การสังเคราะห์งาน..เพื่อเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น


ebp,CNPG,การสังเคราะห์งาน

ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 14-16 น. ที่ห้องประชุมมิตรภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดิฉันมีโอกาสได้ไปเป็นวิทยากร เรื่อง การสังเคราะห์งาน เพื่อให้บุคลากรคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถทำผลงานทางวิชาการ เพื่อเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น ทั้งตำแหน่งชำนาญการ ชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญ ล้วนจะต้องทำงานเชิงวิเคราะห์งานหรือสังเคราะห์งาน

 

ตามความเห็นของดิฉัน ที่เคยตรวจผลงานวิชาการในเชิงวิเคราะห์งาน ขั้นตอนกระบวนการมีแตกต่างกันเล็กน้อย คือขั้นตอนการนำผลงานวิจัยมาใช้ ถ้างานที่เรียกว่า การสังเคราะห์งาน ควรเน้นการได้มาซึ่งข้อมูลเพื่อนำมาสังเคราะห์งานวิจัยอย่างเป็นระบบให้ชัดเจนและได้บทสรุป เพื่อนำมาสร้างแนวปฏิบัติ

ขอนำบทความที่ได้ไปบรรยายในวันนั้น มาไว้ให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันนะคะ

 

ผลงานเชิงสังเคราะห์ หมายถึง  ผลงานที่แสดงการรวบรวมเนื้อหาสาระต่างๆหรือองค์ประกอบต่างๆเข้าด้วยกัน โดยต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างรูปแบบและโครงสร้างเบื้องต้น  เพื่อให้เกิดแนวทางหรือเทคนิควิธีการใหม่ในเรื่องนั้นๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่องานของหน่วยงาน

ความจำเป็นต้องมีการสังเคราะห์งาน

  • จากประเด็นปัญหาจากการทำงานและมีงานวิจัยใหม่เกิดขึ้นทุกวัน
  • หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตระหนักถึงการนำผลวิจัยมาใช้ เพื่อนำผลวิจัยไปใช้ในการวางแผน ปรับปรุงงาน
  • ต้องหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อสังเคราะห์ข้อสรุปจากงานวิจัยที่มีอยู่ให้เข้ากับประเด็นปัญหาในการทำงาน
  • แล้วนำวิธีการใหม่มาทดลองใช้ในหน่วยงาน

 

การปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์  Evidence-Based Practice (EBP)

การพิจารณาใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ดีที่สุดจากงานวิจัยที่มีอยู่ในขณะนั้น ร่วมกับค่านิยม/ความเชื่อ/ความคิดเห็น ความชื่นชอบ ของผู้ป่วย/ผู้รับบริการ ประสบการณ์ /ความเชี่ยวชาญทางคลินิกของผู้ปฏิบัติทรัพยากร สิ่งเอื้ออำนวยที่มีอยู่เพื่อมากำหนดแนวทางในการดูแลผู้มาใช้บริการที่ดีที่สุด ในรูปแบบแนวปฏิบัติการทางคลินิก

 

การสังเคราะห์งาน

ทำได้โดยนำหลักฐานเชิงประจักษ์มาใช้ Evidence-Based Practice (EBP) สร้างแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิก (Clinical Nursing Practice: CNPG)

 

ขั้นตอนการดำเนินการตามแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิก

  • กำหนดประเด็นปัญหา
  • สืบค้นงานวิจัย
  • สังเคราะห์หลักฐานที่ดีที่สุด
  • สร้างแนวปฏิบัติCNPG/CPG ไปทดลองใช้
  • การนำ CNPG /CPG ที่มีการปรับปรุงไปใช้ในการปฏิบัติงานในชีวิตประจำวัน

 

กำหนดประเด็นปัญหา

  • ปัญหาในการทำงาน  problem  triggers ทบทวนรูปแบบการปฏิบัติเดิม  จากประสบการณ์ในการทำงานการดูแลผู้ป่วย/ การดูแลผู้ใช้บริการ  ประเด็นปัญหาที่พบ  มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ  อาจทำเป็น mini research
  • มีความรู้ใหม่เกิดขึ้น  Knowledge triggers จากการศึกษาค้นคว้า ทบทวนงานวิจัยงานวิจัยใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่  งานวิจัยที่เป็นหัตถการที่นำมาประยุกต์ใช้  และมีเครื่องมือที่ใช้ประเมินที่เหมาะสมสามารถนำมาใช้ในคลินิก

 

สืบค้นงานวิจัย

หลังจากกำหนดประเด็นปัญหา ตั้งทีมดำเนินการ  ก่อนการสืบค้นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหา ควรตั้งคำถามที่จะนำไปสู่การสืบค้นหลักฐานที่ดีที่สุดให้มีความเฉพาะเจาะจง โดย

ระบุประชากร (P: patient population)

ระบุหัตถการ การรักษาที่สนใจ (I: intervention)

ระบุการเปรียบเทียบ(ถ้ามี) (C: comparison intervention) และ

ระบุผลลัพธ์ (O: outcome) ที่วัดได้ เช่น ความปวด ความวิตกกังวล พฤติกรรมการดูแลตนเอง คุณภาพชีวิต เป็นต้น 

หลังจากนั้นมาสืบค้นงานวิจัย (search the literature) จากอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นแหล่งงานวิจัยที่ใหญ่ที่สุด ฐานข้อมูลทางการแพทย์และการพยาบาล ได้แก่ MEDLINE, CINAHL, Scopus, Cochrane เป็นต้น การค้นด้วยมือ (hand searching) เป็นการค้นงานวิจัยที่ไม่ได้อยู่ในระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์   ค้นจากบรรณานุกรมหรือเอกสารอ้างอิง สืบค้นจากนักวิจัยโดยตรง หรือการค้นจากงานวิจัยที่ไม่ได้ตีพิมพ์ จากวิทยานิพนธ์  การสืบค้นงานวิจัยถ้าเป็นเรื่องเก่าควรค้นหางานวิจัยจำนวนมาก แต่ถ้างานวิจัยเป็นเรื่องใหม่ๆอาจใช้จำนนปีที่น้อยลงได้

 

วิเคราะห์และสังเคราะห์งานวิจัย

หลังจากได้งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ต้องการพัฒนา ขั้นต่อไปคือ อ่านงานวิจัยทั้งหมด หลักการอ่านงานวิจัยควรอ่านบทคัดย่อก่อน เพื่อพิจารณาว่างานวิจัยตรงกับเรื่องที่เราต้องการพัฒนาหรือไม่ หลังจากนั้นจึงวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อประเมินคุณภาพงานวิจัยและนำมาใช้ในการพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาล รวมทั้งประเมินความเป็นไปได้ในการปฏิบัติของแต่ละโมเดลหรือรูปแบบการใช้ผลงานวิจัย  

 

การประเมินงานวิจัย 

  • มีแบบประเมินงานวิจัย  RCT   กึ่งทดลอง  systematic review   และวิจัยเชิงคุณภาพ

 

หลักการเลือกอ่านงานวิจัยทางคลินิก

  • หัวข้อเรื่อง สำรวจดูว่างานวิจัยชิ้นนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ท่านสนใจและจะเป็นประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยของท่านต่อไปหรือไม่
  • ผู้วิจัย มีชื่อเสียงดี มีผลงานต่อเนื่องในสาขาวิชานั้นๆ หรือไม่
  • สรุปผลการวิจัย อาจใช้วิธีการอ่านในบทคัดย่อเพื่อพิจารณาดูคร่าวๆว่าผลของงานวิจัยชิ้นนั้นๆ มีคุณค่าหรือความสำคัญทางคลินิกที่จะนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยได้หรือไม่
  • พิจารณาสถานที่ในการทำวิจัย
  • เมื่อได้คัดเลือกว่าจะทำการพิจารณางานวิจัยเรื่องใดแล้วขั้นตอนต่อไปในการพิจารณางานวิจัยคือการจัดกลุ่มว่างานวิจัยนั้นมีคำถามวิจัยอยู่ในกลุ่มใด

 

การประเมินงานวิจัยแบบง่าย

  • ผลการวิจัยนี้ถูกต้องเชื่อถือได้เพียงไร
  • ผลการวิจัยว่าอย่างไร
  • ผลการวิจัยนี้ช่วยผู้อ่านในการดูแลผู้ป่วยได้หรือไม่  ประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยของผู้อ่านได้หรือไม่  ประสิทธิผล ผลข้างเคียงและความเหมาะสมอื่นๆ

 

การสกัดข้อมูล

The Joanna Briggs Appraisal Form  ความสอดคล้องทางคลินิก  มีความหมายและมีคุณค่า และแนวโน้มที่จะนำไปใช้ในการปฏิบัติ

 

ประเมินความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ

  • การนำลงสู่ปฏิบัติ (Transferability) พิจารณาว่านวัตกรรม เหมาะสมกับปรัชญาการทำงาน ประเภทผู้ป่วย บุคลากร งบประมาณ หรือโครงสร้างการบริหาร
  • ความเป็นไปได้ (Feasibility)  พิจารณาความพร้อมของบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ที่จำเป็นบรรยากาศองค์กร ผู้บริหารสนับสนุน  
  • คุ้มทุน (Cost-benefit ratio) ประเมินประโยชน์และความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

 

เกณฑ์การประเมินคุณภาพงานวิจัย 

เราสามารถใช้เกณฑ์การประเมินงานวิจัยได้หลายแนวคิด ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะเกณฑ์ของ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย, 2544

                ระดับ A หมายถึง หลักฐานที่ได้จาก systematic review จากงานวิจัยที่ออกแบบการวิจัยแบบการสุ่มแบบควบคุม (randomized controlled trials: RCT) หรืองานวิจัยเชิงทดลองที่ ออกแบบการวิจัยแบบการสุ่มแบบควบคุม

                ระดับ B หมายถึง หลักฐานที่ได้จาก systematic review ของ controlled clinical study หรือ หลักฐานที่ได้จาก controlled clinical study เช่น non randomized control trail, cohort study, case control study, cross sectional study) ที่ดำเนินอย่างเหมาะสม หรือหลักฐานที่ได้จากการวิจัยทางคลินิกที่ใช้รูปแบบการวิจัยอื่นและผลการวิจัยพบประโยชน์หรือโทษจาการรักษาเด่นชัดมาก หรือเรื่องดังกล่าวไม่มีผลงานวิจัยประเภท RCT แต่ได้นำเอาหลักฐานที่ได้จาก RCTในประชากรกลุ่มอื่นหรือเรื่องอื่นที่คล้ายคลึงกันมาใช้เป็นหลักฐาน หรือจาก systematic review ของ RCT หรือ RCT ที่ดำเนินไม่เหมาะสม

                ระดับ C หมายถึง หลักฐานที่ได้จาก systematic review ของ descriptive study งานวิจัยที่เป็นงานเปรียบเทียบ หาความสัมพันธ์หรืองานวิจัยเชิงบรรยาย

                ระดับ D หมายถึง หลักฐานที่ได้จากฉันทามติ หรือการมีความเห็นร่วมกัน (Consensus)   ของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ

 

ข้อสรุปที่ได้จากการวิเคราะห์สังเคราะห์งาน  ได้จากการอ่านงานวิจัยทั้งหมด สามารถสรุปแนวทางการปฏิบัติทางคลินิก

 

สร้างแนวปฏิบัติCNPG แนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิก  Clinical Nursing Practice Guideline หมายถึง  ข้อกำหนดที่จัดเป็นระบบ เพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้ประกอบวิชาชีพและผู้ป่วยเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับสถานการณ์ หลักฐานที่นำมาใช้จัดทำ ต้องน่าเชื่อถือ เพื่อลดความหลากหลายในการปฏิบัติงาน

ลักษณะสำคัญ  มีการพัฒนาหรือสร้างอย่างเป็นระบบ   มีประโยชน์ต่อผู้ให้บริการและผู้ป่วย และมีความเฉพาะเจาะจงต่อปัญหาทางคลินิก

ประโยชน์  มีมาตรฐานในการปฏิบัติ  ตัดสินใจทางคลินิกง่าย  มีเกณฑ์วัด  ทำให้แยกความรับผิดชอบของบุคลากรได้ง่าย และลดความเสี่ยง เกิดคุณภาพการดูแล

คุณสมบัติที่ดีและมีคุณภาพ  น่าเชื่อถือ  คุ้มค่า คุ้มทุน  มีความคงที่และความเที่ยง  มีการพัฒนามาจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และสามารถประยุกต์ใช้ในคลินิก  ความยืดหยุ่น ระบุทางเลือกและข้อยกเว้น ความชัดเจน ระบุคำนิยาม ภาษาไม่คลุมเครือ  มีความพิถีพิถันในการเขียน ระบุรายละเอียดทุกส่วน กำหนดการทบทวนเป็นระยะ และระบุกลไกในการช่วยให้ผู้ใช้ทำตามวิธีปฏิบัติที่แนะนำและติดตามประเมินผล

 

ระดับคุณภาพของแนวปฏิบัติทางคลินิก

ระดับดีเลิศ (Excellence guideline)  มีวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ที่ชัดเจน  ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพัฒนา  มีขั้นตอนการพัฒนาที่ดี ถูกต้อง ชัดเจน  มีความชัดเจนในการนำเสนอ  ง่ายต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน  และคณะผู้จัดทำมีอิสระในการยกร่างตีพิมพ์  สามารถนำไปใช้ได้จริง  อยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ครอบคลุมมีขั้นตอนการยกร่าง  มีทีมมีประสิทธิภาพ ได้รับการยอมรับ  มีข้อยกเว้นเพียงเล็กน้อย และมีข้อเสนอแนะนำไปใช้สูงมาก

ระดับดีมาก (Very good guideline)  มีข้อเสนอแนะบางข้อมาจากความรู้เชิงประจักษ์  มีวัตถุประสงค์และเหตุผลของการนำมาใช้อย่างชัดเจน  บกพร่องในการนำไปใช้บางส่วน และผลลัพธ์ เป้าหมาย ภาวะเสี่ยงและประโยชน์

ระดับปานกลาง (Fair guideline)   ขาดการระบุ  ระดับของความรู้เชิงประจักษ์  วิธีการสืบค้น  ความชัดเจน  ประโยชน์ และความเสี่ยง

ระดับต่ำ (Poor guideline)  ขาดความชัดเจน ไม่ระบุ  ผู้จัดทำ  ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง  ระดับความรู้เชิงประจักษ์  และข้อเสนอแนะนำมาจากตำรา ไม่แนะนำมาใช้ในคลินิก

 

การกำหนด Clinical practice guideline  

  • ตัดสินใจเลือกว่าจะใช้ข้อปฏิบัติ
  • ร่าง Clinical practice guideline ที่จะให้นำไปปฏิบัติ และระดับคุณภาพ
  • การทบทวน และวิพากษ์  วิจารณ์โดยผู้เชี่ยวชาญ  (Peer review )
  • การทบทวนและวิพากษ์  โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ พยาบาล

 

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการพัฒนา CNPG

  • มุ่งเน้นที่ผลลัพธ์
  • สร้างขึ้นจากหลักฐานเชิงประจักษ์
  • สามารถนำไปใช้ปฏิบัติในคลินิกได้
  • ต้องมีทีมงานที่รับผิดชอบ
  • ดำเนินการโดยบุคลากรหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
  • สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ได้
  • พัฒนาตามความเหมาะสมของข้อจำกัดที่มีอยู่
  • คำนึงถึงผู้ใช้และผู้รับบริการ
  • มีการประเมินผลการนำไปใช้และผลกระทบ
  • มีการทบทวนเป็นระยะ

 

บทสรุป

การสังเคราะห์งาน  โดยการสร้างแนวปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์  การนำไปใช้ในการทำงานเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด (Best practice)

 

เอกสารอ้างอิง

  • วิลาวัณย์  พิเชียรเสถียร. เอกสารประกอบคำบรรยาย ณ. ห้องประชุมกวี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น .  เรื่องขั้นตอนการพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิกโดยการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์; 2551
  • สายพิณ เกษมกิจวัฒนา. Evidence based nursing in cancer patient. ใน: วิทยาการก้าวหน้ากับการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง. กรุงเทพฯ: ฝ่ายการพยาบาล  โรงพยาบาลศิริราช; 2547.
  • ฟองคำ ติลกสกุลชัย. การปฏิบัติการพยาบาลตามหลักฐานเชิงประจักษ์: หลักการและวิธีปฏิบัติ. กรุงเทพฯ: ห้งหุ้นส่วนจำกัด พรี-วัน; 2549.
  • Klem M, Weiss P. Evidence-based resources and the role of librarians in developing evidence-based practice curricula. Journal of Professional Nursing2002;21(6):380-7.
  • Stetler CB. Updating the stetler model model of research utilization to facilitated evidence-based practice model. Nursing Outlook2001;49(6).
  •  Polit DF, Beck CT. Nursing research: Principle and methods. 7th, editor. Philadelphia: Lippincott Williams& Wilkins; 2004.
  •  คณะอนุกรรมการ Evidence-Based Medicine& clinical Practice Guidelines. คำแนะนำการสร้างแนวปฏิบัติทางเวชปฏิบัติ (Clinical practice guideline). สารราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย 2544;18(6):36-47.

 

หมายเลขบันทึก: 477620เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2012 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2012 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ไปสอบถามอาจารย์ สกล สิงหลกะ 

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/477353

Q: ตอนนี้กลุ่มที่จะทำผลงานเลื่อนระดับให้สูงขึ้นในกลุ่มสายสนับสนุน

จะต้องทำผลงานทางวิชาการ การวิเคราะห์งาน หรือ การสังเคราะห์งาน

อยากถามความเห็นอาจารย์ว่า...

การวิเคราะห์งานและการสังเคราะห์งานต่างกันอย่างไร

 

A: วิเคราะห์คือแยกแยะแจกแจงทำความเข้าใจ เห็นความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องของส่วนย่อยต่างๆ

สังเคราะห์นี่ ในทางการศึกษาอาจจะมองเป็นระดับเหนือว่าวิเคราะห์อีกขั้นหนึ่ง พอเราเห็นหน้าที่ ประโยชน์ และการทำงานของส่วนย่อยเล็กๆได้หมด เมื่อถึงระดับหนึ่ง เราสามารถเอาส่วนย่อยต่างๆมาประกอบในอีกแบบนึง เป็นรูปแบบใหม่ได้ สังเคราะห์เป็นระดับ "สร้างสรรค์" คล้ายๆ concept ของ nanobot ที่ทำ unit เล็กๆให้จัดการตัวเองได้ดี มีสติปัญญา มันจะซ่อมตัวเองและสร้างตัวเอง บิดผันตัวเองเป็นรูปแบบใหม่ๆได้ตามบริบท การใช้งานใหม่

แต่ไม่ได้แปลว่าเปิดคู่มือ เอาของมาประกอบตาม plan ถือเป็นสังเคราะห์นะครับ

การสังเคราะห์งานประจำสายสนับสนุน ปฏิบัติงานด้านบริหารจัดการพัสดุ อยากเรียนถามอาจารย์ จุดเริ่มต้นในการคิดหัวข้อมีหลักการอย่างไร จุดที่ยกที่สุดคือหาหัวข้อ หาไม่ได้ก็เดินต่อไม่ได้ค่ะ ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยแนะนำ หัวข้อ เผื่อจะนึกออกบ้าง ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

งานพัศดุ. เราอาจวิเคราะห์งานเพื่อหาปัญหาก่อน แล้วค่อยค้นหางานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อนำสิ่งที่ดีที่สุดมาสร้างวิธีปฏิบัติ แล้วนำไปใช้ในการทำงานและประเมินผล ชื่อเรื่องขึ้นอยู่กับปัญหาที่พบค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท