ทศพิธราชธรรม


เนื่องในวันที่ 3-5 ธันวาคม ที่ผ่านมา วัดยานนาวาได้จัดให้มีการปฏิบัติธรรมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวันพ่อ หัวข้อสนทนาในรายการธรรมะจากข่าววันนี้จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับทศพิธราชธรรม คือ จริยวัตร 10 ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรม ประจำพระองค์ หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนจนเกิดความชื่นชมยินดี

 

 

โดยแขกรับเชิญที่มาร่วมสนทนาธรรมและให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความหมาย ทศพิธราชธรรม คืออะไร ในรายการวันนี้ คือ พระครูปลัดวีระนนท์  วีรนนฺโท เจ้าอาวาสวัดป่าเจริญราช จ.ปทุมธานี

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นครองราชย์ เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ ต่อมาได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ในวันมหามงคลนี้ พระองค์ได้ทรงกล่าวเป็นพระปฐมราชโองการ อันเปรียบได้ดั่งพระราชสัตยาธิษฐานว่า

"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

การครองแผ่นดินโดยธรรมนี้ นับเป็นพระราชธรรมอย่างหนึ่งของกษัตริย์ ที่มีมาตั้งแต่อดีต ซึ่งท่านกล่าวหมายถึง "ทศพิธราชธรรม" อันเป็นพระธรรมแห่งพระราชา ๑๐ ประการ ถ้ากษัตริย์องค์ใดนำเอาธรรม ๑๐ ประการนี้ มาเป็นหลักในการปกครองแว่นแคว้น เหล่าอาณาราษฎรจะอยู่เย็นเป็นสุข  พระราชาจะได้คำยกย่องสรรเสริญ พระเกียรติคุณขจรขจายไปทั่วทิศานุทิศ

 

ทศพิธราชธรรม ๑๐ คือ ธรรมสำหรับพระราชา ในการใช้พระราชอำนาจและการบำเพ็ญประโยชน์ต่ออาณาประชาราษฎร มี ๑๐ ประการ ดังนี้


๑. ทาน หรือการให้ หมายถึงการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ การทรงเสียสละพระกำลังในการปกครอง แผ่นดิน การพระราชทานพระราชดำริอันก่อให้เกิดสติปัญญาและพัฒนาชาติ การพระราชทานเสรีภาพอันเป็นหัวใจแห่งมนุษย์

๒. ศีล หรือการตั้งและทรงประพฤติพระราชจรรยานุวัตร พระกาย พระวาจา ให้ปราศจากโทษ ทั้งในการปกครอง อันได้แก่ กฎหมายและนิติราชประเพณี และในทางศาสนา อันได้แก่ เบญจศีลมาเสมอ

๓. บริจาค ได้แก่ การที่ทรงสละสิ่งไม่เป็นประโยชน์หรือมีประโยชน์น้อยเพื่อสิ่งที่ดีกว่า คือ เมื่อถึง คราวก็สละได้ แม้พระราชทรัพย์ ตลอดจนพระโลหิต หรือแม้แต่พระชนม์ชีพ เพื่อรักษาธรรมและพระราชอาณาจักรของ พระองค์ ๔. ความซื่อตรง (อาชชวะ) ได้แก่ การที่ทรงซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อ พระราชสัมพันธมิตร และอาณาประชาราษฎร

๕. ความอ่อนโยน (มัททวะ) หรือเคารพในเหตุผลที่ควร ทรงมีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสและอ่อนโยนต่อบุคคลที่ เสมอกันและต่ำกว่า

๖. ความเพียร (ตบะ) หรือความเพียรที่แผดเผาความเกียจคร้าน คือ การที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งพระราชอุตสาหะปฏิบัติพระราช กรณียกิจให้เป็นไปด้วยดี โดยปราศจากความเกียจคร้าน

๗. ความไม่โกรธ (อักโกธะ) หรือความไม่แสดงความโกรธให้ปรากฎ ไม่พยายามมุ่งร้ายผู้อื่นแม้จะลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตุผล และสำหรับ พระมหากษัตริย์นั้นต้องทรงมีพระเมตตาไม่ทรงก่อเวรแก่ผู้ใด ไม่ทรงพระพิโรธโดยเหตุที่ไม่ควร และแม้จะทรงพระพิโรธ ก็ทรงข่มเสียให้สงบได้

๘. ความไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา) คือ ทรงมีพระราชอัธยาศัย กอปรด้วยพระมหากรุณา ไม่ทรงก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น ทรงปกครอง ประชาชนดังบิดาปกครองบุตร

๙. ความอดทน (ขันติ) คือ การที่ทรงมีพระราชจริยานุวัตร อันอดทนต่อสิ่งทั้งปวง รักษาพระราชหฤทัย และพระอาการ พระกาย พระวาจา ให้เรียบร้อย

๑๐. ความเที่ยงธรรม (อวิโรธนะ) คือ การที่ทรงตั้งอยู่ในขัตติยราชประเพณี ไม่ทรงประพฤติผิดจากพระราชจริยานุวัตร นิติศาสตร์ ราชศาสตร์ ไม่ทรงประพฤติให้คลาดจากความยุติธรรม ทรงอุปถัมภ์ยกย่องคนที่มีความชอบ ทรงบำราบคนที่มีความผิดโดย ปราศจากอำนาจอคติ ๔ ประการ และไม่ทรงแสดงให้เห็นด้วยพระราชหฤทัยยินดียินร้าย

หลายคนอาจจะรู้สึกว่า ธรรมดังกล่าวเป็นของสูง หรือไกลตัว และควรจะเป็นเรื่องของพระราชา หรือผู้นำในระดับสูงเท่านั้น แต่โดยแท้จริงแล้ว แม้ทศพิธราชธรรม จะได้ชื่อว่าเป็นหลักธรรม หรือคุณสมบัติที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ผู้ปกครองรัฐ หรือผู้นำประเทศจะพึงปฏิบัติ แต่บุคคลธรรมดาเช่นเราๆท่านๆ ก็สามารถนำไปปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน เพราะนอกจากจะเป็นหนทางไปสู่ความเจริญ ก้าวหน้าในชีวิตแล้ว ยังได้ชื่อว่าได้ดำเนินรอยตามเบื้องยุคลบาท ดังที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยปฏิบัติ ตามพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย

 

 

 

นอกจากนี้ รายการ “ธรรมะจากข่าว” ยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมทางบ้านได้มีส่วนร่วมกับทางรายการโดยตอบคำถามประจำสัปดาห์เพื่อร่วมชิงรางวัล

 

โดยคำถามประจำสัปดาห์นี้ถามว่า

แนวทรงงานของพระเจ้าอยู่หัว 3 อย่าง มีอะไรบ้าง คืออะไร

 

คำตอบ คือ เข้าใจ, เข้าถึง, พัฒนา 

 

 

สำหรับผู้ที่พลาดชมรายการ สามารถติดตามชมรายการย้อนหลังได้ครับที่ www.youtube.com

 

และในสัปดาห์หน้า หัวข้อสนทนาในรายการจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรนั้น อย่าลืมติดตามรับชมกันให้ได้นะครับ

 

ทางสถานีโลกพระพุทธศาสนา (WBTV) วัดยานนาวา

 

ทุกวันจันทร์ เวลา 20.30 - 21.30 น

 

ดำเนินรายการโดย

ผศ.ดร.เกศินี ประทุมสุวรรณ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

 

อาจารย์ญาณภัทร ยอดแก้ว ผู้ช่วยคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

 

คำสำคัญ (Tags): #ทศพิธราชธรรม
หมายเลขบันทึก: 477471เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2012 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท