หนังสั้น..ที่สามพราน


หนังสั้น  ที่สามพราน

เมื่อพูดถึงสวนสามพราน  สำหรับตัวแม่ต้อยเองแล้วนับว่ามีความสนิทสนมและมีความสัมพันธ์อันยาวนานกับสถานที่แห่งนี้มากพอสมควร  ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นหุ้นส่วน หรือมีกิจการใดใดในสถานที่แห่งนี้เลย( ที่จริงหากจะมีบ้างก็คงจะดีไม่น้อย  )

ครั้งแรกที่ได้มา คงถอยหลังไปสักสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมานั่นแหละคะ แม่ต้อยในสภาพเด็กนักเรียนบ้านนอก  อายุประมาณ ๑๒ ปี มีโอกาสเข้ากรุงเทพนครั้งแรกในชีวิต เพื่อเข้าประชุมร่วมกับเด็กนักเรียนทั่วประเทศในโครงการ” ยุวกสิกร”

สมัยโน้นไม่มีที่ไปเที่ยวมากไปกว่า ท้องฟ้าจำลอง  สวนสามพราน และทะเลบางแสน  นั่นก็โก้สุดชีวิตแล้ว

                       

ที่สวนสามพรานนี้เอง จำได้ว่า ในสมัยนั้นพวกเรา กริ้ดกร้าดกันมากเหลือเกิน  จำได้ว่าสมัยนั้น  มีสาวๆที่เกล้าผมสูง จอนหนา หน้าตาคล้ายๆเพชรา ดาราดังของยุคนั้นมาเที่ยวกันที่นี่แหละคะ  ใส่กระโปรงสั้นจู่ ขนตาปลอมหนาเป็นแพ เด็กๆอย่างแม่ต้อยก็ได้แต่แอบมอง อย่างตื่นตาตื่นใจ  อุแม่จ้าวว..

ป่านนี้เธอกลุ่มนั้น น่าจะสิริอายุประมาณ ๗๐ กว่าๆๆ อิอิ

 

ถึงวันนี้ แม่ต้อยผ่านประสบการณ์ต่างๆมามากมายจนใครๆไม่ยอมเรียกพี่กันแล้ว   แต่สวนสามพรานยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายเดิมๆ ไม่เปลี่ยนไปมากนัก

ยังคงมีทะเลสาบที่แม่ต้อยเคยนั่งชันเขาให้เพื่อนถ่ายรูปอย่างโก้เก๋  ยังมีเนินกุหลาบที่มีบันไดสูง ที่ยามนั้นเราเบียดกันถ่ายรูป

 

และทำท่าอย่างที่คิดว่าดีที่สุด  น่ารักที่สุดในห้วงเวลานั้น

ทุกสิ่งทุกอย่างยัง เหมือนเดิม ราวกับจะหยุดวันเวลาไว้ ณ.ที่แห่งนี้

 

และเมื่อเติบโตขึ้น แม่ต้อยก็ยังได้มีโอกาสมาใช้สถานที่แห่งนี้ในการจัดประชุม ตั้งแต่เริ่มทำงานในกระทรวงสาธารณสุข หรือพาเพื่อนมาเที่ยวพักผ่อนยามต้องการผ่อนคลาย

คราวนี้แม่ต้อยได้มาอีกครั้งในการจัดประชุม เพื่อสร้างนักสื่อสารด้านสุขภาพ โดยการผลิตหนังสั้นสำหรับน้องๆในโครงการSHA

ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว  ที่แม่ต้อยเป็นนักเพ้อฝันตัวแม่เลยทีเดียว  อดนึกขำในใจเมื่อตอนที่อาจารย์อนุวัฒน์มาให้กำลังใจน้องๆในการประชุมคราวนี้ ส่วนหนึ่งที่อาจารย์ได้กล่าวกับน้องๆคือ

“ พี่ต้อย เป็นคนชอบทำอะไรแปลกๆตามจินตนาการ  ..” ( ฮ่าๆ)

แต่แม่ต้อยชอบที่สุดในคำพูดอาจารย์อนุวัฒน์คือ

“ การพัฒนาระบบสุขภาพนั้นมิใช่แค่เพียงเทคโนโลยี่เท่านั้น แต่สามารถสร้างอีกด้าน ด้วยจินตนาการนี่แหละ..”

 

 อาจารย์อนุวัฒน์พูดราวกับนั่งในใจของแม่ต้อยเสียจริงๆ  ทุกๆครั้งที่แม่ต้อยได้มีโอกาสออก ไปเยี่ยมโรงพยาบาลหลายๆแห่ง ก็ได้พบว่าบางครั้งโรงพยาบาลนั้นใกล้เคียงกับโรงละคร คือมันมีทั้งเรื่องราวชีวิต ทั้งเกิด แก่ เจ็บ และตาย ทั้งความดี ทั้งความรัก ทั้งความเสียสละ ที่บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้ชีวิตทั้งชีวิตในการดูแลผู้เจ็บป่วย  มีหลากหลายเรื่องราว ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้

โรงพยาบาลหลายๆแห่ง หมอ พยาบาลทำงานอย่างหนัก ทำงานรุกคืบจนถึงชุมชน จนถึงคนพิการ  บางแห่งรวมตัวกันสร้างชมรมช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส บางแห่ง เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายลงไปทำงานในพื้นที่อันตราย ก็เพราะด้วยหน้าที่และจิตวิญญาณ

ภาพเหล่านี้น้อยนักที่สังคมจะได้รับรู้ หรือชื่นชม ดังนั้นเมือมีโอกาส แม่ต้อยจึงคิดที่จะสร้างนักสื่อสารสาธารณสุขแบบมืออาชีพ ให้น้องๆเหล่านั้นผลิตสื่อได้ด้วยตนเอง และสามารถสื่อสารสิ่งที่ดีงามในหน่วยงานของตน ด้วยความภาคภูมิใจ

แรงบันดาลใจของแม่ต้อย มาจากภาพยนตร์ในอดีต “เขาชื่อกานต์” ในสมัยนั้น คนที่เป็นหมอและอาสาไปอยู่ต่างจังหวัดในถิ่นทุรกันดารไม่ค่อยมี เพราะในช่วงราวปีพศ ๒๕๑๕ นั้นเป็นยุคที่ประเทศไทยกำลังเริ่ม รับเอาแนวคิดวัตถุนิยมเข้ามาอย่างเต็มที่

“หมอกานต์” จึงทำให้นักศึกษาในสมัยนั้นเกิดทัศนคติที่ดีต่อการช่วยเหลือคนในชนบทอย่างมาก หมอได้รับการยกย่องตามบทบาทของหมอกานต์ในภาพยนตร์เรื่องนี้

หนังหรือภาพยนตร์จึงเป็นการสื่อสารสิ่งที่เราอยากจะบอกแก่สังคมได้อย่างดีที่สุด

ดังนั้นความฝันของแม่ต้อยมาถึงจุดที่เป็นความจริงเมื่อสรพ.ได้รับการสนับสนุนจากสสส.ให้ทำโครงการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอาจารย์อนุวัฒน์มอบความไว้วางใจให้แม่ต้อยเป็นผู้รับผิดชอบ

แม่ต้อยพยายาม นึกถึง ผู้กำกับหนัง ที่จะสามารถยกทีมมาช่วยสอนในหลักสูตรที่ได้คิดมาใหม่นี้

คงเป็นความโชคดี ที่แม่ต้อยเกิดนึกได้ว่า ลูกสาวของแม่ต้อยนั้นมีเพื่อนสนิทคนหนึ่ง  แม่ต้อยเคยรู้จักตั้งแต่เธอเรียนหนังสือระดับมัธยม  ปัจจุบันเธอเป็นผู้บริหารของบริษัท สหมงคลฟิลมส์จำกัดอันโด่งดัง  และผลงาน เร็วๆนี้คือภาพยนตร์เรื่อง  “ พุ่มพวง”

 

ด้วยความเป็นมาดังนี้  แม่ต้อยจึงสามารถยก”กองถ่าย” ระดับมืออาชีพ มาที่สวนสามพรานเพื่อให้น้องๆที่เข้าร่วมโครงการได้ฝึกฝนจากครูจริงๆ

 

แม่ต้อยตั้งโปรแกรมไว้สามวันคะ  ที่จริงก่อนการประชุม แม่ต้อยได้โทรศัพท์คุยกับน้องอ๊อด หรือคุณบัณทิต  ทองดี

“ เราควรจะจัดสักกี่วันดีคะ  “  แม่ต้อยเอ่ยถามแบบเกรงใจ เพราะทราบมาว่าอาชีพผู้กำกับนี้ เขาไม่ค่อยว่างสักเท่าไหร่?

“ สักสองวันก็ได้ครับ “

แม่ต้อยนึกในใจ  สองวัน นี่คงจะไม่ค่อยได้อะไร  อย่ากระนั้นเลย แม่ต้อยจึงจัดโปรแกรมเป็นสามวัน เผื่อเหลือ เผื่อขาด

ก่อนการประชุม แม่ต้อยสังเกตว่าน้องๆ ค่อนข้างจะ เกร็งๆ มีเครียดเล็กๆ จากสีหน้า ท่าทาง

จึงจัดกิจกรรม ให้น้องๆได้รู้จักกันก่อน เพื่อในวันต่อไปจะได้เปิดใจและกล้าในการแสดง เพราะหลักสูตรนี้มีทั้งการเขียนบท การแสดง การกำกับและการตัดต่อ เรียกได้ว่าเรียนเป็นชุด และสำหรับ การแสดง ต้องมีความกล้า และเปิดใจเป็นสิ่งแรก

 

กิจกรรมคืนแรก ทำให้น้องๆมีความสนิมสนมกันอย่างรวดเร็ว อันจะเป็นการปูพื้นฐานในการเรียนรู้ในอีกสามวันต่อไป

 

แม่ต้อยว่าคืนแรกนั้นทุกคนคงหลับสบายดี และมีความสุขจากเสียงหัวเราะและสัมพันธภาพใหม่ที่ได้เกิดขึ้น

เช้าวันแรก ครูมุก หรือ ปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ  ผู้กำกับหนังชื่อดังและอาจารย์สอนการแสดง Acting Coach  ได้เปิดการสอนช่วงแรก  ถึงเทคนิคการแสดง

 

การทำงาน ทุกอย่างต้องมีขั้นมีตอน การแสดงก็เช่นเดียวกัน จะมีขั้นตอนเป็นสามส่วน คือการเตรียมงาน การถ่ายทำ และการ ตัดต่อปิดกล้อง

ครูมุกจะเน้นช่วงการเตรียมงานและการถ่ายทำ สำหรับนักแสดง หรือการ Acting ซึ่งคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับจะต้องรู้เทคนิคนี้ด้วย

ตั้งแต่การเตรียมงาน  ผู้แสดงหรือนักแสดงต้องเข้าใจเนื้อเรื่องทั้งหมด Over all objective เสียก่อน ว่าเรื่องราวนั้นมีความมุ่งหวังใด มีmood และ tone อย่างไร เช่น หนังตลก หนังรัก

ต่อมา ต้องทำความเข้าใจการอ่านบทและการตีความ ของแต่ละฉาก อารมณ์ ทุกๆอย่างจะมาร้อยเรียงนำไปสู่ตอนจบได้

และนักแสดงต้องเข้าใจในCharacter ของตัวที่จะแสดงด้วย เพื่อให้เกิดความสมจริงสมจัง   ต้องเข้าไปสัมผัสกับฉากเพื่อให้เกิดความคุ้นเคย และสร้างจินตนาการ  หรืออาจจะรวมทั้งเสื้อผ้า หน้าผม ของคนที่นักแสดงต้องสวมบทบาทนี้

ในช่วงนี้ครูมุกให้น้องๆทดลองแสดงด้วย น่าแปลกที่แม้ว่าจะเป็นครั้งแรก น้องๆฝีมือไม่เลวเลย เรียกเสียงเฮฮาได้ทั้งห้อง ฝีมือจัดจ้านจริงๆ

 

ครูมุกยังแนะนำเทคนิคในการพูดตามบทซึ่งต้องมีจังหวะตามลมหายใจ รวมทั้งระดับของอารมณ์ที่จะรับส่งต่อกันด้วย

คราวนี้ น้องๆเริ่มที่จะคุ้นกับการacting บ้างแล้ว การให้แสดงรอบสองนี้จึงลื่นไหลตามบทบาท

 

น่าแปลกใจที่ในเวลาอันสั้นๆ แต่ก็ทำให้น้องๆเห็นภาพรวมและเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว  สรพ.มีผู้แทนไปแสดงให้เพื่อนๆดู สามคน คือ น้องจอย น้องสงวน ( บัดนี้เขามีชื่อใหม่แล้วนะคะ “ น้องโอห์มคะ อิอิ ) และน้องป๋อม

 

หัวข้อต่อมา ครูฝน หรือน้องขนิษฐา ขวัญอยู่  แม่ต้อยอยากจะเรียกเธอว่า สาวน้อยมหัศจรรย์ ด้วยที่เธอมีอายุเพียง๒๗ ปี แต่ความสามารถระดับผู้เขียนบทภาพยนตร์ ที่ได้นำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง” ความจำสั้น แต่รักฉันยาว” ( ซึ่งแม่ต้อยไม่เคยดู อิอิ)

 

ครูฝนมาสอนพวกพี่ๆในห้องเกี่ยวกับการเขียนบทภาพยนตร์อย่างละเอียด  การนำเสนอบทภาพยนตร์ คือการเล่าเรื่องผ่านภาพหรือตัวแสดงนั่นเอง ซึ่งต้องเริ่มจาก จินตนาการ หรือแนวคิด ค่อยๆไล่ออกมาจนเห็นภาพของตัวละคร  เหตุการณ์  โครงเรื่อง สถานที่  และบทสนทนา

แม่ต้อยคิดว่าแนวทางการทำหนัง การเขียนบท จะคล้ายๆกับ narrative medicine ที่ได้มีการเรียนรู้กันไปแล้ว  เพียงแต่การนำเสนอมีความแตกต่างกัน เท่านั้นเอง

นั่นคือการสื่อสาร เรื่องราวที่อยากให้คนรู้ ผ่านทางตัวหนังสือ หรือผ่านทางการแสดง ผ่านทางภาพ แล้วแต่ความจำเป็นและความชอบ

ทั้งสองแนวคิดนี้ จะเริ่มจาก theme ของเรื่อง ว่าเรื่องนี้เราจะบอกอะไร กับคนอ่านหรือคนดู ซึ่งเป็นนามธรรม

จากนั้นก็จะต้องแสดงออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่นมีโครงเรื่อง (PLOT) เรื่องนี้ของใคร สถานที่ที่ไหน นำเสนอแบบไหน มีความชัดเจนมากขึ้น

ครูฝนยังเป็นผู้กำกับที่ดี อีกด้วยเธอได้สอนเทคนิคมากมายในการกำกับให้ ผู้แสดง สามารถสร้างอารมณ์ และแสดงออกมาจน เล่นเป็นตัวละครนั้นได้

แม่ต้อยชอบที่เธอบอกว่าการเป็นผู้กำกับที่จะทำให้นักแสดง เล่นตามบทบาทได้นั้นมีสองวิธี

วิธีแรกคือ เล่าให้นักแสดงฟังถึงสิ่งที่ต้องการให้เป็น แล้วให้นักแสดง แสดงออกมาจากINNER ของตัวเอง

วิธีที่สองคือ ผู้กำกับ “ สั่ง” ให้นักแสดง เล่นตามบทที่ผู้กำกับบอกที่ละเรื่อง

ครูฝนบอกว่า หากเป็นวิธีแรก จะดีที่สุดเพราะผู้กำกับจะได้สิ่งใหม่ๆจากผู้แสดง

ส่วนวิธีที่สอง เราจะได้เท่าที่เราบอกเท่านั้น

แม่ต้อยเองยังมาทบทวนว่าการทำงานของแม่ต้อยอยู่ในข้อหนึ่ง หรือข้อสองกันแน่  แต่อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้แสดงด้วย

น้องฝนใช้เวลาสอนถึงสี่ชั่วโมง  พี่ๆก็ไม่มีทีท่าว่าจะเบื่อหน่ายแต่อย่างใด  จนเวลาล่วงเลยมาจนถึง ๕ โมงเย็น

พี่มนัสบอกว่าวันนี้เป็นวันเกิดของเธอ เราจึงมีการเลียนแบบกองถ่ายทำภาพยนตร์ เพื่อฉลองวันครบรอบ  ๒๗ปีของเธอ  พี่มนัสได้เตรียมเค้กขนาดใหญ่จากโรงแรมมาอวยพร ก่อนลาจากกันวันนั้น

เสียดายที่แม่ต้อยไม่ค่อยมีรูป เพราะว่าการประชุมคราวนี้ น้องๆทำตัวเป็นสื่อมวลชนมารุมถ่ายรูปกันมากจริงๆ บรรยากาศสนุกทั้งวัน

คืนนั้นน้องๆจึงแยกตามกลุ่ม  รวมตัวกันเขียนบทภาพยนตร์ เพื่อจัดทำหนังสั้นเพื่อแสดง  ตัดต่อ และนำเสนอ ในเวลา สามนาที

เป็นภาพที่น่าประทับใจ ในการทำงานเป็นกลุ่มของน้องๆมาก คืนนั้นแม่ต้อยทราบมาว่าบางกลุ่มนอนดึก ตีสอง หรือตีสาม แต่แม่ต้อยไม่แน่ใจว่าเขียนบท หรือว่าทำอะไร อิอิ

 

วันที่สอง อาจารย์สิทธิพงษ์ กองทอง ช่างภาพมือหนึ่งของประเทศ และผู้กำกับหนัง ละคร ดังๆหลายเรื่อง เช่น เดอะกิ้ก สบายดีหลวงพระบาง ตายโหง 30 โสด on sale ฯลฯ

 

ได้มาสอนน้องเกี่ยวกับเทคนิคการสื่อสารด้วยภาพนิ่ง และภาพวิดิโอ  ให้น้องๆได้ตื่นตะลึงตึงตังกันอีกครั้ง

น้องห่าน เป็นคนอารมณ์ดี  ถ่ายภาพสวย เทคนิคดี อารมณ์ศิลปิน ภาพที่น้องห่านนำมาโชว์ เป็นภาพที่สื่อสารได้ดีมากๆ ให้ความรู้สึก และสัมผัสได้จนถึงอารมณ์ ในภาพนั้น

 

เทคนิคต่างๆถูกนำมาบอกจนหมดสิ้น มิหนำซ้ำยังถูกน้องๆรุมล้อมเพื่อสอบถามการใช้งานของกล้องถ่ายรูปที่นำมาจนแทบมองไม่เห็นตัว ฮ่าๆๆ

ก่อนเที่ยง น้องๆได้ออกไปถ่ายหนังสั้นของตัวเองตามกลุ่ม และตามบทที่ได้เขียนไว้ตั้งแต่เมื่อคืนนี้  โดยมีน้องห่านคอยไปเยี่ยมให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

 

ในช่วงนั้นเอง  แม่ต้อยได้ยินเสียง สาม สี่ แอคชั่น... คัท 

ขอ..เทค ใหม่   ดังเป็นระยะ ตามสถานที่ต่างๆ

 

แม่ต้อยอดที่จะรู้สึกตื้นตันใจไม่ได้.. แวบหนึ่งที่รู้สึกว่าสิ่งที่แม่ต้อยคิด  วันนี้ได้เดินทางมาแล้ว  แม้ว่าจะยังไม่เห็นปลายทาง แต่มันได้เริ่มแล้ว

ตอนบ่าย น้องไก่ ที่มารอตั้งแต่ก่อนเที่ยง มาแนะนำน้องๆ เกี่ยวกับเทคนิคการตัดต่อภาพ การลำดับภาพ  น้องไก่หรือคุณ วิชิต วัฒนานนท์ นี่เป็นคนเก่งมากๆอีกคนหนึ่ง มีผลงานนับไม่ถ้วน ที่กำลังฉายในปัจจุบันคือ “ บรรทุกกรรม”

 

แม่ต้อยจึงมารู้จักภาษาของผู้กำกับในวันนี้แหละ  เช่น  cut  dissolove  fade   หรือภาษาผสม เช่นคำว่า ไม่con

เมื่อคุณบัณทิตมาถึงและ แม่ต้อยไปแวะเวียนชมการตัดต่อหนังสั้นของน้องกลุ่มหนึ่ง

“ ยังไม่Con “  แม่ต้อยพูด

“ โอ้โห แม่ต้อยรู้จัก ไม่con ด้วยหรือ “

 น้องอ๊อด หรือคุณบัณทิต ทองดี ผู้กำกับหนังเงินหลายร้อยล้าน พูดแบบขำๆ  แม่ต้อยไม่สังเกตว่าน้องมายืนข้างหลังตั้งแต่เมื่อไหร่ อิอิ

“ ก็ได้เรียนจากน้องไก่เมื่อตะกี้นี้เอง”  แม่ต้อยรีบหาประจักษ์พยาน

 

แม่ต้อยแอบดูหนังสั้นที่น้องๆแต่ละกลุ่มได้ไปถ่ายทำและมาตัดต่อ มาใส่คำพูด แทรกด้วยจังหวะเพลงตาม tone ที่เขากำหนด

 

แม่ต้อยคิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่แม่ต้อยได้พยายามและได้ทุ่มเทอันเกิดจากความเพ้อฝันระดับตัวแม่ ในวันนี้กิจกรรมหนึ่งมันเริ่มผลิดอกออกผลแล้ว

 

 น้องๆเป็น นักเขียนบทที่เก่ง เป็นนักแสดงที่ดี

 

เป็นผู้กำกับที่เอาการเอางาน  และน้องทำงานเป็นทีมอย่างเยี่ยมยอดที่สุด

 

ในวันสุดท้าย คืนนั้นน้องๆทำงานกันจนดึกจนดื่น เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด  ต่างกลุ่มต่างซุ่มเงียบ น่าตื่นเต้น  แม่ต้อยรู้สึกครั่นเนื้อครั่นต้วจึงขึ้นไปนอนพัก

เมื่อนำเสนอผลงาน วันนี้อาจารย์ อนุวัฒน์ ปลีกเวลามาร่วมชมด้วย  แม่ต้อยรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจอย่างบอกไม่ถูก หนังสั้นหลายเรื่องมี plot เรื่องที่ดีมากๆ น้องอ็อดแอบมาบอกว่า

“ แม่ต้อยครับ ผมคิดไม่ถึงว่าผลงานจะดีอย่างนี้ผมชอบ ผมอยากให้รางวัลน้องๆ”

น้องๆแสดงเก่งคะ นักแสดงจากสรพ. นี่เล่นเก่งทุกคน ตั้งแต่น้องโอห์ม น้องพอลล่า น้องดาว( คนนี้มีคนจองตัวเล่นเรื่องต่อไปแล้ว อิอิ ) และน้องพรรณ ไม่น่าเชื่อใช่ไหมคะ  น้องๆเล่นได้ดีมากคะ   น้องๆคนอื่น ก็เป็นทั้งผู้กำกับ เขียนบท ตัดต่อ ฯลฯ  แม่ต้อยขอบอกว่าเก่งมากคะ

ส่วนน้องๆจากโรงพยาบาลนั้นว่าเกือบทุกคนมีพรสวรรค์ทางด้านนี้มากอยู่แล้วคะ  การมาร่วมเรียนรู้ในครั้งนี้เป็นการเปิดตัวตนของเขาให้ มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น  เล่นหนังกันเก่งมาก ไม่มีขัดเขิน น่าปลื้มใจมากๆคะ  แม่ต้อยชอบการแสดงของน้อง แมนดี้  จากหนองจิก  น้องแจ้คจากสันป่าตอง  และน้องอาบีจากกะพ้อ รวมทั้งน้องดาด้า นางเอกสาวแสนสวยจากนราธิวาสด้วย คนอื่นๆก็เช่นเดียวกันนะคะที่ยังไม่ได้เอ่ยนาม

 

แม่ต้อยจึงขอขอบคุณ น้องๆทุกคนที่เข้าร่วมโครงการและมีความตั้งใจอย่างมากในการเรียนรู้  ขอบคุณกองถ่ายจาก

สหมงคลฟิลมส์ โดยมีคุณ บันทิต ทองดี หรือน้องอ๊อด เป็นหัวหน้าทีม ที่มาช่วยทำให้น้องๆมีชีวิตชีวา มีความรู้และมีความสนุกสุขรื่นเริง

ขอบคุณอาจารย์ อนุวัฒน์ ที่แวะเวียนมาให้กำลังใจ และแง่คิดที่ดีมีประโยชน์

และน้องมนัส ที่บริหารจัดการได้ยอดเยี่ยมไม่มีที่ติคะ

 

 

และสุดท้าย ก็หวังว่าน้องๆทุกคนคงจะกลับไปทำงาน และมีหนังสั้นที่ดีดี จากโครงการSHA หรือผลงานที่ดีดี ของรพ.เช่น การพัฒนาคุณภาพ การลดความเสี่ยง หรือเรื่องอะไร ที่มีแนวคิดดีดี ส่งมาให้ทุกๆเดือนนะคะ

สวัสดีคะ

แม่ต้อย

คำสำคัญ (Tags): #SHA movies
หมายเลขบันทึก: 477628เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2012 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

โอ้โห. ขอบคุณมากคะ. มาให้กำลังใจนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท