"โกมล คีมทอง" ครูของแผ่นดิน (๔) : ไปเป็นอิฐก้อนแรก


การเขียนอัตชีวประวัติของคุณครู "โกมล คีมทอง" เริ่มตั้งแต่บันทึก "โกมล คีมทอง" ครูของแผ่นดิน (๑) : ภูมิหลัง , "โกมล คีมทอง" ครูของแผ่นดิน (๒) : ฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ ปณิธานความเป็นครู และ "โกมล คีมทอง" ครูของแผ่นดิน (๓) : เมื่อเป็นครูฝึกสอนและบัณฑิตแท้

ในบันทึกนี้ จะนำเสนอชีวิตของคุณครู "โกมล คีมทอง" เมื่อออกไปเป็นคุณครูตัวจริงเสียงจริง

 

 

 

โกมล คีมทอง ครูของแผ่นดิน

 

ตอนที่ ๔ ... ไปเป็นอิฐก้อนแรก

 

ไปเป็นอิฐก้อนแรก : จาก "บ้านหมี่" สู่ "บ้านส้อง"



“เพื่อนเอ่ยถึงเรื่องหนึ่งว่าเวลานี้เราขาดคนที่จะยอมตนเป็นก้อนอิฐก้อนแรกที่ทิ้งลงไปและก็จมอยู่ที่นั่น เพื่อให้ก้อนอื่น ๆ ถมทับตนอยู่ที่นั่น และเสร็จแล้วเจ้าก้อนที่จะปรากฏเป็นผู้รู้จักของสังคม ก็คือก้อนที่อยู่เหนือก้อนอื่นสุด ส่วนก้อนแรกนั้นก็จมดินอยู่นั่นเอง เราหาคนอย่างนี้ไม่ค่อยได้ จึงไม่ค่อยมีอะไรที่ใหม่ที่มีคุณค่าออกมา เพราะน้ำจิตน้ำใจแห่งการเสียสละของเรายังอบรมกันได้ผลน้อยเต็มที หรือว่าเราจะไม่เคยเน้นการอบรมเรื่องนี้กันเลยก็ได้”

 


จดหมายถึงอาจารย์แถมสุข นุ่มนนท์

ฉบับวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๓

 

ทำไมเด็กหนุ่มจากลุ่มน้ำลพบุรี จึงเดินทางมาเรียนต่อยังลุ่มน้ำเจ้าพระยา และจบออกไปทำงานเป็นครูอยู่ในท้องถิ่นชนบทแห่งลุ่มน้ำตาปี ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ กว่า ๖๐๐ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากบ้านเกิดเกือบ ๑,๐๐๐ กิโลเมตร

ความเป็นมาเริ่มตรงที่อาจารย์สุลักษณ์ไปเป็นบรรณาธิการวิทยาสารปริทัศน์ ขณะที่ คุณอารีย์ เอส เบอริแกน ผู้จัดการเหมืองห้วยในเขา แห่งตำบลบ้านส้อง กิ่งอำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเหมืองแร่พลวง ได้อ่านบทความของอาจารย์สุลักษณ์ เรื่อง

“บทเรียนจากหน่วยอาสาสมัครต่างประเทศของอังกฤษ” ตีพิมพ์ในหนังสือวิทยาสารปริทัศน์ ฉบับที่ ๑ เขาเห็นด้วยกับความคิดเห็นในบทความดังกล่าว จึงเขียนเชิญชวนคนหนุ่มสาวจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มาพัฒนาตนเอง โดยจัดเป็น “ค่ายพัฒนากำลังคน เหมืองห้วยในเขา”

 

ผลจากการตีพิมพ์จดหมายเชิญชวนเรื่องดังกล่าว ปรากฏว่ามีนิสิตนักศึกษาอาสาสมัครราว ๒๐ คน จากจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ และวิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา ไปทดลองทำเหมืองกันในตอนปิดภาค ดังหนึ่งเป็นงานค่ายอาสาสมัครกลาย ๆ ทางฝ่ายเหมืองเลยอยากให้บรรณาธิการ วิทยาสารปริทัศน์ ไปเยี่ยมและบรรยายให้แก่เยาวชนพวกนี้ อาจารย์สุลักษณ์ก็รับปาก และได้ชวนโกมลไปด้วย แต่แล้วท่านกลับไม่มีโอกาสได้ไปเพราะติดไปประเทศญี่ปุ่น คงให้แต่เพื่อนร่วมงานในกองบรรณาธิการไปแทน คือ อาจารย์อวบ สาณะเสนเป็นหัวหน้าทีม ร่วมด้วย ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ และ เทพศิริ สุขโสภา โดยมีโกมลซึ่งเพิ่งสอบเสร็จเดินทางร่วมไปด้วยดังที่วางแผนไว้เดิม

ค่ายนี้ได้มีโอกาสต้อนรับคณะนักเขียนจาก วิทยาสารปริทัศน์ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๑๓

ในการไปเยี่ยมค่ายครั้งนั้น โกมลได้ไปเห็นเหมืองและได้คุยกับผู้จัดการเหมือง ก็เกิดชอบอัธยาศัยกัน เขาได้ทราบถึงความมุ่งหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงเรียนชุมชนของเหมืองห้วยในเขาอยู่ก่อนแล้ว และทราบว่าทางเหมืองมีความคิดที่จะสร้างวัดขึ้นเพื่อความเจริญงอกงามในทางธรรมของชุมชน รวมถึงสถานีอนามัย ซึ่งจะรับสมัครแพทย์และพยาบาลมาประจำ แต่ก็ยังหาไม่ได้ โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะทางเหมืองรู้สึกว่าตนได้รับเงินจากที่นั่นส่วนหนึ่ง จึงควรจ่ายกลับไปเพื่อตอบแทนชุมชน



คุณอุดม เย็นฤดี ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเหมืองแร่พลวง (ปัจจุบันเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโกมลคีมทอง) ให้สัมภาษณ์เมื่อปลายปี ๒๕๓๙ เกี่ยวกับที่มาของโรงเรียนแห่งนี้ว่า

“เราใช้เขา [นักศึกษาที่มาออกค่าย--ผู้เขียน] ไปสำรวจความรู้สึกของชาวบ้านว่าเขาต้องการอะไรในเมื่อมีเหมืองแห่งนี้อยู่ ปรากฏว่าสิ่งที่เขาต้องการคือ อยากมีโรงเรียนใกล้บ้านแถว ๆ นี้ เพราะลูกของเขาต้องเดินไปเรียนหนังสือไกลถึง ๖ กิโลเมตร คุณอารีย์จึงเสนอความคิดตั้งโรงเรียน ก็ประกาศออกมา โกมลเผอิญตามไปดูที่เหมืองทีหลัง ไปรู้เรื่องนี้ก็เลยเกิดความสนใจ”

 

ผลผลิตอันสืบเนื่องจาก “ค่ายพัฒนากำลังคน เหมืองห้วยในเขา” ทำให้ในเวลาต่อมา สมาชิกบางส่วนของค่าย อาทิ สุรพล ศรีชุ่มสิน (นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์) มาทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการเหมือง และทนง จันทราจล (นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์) มาเป็นครูประจำชั้นช่วยงานครูโกมลอีกคนหนึ่ง

และราว ๑ เดือนต่อมา โกมลจึงได้ตอบตกลงเรื่องการทำโรงเรียนดังกล่าว และสมัครเป็นครูใหญ่ ตามจดหมายติดต่อของเขาถึงผู้จัดการเหมือง ลงวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๑๓ โดยที่เขาเล่าว่ารู้สึกหนักใจอยู่มาก เพราะ

“ประการสำคัญคือ ผมไม่เคยคิดจะทำการประถมมาก่อนเลย ความสนใจส่วนใหญ่ตลอดเวลาคือเรื่องการมัธยมและอุดมศึกษา ฉะนั้น เรื่องที่จะทำต่อไปนี้ จึงต้องศึกษาและเรียนรู้กันใหม่ ผมกลับจากภูเก็ตครั้งที่แล้ว ก็พยายามเก็บความรู้ความคิดเรื่องการประถมนี้เรื่อยมา ได้ดูโรงเรียน ได้ถามหลักการต่าง ๆ และขอดูพวกอุปกรณ์ที่จะใช้ แต่เรื่องหลักสูตรยังไม่มีเวลาศึกษาจนบัดนี้”

 

การตัดสินใจครั้งนี้ ได้รับการคัดค้านจากเพื่อนฝูงและครอบครัว โดยเฉพาะนางทองคำผู้เป็นแม่ เพราะโกมลล้มเลิกแผนการเรียนต่อในระดับปริญญาโท รวมถึงงานด้านการสอนซึ่งอาจารย์ผู้ใหญ่ที่คณะครุศาสตร์ก็อยากได้ตัวไปช่วย โดยเขาได้ไปปรึกษาพ่อ คือนายชวน ซึ่งในอดีตเคยเป็นครูสอนหนังสือนานถึง ๑๖ ปี แต่ขณะนั้นบวชเป็นพระภิกษุมานาน ๕ พรรษาแล้ว ท่านสนับสนุนการตัดสินใจของเขา และบอกแก่เขาว่า ชีวิตนี้ไม่ควรไปยินดียินร้ายดิ้นรนมันนัก ผลที่ได้มามันไม่คุ้มอะไรกัน ทะเยอทะยานไป สิ่งที่ได้มาไม่ใช่แก่นสารอะไรแก่ชีวิต



โกมลเขียนจดหมายไปบอกอุทัย เพื่อนที่สนิทว่า

“ผมตัดสินใจมาเป็นครูอยู่สุราษฎร์ธานีแล้ว เวลานี้ผมมาตั้งหลักน่ะ ขืนอยู่จุฬาฯ อีก คงไม่แคล้วถูกกลืนจนหมดตัว”

 

และในจดหมายฉบับวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๑๓ เขาเขียนเล่าความในใจว่า คำของหลวงพ่อนั้นสะกิดใจเขาอยู่นานหลายเดือนตั้งแต่ไปเยี่ยมครั้งก่อน และว่า

“พูดถึงความก้าวหน้า ผมคิดและไตร่ตรองดูโดยรอบคอบแล้วเห็นว่า ผมจะต้องหันกลับมาเล่นงานตัวเองเป็นจุดใหญ่ ตัดการยึดและถือมั่น ลดการถือตัว ถือทิฐิประจำตัว และปล่อยวาง หากดวงจิตตรงนี้สะอาดขึ้น สว่างขึ้น และสงบขึ้น นั่นแหละคือความก้าวหน้า แต่ตรงข้ามมันกลับสกปรกโสโครกลง มืดมิดลง และฟุ้งซ่านขึ้น โลดแล่นต่อไปด้วยอำนาจกิเลสและตัณหามากขึ้น นี่แหละคือความหายนะของชีวิตผม ความล่มจมและความเสื่อม แต่ก็มิได้หมายความว่าจะหนีโลกหนีสังคม ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นแต่จะชี้ให้เห็นถึง Concept ของผมเกี่ยวกับชีวิตนี้ และนั่นเป็นหลักการใหญ่ เป็นประดุจจุดมุ่งหมายสูงสุดให้แก่ชีวิตของตน แต่ในฐานะเกิดเป็นคนในสังคม ผมยังเป็นหนี้สังคมอยู่มาก ผมยังคงไม่ทอดทิ้งภาระและหน้าที่นี้เด็ดขาด การศึกษาที่เรียนมายังจะเป็นเรื่องที่ต้องจับขึ้นมาทำ และจะเล่นอย่างจริงจัง ให้ผลแก่การศึกษาต่อไป เฉพาะแต่จะเอาตัวรอด เป็นครูดี สอนดี ประพฤติดี ดูจะไม่เพียงพอเสียแล้ว สำหรับเรา สำหรับสังคมยุคนี้และต่อไป ผมเห็นว่าเราจะต้องโลดแล่นต่อไปในสังคมการศึกษา ในทางที่จะต้องพยายามยกระดับให้สูงขึ้น จริงจังมากขึ้น และมี aim มีปรัชญาที่แน่นอนและถูกต้องเหมาะสมมากกว่านี้ แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้น เราเห็นจะต้องสั่งสมและสร้างบารมีกันก่อน บารมีนี้คือความรู้ความเข้าใจและความคิด เรื่องยศ เรื่องตำแหน่ง เวลานี้ยังมีสะกิดเกี่ยวและรบกวนจิตใจอยู่บ้างไม่น้อยเลย แต่เชื่อแน่ว่าอีกไม่ช้าผมจะตัดมันออกให้เด็ดขาดกันได้”

 

และอีกตอนหนึ่งของจดหมายฉบับเดียวกัน ซึ่งแสดงความเป็น “โกมล คีมทอง” ได้อย่างชัดเจน และต่อมากลายเป็นอมตพจน์ที่ใช้อ้างอิงอยู่เสมอเวลาเขียนถึงเขา

“การมีชีวิตอยู่เพียงเพื่ออยู่รอด ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย เพียงแต่ปรับตัวเข้ากับคนอื่นเรื่อยไปก็อยู่ได้ แต่คนที่ยึดมั่น เชื่อมั่น และยึดในหลักการนั้น หายาก และทำยาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การทำยากจะทำไม่ได้ ชีวิตอย่างเราผมเห็นว่าความสุข ความพอใจ ไม่ควรให้อยู่เป็นแค่การอยู่รอด เอาตัวรอด แต่ความสุข ความพอใจควรอยู่ที่การทำดี ทำตรง ทำถูกต้อง และมีชีวิตอยู่เพื่อทำงานยาก ๆ ที่คนธรรมดาทำไม่ได้นั่นมากกว่า ผมจะดีใจและพอใจเสมอที่จะได้ทราบข่าวคราวและเรื่องราวที่เราสามารถขัดและแย้ง หาความถูกต้องดีงามให้แก่สังคมได้”

 

จะว่าไป นอกจากโกมลจะได้ซึมซับภาพความเป็นครูจากบิดาของตนแล้ว ในช่วงวัยแรกรุ่น เขายังมีภาพประทับใจต่อครูคนหนึ่งซึ่งเคยสอนเขาสมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ที่โรงเรียนบ้านหมี่วิทยา ครูท่านนั้นชื่อ ธวัชชัย เหรียญทอง จดหมายที่เขาเขียนถึงครูคนนี้เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๑๒ ขณะที่กำลังเป็นนิสิตฝึกสอนอยู่ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ บ่งชัดว่า เขาได้แบบอย่างแห่งความเป็นครูที่แท้จากท่านผู้นี้มาเพียงไร เขาเขียนว่า

“คำพูด คำสอนของครูทั้งหมด ตลอดบุคลิก ท่าทาง การปฏิบัติตัวของครู เป็นสิ่งที่ฝังใจผมอยู่เรื่อยมา และมารู้ตัวมากขึ้นเมื่อมาสอนเด็กอยู่ขณะนี้”

 

การตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ โกมลได้ไปปรึกษาอาจารย์สุลักษณ์ด้วยว่าจะเลือกทำงานอย่างไหนดี อาจารย์แนะนำเพียงว่าเขาต้องตัดสินใจเอง และบอกแก่เขาว่า

“การเป็นอาจารย์ในกรุงเทพฯ ก็ดี ถ้ามีอุดมคติ คิดจะไปปรับปรุงแก้ไขระบบการจากภายใน ก็คงทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ข้อสำคัญของการทำงาน ต้องนึกเสียว่าแพ้บ้างชนะบ้างละก็เป็นใช้ได้ อยู่กรุงเทพฯ ก็มีประโยชน์ตรงที่จะตักตวงความรู้ได้อีก มีโอกาสพบปะผู้คนได้มาก ได้เรียนรู้อะไรอีกมาก [...] ส่วนการออกไปเป็นครูบ้านนอกก็เป็นความคิดที่ดี แต่ถ้ามีความฝันไว้มากก็ต้องเตรียมผิดหวังไว้ให้มาก ๆ ด้วย พร้อมกันนั้น การทำอะไรถ้าไม่ฝัน มันก็เข้าร่องว่าสักแต่ทำไปวัน ๆ ดังเป็นลูกจ้างเขา หรือดังคนขายตัวขายอุดมการณ์ทั้งหลายนั่นเอง คนที่มีอุดมคติต้องเตรียมที่จะรับการผิดหวังไว้ โดยเฉพาะในกรณีของสภาพสังคมปัจจุบัน”

 

โกมลไปถึงสถานีรถไฟบ้านส้อง ซึ่งอยู่ห่างจากเหมืองไม่มากนัก เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๑๓ ก่อนวันปิดค่ายพัฒนากำลังคนราวหนึ่งสัปดาห์ เขามีกระเป๋าเดินทางใบย่อมติดตัวมาเพียงใบเดียว แต่มีลังกระดาษบรรจุหนังสือตำราต่าง ๆ อีกสี่ใบ ขณะที่เสื้อผ้าและหนังสือส่วนใหญ่ได้แจกจ่ายแก่เพื่อน ๆ และเด็กยากจนไปหมด นำติดตัวมาเฉพาะที่เห็นว่าจำเป็นจะต้องใช้ตามสภาพของการอยู่ป่า เมื่อผู้จัดการเหมืองสั่งให้แม่บ้านจัดเครื่องนอนสำหรับเขา เขาก็ขอรับเอาเพียงเสื่อผืน หมอนใบ และผ้าห่มสักผืน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อจะได้ฝึกการกินง่าย พยายามที่จะให้มีความเป็นอยู่ให้ใกล้กับพระสงฆ์ผู้ทรงศีลมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้

ในขณะนั้น โรงเรียนมีเพียงอาคารชั่วคราว ยังไม่สามารถเปิดรับเด็กได้ทันในปีการศึกษาใหม่นี้ แต่โกมลคิดว่าเทอมกลางนี้จะเอาเด็กก่อนเกณฑ์มาเริ่มสอนไปพลางก่อน เพราะได้สำรวจเด็กไว้หมดแล้ว แต่ปัญหาคือจะสอนอะไรแก่เด็ก อีกทั้งยังต้องดำเนินการก่อสร้างต่อให้เสร็จ นั่นคือพื้นของอาคารยังต้องปรับ การแบ่งห้อง จัดห้อง การสร้างโต๊ะ เก้าอี้ โต๊ะครู และส้วม ห้องน้ำ บ่อน้ำ และประปา ไฟฟ้าประจำโรงเรียนซึ่งต่อมาจากเหมือง

เมื่อรับงานเกี่ยวกับโรงเรียนแล้ว โกมลได้ขอเวลาไปศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดชั้นเรียน การจัดอุปกรณ์การสอน ตลอดจนหลักสูตร ในท้องที่ต่าง ๆ นับตั้งแต่โรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษาในจังหวัดสงขลา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และที่กรุงเทพฯ รวมถึงการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนจากทางราชการ ทั้งยังจะจัดให้มีแผนกอาชีวะ ช่างเครื่องยนต์ ช่างไม้ และการศึกษาผู้ใหญ่ด้วย ซึ่งไม่ใช่งานเล็กน้อยเลย ในการดูงานที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา เขาได้รับการชักชวนจาก ดร.สมพร บัวทอง รองอธิการบดี ถึงสองหนให้ทำงานที่นั่น เพราะเห็นถึงความตั้งใจจริง ความมุ่งมั่น และความคิดของคนหนุ่มอย่างเขาเกี่ยวกับกิจกรรมด้านการศึกษา

จดหมายที่โกมลเขียนถึงไพฑูรย์ ฉบับวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๑๓ ช่วยบรรยายให้เห็นบรรยากาศตอนนั้นได้เป็นอย่างดี

“เวลานี้ผมทำอะไรทุกอย่างเร่งรัดตัวเอง กวดขันตัวเอง เพราะด้วยสำนึกว่ายังด้อยความรู้อยู่มาก ผมต้องรู้ก่อนว่า ร.ร. ที่ทำอยู่เวลานี้เป็นอย่างไร หลักการคืออะไร ดีและเลวอย่างไร การเรียนรู้ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อเอามาพูดวิพากษ์วิจารณ์กัน เสร็จแล้วก็แล้วกันอย่างที่เคยทำมา แต่รู้ตัวว่าจะต้องรู้และเข้าใจโดยตลอด หาข้อบกพร่องและวิธีการแก้ไข ปรับปรุง และด้วยความคิดเช่นนี้ผมจึงต้องเร่งตัวเองออกศึกษา หาความรู้ หาความคิดจากการดู ร.ร. ต่าง ๆ จนเวลานี้ก็ระเห็ดมาอยู่สงขลา ดูเรื่องการอนุบาลและประถมศึกษามา ๖-๗ วันแล้ว มาพักอยู่หอพักวิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา เย็นลงกลับจากตระเวนที่ต่าง ๆ ไปหาข้าวปลากินที่บ้านท่านรองอธิการวิทยาลัย แล้วก็ถกกันเรื่องปัญหาการศึกษา การฝึกหัดครู เรื่อง ร.ร. ชุมชน เรื่อง ฯลฯ ถกกันหน้าดำคร่ำเครียดมา ๓ คืนแล้ว อยู่กันดึกดื่นทุกคืน”

 

อาจารย์สุมน เคยพูดถึงกรณีนี้ว่าไม่เคยเห็นลูกศิษย์คนใดเตรียมตัวที่จะออกไปทำงานมากเท่าโกมล เนื่องจากเขาเรียนมาทางด้านสาขามัธยมศึกษา แต่เมื่อต้องไปตั้งโรงเรียนประถม เขาจึงมาขอคำแนะนำจากอาจารย์สุมนซึ่งเป็นครูประถม และยัง

“ไปขอความรู้จากอาจารย์ผู้ใหญ่หลายแห่ง ทั้งที่เป็นงานวิชาการและที่เกี่ยวกับอุปกรณ์การเรียนการสอน ไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ ต่างคณะในเรื่องของการออกแบบการก่อสร้างอาคารเรียน บ้านพักครู และสนามเด็กเล่น ไปขอความรู้จากคนที่มีความรู้ทางด้านพืชพันธุ์ไม้เพื่อนำมาปลูกในบริเวณโรงเรียน เรื่องการทำสวนครัว หรือแม้แต่ในงานอาชีพช่างทั้งหลาย ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการเย็บผ้าของชาวบ้าน”

 

ดังข้อเขียนที่เป็นจดหมายของเขากว่า ๗๐ ฉบับถึงบุคคลต่าง ๆ ในช่วงเวลาเพียง ๙ เดือนกว่า ๆ ที่เขาไปอยู่ที่นั่น เป็นประจักษ์พยานอยู่ 

 


 

พจน์ กริชไกรวรรณ ... ผู้เรียบเรียง

ตีพิมพ์ ณ นิตยสารสารคดี ฉบับกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

 

.....................................................................................................................................................

ช่องไฟส่วนตัว ...

 

"ค่าของคนอยู่ที่ผลของงานและความคิด" ยังคงเป็นภาพที่เราเห็นจากบันทึกนี้ได้ชัดเจน และไร้ข้อกังขาของคุณครู "โกมล คีมทอง"

การเป็นครูด้วยหัวใจ ไม่ต้องถามอะไรสักคำ ก็ทำให้เราสามารถเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนตาที่สุด

คุณครู "โกมล คีมทอง" เป็นผู้ใช้จดหมายเป็นตัวสื่อถึงความคิด หากเป็นปัจจุบันนี้ คุณครู "โกมล คีมทอง" อาจจะเขียนบล็อกแทนก็ได้นะครับ ;)...

 

ด้วยจิตคารวะ

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...

 

......................................................................................................................................................

แหล่งข้อมูล

พจน์ กริชไกรวรรณ.  ประวัติครูโกมล.  http://www.komol.com/autopage/show_page.php?t=34&s_id=4&d_id=4 (๙ มกราคม ๒๕๕๕).

 

......................................................................................................................................................

บันทึกที่เกี่ยวข้อง

 

หมายเลขบันทึก: 474478เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2012 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

นมัสการพระคุณเจ้า Ico48 Phra Anuwat ;)...

ขอบพระคุณมากครับท่าน ;)...

คุณครู "โกมล คีมทอง" อาจจะเขียนบล็อกแทนก็ได้นะครับ ;)...

งั้น ชะรอยว่า อ.โสดเหือฯ คงจะเป็นจูเนียร์โกมล กระมังคะ

สุขสันต์กับ คู่รักวัยดึก จะรอชมภาพคู่เลิฟ ตะลอนทัวร์นะคะ :)

แหม อุตส่าห์มาแซวนะครับ อิ อิ

ขอบคุณมากครับ คุณ Poo ;)...

“พูดถึงความก้าวหน้า...

ผมคิดและไตร่ตรองดูโดยรอบคอบแล้วเห็นว่า ผมจะต้องหันกลับมา เล่นงานตัวเองเป็นจุดใหญ่

ตัดการยึดและถือมั่น ลดการถือตัว ถือทิฐิประจำตัว และปล่อยวาง

หากดวงจิตตรงนี้สะอาดขึ้น สว่างขึ้น และสงบขึ้น นั่นแหละคือความก้าวหน้า

แต่ตรงข้ามมันกลับสกปรกโสโครกลง มืดมิดลง และฟุ้งซ่านขึ้น โลดแล่นต่อไปด้วยอำนาจกิเลสและตัณหามากขึ้น

นี่แหละคือความหายนะของชีวิตผม ความล่มจมและความเสื่อม

แต่ก็มิได้หมายความว่าจะหนีโลกหนีสังคม ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น

เป็นแต่จะชี้ให้เห็นถึง Concept ของผมเกี่ยวกับชีวิตนี้ และนั่นเป็นหลักการใหญ่

เป็นประดุจจุดมุ่งหมายสูงสุดให้แก่ชีวิตของตน แต่ในฐานะเกิดเป็นคนในสังคม ผมยังเป็นหนี้สังคมอยู่มาก

ผมยังคงไม่ทอดทิ้งภาระและหน้าที่นี้เด็ดขาด การศึกษาที่เรียนมายังจะเป็นเรื่องที่ต้องจับขึ้นมาทำ

และจะเล่นอย่างจริงจัง ให้ผลแก่การศึกษาต่อไป เฉพาะแต่จะเอาตัวรอด เป็นครูดี สอนดี ประพฤติดี

ดูจะไม่เพียงพอเสียแล้ว สำหรับเรา สำหรับสังคมยุคนี้และต่อไป

ผมเห็นว่าเราจะต้องโลดแล่นต่อไปในสังคมการศึกษา ในทางที่จะต้องพยายามยกระดับให้สูงขึ้น จริงจังมากขึ้น

และมี aim มีปรัชญาที่แน่นอนและถูกต้องเหมาะสมมากกว่านี้

แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้น เราเห็นจะต้องสั่งสมและสร้างบารมีกันก่อน

บารมีนี้คือความรู้ความเข้าใจและความคิด เรื่องยศ เรื่องตำแหน่ง

เวลานี้ยังมีสะกิดเกี่ยวและรบกวนจิตใจอยู่บ้างไม่น้อยเลย

แต่เชื่อแน่ว่าอีกไม่ช้าผมจะตัดมันออกให้เด็ดขาดกันได้”

....

คมคิดอันลึกซึ้งยิ่ง ของ..."ครูของแผ่นดิน"

แม้ในวัยต้นของชีวิต ที่ชีวิต มีโอกาส มีสิทธิ์ได้ใช้ชีวิตอันแสนสั้นสุดๆนั้น

ช่างน่าประทับ...ซาบซึ้งใจยิ่งนัก

ขอบคุณมากค่ะครู... สาธุ (ตามอ่านจนลืมอาหารเช้าเลยค่ะ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท