Facilitator คือใคร? คำถามที่ถูกถามบ่อย


จากประสบการณ์การทำงานในบทบาทวิทยากรกระบวนการของผมเอง ถือว่าทำหน้าที่ค่อนข้างหนัก เหตุเพราะฉันทะของตัวเองที่สนใจ ใคร่รู้ ดังนั้นการทำการบ้านอย่างหนักในช่วงแรกๆของการก้าวเข้ามาทำหน้าที่นี้ ก็ส่งผลให้แตกฉานและมีความมั่นใจมากขึ้นในเวทีถัดๆไป

FA คือใคร ? คำถามนี้มีคนถามผมตลอดว่า Facilitator” ที่เราชอบเรียกติดปากว่า เขา(เธอ) คือใคร?  

หากดูจากศัพท์แล้ว Facilitate จะหมายถึง การเอื้ออำนวย,การอำนวยความสะดวก และหากเป็น Facilitator หรือ ภาษาไทยใช้ว่า “วิทยากรกระบวนการ” ก็จะหมายถึง ผู้ทำให้เกิดความสะดวก หรือผู้ที่ทำให้เกิดความง่าย ในที่นี้เป็นความหมายกว้างๆ ไม่เจาะจงว่าอำนวยความสะดวกในเรื่องใด หากมองไปที่ความหมายของการเรียนรู้ น่าจะหมายถึงผู้ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ และยังมีทักษะที่สำคัญในบทบาทของผู้เชื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Catalyst) และหากมองในภาพรวมเพื่อความยั่งยืน facilitator จะทำหน้าเป็นผู้ประสานงานให้เกิดเครือข่าย (Networker)

อ่านงานของ วรวรรณ วาณิชญ์เจริญชัย[1] ที่ได้รวบรวม บทบาทของวิทยากรกระบวนการ จาก Marquardt ไว้ชัดเจนดังนี้ครับ

1.  เป็นผู้เป็นประสานงาน (Coordinator) เพื่อติดต่อกับผู้มีส่วนร่วมได้มากที่สุดเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา

2.  เป็นผู้กระตุ้น (Catalyst) ให้เกิดการเรียนรู้ผ่านคำถามปลายเปิด คำถามแตกองค์ประกอบ คำถามสร้างความตระหนักรู้ เพื่อดึงพลังหรือศักยภาพของผู้เข้าร่วมให้เห็นถึงปัญหา สาเหตุ เป้าหมาย และทางออกร่วมกัน

3.  เป็นผู้สังเกตการณ์(Observer) ในเวทีถึงพฤติกรรมความรู้สึกและวิธีคิดของผู้เข้าร่วมเพื่อปรับกระบวนการให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา

4.  เป็นผู้สร้างบรรยากาศ (Climate Setter) ให้กลุ่มผ่อนคลาย เป็นกันเองและสร้างความไว้วางใจเพื่อให้เกิดการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

5.  เป็นผู้ช่วยการสื่อสาร (Communicator Enabler) ช่วยให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์ ความรู้ต่างๆ อย่างเต็มที่ เต็มใจและเปิดกว้างที่จะรีบฟังอย่างใคร่ครวญ

6.  เป็นพี่เลี้ยงในการเรียนรู้ (Learning Coach) ให้ผู้เข้าร่วมได้เล่าถึงประสบการณ์และวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ฝังลึกที่อยู่ในตัว นำไปสู่การพัฒนาและจัดการตนเองที่ประสบความสำเร็จ

จากนิยามที่เขียนมาข้างต้น เราพอจะแยกแยะกันได้บ้างแล้วว่า การขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับรูปแบบกระบวนการเรียนรู้ การสอนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ อาจไม่มีพลังเท่ากับการเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน การยอมรับและเชื่อมั่นว่าบุคคลมีทักษะ ความรู้ ความสามารถที่หลากหลาย หากเราสามารถจัดการความรู้เหล่านั้นได้ ความรู้ก็จะเป็นพลังอันมหาศาลในการพัฒนาที่เกิดจากการมีส่วนร่วม

แล้วทำอย่างไร? ให้เกิดการจัดการความรู้ ในการพัฒนาในรูปแบบองค์กร,กลุ่มจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมี “วิทยากรกระบวนการ” ที่จะทำหน้าที่ Facilitate กลุ่ม เปลี่ยนบทบาทตัวเองจากวิทยากรแบบเดิม มาเป็น วิทยากรกระบวนการ

การทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป บทบาทของวิทยากรกระบวนการก็แตกต่างกันไปด้วย ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์กลุ่ม รวมไปถึงวัตถุประสงค์ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ และ การรอคอยให้การเรียนรู้นั้นผลิดอกออกผลตามธรรมชาติของการเรียนรู้ ซึ่งอย่างหลังนี้ต้องใช้เวลาและใช้ทักษะในการอำนวยความสะดวกสูงภายใต้ความเชื่อที่ว่าการเรียนรู้นั้นจะต้องมีมิติการสร้างขึ้นภายในตนเอง เป็นความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge)

บางสถานการณ์ที่จำเป็นจะต้องถ่ายทอดความรู้ จะเป็นบทบาทของวิทยากรความรู้ หรือวิทยากรเนื้อหา ต้องเตรียมตัวด้านเนื้อหา กิจกรรมที่ให้ความรู้ให้กับผู้เรียน และบางครั้งที่มีการฝึก การทดลองบางอย่าง วิทยากรกระบวนการจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง (Mentor) บางสถานการณ์อาจเป็นครูฝึก (Coach)

ความแตกต่างของ “วิทยากรกระบวนการ” กับ “วิทยากรทางด้านเนื้อหา” ก็คือ วิทยากรกระบวนการเน้นตัวกระบวนการ ออกแบบ จัดวาง กระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างประสบการณ์ หรือเรียนรู้กระบวนการทำงานร่วมกัน(ที่เราเรียกว่า “การถอดบทเรียน”) เนื้อหาที่นำมาแลกเปลี่ยนกันก็จะเป็นประสบการณ์ ผลึกความรู้ “ปัญญาปฏิบัติ” ทั้งในระดับปัจเจกและกลุ่ม  ส่วนวิทยากรทางด้านเนื้อหา การใช้ทักษะในการจัดกระบวนการให้กลุ่มเป้าหมายได้เกิดความรู้ เน้นการถ่ายทอดความรู้ และการฝึกการปฏิบัติเพื่อความชำนาญ ส่วนในการทำงานเรามักจะทำบทบาททั้ง วิทยากรกระบวนการและวิทยากรทางด้านเนื้อหาสอดคล้องกันไป

โดยสรุปวิทยากรกระบวนการต้องพึงมีคุณสมบัติอย่างไร?  

จากประสบการณ์ของการทำงานกระบวนการผ่านกลุ่มที่หลากหลาย ผมคิดว่า คุณสมบัติที่จำเป็นที่สุดของวิทยากรกระบวนการคือ “การเป็นบุคคลเรียนรู้” มีความรู้เป็นสหวิทยาการ (องค์รวม)โดยมีฐานคิดที่ว่า ความรู้นั้นเป็นพลวัต มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความรู้ที่ค้นพบเมื่อชั่วโมงก่อนมาถึง ณ ชั่วโมงนี้ความรู้นั้นอาจล้าสมัยไปแล้วก็ได้ ดังนั้นการเป็นบุคลเรียนรู้ ทำให้วิทยากรกระบวนการตื่นรู้เสมอกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสรรพสิ่ง การที่รู้รอบ รู้เร็วทำให้เรามองวิธีการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่จะมุ่งให้เกิดการยกระดับความคิดเกิดขึ้นชัดเจนไปด้วย

สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ “ความศรัทธา” ในที่นี้หมายถึงการเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ ที่เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถ แต่หลายคนไม่มีพื้นที่ทางความคิด รวมถึงจำกัดในการสื่อสารออกมา วิทยากรกระบวนการจึงไม่ต้องรู้ไปเสียทุกอย่าง “ความรู้เกิดจากการเรียนรู้ร่วมกัน” และการเรียนรู้ร่วมกันนำไปสู่พลังทวีคูณและการพึ่งตนเองทางด้านความรู้ เราต้องตระหนักในข้อนี้ แล้วออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความพึงพอใจ ความสุข ของกลุ่มเป้าหมาย และเชื่อว่าความสุข ความพึงพอใจ รวมไปถึงพื้นที่ปลอดภัย ทุกคนพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ การตระหนักถึงความสามารถของผู้คนของวิทยากรกระบวนการทำให้การแสดงออกของวิทยากรกระบวนการเป็นผู้มีเสน่ห์ นอบน้อม และเคารพในผู้คน ละลายอัตตาทั้งตนเองและผู้อื่นลงได้

คุณสมบัติของวิทยากรกระบวนการ อื่นๆ เช่น  

1.  เป็นคนที่มีความรักผู้อื่น มีความสุขเมื่อเห็นการเติบโตการยกระดับความคิด จิตวิญญาณ อ่อนน้อม ไม่ก้าวร้าว เชื่อมั่นในความรู้ของปัจเจกและกลุ่ม มีความเชี่อมั่นพลังแห่งการอยู่ร่วมกัน รวมถึงพลังแห่งวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ความรู้ดั้งเดิมของชุมชน

2.  มีวิธีคิดแบบองค์รวม (System thinking) มีการเชื่อมโยงความคิดที่เป็นระบบ การคิดเชิงบวก มีความคิดเชิงสร้างสรรค์ไม่ติดกรอบ “กล้าจินตนาการ” ความคิดเชิงสังเคราะห์ วิเคราะห์ และความคิดเชิงออกแบบ(Design thinking)[2]

3.  การทักษะวิธีการสื่อสารที่ทรงพลัง ออกแบบให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย

4.  มีความพร้อมที่จะเรียนรู้จากผู้อื่น รวมทั้งพร้อมที่จะเรียนรู้จากผู้เข้าร่วมกระบวนการ

ส่วนทักษะและความเป็นวิทยากรกระบวนการ ภายใต้ “การนำ” นั้น เชื่อว่าทุกคนมีอยู่ในตัวเองและสามารถพัฒนาขึ้นได้ วิทยากรกระบวนการจะมีเป้าหมายให้ได้เริ่มต้น เกิดความรู้ เกิดความคิดใหม่ โดยให้ผู้ร่วมเรียนรู้เป็นศูนย์กลาง เน้นการสื่อสารสองทาง และตัวเองเป็นเพียงกระจกที่สะท้อนให้ผู้เข้าร่วมเปลี่ยนแปลงตนเอง

หน้าที่ของวิทยากรกระบวนการ  ทำอย่างไรกันบ้าง?

จากประสบการณ์การทำงานในบทบาทวิทยากรกระบวนการของผมเอง ถือว่าทำหน้าที่ค่อนข้างหนัก เหตุเพราะฉันทะของตัวเองที่สนใจ ใคร่รู้ ดังนั้นการทำการบ้านอย่างหนักในช่วงแรกๆของการก้าวเข้ามาทำหน้าที่นี้ ก็ส่งผลให้แตกฉานและมีความมั่นใจมากขึ้นในเวทีถัดๆไป ผมขอเรียบเรียงแบบเป็นลำดับเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจดังนี้ครับ

หลังจากที่ได้ประสานงานกับเจ้าภาพ(บุคคล องค์กรที่ต้องการให้ไปช่วยทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการ) แล้ว ผมและทีมงานทำอะไรกันบ้าง?

1.  ทำความเข้าใจเป้าหมาย และจุดประสงค์ของการทำเวที ว่าต้องการอะไร เพื่อบรรลุอะไร เมื่อทราบเป้าหมายแล้ว การออกแบบกระบวนการจะสามารถทำได้สอดคล้องกับการได้มาซึ่งผลลัพธ์ได้ง่าย

2.  ประสานงานกับผู้จัดประชุม เพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญเพื่อใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ อาจใช้วิธีการไปพบ พูดคุยโดยตรง(วิธีนี้หากมีเวลา ผมแนะนำครับ) หรือไม่มีเวลาที่เหมาะสม จะใช้การส่งข้อมูลทางอีเมลก็สะดวก ข้อมูลพื้นฐานที่ต้องการคือ วัตถุประสงค์,เป้าหมาย,กลุ่มผู้เข้าร่วม,กระบวนการที่ผู้จัดการประชุมคาดหวัง(ตรงนี้เพื่อการระดมความคิดหากระบวนการร่วมกัน), เวลาที่ใช้ และผลลัพธ์ที่ต้องการ (ส่วนใหญ่ต้องการการพัฒนาองค์กร ร่วมไปกับการได้บทเรียนจากการถอดบทเรียน)

3.  ประสานงานเพื่อขอข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มผู้เข้าร่วมเวที เช่น จำนวน,เพศ,ระดับการศึกษา,ความสนใจพิเศษ รวมไปถึง บทบาทหน้าที่ในงานที่อยู่ในประเด็นที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน

4.  ประสานงานเกี่ยวกับการออกแบบเวทีเรียนรู้,วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องเขียน เครื่องฉายภาพ แสง เครื่องเสียง ที่จะสร้างสรรค์ลักษณะบรรยากาศโดยรวมที่เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้

5.   ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ไว้เป็นต้นแบบและประชุมทีมงาน ในการออกแบบร่วมกันอีกครั้ง ก่อนที่จะประสานงานกับผู้จัดการประชุมเพื่อ ทบทวน บทบาทหน้าที่ เป้าหมาย ลำดับการเรียนรู้ และการเตรียมตัวล่วงหน้า และอาจมีการปรับกระบวนการหลังจากนี้

6.  ในวันประชุม หรือ วันที่จัดเวที การเตรียมความพร้อมสถานที่ล่วงหน้าสำคัญมาก ต้องไปจัดการสถานที่ด้วยตัวเอง พร้อมทั้งทดสอบ ตระเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้พร้อมสรรพ

7.  การเปิดตัววิทยากรกระบวนการ และกระบวนการละลายพฤติกรรมน้ำแข็ง สำคัญมากในช่วงแรกของการพบกัน การสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง มีความสนุกสนานในการพบเจอ ในการแสดงความคิดเห็น การกระตุ้นให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสมาชิก การใช้เวลาพอสมควรกับกระบวนการนี้มีผลอย่างยิ่งต่อการกระบวนการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งการจัดเวทีเรียนรู้ (ในบทต่อไปจะมีรายละเอียดกระบวนการนี้)

8.  การยืดหยุ่นและการปรับเปลี่ยนกระบวนการได้อย่างเหมาะสม ในระหว่างทำกระบวนการ เมื่อเห็นว่ามีภารกิจบางอย่างจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่อง หรือบางภารกิจที่ต้องปิดลง ทั้งนี้มุ่งเน้นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้ และความสุขในการเรียนรู้ เป็นสำคัญ

9.  หน้าที่ของวิทยากรกระบวนการคล้ายกับ “พระยาออกรบบนหลังช้าง” เมื่อมีสถานการณ์คับขันก็สามารถใช้ยุทธวิถีออกมาตอบโต้ให้ทันควัน มีไหวพริบ ปฏิภาณ ดังนั้นเสบียงอาวุธหรือต้นทุนความรู้ ของวิทยากรกระบวนการจึงสำคัญมากต่อการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดกับกลุ่มอย่างต่อเนื่อง

10. วิทยากรกระบวนการทำหน้าที่สะท้อน สรุป สังเคราะห์ง่ายๆแบบรวดเร็ว ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และสามารถตัดสินใจที่ฉับไหว เข้าใจธรรมชาติของกระบวนการเรียนรู้

11. ตระหนักว่า กระบวนการประชุมที่ใช้เวลาเพียงหนึ่งหรือสองวัน กับเป้าหมายใหญ่ขององค์กรนั้นคนละเรื่องกัน เวทีแบบนี้เป็นเพียงตัวเสริมความสำเร็จในการขับเคลื่อนการทำงาน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของอนาคตที่ดีกว่า ส่วนความยั่งยืนต้องช่วยกันชี้ชวนในการมองอนาคตร่วมกันและหาทางเลือกในการทำงานร่วมกัน ผู้ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้คือ ผู้เข้าร่วมประชุมนั่นเอง

12. การสะท้อนบทเรียนทั้งกระบวนการและผลลัพธ์ของการเรียนรู้ มีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาผู้เข้าร่วมกระบวนการเพื่อให้เรียนรู้ไปพร้อมๆกัน หากองค์กรต้องการพัฒนาบุคลากร อาจต้องใช้เวลาในการอรรถาธิบายแนวคิด กระบวนการ จัดการความรู้ แบบละเอียดให้เห็นภาพรวมของวิธีการเรียนรู้แบบต่างๆ

13. สร้างพันธะสัญญาในรูปแบบต่างๆ ผ่านกระบวนการปิดของเวทีเรียนรู้ เช่น การทำแผน(เค้าร่าง),การตั้งเป้าหมาย,การแสวงหาพื้นที่ที่หลากหลายในการแลกเปลี่ยนในโอกาสต่อไป ทั้งนี้เพื่อความต่อเนื่องของการพัฒนา

14.การเขียนสรุปและสังเคราะห์ผลการทำเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบทบาท วิทยากรกระบวนการ ตรงนี้เป็นข้อตกลงระหว่างผู้จัดงานกับวิทยากรกระบวนการถึงภาระหน้าที่ดังกล่าว

ทั้ง 14 ข้อเป็นภาพรวมของการทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการผ่านประสบการณ์ทำงานของผมและทีม รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จที่มีประสิทธิภาพ และเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีความสุขนั้นมีมากมาย เพียงแต่วิทยากรกระบวนการต้องใช้คุณสมบัติต่างๆในการสะสมเรียนรู้ประสบการณ์และมีโอกาสในการแลกเปลี่ยนกับกลุ่มคนทำงานที่เป็นวิทยากรกระบวนการเหมือนกัน ก็จะได้ประโยชน์และเพิ่มความรู้ ความมั่นใจมากขึ้น

ขณะนี้ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Media)เรามีกลุ่ม  Facebook  ที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า The Art of Facilitator” ที่เป็นกลุ่มคนทำงานมารวมตัวกันแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับ Facilitator

และใน weblog คนทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้  Gotoknow.org ก็มีกลุ่มเรียนรู้ที่ใช้ชื่อว่า “ชุมชน Facilitator” เชิญชวนทุกท่านมาร่วมเป็นสมาชิกและแลกเปลี่ยนกันครับ

 


 

หมายเหตุ 

ความคิดเชิงออกแบบ(Design thinking) หมายถึง วิธีคิดเชิงออกแบบเพื่อนำองค์กรหรือผลิตภัณฑ์ไปสู่ความเป็นเลิศและแตกต่าง เป็นการมองในเชิงธุรกิจ แต่หากมองในเชิงการสร้างกระบวนการเรียนรู้ จะเป็นการคิด ออกแบบที่เน้นเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง อีกนัยหนึ่งคือ ต้องเข้าใจถ่องแท้ในความต้องการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมาย ไม่ได้เน้นการจัดการเรียนรู้ที่ดูดีเฉพาะภายนอกเท่านั้น

เอกสารอ้างอิงการเขียน 

 วรวรรณ วาณิชย์เจริญชัย,สรุปวิทยากรกระบวนการ (Facilitator).www.ns.mahidol.ac.th/km/article/facilitator.pdf

กลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลักษณะชุมชนปฏิบัติ(Community of practices : CoPs)

ในเครือข่ายออนไลน์

Gotoknow.org ที่ http://www.gotoknow.org/cops/facilitator

Facebook ที่ http://www.facebook.com/groups/copfa

และสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผมโดยตรงที่ อีเมล : [email protected]



[1] วรวรรณ วาณิชย์เจริญชัย,สรุปวิทยากรกระบวนการ (Facilitator).www.ns.mahidol.ac.th/km/article/facilitator.pdf

[2] ความคิดเชิงออกแบบ เพื่อนำองค์กรหรือผลิตภัณฑ์ไปสู่ความเป็นเลิศและแตกต่าง เป็นการมองในเชิงธุรกิจ แต่หากมองในเชิงการสร้างกระบวนการเรียนรู้ จะเป็นการคิด ออกแบบที่เน้นเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง อีกนัยหนึ่งคือ ต้องเข้าใจถ่องแท้ในความต้องการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมาย ไม่ได้เน้นการจัดการเรียนรู้ที่ดูดีเฉพาะภายนอกเท่านั้น

 

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

๐๘/๐๑/๕๕

หมายเลขบันทึก: 474006เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2012 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สาระเข้มข้นดีมาก ๆ เลยนะคะ

  • ก่อนที่ตนเองจะลงบันทึกเรื่อง "การเรียนรู้ยุค IT ขอเพียงมี "คุณอำนวย" (ที่มีประสิทธิภาพ)" ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้เรื่อง "Facilitator" จากบันทึกใน GTK และก็ได้พบว่า บันทึกนี้เขียนอธิบายเกี่ยวกับ "Facilitator" ได้ครอบคลุมที่สุด
  • ขอบคุณความรู้ที่แบ่งปันค่ะ

กลับมาแจ้งให้คุณจตุพรทราบว่า ได้นำความรู้จากบันทึกนี้ไปอ้างอิงในบันทึกข้าล่างค่ะ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/477508

จู่ ๆ หน.งาน ก็ ไลน์ มาบอกว่า ส่งชื่อคุณเป็น facilitator นะ...ตายล่ะว๋า! เคยได้ยินอยู่ แต่มันทำหน้าที่อะไรบ้าง ก็ได้คำตอบจาก บล๊อกนี้...ชัด...ว่าแต่ว่า...ควรจะตกลง หรือ ปฏิเสธดีละเนี่ย!...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท