เรื่องของคุณพัสวียณัน


  คุณพัสวียณัน  กันยะโรจน์ เป็นอีกคนหนึ่งที่สนใจการบูรณาการในการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่มุ่งไปในประเด็น ‘เงื่อนไขคุณธรรม’  เธอทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘การพัฒนาหลักสูตรกิจกรรมส่งเสริมจิตสาธารณะ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนประชาวิทย์ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใหม่มาก  งานวิจัยเธอของได้รับความสนใจมากจากผู้ร่วมงานนำเสนอผลงานวิจัย  หลายคนสนเท่ห์ว่าหลักสูตรจิตอาสาแบบนี้ทำได้จริงๆ หรือ  แต่คุณพัสวียณันทำได้จริงๆ  เธอปรารภเหตุของการทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ว่า จิตสาธารณะเป็นสิ่งที่ต้องมนุษย์พัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น และมีการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง  มีวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข นั่นเป็นภาพกว้างทั้งประเทศ  เฉพาะที่โรงเรียนประชาวิทย์ที่คุณพัสวียณันปฏิบัติงานอยู่ก็มีรูปธรรมที่แสดงว่ามีความจำเป็นต้องปลูกฝังจิตสาธารณะอย่างเร่งด่วน ในประเด็นความสะอาดของอาคารสถานที่  การรับประทานอาหารกลางวันแล้วเหลือทิ้ง           โดนเพิ่มเติมจาก       การไม่ค่อยได้สานสัมพันธ์ที่อบอุ่นภายในครอบครัวและขาดความเข้าใจผู้ที่มีอายุมากกว่า  คุณพัสวียณันจึงสร้างหลักสูตรกิจกรรมส่งเสริมจิตสาธารณะ โดยเริ่มจากศึกษาข้อมูลพื้นฐานด้านสภาพพฤติกรรมจิตสาธารณะของผู้เรียน แล้วก็กำหนดจุดประสงค์เฉพาะในการปลูกฝังจิตสาธารณะ รวม 6 ข้อ ได้แก่ เพื่อให้ผู้เรียน...

1) สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ หรือการกระทำที่ทำให้เกิดความชำรุดเสียหายต่อส่วนรวม

2) เข้าใจความต้องการของผู้สูงอายุได้ และแสดงความกตัญญูโดยใช้เวลาร่วมกันในทางสร้างสรรค์    สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

 3) มีความรู้เรื่องอันตรายที่เกิดจากภาวะโลกร้อน สามารถปฏิบัติตนเพื่อเป็นการลดภาวะโลกร้อน

4) สามารถปักผ้า ซ่อมแซมเสื้อผ้าได้ และลดปริมาณการซื้อเสื้อผ้าโดยนำเสื้อผ้าตัวเก่าหรือมีรอยขาดกลับซ่อมแซมให้ใช้ได้ใหม่  

5) ประมาณความต้องการของตนเองได้ถูกต้อง และสามารถปรับพฤติกรรมการกินทิ้งกินขว้าง      ด้วยการกินให้หมดไม่เหลือเศษอาหาร 

6) สามารถสรุปเนื้อหาเรื่องที่ตนสนใจจากการเรียน ถ่ายทอดเนื้อหาลงในหนังสือ เล่มเล็กที่ทำขึ้น ด้วยตนเอง  หลังจากนั้นเธอก็ได้กำหนดเนื้อหาสาระของหลักสูตรเป็น 6 หน่วยการเรียนรู้ ประกอบด้วย หน่วยห้องเรียนน่าอยู่ หน่วย อ่านหนังสือให้คุณยายฟัง หน่วยลดขยะลดภาวะโลกร้อน หน่วยออกแบบเสื้อผ้าลดภาวะโลกร้อน หน่วยออกแบบการกินลดภาวะโลกร้อน และหน่วยจิตสาธารณะตามความสนใจ  ต่อมาคุณพัสวียณันก็กำหนดแนวทางจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทุกหน่วยฯ เป็น 5 ขั้น

เริ่มจากขั้นที่ 1  ให้ผู้เรียนได้สัมผัสความรู้สึกจากประสบการณ์จริงตามประเด็นจิตอาสาในบทเรียน เช่น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในห้องเรียนที่รกและไม่สะอาด  

ขั้นที่ 2 ฟังเรื่องเล่าที่เน้นย้ำความรู้สึกจากประสบการณ์จริงนั้น เช่น ฟังเรื่องจากครูหรือจากกันและกันถึงความรู้สึกต่อการที่จะต้องอยู่ในที่รกและไม่สะอาด  การฟังและบอกเล่าในขั้นนี้จะช่วยขยายความเข้าใจและเพิ่มความตระหนักสืบเนื่องจากประสบการณ์ในขั้นแรก 

ขั้นที่ 3 เป็นการทบทวนตนเองเกี่ยวกับพฤติกรรมของตน(ว่าเป็นคนทำห้องให้รกเสียเองหรือไม่ อย่างไร และสะท้อนออกมาทุกคน) 

ขั้นที่ 4 กำหนดกติกาหรือแนวปฏิบัติสำหรับตนเองเพื่อให้บรรลุผลที่ตนต้องการ ขั้นนี้เป็นขั้นที่กำหนดความต้องการ เช่น จะอยู่ในที่รกหรือที่สะอาด และตนจะทำอะไรอย่างไร ที่ทำให้ตนได้อยู่ห้องสะอาด ส่วนใหญ่กำหนดเพียงคนละหนึ่งพฤติกรรมที่มั่นใจว่าจะทำได้ทุกวัน 

ขั้นที่ 5 ประยุกต์ใช้กติกาหรือแนวปฏิบัติในสภาพจริง เป็นการนำผลการเรียนรู้จิตสาธารณะไปใช้จริง คือ นำข้อกำหนดในขั้นที่สี่ไปปฏิบัติในสถานการณ์จริง  ซึ่งขั้นนี้เป็นขั้นทดลองใช้และจะกลายเป็นขั้นแรกของการเรียนรู้วงจรถัดไปอีกด้วย 

 คุณพัสวียณันวางแนวทางการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ไว้ด้วยอย่างสอดคล้อง ครอบคลุมสมรรถนะตามจุดหมายที่กำหนดในหลักสูตร ทั้งด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและด้านพฤติกรรมจิตสาธารณะ  สุดท้ายได้ประเมินหลักสูตร

  ผลการทดลองใช้ปรากฏว่านักเรียนมีคะแนนทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น และมีพฤติกรรมจิตสาธารณะสูงขึ้น มีนัยสำคัญทางสถิติด้วย(ระดับ .05)  วิจัยนี้มีประเด็นน่าสนใจ คือ คุณพัสวียณันจัดการเรียนรู้โดยใช้การสะท้อนประสบการณ์จริง  กิจกรรมแบบนี้ดิฉันเห็นว่าเป็นหน่ออ่อนของชุมชนแห่งการเรียนรู้  ที่น่าจะพัฒนาต่อไป

 

แผนภาพวิธีการปลูกฝังคุณธรรม 5 ขั้น


หมายเลขบันทึก: 481523เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2012 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นำภาพไร่ชาอันสวยงามมาฝากด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท