๑๑๘.การมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนผ่านระเบียบวิธีทางความรู้ : ศาสตราจารย์ ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ และศาสตราจารย์พิเศษศรีศักดิ์ วัลลิโภดม


เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย กับภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ ได้จัดเสวนาทางวิชาการและบรรยายพิเศษเรื่อง วัฒนธรรมกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดย ศาสตราจารย์ ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ และศาสตราจารย์พิเศษศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ทางเครือข่ายคนทำงานฟื้นย่านผ่านเวียง และบางกอกฟอรั่ม ได้บอกกล่าวประชาสัมพันธ์งานให้ผมได้ทราบ เลยเป็นโอกาสดีสำหรับผมที่จะได้พักผ่อนด้วยการได้สดับฟังผู้รู้ไปกับชุมชนทางวิชาการบ้าง รวมทั้งเป็นโอกาสดีที่จะได้กราบคารวะท่านอาจารย์ที่เคารพทั้งสองด้วย  

การเสวนาและบรรยายพิเศษจัดขึ้นที่ห้องประชุม ชั้น ๔ ตึกออกแบบของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เวลา ๑๓.๐๐-๑๖.๓๐ น.กลุ่มผู้เข้าร่วมรับฟังมีจำนวนไม่มากนัก แต่ดูแล้วน่าจะเป็นกลุ่มผู้สนใจและกลุ่มคนทำงานเกี่ยวกับหัวข้อการบรรยายพิเศษโดยตรง ดังนั้น จำนวนของคนเข้าร่วมมากหรือน้อยจึงไม่มีความสำคัญเท่ากับการเป็นกลุ่มคนทำงานที่มีความเชื่อมโยงการปฏิบัติอยู่กับหัวข้อการบรรยาย บรรยากาศของเวทีจึงดำเนินไปอย่างง่ายๆแบบนักปฏิบัติ หลายท่านเป็นอาจารย์ นักวิจัย นักพัฒนาเอกชน และคนทำงานวิชาการแนวชุมชน ที่ผมพอจะเคยได้เห็นจากเวทีทำงานต่างๆอยู่บ้าง ผมประทับใจท่านอาจารย์ผู้อาวุโสทั้งสองท่านอย่างยิ่งที่มีน้ำใจเมตตากรุณารับเชิญผู้จัด เจียดเวลาในวันหยุดเดินทางจากกรุงเทพฯไปบรรยายให้กับกลุ่มผู้เข้าร่วมรับฟังกลุ่มเล็กๆอย่างนี้

แนวทางวิชาการของท่านศาสตราจารย์ ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ และศาสตราจารย์พิเศษศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ซึ่งเป็นวิทยากรผู้บรรยายพิเศษในครั้งนี้นั้น เป็นงานนักคิดนักวิชาการของประเทศในแนวที่ผมสนใจมานานแนวหนึ่ง ได้รู้จักงานของทั้งสองท่านเมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อน ก่อนที่จะได้รู้จักตัวจริงของท่านนับ ๑๐ ปี จัดว่าเป็นแหล่งวิทยาการบุคคลที่เหมาะสมที่สุดของประเทศที่จะพูดในเรื่องนี้ให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้ฟัง

งานของท่านอาจารย์ศรีศักดิ์นั้น เรามักจะได้เห็นการอธิบายมิติสังคมที่ทำให้เรื่องราวโบราณสถาน ศิลปวัตถุ และสิ่งของเครื่องใช้มีชีวิตผู้คนอยู่ในนั้นด้วย เห็นมิติผสมผสานทั้งประวัติศาสตร์สังคม วิถีชีวิต ความเชื่อมโยงกับคติชนและคติชาวบ้าน มีชีวิตจิตใจและมีความเป็นสังคมการอยู่อาศัยอันหลากหลายไปตามท้องถิ่นต่างๆของผู้คน

ผมมักได้อ่านศึกษางานของท่านในสิ่งตีพิมพ์ของเมืองโบราณ วารสารศิลปวัฒนธรรม และงานหนังสือตำราเป็นเล่ม ที่ทำเผยแพร่หลายแห่ง ต่อมาก็ได้ทำกิจกรรมวิชาการที่ได้เชื่อมโยงกับท่านอยู่บ้างหลายครั้ง เช่น การทำงานเชิงพื้นที่กับชุมชนบ้านหนองขาว จังหวัดกาญจนบุรี และการเสวนาทางวิชาการในบางเวที ส่วนงานของท่านอาจารย์อคินนั้นผมได้รู้จักงานเขียนของท่านหลายเรื่องเมื่อได้สนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องกระบวนการย้ายถิ่นและพัฒนาการความเป็นเมืองในสังคมไทยกับสังคมภูมิภาค รวมทั้งได้เห็นแนวการศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในงานพัฒนาทั้งของภาครัฐและเอกชนก็จากงานของท่าน ต่อมาก็ได้เรียนเชิญท่านในเวทีวิชาการที่ตนเองจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งได้ร่วมกับท่านเป็นกรรมการควบคุมและสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของอาจารย์อุสา สุทธิสาคร มหาวิทยาลัยหอการค้า ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงทบทวนสรรพวิธีวิทยาเรื่องชุมชนกับกระบวนการมีส่วนร่วมที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง

ในทรรศนะผมนั้น งานของทั้งสองท่านมีจุดแข็งที่หาได้ยากในวงวิชาการหลายประการด้วยกัน ท่านอาจารย์อคินนั้น จัดว่าเป็นนักวิชาการที่ได้พัฒนาวิธีศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของการพัฒนาสังคมและชุมชนเมืองในรุ่นแรกๆของประเทศ ทั้งที่จังหวัดสงขลาของภาคใต้ ชุมชนยกบัตรและชุมชนลุ่มน้ำแม่กลอง ชุมชนในเขตชานเมืองของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรรศนะวิพากษ์และแนวการอธิบายปรากฏารณ์ทางสังคมของท่านเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางของวงวิชาการทั้งในและต่างประเทศ

แต่สิ่งที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการในแนวนี้และยากที่จะหาผู้ใดทำได้อย่างท่านก็คือ วิธีสร้างการอธิบายประเด็นสังคมระดับโครงสร้างและประเด็นเชิงระบบสังคม หรือการอธิบายความเป็นส่วนรวมที่มีความเชื่อมโยงอันกว้างขวางกับสุขภาวะของคนส่วนใหญ่ จากจุดยืนของคนที่อยู่ในชุมชนซึ่งมีความเสียเปรียบอยู่ในระบบ ในขณะที่ความรู้กระแสหลักของสังคมโดยทั่วไปนั้น มักจะพากันอธิบายจากจุดยืนของคนส่วนน้อยที่มีอำนาจ อีกทั้งท่านเองก็สามารถมองโลกและปรากฏการณ์สังคมด้วยสายตาของคนชั้นนำตามไปกับกระแสหลักดังกล่าวได้ดีที่สุดคนหนึ่ง แต่ท่านกลับเน้นระเบียบวิธีที่มีนัยสำคัญต่อการสะท้อนโลกทัศน์ที่ต่างออกไป วิถีวิชาการของท่านจึงนับว่าสร้างได้ยากถึง ๒ ชั้น

สำหรับผมนั้น งานวิจัยของท่านมีจุดเด่น ๒ แบบที่ไม่มีใครเหมือน กล่าวคือ ด้านหนึ่งที่เป็นการวิจัยที่ออกมาจากทรรศนะผู้เชี่ยวชาญนั้น งานของท่านจะสามารถเข้าถึงข้อมูลและเอกสารชั้นต้นของชนชั้นนำหลายอย่างได้อย่างลึกซึ้งรอบด้าน  และอีกด้านหนึ่งนั้น ในงานวิจัยแนวชุมชน ในฐานะท่านเป็นเจ้า หากจะใช้วิธีศึกษาโดยให้ชาวบ้านและผู้อื่นเดินเข้าหา รวมทั้งใช้วิธีเข้าถึงหลักฐานข้อมูลที่ดีที่สุดทั้งของประเทศไทยและของโลก ก็ย่อมทำได้อยู่เสมอ แต่ท่านกลับเน้นระเบียบวิธีที่ทำให้ความเป็นเจ้าเป็นนายต้องเดินออกไปศึกษาและสะท้อนความรู้ขึ้นมาจากชุมชน จึงเป็นการยากที่จะมีใครสามารถเข้าถึงแง่มุมต่างๆอย่างที่ปรากฏในงานของท่าน ได้อย่างเหมาะสมเหมือนกับท่านได้อีกเช่นกัน 

วิธีการศึกษาในงานหลายชิ้นของท่าน ท่านจะเน้นระเบียบวิธีการเดินเข้าไปสำรวจ สังเกตการณ์ และศึกษาด้วยตนเองพร้อมกับชุมชน (Spectaculation Method) การเดินเข้าออก ทำการศึกษา และติดตามเรียนรู้ร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง การติดตามศึกษาและวิเคราะห์เปรียบเทียบในระยะยาว การเก็บบันทึกข้อมูลและนำเสนอข้อมูลด้วยการวาดภาพ ดังนั้น หากท่านวิเคราะห์และนำเสนอความเป็นจริงต่างๆด้วยการก้าวเดินออกมาจากจุดที่ชาวบ้านยืนอยู่ เชื่อมโยงไปจนถึงจุดที่สังคมส่วนใหญ่มองและจุดที่เป็นประเด็นความสนใจของชนชั้นนำของสังคม ก็จะได้ภาพที่ไม่มีใครเลยที่จะเห็นได้กว้างไกลและสามารถนำเสนอความเป็นจริงได้อย่างท่าน

งานของท่าน รวมทั้งความเป็นทั้งหมดที่สื่อสะท้อนออกมาจากวิถีปฏิบัติตนของท่าน ทำให้แนวทฤษฎีของต่างประเทศที่ใช้โครงสร้างเชิงอุปถัมภ์และความสัมพันธ์แบบเครือญาติอธิบายความอ่อนแอของสังคมประชาธิไตยและอธิบายความล้มเหลวของระบบต่างๆในสังคม จำเป็นต้องนำมาพิจารณาเสียใหม่ว่าอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไปในกรณีของสังคมไทย โดยเฉพาะต่อสุขภาวะของสังคม สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของคนในภาคชนบทกับกลุ่มคนยากจนและสลัมในสังคมเมือง รวมทั้งการผ่านพ้นวิกฤติของประเทศหลายกรณี ที่มักมีแบบแผนแตกต่างจากสังคมอื่นๆของโลก

ส่วนท่านศาสตราจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดมนั้น ในวงวิชาการให้การยอมรับว่าท่านเป็นผู้นำคนหนึ่งในการพัฒนาวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นอกเหนือจากความแข็งขันทางวิชาการวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงวิธีการแนวอนุรักษ์เข้ากับแนววัฒนธรรมชุมชน ที่ท่านมีบทบาทมากที่สุดท่านหนึ่งในวงวิชาการของประเทศ ท่านเป็นผู้หนึ่งที่นำเสนอและเชื่อมโยงความหมายของวัฒนธรรมว่าเป็นวิถีชีวิตและระบบการอยู่ร่วมกันที่สะท้อนออกมาจากโลกด้านในของมนุษย์ในสังคมต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดมิติที่มีพลังต่อการเชื่อมโยงเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาพื้นบ้าน รวมทั้งระบบความรู้ต่างๆที่มีอยู่ในวิถีชีวิตชาวบ้าน จัดว่าเป็นวิถีวิชาการที่ช่วยส่งเสียงสร้างพลังให้กับชุมชนและกลุ่มผู้ผูกพันชีวิตการเป็นอยู่กับถิ่นฐานและถิ่นอาศัยต่างๆ ที่แข็งขันที่สุดท่านหนึ่งของสังคมไทย

วิถีวิชาการของทั้งสองท่านสำหรับผมนั้น นอกจากพลังวิชาการและพลังความรู้ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อสังคมแล้ว ระเบียบวิธีทางความรู้ของท่าน จัดว่าเป็นงานเชิงปฏิรูปทางสังคมวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้งด้วยวิธีการทางปัญญาและวิธีการทางความรู้ ที่ไม่ต้องใช้คำว่าปฏิรูปหรือปฏิวัติ ซึ่งในสถานการณ์ที่สังคมอ่อนไหว คนส่วนน้อยที่ได้เปรียบในสังคมผูกขาดความเป็นเจ้าของสังคมส่วนรวม และไม่ค่อยเป็นสังคมที่เปิดกว้างให้กับวัฒนธรรมการปรึกษาหารือกันเพื่อสร้างสุขภาวะส่วนรวมด้วยกันสำหรับทุกคนนั้น การพากันไปเกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนรวมในแง่มุมสำคัญที่ควรจะเป็นเรื่องปรกติของทุกคน มักถูกหันเหไปสู่ความขัดแย้งนอกเรื่องสารทุกข์สุขดิบของผู้คนและดึงไปให้ความหมายที่เป็นการทำลายล้างผู้มีความแตกต่างทางความคิดได้ง่าย ทำให้เกิดความหวาดระแวง การทำงานเชิงสังคมที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องมีความยากลำบาก ถูกทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงแทรกซ้อน และสังคมเสียโอกาสในการสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งของตนเอง

แนวการทำงานวิชาการเชิงสังคมของท่าน เป็นงานที่จะสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนผ่านระเบียบวิธีต่างๆที่อยู่ในกระบวนการทางความรู้ เนื่องจากไม่ได้มุ่งที่การนำเอาคนมารวมกันและทำกิจกรรมร่วมกัน แต่เป็นการทำให้ระบบความรู้ ข้อมูล ความคิด และภูมิปัญญาที่สังคมต้องใช้ เปิดออกและมีพื้นที่ให้กับสิ่งที่สะท้อนขึ้นมาจากชุมชนและกลุ่มคนที่มีความเสียเปรียบอยู่ในระบบและโครงสร้างที่ให้ความยุติธรรมได้ยังไม่ทั่วถึงแก่ผู้คนซึ่งมีความหลากหลายในสังคม เป็นกระบวนการที่สังคมจะเกิดการจัดระบบปฏิสัมพันธ์กันในแนวราบไปโดยระเบียบวิธี มุ่งเข้าถึงความเป็นจริงในการสร้างสุขภาวะเพื่อการอยู่ร่วมกัน ด้วยการสร้างปัญญาปฏิบัติและแปรไปสู่การดำเนินชีวิต ทั้งทางด้านการทำมาหากิน การสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรม การจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การพัฒนาวิถีการผลิตและการจัดการทรัพยากร และอื่นๆ

รูปแบบและกระบวนการเวทียังจัดได้ไม่ค่อยดีอย่างที่ควรจะเป็นเท่าไหร่นัก  อีกทั้งลูกเล่นยังไม่สมกับที่เป็นเวทีของสาขาทางศิลปะและวัฒนธรรม ทั้งระบบเสียง การจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อมทางวิชาการ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างกว้างขวางของเวที การใช้รูปแบบบรรยายทำให้ท่านอาจารย์ผู้บรรยายทั้งสองท่านบรรยายไปอย่างทั่วๆไป ไม่สามารถลงลึกในประเด็นจำเพาะหรือประเด็นที่อิงอยู่กับประสบการณ์ของเครือข่ายคนทำงาน โดยเฉพาะในท้องถิ่นและภูมิภาคล้านนา หากใช้วิธีนั่งสนทนาหมุนไปตามประเด็นหลากหลาย หรือการทำ Agenda-Based Presentation Discussion ก็จะช่วยให้สามารถเข้าถึงความรอบด้านและได้สัมผัสความลึกซึ้งอย่างยิ่งของอาจารย์ทั้งสองท่านดังที่กล่าวมาในข้างต้น ได้เป็นอย่างดีมากกว่า.   

หมายเลขบันทึก: 481102เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2012 23:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีครับท่านอาจารย์ วิรัตน์ ....เครือข่าย ฟื้นย่านผ่านเวียง คงมีกิจกรรมคล้ายๆกับ เครือข่ายเกลอย่านของพัทลุง

ที่ก่อตัวผูกสัมพันธ์กันตั้งหลายปีแล้ว

ขอบคุณท่านอาจารย์หมอ ป.ที่แวะมาเยือนครับ ตอนนี้คนเมืองและคนที่อยู่ทางเหนือนานๆแล้วอย่างคุณหมอ เขามีอาการอย่างไรกันบ้างล่ะครับเนี่ย ผมนั้นมักเป็นหวัดแพ้อากาศง่ายๆอยู่เป็นทุนอยู่แล้ว มาเจอสภาพอากาศตอนนี้ก็ให้มีอันต้องพงาบๆเหมือนหายใจทางเหงือกเกือบจะตลอดเวลาเชียวละครับ

สวัสดียามเช้าครับบังวอญ่า ที่พัทลุงและทางใต้ มีเครือข่ายคนทำงานเชิงพื้นที่ในแนวทางที่หลากหลาย และเอาจริงเอาจังดีเยอะนะครับ อาทิตย์หน้านี้ผมจะได้ไปช่วยเตรียมทีมถอดบทเรียนเสริมศักยภาพเครือข่ายทำงานเชิงพื้นที่ของเครือข่าย รพสต.กับเครือข่าย อสม.และเครือข่ายชุมชน ของแถวๆนครศรีธรรมราชกับกลุ่มจังหวัดทางภาคใต้ คงได้เจอมือดีหลายคนที่เป็นเครือข่ายเรียนรู้และทำงานเชิงพื้นที่กับบังวอญ่าด้วยล่ะครับ

อาจารย์ครับ ผมพบผู้อาวุโสสองท่านตอนไปประชุม 10 ปี สกว โดยที่นั่งติดท่านเลย

http://www.gotoknow.org/blog/yahoo/239979?page=1

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์เรื่องนี้ครับ

รูปแบบและกระบวนการเวทียังจัดได้ไม่ค่อยดีอย่างที่ควรจะเป็นเท่าไหร่นัก อีกทั้งลูกเล่นยังไม่สมกับที่เป็นเวทีของสาขาทางศิลปะและวัฒนธรรม ทั้งระบบเสียง การจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อมทางวิชาการ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างกว้างขวางของเวที

ถ้าจัดเป็นวงกลมหรือให้พูดคุยกันได้ แบบวง dialogue น่าจะดีกว่านะครับ

สวัสดีครับอาจารย์ดร.ขจิตครับ

  • เครือข่ายคนทำงานที่บ้านหนองขาวบ้านของอาจารย์นั้น เป็นลูกศิษย์และเครือข่ายนักวิจัยชุมชนของอาจารย์หลายคนเลยละครับ
  • นานๆได้เป็นผู้นั่งฟังและเข้าร่วมเวทีที่คนอื่นจัด ก็รู้สึกดีมากเหมือนกันครับอาจารย์ ทำให้นึกดีใจอยู่เหมือนกันว่าผมได้จัดเวทีอย่างนี้มามากพอสมควร คงมีอยู่ไม่น้อยที่เป็นการได้เพิ่มพูนกำลังความรื่นรมย์เบิกบานทางปัญญาให้กับสังคม มีพลังชีวิตและมีไฟในการทำงานแก่ส่วนรวม อยากออกไปสร้างสรรค์สิ่งดีๆต่อไปทั้งเพื่อตนเองและสังคม เหมือนกับที่ผมเองได้รู้สึกเมื่อได้เป็นผู้นั่งดูและได้เป็นผู้รับสิ่งดีๆที่ผู้อื่นจัดให้บ้าง
  • งานอย่างนี้ มีงานเบื้องหลังที่เหนื่อยทั้งกายและใจ แต่มีบทบาทต่อการสร้างพื้นที่และกลไกเคลื่อนไหวความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร และพลังชีวิตทางปัญญาของสังคม พอได้เป็นผู้นั่งรับฟังและได้มองทั่วๆ ก็ทำให้ได้เห็นรายละเอียดที่ใส่ลูกเล่นต่างๆเข้าไปได้อีกเยอะเหมือนกัน

สวัสดีค่ะอาจารย์ 

 

ได้แก่นความรู้เป็นปฐมบทในการดำเนินเรื่องราวของงานตัวเองเลยล่ะค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ ที่ได้มีทั้งเวลา  และการต่อยอดลึกซึ้ง  ถ่ายทอดแบ่งปัน

หนูว่าอ่านบันทึกอาจารย์บ่อย ๆ  ภาษาของหนูไหลไปคล้ายอาจารย์นะคะเนี่ย อิ อิ

ชอบค่ะชอบ

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์

                            

เมื่อสัปดาห์ก่อนได้เข้าร่วมฟังการสนทนาใน เวทีจิตตปัญญาเสวนา ครั้งที่ 36 "ชาวจิตตปัญญาในสถานการณ์ที่ไหวแปร" ของศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเสวนาโดย รศ.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผอ.ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิรพันธ์ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ณ ลานเป็ดขาว ...

เป็นบรรยากาศการสนทนาบทพื้นที่ที่เป็น public space ผู้คน รถราผ่านไปมา ใครใคร่เดินเข้ามาร่วมบรรยากาศก็เดินเข้ามาได้เลยค่ะ ซึ่งนับว่าเป็นการกรองกลุ่มคนที่เข้าร่วมได้ในระดับหนึ่งค่ะ มองว่าเป็นกลุ่มคนที่พร้อมเปิดการรับรู้ เพื่อการเรียนรู้ที่มีความหมาย เสียดายเวลาน้อยค่ะ เข้าใจว่า อาจารย์ชัยวัฒน์ คงคุยยังไม่สะใจ แบบว่ายังไม่สะใจทั้งผู้พูดและผู้ฟังหล่ะค่ะงานนี้ ..

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ
เป็นวิธีให้กำลังใจกันทางอ้อมด้วยนะครับเนี่ย เพราะผมเองก็ชอบอ่านวิธีเล่าถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆของคุณหมอมากนะครับ รวมทั้งชอบวิธีทำงานสื่อออนไลน์ของทีมคุณหมอด้วย ผมเคยเข้าไปในยูทูปของเครือข่ายทำงานเชิงพื้นที่ของคุณหมอ ก็ให้ตื่นตาตื่นใจและทึ่งมากครับว่าทำกันได้อย่างไร เป็นทั้งสื่อเผยแพร่การทำงานและเป็นคลังบันทึกรวบรวมข้อมูลการทำงานที่ดีมากจริงๆครับ ต้องขอบพระคุณคุณหมอที่นำเอาเรื่องราวต่างๆมาถ่ายทอดสู่กันอยู่เสมอเช่นกันครับ

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ
ได้บรรยากาศดีจังเลยนะครับ ในสวนสาธารณะ สนามหญ้า ลานชุมชน ริมถนนตามสังคมเมืองต่างๆ หากมีเวทีนั่งคุยและสนทนาเรื่องส่วนรวม รวมทั้งเรื่องราวต่างๆที่เป็นการเพิ่มพูนกำลังสติปัญญาสำหรับการงานและการดำเนินชีวิตให้กับผู้คนอย่างนี้เยอะๆจนกลายเป็นวัฒนธรรมสาธารณะอย่างหนึ่ง ก็คงจะเป็นพื้นที่ชุมชนเรียนรู้และเป็นการมีส่วนร่วมในการจัดการเชิงวัฒนธรรมของสังคมเป็นอย่างดีเหมือนกันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท