ตามไปดูเรนฟอเรสท์ฟาร์ม ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บนถนนสายวังทอง-เพชรบูรณ์


โลกทัศน์ในการบริหารชุมชน ด้วยการทำให้ดูเป็นแบบอย่าง

 หลังจาก search อาจารย์ goo(gle) ก็ขึ้นข้อมูลระยะทางถึง 890 กม. ที่ต้องเดินทางจากเชียงใหม่ มุ่งหน้าสู่ยโสธรเพื่อเตรียมงานถ่ายทำสารคดีชุมชนไม่จนปัญญาเรื่อง “พลังงานลม” หลังจากเสร็จภารกิจร่วมงานเสวนาหนังสั้นนวัตกรรมใหม่ ที่ อ.สมบัติ เหสกุล ได้คิดค้นการนำเสนองานวิจัยของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. ให้เป็นรูปแบบที่ “ย่อย” ง่าย เมื่องานเชียงใหม่กะยโสธรจัดชนกัน หลินปิงก็อยากรู้อยากไปทุกเรื่องตามประสา แผนเดินทางระยะทางแสนทรหดจึงเกิดขึ้น

บนเส้นทางหมายเลข 12 จาก พิษณุโลก วังทอง หล่มสัก ถนนสายหลักที่เชื่อมต่อจากภาคเหนือ สู่ภาคอีสาน เกือบจะเป็นกลางทาง จึงเป็นจุดแวะพักที่ดีเพื่อไปเยี่ยมเยียนภาคีมิตรเก่าที่เคยร่วมกิจกรรม “ล่องแก่งเก็บขยะลำน้ำเข็ก” เมื่อกว่า 2 ปีมาแล้ว ที่ชมรมรักษ์น้ำเข็ก รวมตัวกันจัดการปัญหาขยะและน้ำเสียบนลำน้ำเข็กแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่เป็นหัวใจเศรษฐกิจของคนอำเภอวังทอง ในงานนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่หลินปิงได้รู้จักกับคุณเล็ก หรือ ณัฐวัฒน์ วัฒนาประสิทธิ์ ผู้ชายที่ไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้

ณ วันนี้ คุณเล็ก ภาคีของเรามีโลกทัศน์ในการบริหารชุมชน ด้วยการทำให้ดูเป็นแบบอย่าง เกิดเป็นศูนย์เรียนรู้ริมถนนหมายเลข 12 ขึ้น หรือที่ตั้งชื่อว่า “โครงการเรนฟอเรสท์ฟาร์ม” ด้วยเป้าหมายที่จะลดมลภาวะให้กับโลกอันมีเหตุจากการดำเนินธุรกิจโรงแรม ที่ต้องใช้ทั้งสารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีสิ่งปฏิกูลเหลือทิ้งที่จะปนเปื้อน เต็มไปด้วยหลักการ (เยอะ) ตามสไตล์ ฟังจนเหนื่อยก็นัดแนะไปดูของจริงกันตอนเช้า 555

สิบโมงค่ะพี่น้อง เช้าสุดของหลินปิง ยังทันเห็นแสงทองของพระอาทิตย์ยามเช้า เดินข้ามถนนมุ่งหน้าไปดูศูนย์เรียนรู้แห่งแรกที่จะพาไปเที่ยวชุมชน เต็มสูตรไปด้วย option ของศูนย์เรียนรู้ทั่วประเทศ ที่จัดเต็ม ยกขบวนมาหมด ทั้งน้ำหมัก EM หมูหลุม น้ำส้มควันไม้ ปุ๋ยอินทรีย์ แก๊สชีวภาพ ปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษ รวมไปถึงทำน้ำยาต่างๆ ใช้เอง ทั้งแชมพู สบู่ น้ำยาล้างจาน ล้างพื้น และซักผ้า (ของแกเยอะจริงๆ) แถมมีไส้เดือนอีกต่างหาก

 ด้วยเป้าหมายแรกๆ ของคุณเล็กเป็นเรื่องการจัดการขยะ บริเวณโรงเรือน 2 หลังของศูนย์เรียนรู้จึงถูกนำมาใช้เป็นที่แยกขยะ แบ่งเป็นขยะทองคำ ที่ขายได้ เช่นขวดพลาสติก ขวดแก้ว หลอดไฟ ส่วนขยะแห้งก็ เลี้ยงไส้เดือน (ไว้กำจัดขยะแห้งพวกผลไม้) ต่อเนื่องไปถึงนำขยะเปียกอย่างเศษอาหารไปผลิตเป็นน้ำหมัก EM (คุณเล็กกระซิบว่าทั้งไส้เดือนกะน้ำหมักก็ขายได้ทั้งน้านนนน) เศษอาหารที่ออกจากรีสอร์ทจึงไม่ต้องทิ้งแถมยังทำรายได้ให้อีกต่างหาก

 พลาดไม่ได้กับ “หมูหลุม” โจทย์บังคับสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง (จริงๆ ไม่บังคับ แต่ไปที่ไหนก็เห็นมีทุกที่) แน่นอนว่าเลี้ยงไว้เพื่อเอามูลมาทำปุ๋ย แต่เจ้าตัวนี้น่ะเชื่องซะจนเหมือนจะเอาโซ่จูงไปเดินเล่นแทนหมาได้เลย ในฟาร์มมีหมูตัวน้อยมาเดินเล่นเป็นสมาชิกใหม่แล้ว น่ารักไม่เบา

ที่น่าสนใจของของฟาร์มนี้ก็คือ ความรู้ที่ได้จากงาน “คนบ้าพลัง” ของชุดโครงการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อสุขภาวะ เกิดเป็นการนำ “ไบโอก๊าซ” กับ “ไบโอดีเซล” และน้ำส้มควันไม้ มาใช้ประโยชน์หมุนเวียนได้ เจ้าของฟาร์มเสริมว่ากำลังวางแผนจะใช้เครื่องตะบันน้ำด้วย แต่ต้องทำทางหลอกน้ำมาก่อน (น้องน้ำเตรียมตัวให้ดีเหอะ)

ผลิตภัณฑ์ในฟาร์มที่มีเพื่อประหยัดต้นทุนค่าอาหาร ก็มีไก่ไข่ ผักปลอดสารพิษ ป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง ดูเหมือนรกๆ ไม่สวยงามแต่ก็มากไปด้วยประโยชน์

ความตั้งใจที่แค่จะแวะดูแว๊บๆ สักครึ่งชั่วโมง (เอาใจเจ้าของบ้าน) ก่อนออกเดินทางต่อไปยโสธรตามกำหนดการเดิม กลายเป็นเกือบ 2 ชั่วโมงเต็มที่เที่ยวดูพืช สัตว์ และกิจกรรมในฟาร์มอย่างเพลิดเพลิน ด้วยความริษยาเล็กๆ ว่าอยากเอาไปใช้ประหยัดค่าใช้จ่ายที่บ้านบ้าง งานนี้เลยขอของฝากติดมือเป็น แชมพู ครีมนวดผม น้ำยาเอนกประสงค์อีก 2 แกลลอนใหญ่ แม้ว่าจะไม่ได้ทำเศรษฐกิจพอเพียงที่บ้าน แต่ก็ขอผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจพอเพียงชาวบ้านไปใช้ก็ประหยัดได้เหมือนกัน อิอิ

หมายเลขบันทึก: 475942เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2012 04:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณ สสส.สำนัก6 ที่สร้างสุขชุมชน

คอยติดตามภาพประกอบนะคะ กำลังพยายามโพสต์ค่ะ ทำไม่เป็น

เป็นแล้วค่ะ ประเด็นอยู่ที่ รีเฟรช ขอบคุณที่เป็นกำลังใจค่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท