เตรียมเทือกทำนาปลูกข้าวควรปรับพื้นให้เรียบเสมอกัน รายได้และผลผลิตจะไม่ลุ่มๆดอนๆ


ปัจจุบันเทคโนโลยีและจักรกลการเกษตรมีการปรับปรุงพัฒนาให้ก้าวหน้าไปมาก เกษตรกรควรให้ความสำคัญกับการนำมาปรับใช้ในอาชีพโดยนำมาพัฒนาพื้นที่แปลงนา

 

ทุกๆปีเมื่อถึงวันพืชมงคล จะมีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันพืชมงคล หมายถึง วันที่กำหนด พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีเก่ามาแต่โบราณจัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พี่น้องเกษตรกรคนไทยทั้งชาติ พระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัล แรกนาขวัญเป็น พระราชพิธี 2 พิธี รวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์อย่างหนึ่ง กับพระราชพิธีจรด พระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์อย่างหนึ่ง   พระราชพิธีพืชมงคลนั้นจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำหรับ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะ ประกอบพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑล ท้องสนามหลวง อีกทั้งในวันพืชมงคลนี้ทางคณะรัฐมนตรีในปี2509 ยังลงมติให้เป็นวันเกษตรกรด้วย (รายละเอียดเพ่ิมเติม ข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ http://www.culture.go.th)
 
ในวันพืชมงคลนี้จะมีอยู่กิจกรรมหนึ่งที่พวกเราชาวกสิกรรมตั้งอกตั้งใจรอคอย...นั่นคือลุ้นว่าพระโคเสี่ยงทายในปีนี้ว่าท่านจะกินอะไร เพื่อนำคำพยากรณ์ไปเตรียมตัววางแผนการทำไร่ทำนากันต่อไป ในอดีตพิธีนี้ผู้คนให้ความสนใจกันมาก แต่ปัจจุบันก็จืดจางไปตามกาลเวลาหรืออาจเป็นเพราะเรามีกรมอุตุนิยมวิทยาที่ทำงานได้แม่นยำมากขึ้นก็เป็นได้ ขอย้อนกลับไปสมมติเป็นเชิงเปรียบเทียบในเรื่องพระโคที่ว่าพระโคกินของเสี่ยงทายโน่นนั่นนี่แล้วปีนี้น้ำน้อยข้าวหรือผลผลิตทางการเกษตรในที่ดอนจะเสียหาย ในที่ลุ่มจะให้ผลผลิตดี แต่ถ้าพระโคกินของเสี่ยงทายนี่นั่นโน่นปีนี้น้ำจะมากข้าวหรือผลผลิตทางการเกษตรในที่ดอนดีแต่ที่ลุ่มจะเสียหาย จากคำพยากรณ์นี้ถ้าเรานำมาคิดและปรับใช้ในการเกษตรโดยทำให้แปลงนาราบเรียบเสมอกันก็น่าจะมีประโยชน์อยู่ไม่มากก็น้อย 
 
ปัจจุบันเทคโนโลยีและจักรกลการเกษตรมีการปรับปรุงพัฒนาให้ก้าวหน้าไปมาก เกษตรกรควรให้ความสำคัญกับการนำมาปรับใช้ในอาชีพโดยนำมาพัฒนาพื้นที่แปลงนาให้ราบเรียบเสมอกันทั่วทั้งแปลง ควรเตรียมแปลงด้วยความตั้งอกตั้งใจและปราณีตค่อยๆทำหรือพัฒนาไปทีละน้อยทีละงานสองงานหรือไร่สองไร่ทำไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็เรียบเสมอกันทั้งแปลงไม่ว่าจะกี่ไร่ก็ตาม ประโยชน์ของการปรับแต่งพื้นที่หรือเตรียมเทือกให้เสมอกันจะช่วยให้เราควบคุมและจัดการบริหารแปลงนาได้ง่าย ทั้งเรื่องการควบคุมระดับน้ำ เรื่องหญ้าหรือวัชพืช เรื่องการให้ปุ๋ยหรือแม้กระทั่งการป้องโรคและแมลงจะสามารถบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น ทำพื้นที่ให้ไม่ลุ่มๆดอนๆ ต้นข้าวก็เจริญเติบโตสมบูรณ์อย่างทั่วถึง ก็น่าจะมีส่วนให้ได้ผลผลิตที่ทั่วถึงเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วยเช่นกัน รายได้ก็ไม่หดหายมีกินมีใช้เพียงพอ แถมชีวิตก็จะไม่ลุ่มๆดอนๆตามมาด้วยเช่นกัน
 
มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com
 
 

 
 
 
หมายเลขบันทึก: 477705เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2012 07:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ   

              ผมอ่านสาระของท่านได้ความรู้มากครับ   และทราบว่า"เทือก"ตรงกับภาษาถิ่นตรง ๆ  ทำให้ผมเข้าใจว่าภาษาถิ่นใต้บางคำ  เมื่อมาปะปนภาษากลางเราอาจจะเขิน  ถ้าเราพูดเสียเอง  แต่เมื่อเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2542 ก็จะถึงบางอ้อครับ

ทือก น. ที่ดินที่ไถและคราดแล้วทําให้เป็นโคลนเป็นตมเพื่อตกกล้า
  เช่น ทําเทือกตกกล้า, ขี้เทือก ก็ว่า, โดยปริยายหมายถึงที่ซึ่ง
  เปรอะเลอะเทอะเพราะยํ่ากันไปมา เช่น ยํ่าเป็นเทือก.

 ขอบคุณที่แบ่งปันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท