยบคายทั้งระดับปรากฏการณ์และระดับที่มองไม่เห็น ต้องเห็นด้วยใจ ความรู้ และตัวปัญญา สามารถมีความละเอียดอ่อนและทำงานเชิงกระบวนการไปบนเวทีได้หลายอย่าง ซึ่งในเวทีทำงานวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคมนั้น นักวิจัยแบบ PAR จำเป็นต้องเป็นกระบวนกรวิจัย ( Research Facilitator) ทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันด้วย ทั้งการฟังข้อมูล การมีส่วนร่วมเป็นผู้สังเกตและปฏิบัติการ การบันทึกข้อมูล การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประเด็น การสะท้อนคิดและโยนประเด็นต่อเนื่อง สร้างการสนทนาและเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาเป็นกลุ่มก้อนบนเวทีการวิจัย เคลื่อนไหวสังคมไปกับการทำงานความรู้ สรุปบทเรียนและข้อมูลเวทีเพื่อสะท้อนให้ชุมชนได้รู้เรื่องราวต่างๆและนำกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป

............................................................................................................................................................................

[๑] จากบันทึก ก้อนหิน GotoKnow : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/482118

[๒] วศิน ชูมณี : http://www.gotoknow.org/journals/entries/users/wasinchumanee

[๓] ตัวอย่างเช่นบันทึก นัยสำคัญของความหลากหลายวัตถุประสงค์ ความต่างกลุ่มและต่างระดับ ต่อกระบวนการวิจัยแบบ PAR ที่ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/425646

หมายเลขบันทึก: 482212เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2012 07:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ
ขอบพระคุณครับผม เห็นพระคุณเจ้าเตรียมสื่อไปจัดนิทรรศการในงานงิ้วหนองบัวแล้ว
ก็ทำให้ผมมีกำลังใจและคึกคักไปด้วยครับ ตอนนี้กำลังนั่งย่อยเนื้อหาเพื่อทำสื่อโปสเตอร์ที่ติดตั้งง่ายและอ่านสบายๆสำหรับชาวบ้านสักหน่อยน่ะครับ

ตอนแรกก็นึกว่าเวทีโกทูโนที่เมืองทองธานี คงมีแต่คนทำงาน คนมีประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน ท่าจะไม่มีวัยรุ่นเข้าร่วมด้วย

แต่ได้เห็นภาพถ่ายของสมาชิกในหลายบันทึกที่อาจารย์ขจิต ได้พาลูกศิษย์ของท่านไปร่วมงานครั้งนี้ด้วย และนิสิตที่ท่านพาไปด้วย ก็ไม่ใช่ที่ไหน คนในโกทูโนนี่เอง แถมทั้งสองท่านนี้ ก็เป็นคนเก่งด้วย เขียนบันทึกถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆได้ดีน่าสนใจ(เวทีนี้ : สองท่านมีพี่เลี้ยงที่ดีมากๆ)

เป็นการศึกษาและการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความงดงามไปด้วยเลยนะครับ
เมื่อก่อนในสังคมเก่าๆก็มีวัฒนธรรมการพาคนรุ่นใหม่เรียนรู้ไปกับการทำงานมากเหมือนกันนะครับ
แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้เห็นกันง่ายนัก

ขอบพระคุณคุณครูอ้อยและอาจารย์ Wasawat Deemarn
ที่แวะมาเยือนและทักทายกันครับ มีความสุขมากๆนะครับ

แหม..จะบอกว่ามีลูกศิษย์อาจารย์ส่งลิงค์บันทึกอาจารย์มาให้ติดตามอยู่เรื่อย เลยไม่พลาดของดี อิ อิ

ชอบเรื่องการมอง ๓ ระนาบค่ะ ยกตัวอย่างได้ชัดเจน เข้าใจง่ายดีค่ะ

  • สวัสดีค่ะอาจารย์ และคุณพี่ใบไม้ขาาา~
  • ของดีๆ เข้าใจง่ายก็ต้องพาอวดเป็นธรรมดาค่ะ ^^
  • ว่าแต่พยายามคลิ๊กให้ไปขึ้นที่หน้าเฟสบุ๊ค แต่ไม่ขึ้นให้อ่ะ เพราะอะไรหน๋อ~

สวัสดีครับคุณใบ้ไม้ย้อนแสงครับ ว่าแล้วต้องเป็นหมู่เฮานี่เอง
วิธีมองแบบนี้มีเทคนิคเชิงกระบวนการช่วยฝึกฝนให้ชำนาญอีกหลายกิจกรรม
สนุกและใช้ทำงานกับกลุ่มคนได้หลายบรรยากาศ จะพยายามรวบรวมมาไว้เรื่อยๆครับ

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์
ต้องขอขอบพระคุณที่ได้ช่วยเสนอแนะ ทั้งช่วยให้ได้ทราบข่าวคราวของหมู่มิตรทั้งหลายอยู่เสมอครับ ขอรำลึกถึงและเป็นกำลังใจแด่ทุกท่านด้วยเน้อ มีความสุข สนุกสนาน ทั้งชีวิตและการงานอยู่เสมอๆเลยนะครับ

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่มาเยือนและทักทายกันครับ คุณราชิต สุพร อาจารย์ Wasawat Deemarn ครูอ้อย แซ่เฮ และคุณหมอทิมดาบครับ

  • ขอบพระคุณมากครับอาจารย์
  • จัดระบบ -> สะสมประสบการณ์ -> ภาวนาสมาธิ
  • ละเอียดอ่อนจริงๆ ด้วยครับ
  • เยี่ยมมากครับวศิน การจับประเด็นได้แม่นอย่างนี้เป็นอีกทักษะหนึ่งที่สำคัญ ต้องฝึกเอาเองอยู่เสมอๆครับ จะเรียนรู้ได้ดีจากการหาประสบการณ์ให้ตนเองอยู่เสมอๆ การได้ใช้ทักษะนี้แล้วได้แสดงออก แลกเปลี่ยนกับผู้อื่น จะทำให้ได้ลับประสบการณ์นี้ให้เข้มแข็ง
  • หากวางแนวคิดเป็นแบบสายธารต่อเนื่องอย่างที่วศินสรุปมานี้ ควรมีวงจรย้อนกลับจากขั้นภาวนาสมาธิไปสู่การจัดระบบ หมุนเวียนไปมา อีกนะครับ ซึ่งจะทำให้ระบบคิดและระบบความรู้ไม่หยุดนิ่งและเป็นภาพตัดขวาง แต่จะมีพัฒนาการ ยกระดับจิตใจพร้อมไปกับยกระดับความรู้ความจริงไปทั้งกระบิไปเรื่อยๆ
  • และเมื่อเห็นกระบวนการนี้ดีแล้ว ลำดับต่อไป ก็ควรยกระดับจากการวางวิธีคิดแบบเป็นอนุกรม ให้เป็นวิธีคิดเชิงระบบที่มีชุดปัจจัยที่ซับซ้อน ไม่ใช่อนุกรมหรือความสัมพันธ์เชิงเดี่ยว แต่ทั้งสามมิติเป็นองค์ประกอบของกันและกันแบบ ๓ เส้า มีปฏิสัมพันธ์กันแบบหลายทางต่อกัน เอื้อต่อการเกิดสิ่งต่างๆที่ดีและไม่ได้มาจากตัวใดตัวหนึ่ง แต่มาจากปฏิสัมพันธ์ที่พอดีของทั้งหมด

กราบนมัสการขอบพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแล
และขอขอบพระคุณอาจารย์ Wasawat Deemarn คุณราชิต สุพร คุณแสงแห่งความดี ครูอ้อย แซ่เฮ อาจารย์ณัฐพัชร์ คุณใบไม้ย้อนแสง ที่แวะมาเยือนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท