ทำไมต้องทำให้มันยากด้วย


เคยเจอคนที่พูดเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยากบ้างหรือเปล่าครับ ผมทำงานในแวดวงที่ปรึกษา ก็จะพบเจอกับวิทยากร และที่ปรึกษาอื่นๆ มากมาย แต่ละคนก็จะมีจุดเก่งที่แตกต่างกันออกไป ได้มีโอกาสพบปะกับผู้บริหารของบริษัทต่างๆ ซึ่งก็มีความสามารถที่ไม่แพ้กันเท่าไหร่ในการบริหารงาน แต่สิ่งที่ทำให้บุคคลเหล่านี้มีความแตกต่างกันมากก็คือ เรื่องของการสื่อความครับ ใครก็ตามที่พูด หรืออธิบายเรื่องง่ายให้ง่ายขึ้น และทำให้เรื่องยากๆ กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายๆ คนนั้นจะเป็นที่ยอมรับของคนอื่นอย่างมากเลยทีเดียว

ผมเองก็เคยพบเจอมานะครับ บุคคลที่พูดเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ความรู้สึกของผมเองหลังจากที่พยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เขาพูด บางครั้งเราก็คิดว่าทำไมไม่พูดให้เข้าใจง่ายกว่านี้ ก็เลยมานั่งหาเหตุผลว่าทำไมคนเราถึงชอบทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก พร้อมกับค้นหาบทความต่างๆ ที่อ้างอิงถึงเรื่องเหล่านี้ ก็พบสาเหตุดังนี้ครับ

  • กลัวว่าคนอื่นจะเข้าใจว่าเราไม่เก่ง ดังนั้นก็เลยต้องแสดงความเก่งของตนเองออกมาโดยการใช้ศัพท์ และใช้ภาษาที่เข้าใจยากๆ หน่อย ทำให้คนฟังรู้สึกทึ่งและอึ้งในสิ่งที่ตนเองพูด แต่หารู้ไม่ว่า คนฟังที่ฟังไม่รู้เรื่องเขาคงไม่คิดหรอกครับว่า คนที่พูดไม่รู้เรื่องนี้เป็นคนเก่ง
  • ต้องการจะบอกคนอื่นว่าเรารู้เยอะ ก็เลยต้องอ้างอิงแหล่งที่มามากมาย และอ้างอิงทฤษฎีเยอะแยะไปหมด จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ดีนะครับ ในการอ้างอิง แต่เยอะไปมันก็น่าเบื่อ โดยเฉพาะการอธิบายทฤษฎีต่างๆ ด้วยภาษาทางวิชาการสุดๆ แบบนี้คนฟังถึงกับนั่งนิ่ง และอึ้ง คนพูดก็คิดไปเองว่าคนฟังคงจะตั้งใจฟัง เพราะอึ้งในความเก่งของตนเอง แต่หารู้ไม่ว่า คนฟังที่อึ้งไปเพราะคิดไม่ทัน และยังงงๆ อยู่เลยว่าที่พูดมาทั้งหมดมันคืออะไรกันแน่

สาเหตุที่พบส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของความต้องการให้คนอื่นรู้ว่าเราเก่ง เราศึกษามาเยอะ ก็เลยทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยากไปซะหมด

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น การที่เราจะต้องทำงานร่วมกันกับผู้อื่น การที่เราจะต้องสื่อความกัน การสร้างความเข้าใจร่วมกันนั้น ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยการสื่อความที่ทำให้คนอื่นเข้าใจง่ายๆ เพื่อจะได้บรรลุผลการทำงานร่วมกันได้ ดังนั้นการที่เราจะสามารถทำให้คนอื่นเข้าใจง่ายๆ ได้นั้นแปลว่า เราจะต้องพูดจาภาษาง่ายๆ ไม่ต้องเอาศัพท์แสงทางวิชาการเข้ามาให้มันยุ่งยาก และทำให้คนฟังนั่งงง

บางครั้งแทนที่จะเข้าใจไปเลยทีเดียว กลับต้องมานั่นตีความศัพท์ต่างๆ อีก เสียเวลามากขึ้นอีก

ในความเห็นผมคนที่พูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้นั้น นี่แหละคือคนเก่งที่แท้จริง เขาไม่จำเป็นต้องโชว์ว่าเขารู้อะไรมามากมายหรอกครับ เพราะสิ่งที่เขาพูดให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายๆ นั้นเป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่า เขารู้จริง

ผิดกับบางคนที่ไม่รู้จริง แต่พยายามยกเอาภาษาวิชาการมาใช้ และอ้างศัพท์ต่างๆ มากมาย เพื่อต้องการจะทำให้คนอื่นเข้าใจว่าเขารู้เรื่องนั้นจริงๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้างในกลวงครับ

ขนาดไอน์สไตน์ ยังพูดไว้เลยครับว่า

“If you can’t explain it simply, you don’t understand it enough.”

หมายเลขบันทึก: 477704เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2012 06:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2012 01:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ในวงการศึกษาไทย มีบุคคลประเภทที่พูดไม่รู้เรื่องมก ดั่งที่อาจารย์ว่าจริงๆ ถ้าพูดไม่เป็น ก็อย่างหวังว่าจะถ่ายทอดสื่อสารภาษาเขียนแก่ใครได้ จริงไหมครับ

เห็นด้วยกับอาจารย์คะ คนที่ใช้ภาษาสื่อสารให้ง่าย กระชับ คือคนรู้จริงที่เข้าใจว่าสิ่งใดจำเป็นจริงๆ

ตัวเองก็เคย "เวิ่นเว้อ" อ้างอิงทฤษฎีนู่นนี่วุ่นวาย เพราะกลัวอีกอย่างคือ "กลัวคนอื่นหาว่าคิดเอาเอง"

จนสภาพสังคมเริ่มมองว่าการ "คิดเอง" เป็นที่ชื่นชมมากขึ้น จึงจะเปลี่ยนได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท