สนธิสัญญา


สนธิสัญญา

สนธิสัญญา

สนธิสัญญา มีกฎหมายรองรับ คือ อนุสัญญาเวียนนา 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา หลักการส่วนใหญ่มาจากจารีตประเพณีดั้งเดิมในสมัยพระเจ้าจัสติเนียน 

สนธิสัญญา หมายถึง ความตกลงระหว่างประเทศซึ่งได้กระทำขึ้นระหว่างกันเป็นลายลักษณ์อักษรและอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ไม่ว่าจะปรากฏในตราสารฉบับเดียวหรือสองฉบับหรือตราสารที่เกี่ยวข้องมากกว่านั้นขึ้นไป และจะมีชื่อเรียกเฉพาะว่าอย่างไรก็ตาม 
สาระสำคัญอยู่ที่เนื้อหาว่า เป็นความตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และก็ทำขึ้นโดยผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายเท่านั้น ดูที่ความผูกพัน 


องค์ประกอบของสนธิสัญญา
1.สนธิสัญญาเป็นความตกลง ต้องเป็นการแสดงเจตนา ของ 2 ฝ่าย หรือหลายฝ่าย (ถ้าเป็นการเจตนาฝ่ายเดียวมีความผูกพัน แต่ไม่ถือเป็นองค์ประกอบของสนธิสัญญา) 
ความตกลงต้องเป็นความตกลงในรูปแบบที่มุ่งหวังเพื่อก่อให้เกิดผลผูกพัน ไม่ใช่เป็นแต่เพียงคำกล่าวลอย ๆ ซึ่งคำกล่าวพวกนี้เขาเรียกว่าเป็นอะไร Gentleman Agreement หรือความตกลงสุภาพบุรุษเท่านั้น ถ้าหากว่ามีการละเมิดไม่ปฏิบัติตามคุณก็จะใช้กฎหมายมา enforce กันไม่ได้ แต่สามารถจะกล่าวติเตียนกันได้ ในทางกฎหมายระหว่างประเทศต้องมีความหนักแน่นมุ่งหวังในการที่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์จึงจะเป็นองค์ประกอบของสนธิสัญญา
2.ต้องเป็นความตกลงระหว่างประเทศ หมายถึง ระหว่างรัฐต่อรัฐ ผู้ที่ทำความตกลงหรือ ผู้ทรงสิทธิในการทำสัญญาต้องเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น รัฐ องค์การระหว่างประเทศ 
ถ้าเป็นสนธิสัญญาที่อยู่ภายใต้บังคับของเวียนนา 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญาแล้วมันจะต้องเป็นสนธิสัญญาที่ทำด้วยลายลักษณ์อักษร แต่ถ้าทำด้วยวาจาบังคับกันได้แต่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของเวียนนา 1969 ถือเป็นกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปหรือ จารีตประเพณี 
3.ต้องเป็นตราสารฉบับเดียวหรือหลายฉบับ ไม่ว่าจะมีชื่อเรียกอย่างไรไม่ได้เป็นปัญหาที่สำคัญดูที่เนื้อหาว่ามีความผูกพัน เข้าองค์ประกอบหรือไม่


ประเภทของสนธิสัญญา สนธิสัญญาอาจจะแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท เช่น 
การแบ่งสนธิสัญญาตามเนื้อหา
เราก็อาจจะแบ่งสนธิสัญญาออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ นั่นคือ 
- สนธิสัญญาประเภทสัญญา มันเป็นความตกลงที่กำหนดสิทธิหน้าที่ของแต่ละรัฐเฉพาะรัฐคู่สัญญา อาจจะเป็นสัญญาต่างตอบแทนหรือ หลักปฏิบัติยุติปัญหาความขัดแย้ง เป็นต้น
- สนธิสัญญาประเภทกฎหมาย ก็คือ สนธิสัญญาที่กำหนดการปฏิบัติระหว่างรัฐในอันที่จะต้องปฏิบัติเหมือนกัน ทุกรัฐมีสิทธิหน้าที่เท่าเทียมกันในการปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่ได้ตกลงกันเอาไว้ เป็นหลักปฏิบัติเป็นบรรทัดฐานที่รัฐภาคีต้องปฏิบัติเหมือนกัน 
การแบ่งสนธิสัญญาออกตามจำนวนรัฐที่ทำสนธิสัญญา แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ 
- สนธิสัญญาแบบทวิภาคี (BILATERAL TREATY) คือ สนธิสัญญาที่ทำกัน 2 ฝ่าย 
- สัญญาแบบพหุภาคี (MULTILATERAL TREATY) คือสนธิสัญญาหลายฝ่าย ก็ตั้งแต่ 3 รัฐขึ้นไป 
การแบ่งตามกระบวนการจัดทำสนธิสัญญา 8nv
- สนธิสัญญาที่ทำเต็มตามรูปแบบ หมายถึง ครบ 3 ขั้นตอน เจรจา ลงนาม และ ให้สัตยาบัน 
- สนธิสัญญาที่ทำตามแบบย่อ ก็คือ ทำเพียง 2 ขั้นตอนเท่านั้น คือ การเจรจาและลงนาม แล้วก็มีผลผูกพันเลย โดยไม่ต้องมีการให้สัตยาบัน 
**แต่อาจมีการแบ่งสนธิสัญญาอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับว่าจะเอาอะไรขึ้นมาเป็นตัวตั้งในการแบ่ง การแบ่งสนธิสัญญานั้น 

ขั้นตอนในการจัดทำสนธิสัญญา 
1.การเจรจา
(มีขบวนการก่อนที่จะเข้าสู่เวียนนา 1969 ก่อนเริ่มเจรจานั้นในทางปฏิบัติมีกระบวนการเริ่มก่อนการเจรจา คือมีการริเริ่มขึ้นมาก่อน ต้องมีรัฐที่จุดประกายขึ้นมาก่อน เมื่อจุดประกายโดยการริเริ่มขึ้นมาแล้วก็ต้องมีการทาบทาม แล้วก็นัดวันว่าให้มาเริ่มเจรจา )
ผู้มีอำนาจในการเจรจาเพื่อจัดทำสนธิสัญญาตาม มาตรา 7 ของอนุสัญญาเวียนนา 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา กำหนดให้ว่ารัฐที่จะส่งตัวแทนเพื่อเข้าร่วมในการจัดทำสัญญานั้นจะต้องส่งตัวแทนที่มีอำนาจเต็ม และการแสดงออกถึงความมีอำนาจเต็มของตัวแทนในการเจรจานั้นจะต้องมีหนังสือแสดง หนังสือทางราชการของรัฐที่ส่งนำมาแสดงต่อที่ประชุมจึงจะให้การยอมรับว่าเป็นตัวแทนของรัฐผู้มีอำนาจเต็มที่เข้าร่วมในการเจรจา แต่หากว่าบุคคลที่มีความสำคัญไปประชุมเองก็ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 7 ไม่ต้องมีหนังสือแสดงความมีอำนาจเต็ม คือ สามารถเข้าร่วมประชุมได้เลยโดยอัตโนมัติ ก็จะมีบุคคลอยู่ 4 ลำดับ 
คือ 1. ประมุขของรัฐ 
2. หัวหน้ารัฐบาล 
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ
4. หัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตซึ่งประจำอยู่ ณ ที่นั้น 
เมื่อโต้เถียงกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเสร็จในขั้นตอนการเจรจาได้ต้องทำการ ADOPTION เรียกว่า การรับเอาข้อบท หรือการลงนามรับรองก็แล้วแต่จะเรียก ก็ทำตามมาตรา 9 ของเวียนนา 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา ADOPTION ก็คือ การรับเอาข้อบท ก็คือการยุติการเจรจา จะต้องมาสรุปว่าจะยอมรับร่างตัวนี้หรือไม่ การยอมรับก็ต้องลงมติ ลงมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 นี่คือหลักทั่วไป แต่ถ้าโหวตกันแล้วคะแนนเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 ต้องเปลี่ยนการโหวตด้วยความเห็นชอบ 2 ใน 3 มาใช้การออกเสียงข้าง 
2. การลงนาม การลงนามมีตั้ง 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก ADOPT ก็ลงนามไปแล้วแต่ขั้นตอนที่ 2 เขาเรียกโดยตรงเลย ก็คือการลงนาม รับรองความถูกต้องหรือ AUTHENTICATION OF THE TEXT ในการลงนามนี้มันจะเป็นขั้นตอนที่ห่างจากขั้นตอนการ ADOPT ความสำคัญในขั้นตอนที่ 2 หรือ AUTHENTICATION OF THE TEXT ก็ต้องส่งตัวแทนไปลงนามอีก ตามมาตรา 7 ก็นำมาใช้อีก คือตัวแทนของรัฐที่จะไปลงนามนั้นต้องเป็นตัวแทนที่มีอำนาจเต็มและต้องมีหนังสือแสดงความมีอำนาจเต็มประกอบไปด้วย หลักยกเว้นเหมือนเดิมก็คือบุคคล 4 ลำดับ ประมุขของรัฐ หัวหน้ารัฐบาล รัฐมนตรีต่างประเทศ หัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตที่ประจำอยู่ ณ ที่นั้น
การลงนามในขั้นตอน AUTHENTICATION OF THE TEXT เป็นไปตามมาตรา 10 การลงนามมีอยู่หลายลักษณะ คือ

1. การลงนามเต็ม

2.การลงนามย่อในกรณีที่ไม่แน่ใจอำนาจตนเองว่าจะมีเพียงพอไหมจะกลับไปปรึกษากับรัฐบาลของตนก่อนแล้วยืนยันกลับมาว่าอำนาจถูกต้องและเห็นดีด้วยกับสนธิสัญญาก็เป็นอันใช้ได้ 3.การลงนาม ad referendum หมายถึงว่า เป็นการลงนาม ที่คล้ายกับการลงนามย่อที่จะต้องมีการยืนยันกลับมาอีกครั้งหนึ่ง การลงนามแบบนี้ก็สมบูรณ์ แต่ไม่ยืนยันกลับไปการลงนามนี้ก็ไม่เป็นผล 
3. การให้สัตยาบัน คือ การก่อให้เกิดความผูกพันในสัญญาหรือ EXPRESSION OF CONSENT TO BE BOUND หมายถึง การแสดงออกอย่างแจ้งชัดที่จะผูกพันกันในสนธิสัญญา หรือการให้สัตยาบัน เป็นไปตามมาตรา 11 ของเวียนนา 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา (แต่ในมาตรา 11 นี้ไม่ได้บอกว่าความผูกพันจะเกิดขึ้นโดยการให้สัตยาบันแต่ประการเดียว ในมาตรา 11 นั้นบอกไว้การแสดงออกที่ผูกพันด้วยสัญญาอาจแสดงออกด้วยการลงนาม การยินยอม การให้ความเห็นชอบ การให้สัตยาบันหรือ ภาคยานุวัติ จากวิธีการใดก็ได้มันก็อาจจะก่อให้เกิดความผูกพันขึ้นได้) แต่หลักทั่วไปที่เราเห็นโดยทั่วไปนั้นคือการให้สัตยาบัน 
ขั้นตอนการให้สัตยาบันนี้เพื่อให้องค์กรภายในของรัฐ ได้ตรวจสอบอีกขั้นหนึ่งว่า เห็นชอบไหมที่จะเข้าผูกพัน ถ้าเห็นชอบที่จะเข้าผูกพันก็จะให้เข้าสัตยาบันไป รัฐที่ลงนามไปในขั้นตอน AUTHENTICATION OF THE TEXT คุณจะไม่ให้สัตยาบันก็ได้ ไม่เป็นการบังคับ เมื่อให้สัตยาบันไปแล้วสถานภาพของตัวกฎหมายมันจะเปลี่ยนไปเลยจะเปลี่ยนจาก Lex ferenda มาเป็น Lex Lata เป็นกฎหมายสมบูรณ์แบบ เป็น Hard Law ซึ่งเมื่อมันผ่านขั้นตอนที่ 3 ถ้าใครละเมิดจะถูก sanction แล้ว แต่ถ้ายังอยู่ในระดับ Lex ferenda เพียงแค่โดนตำหนิแต่ยังไม่มีบทลงโทษ sanction
ใครเป็นผู้มีอำนาจในการให้สัตยาบัน คือ องค์กรภายในของรัฐ มีที่มาอยู่ 3 ทางด้วยกัน
1) อำนาจในการให้สัตยาบันสนธิสัญญาตกอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว 
2) อำนาจในการให้สัตยาบันสนธิสัญญานั้นตกอยู่กับฝ่ายบริหารแต่เพียงฝ่ายเดียว พบในระบอบเผด็จการ 
3) การแบ่งปันอำนาจกันระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติในการให้สัตยาบันสนธิสัญญา ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้กันมากในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยนั้นจัดอยู่ในรูปแบบนี้ 
ในมาตรา 46 ของเวียนนา1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา ว่า รัฐจะหยิบยกความไม่ถูกต้องตามกฎหมายภายในเพื่อเพิกถอนการให้สัตยาบันไม่ได้ เว้นแต่การให้สัตยาบันไปนั้นขัดต่อหลักกฎหมายภายในอย่างสำคัญ โดยปกติแล้วการให้สัตยาบันขัดต่อกฎหมายภายในจะเพิกถอนไม่ได้ แต่ถ้ามันขัดต่อกฎหมายภายในอย่างสำคัญแล้วเพิกถอนได้ ถ้าขัดรัฐธรรมนูญแล้วเพิกถอนได้ 
4. เมื่อสัญญาได้มีการจัดทำเสร็จสิ้นแล้ว ให้สัตยาบันกันแล้ว กฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 102 กฎบัตรบังคับไว้เลยว่า สนธิสัญญาทุกฉบับที่รัฐภาคีหรือสหประชาชาติได้จัดทำกันไว้ให้นำมาจดทะเบียนต่อองค์การสหประชาชาติ ถ้าไม่จด สนธิสัญญาฉบับนั้นก็ยังสมบูรณ์อยู่ไม่ตกเป็นโมฆะไม่ตกเป็นโมฆียะแต่ประการใด ผลเสียก็คือว่า เมื่อสนธิสัญญาคุณไม่นำไปจดทะเบียนถ้าเกิดมีการละเมิดสนธิสัญญาขึ้นมา จะมาร้องขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศดำเนินการให้ หรือมาร้องขอองค์การสหประชาชาติโดยคณะมนตรีความมั่นคงให้จัดการบังคับให้ จะไม่ยอมรับรู้ว่าได้มีการทำสัญญาฉบับนี้กันไว้ ต้องไปบังคับกันเอาเอง 
ข้อสงวนในสนธิสัญญา ในการจัดทำสนธิสัญญา ข้อสงวนในสนธิสัญญาเหมือนเงื่อนไขในสัญญา เงื่อนไขในการทำสัญญากฎหมายภายในนั่นเอง เงื่อนไขที่ว่ารัฐหนึ่งรัฐใดอาจจะปฏิบัติบางส่วนในสนธิสัญญา หรือ อาจจะขอยกเว้นไม่ปฏิบัติในมาตรานั้นหรือขอยกเว้นไม่ปฏิบัติในมาตรานี้ ข้อสงวนมีประโยชน์ก็คือก่อให้เกิดสนธิสัญญาหลายฝ่าย 
ข้อสงวน RESEVEYTION มีคำนิยามหมายถึงถ้อยแถลงฝ่ายเดียวของรัฐไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตามซึ่งรัฐหนึ่งได้กระทำในขณะที่มีการลงนาม การให้สัตยาบัน การสนองรับ การให้ความเห็นชอบ หรือการทำภาคยานุวัติ โดยถ้อยแถลงนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่าต้องการบอกปัด คือไม่ปฏิบัติในส่วนนั้น บางส่วนไม่ใช่ทั้งหมด หรือเปลี่ยนแปลงผลทางกฎหมายของบทบัญญัติบางอย่างในยามที่ใช้ต่างๆ กัน ดังนั้นในการทำสนธิสัญญารัฐหนึ่งรัฐใดอาจจะขอเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติบางส่วนได้ หรืออาจจะไม่ปฏิบัติบางส่วนก็ได้ นี่คือการตั้งข้อสงวนเอาไว้ ข้อสงวนจะตั้งได้หรือ เป็นไปตามมาตรา 19 อนุสัญญาเวียนนา 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญาได้บอกไว้เลยว่ารัฐสามารถตั้งข้อสงวนไว้ได้เว้นแต่
1.สนธิสัญญานั้นห้ามไว้ ก็คือถ้าสนธิสัญญาห้ามคุณก็ตั้งไว้ไม่ได้เลย
2.สนธิสัญญากำหนดกรณีตั้งข้อสงวนได้ ก็คือกำหนดเลยว่ามาตราไหนหมวดไหนอย่างไรตั้งได้ หมวดที่ไม่อนุญาตให้ตั้งก็ตั้งไม่ได้ ตั้งได้เฉพาะหมวดมาตราที่อนุญาตเท่านั้น
3.ข้อสงวนนั้นขัดต่อวัตถุประสงค์สนธิสัญญา ก็คือ ถึงแม้ว่าสนธิสัญญาไม่ห้ามหรืออนุญาตไว้ก็ตามถ้าข้อสงวนนั้นไปขัดต่อวัตถุประสงค์ก็ตั้งไม่ได้
แต่นอกเหนือไปจากมาตรา 19 นั่นก็คือ สนธิสัญญาสองฝ่ายไม่สามารถตั้งข้อสงวนได้ 
ตามมาตรา 20 ถ้าสัญญาอนุญาตให้ตั้งข้อสงวนได้ ข้อสงวนที่ตั้งเข้าไปนั้นเป็นผลโดยทันที ดังนั้นถ้ารัฐใดไม่อยากจะปฏิบัติตามข้อสงวนต้องคัดค้านข้อสงวน แต่ถ้าเพิกเฉยก็ถือว่ายอมรับข้อสงวนนั้น 
ถ้าสัญญาไม่ได้อนุญาตให้ตั้งข้อสงวนตามมาตรา 20 หรือไม่ได้บ่งบอกให้มีการตั้งข้อสงวน ไม่ได้อนุญาตแต่ไม่ได้ห้ามก็ยังสามารถตั้งข้อสงวนเข้าไปได้ ข้อสงวนที่ตั้งเข้าไปนั้นจะเป็นผลก็ต่อเมื่อระยะเวลาผ่านพ้นไปแล้ว12 เดือน หรือนานกว่า 12เดือนก็ได้ถ้ารัฐที่ตั้งข้อสงวนเข้าไปต้องการให้เป็นเช่นนั้น หากพ้นระยะเวลาแล้วไม่มีการคัดค้านก็ต้องถือว่ายอมรับ
การถอนคืนข้อสงวนและการคัดค้านข้อสงวนตามมาตรา 22 จะถอนเมื่อใดก็ได้ถ้าสนธิสัญญาไม่ห้ามเพราะการไม่มีข้อสงวนย่อมดีกว่า เพราะฉะนั้นจะไปถอนข้อสงวนเมื่อใดก็ได้ เมื่อถอนข้อสงวนไปแล้วก็ยังสามารถตั้งข้อสงวนใหม่ได้อีกหากยังอยู่ในกำหนดระยะเวลาของการตั้งข้อสงวน (การลงนาม การให้สัตยาบัน การภาคยานุวัติ )
ตามมาตรา 23 การตั้งข้อสงวนก็ดี การยอมรับก็ดี การคัดค้านก็ดี ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร 

การตีความในสนธิสัญญา
สนธิสัญญา หลักทั่วไปคือ อะไรที่มันชัดเจนอยู่แล้วไม่ต้องตีความ จะตีความเมื่อมันเกิดข้อสงสัยเท่านั้น หลักทั่วไปในการตีความ คือตีความตามตัวอักษร 
ตีความตามเจตนารมณ์ ต้องไปค้นหาว่าตอนประชุมมีข้อถกเถียงกันอย่างไร มีความเห็นว่าอย่างไร ทำไมกฎหมายถึงออกมาแบบนี้ อันนั้นเป็นการค้นหาเจตนารมณ์ 
การตีความตามตัวอักษร ก็ต้องดูว่าเนื้อหาสาระ 

ตีความได้ 2 นัยยะ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ
วิธีทางภายใน ศาลภายใน เมื่อศาลภายในเป็นผู้ใช้กฎหมายระหว่างประเทศ ศาลภายในก็อาจตีความกฎหมายระหว่างประเทศได้ และถ้าศาลภายในตีความถูกต้อง ต่างประเทศก็อาจเอาบทบัญญัติในการตีความไปใช้ได้ต่อไป หรือ
วิธีในทางระหว่างประเทศ ในทางระหว่างประเทศ ผู้ใดเป็นผู้ใช้กฎหมาย ผู้นั้นก็เป็นผู้ตีความ ศาลระหว่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศก็อาจเป็นผู้ตีความได้ 
ผลของสนธิสัญญา
1.สนธิสัญญาผูกพันรัฐภาคี เมื่อสนธิสัญญาได้มีการจัดทำเสร็จสิ้นแล้วเป็นสนธิสัญญาที่สมบูรณ์และพร้อมที่จะปฏิบัติ มาตรา 26 บอกว่า สัญญาที่จัดทำไว้เสร็จสิ้นแล้วย่อมต้องปฏิบัติด้วยความสุจริต คือหลัก PACTA SUNT SER VANDA สัญญาต้องเป็นสัญญา 
ในมาตรา 27 ของเวียนนา 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา ก็กำหนดไว้ว่า รัฐจะอ้างกฎหมายภายใน เพื่อไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาไม่ได้ หมายความว่า เมื่อมีการผูกพันในสัญญาไปแล้ว รัฐจะไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยอ้างว่ามันขัดต่อกฎหมายภายใน รัฐอ้างไม่ได้ ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็เป็นการละเมิดสนธิสัญญา และมาตรา 28 สนธิสัญญาจะไม่มีผลย้อนหลัง 
2.ผลของสนธิสัญญาต่อประชาชนของรัฐภาคี มีความเห็นเป็น 2 แนว คือ
ฝ่าย 1 เห็นว่าไม่มีผลโดยตรงต่อประชาชน เช่น คำพิพากษาศาลภายในรัฐไม่ยอมรับรู้ข้อต่อสู้เรียกร้องที่ปรากฏในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ รัฐจึงต้องดำเนินการให้ข้อกำหนดในสนธิสัญญากลายเป็นกฎหมายภายในของรัฐเสียก่อน
ฝ่าย 2 เห็นว่าใช้บังคับโดยตรงต่อประชาชนได้ เพียงแต่รัฐประกาศให้ประชาชนทราบเพราะ กม.ระหว่างประเทศและ กม.ภายในประเทศมีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
3.ผลของสนธิสัญญาที่มีต่อรัฐที่ไม่ได้เป็นภาคีแห่งสนธิสัญญา ปกติไม่มีผล เว้นแต่บางกรณีสนธิสัญญานั้นอาจก่อเกิดสิทธิประโยชน์หรือพันธกรณีแก่รัฐที่ 3 ได้ (รัฐที่ 3 ยินยอม)
ในมาตรา 34 ของอนุสัญญา เวียนนา 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญานั้น ในมาตรา 34 ว่าจะมีผลบังคับเฉพาะรัฐภาคีเท่านั้น จะมีผลต่อรัฐที่สามต่อเมื่อยินยอม แต่ในมาตรา 38 เป็นข้อยกเว้นว่าสนธิสัญญาใดที่มีรากฐานมาจากสนธิสัญญาระหว่างประเทศ บังคับต่อทุกรัฐถึงแม้ว่าไม่เป็นภาคีก็ตาม ดังนั้น อนุสัญญาเวียนนา 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญานี้ ประเทศไทย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ไม่ได้เป็นภาคี แต่ทั้งสามประเทศนี้ก็ต้องปฏิบัติตามเวียนนา 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญาเพราะว่ามันมีรากฐานมาจากจารีตประเพณี ระหว่างประเทศเช่นเดียวกัน นี่คือหลักการบังคับของสนธิสัญญาว่าจะมีผลต่อรัฐใดอย่างใด 
ความสมบูรณ์ของสัญญา ต้องประกอบด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความสมบูรณ์
1.ความสามารถในการทำสัญญา รัฐบางรัฐ อาจจะถูกจำกัดสิทธิในการทำสนธิสัญญา เช่น รัฐเป็นกลาง จะถูกจำกัดสิทธิในการทำสนธิสัญญาบางอย่าง เพราะเมื่อกำหนดความเป็นกลางแล้วก็ไม่สามารถทำสัญญาที่เป็นพันธมิตรทางการทหารได้ ประเทศที่เป็นกลางเช่น สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรีย สำนักวาติกัน สวิสเซอร์แลนด์เป็นกลางโดยสนธิสัญญา 
2.เงื่อนไขที่เกี่ยวกับการแสดงเจตนาตกลงยินยอมของรัฐ อันส่งผลถึงความไม่สมบูรณ์ของสนธิสัญญามีหลายประการ 
1.ความสำคัญผิด ตามมาตรา 48 สำคัญผิดนั้นหมายถึงเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อกฎหมาย และที่สำคัญคือ รัฐที่ได้หยิกยกเหตุสำคัญผิดมากล่าวอ้างได้นั้นควรต้องไม่มีส่วนได้ก่อให้เกิดความสำคัญผิดขึ้นมา มิเช่นนั้นอ้างไม่ได้ 
2. กลฉ้อฉล ตามมาตรา 49 เหมือนกฎหมายภายใน พฤติกรรมฉ้อฉลของรัฐอื่นที่เข้าร่วมเจรจา รัฐที่ถูกฉ้อฉลยกเหตุนั้นอ้างว่าสนธิสัญญานั้นขาดความสมบูรณ์ได้ และทำให้ไม่มีผลบังคับ
3. ความประพฤติมิชอบ คอรัปชั่น (มาตรา 50) การประพฤติมิชอบของผู้แทนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมที่เกิดจากรัฐอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อตัวแทนถูกคอรัปชั่น รัฐสามารถยกเหตุคอรัปชั่นขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อทำให้สัญญานั้นไม่สมบูรณ์ตกเป็นโมฆะ แต่รัฐผู้เสียหายมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าถูกคอรัปชั่นอย่างไร มิฉะนั้นแล้วรัฐจะอ้างเหตุคอรัปชั่นเพื่อให้หลุดพ้นจากสนธิสัญญา 
ตามมาตรา 48, 49, 50 รัฐผู้เสียหายเมื่อทราบถึงเหตุแห่งความไม่สมบูรณ์แล้ว สามารถเลือกที่จะปฏิบัติต่อตามสนธิสัญญาก็ได้ หรือรัฐผู้เสียหายจะยินยอมปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่ไม่สมบูรณ์นี้ต่อไปก็ได้ รัฐอื่นไม่มีสิทธิหักล้าง เป็นสิทธิเฉพาะรัฐผู้เสียหายที่จะหยิบยกขึ้นมาเพียงผู้เดียว
มาตรา 51 52 53 เป็นเหตุที่ทำให้สนธิสัญญาไม่สมบูรณ์ และทำให้สนธิสัญญาตกเป็นโมฆะได้เช่นเดียวกัน 
มาตรา 51 สนธิสัญญาที่เกิดจากการบังคับข่มขู่ต่อตัวแทนของรัฐ เมื่อตัวแทนถูกข่มขู่ บังคับให้ลงนาม ให้สัตยาบันในสัญญา เป็นเหตุที่ทำให้สัญญาไม่สมบูรณ์ การข่มขู่ต่อตัวแทน หมายความรวมถึง การข่มขู่ตัวแทนโดยทางอ้อมด้วย อาจไม่ข่มขู่ต่อตัวแทนโดยตรง แต่จับลูกเมียของตัวแทนเป็นตัวประกัน
มาตรา 52 การคุกคามต่อรัฐเพื่อบังคับให้เข้าผูกพันในสนธิสัญญา การคุกคามต่อรัฐ เช่น ยกกองกำลังมาประชิดชายแดน หรือนำกำลังกองทัพเรือปิดอ่าว ปิดทะเล โดยขู่ว่าถ้าไม่ยอมลงนามผูกพันในข้อสัญญาจะใช้ขีปนาวุธยิงถล่มประเทศ นี่เป็นการคุกคามต่อรัฐบังคับให้ลงนาม
มาตรา 53 สัญญาที่ขัดแย้งกับหลักเหตุที่ไม่อาจยกเว้นได้ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศมีผลให้การทสนธิสัญญาตกเป็นโมฆะ การทำสนธิสัญญาที่ขัดต่อหลักบังคับเด็ดขาดของกฎหมายระหว่างประเทศ มีผลให้สนธิสัญญาตกเป็นโมฆะ หลักนี้เรียกว่า หลัก Jus Cogens คือ หลักบังคับเด็ดขาดของกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่มีกฎหมายบอกว่าอะไรเป็นหลักบังคับเด็ดขาดของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่เป็นที่รู้กันว่า หลักที่ไม่สามารถละเมิดได้อย่างแน่แท้ นั่นแหละ คือ หลักบังคับเด็ดขาดของกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น การไม่รุกราน ทำสัญญายกกำลังทหารไปยึดครองรัฐอื่น ขัดต่อหลักบังคับเด็ดขาดของกฎหมายระหว่างประเทศ การค้าทาส การค้ายาเสพติด การก่อการร้าย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ Human Rights เข้าข่ายเป็น Jus Cogens หลักบังคับเด็ดขาด อะไรที่ขัดต่อแบบแผน หรือเป็น Norms เป็นแก่สารที่สังคมต่างๆ ต้องยึดมั่น ถือมั่น ไม่สามารถละเมิดได้ หรือ Public Order ขนบธรรมเนียมประเพณี ศีลธรรมอันดีของประชาชน ถือเป็นหลักบังคับเด็ดขาด ไม่สามารถละเมิดได้ ถ้าทำสัญญาขัดกับหลักบังคับเด็ดขาดเหล่านี้ สัญญาไม่เกิดเลย เสียไปทันที่ตามหลัก Jus Cogens
ข้อแตกต่างระหว่างมาตรา 51 – 53 กับมาตรา 48 – 50
ในมาตรา 48 – 50 รัฐผู้เสียหายเท่านั้นที่มีสิทธิหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้าง แต่มาตรา 51 - 53 ทุกรัฐไม่ว่าจะเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม สามารถยกเหตุความไม่สมบูรณ์นี้ขึ้นมากล่าวอ้างได้ทุกเวลา และรัฐผู้เสียหายจะยอมปฏิบัติตามสนธิสัญญาดังกล่าวต่อไปก็ไม่ได้ ต่างกับมาตรา 48 – 50 ที่รัฐผู้เสียหายเท่านั้นที่มีสิทธิหยิบยกขึ้นมา และรัฐผู้เสียหายจะปฏิบัติต่อไปตามสัญญาที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้สมบูรณ์ขึ้นมาต่อไปก็ได้ แต่มาตรา 51 - 53 รัฐผู้เสียหายจะปฏิบัติต่อไปไม่ได้ ทุกรัฐมีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างได้ทุกเวลา 

การสิ้นสุดลงของสนธิสัญญา  

1.กำหนดวาระสิ้นสุดไว้ และได้ปฏิบัติตามสนธิสัญญาเสร็จแล้ว 
2.มีการยกเลิกสัญญา คือ ภาคีทุกฝ่ายแสดงเจตนาร่วมกันเป็นเอกฉันท์
3.มีการบอกเลิกสนธิสัญญา อนุสัญญาเวียนนา 1969 มาตรา 56 ว่า ในกรณีที่สนธิสัญญาไม่มีข้อกำหนดให้บอกเลิก รัฐภาคีจะบอกเลิกสนธิสัญญาไม่ได้ นอกจากรัฐภาคีทั้งหลายมุ่งที่จะยอมรับถึงความเป็นไปได้ของการบอกเลิกสนธิสัญญาต้องแจ้งล่วงหน้า 12 เดือน
4.พฤติการณ์พ้นวิสัย อนุสัญญาเวียนนา 1969 มาตรา 61 ว่า ภาคีสนธิสัญญาอาจอ้างการปฏิบัติตามสนธิสัญญาตกเป็นพ้นวิสัย ทำให้สิ้นสุดลงหรือเพื่อถอนตัวได้หากการพ้นวิสัยเกิดจากวัตถุแห่งสัญญาสิ้นไป หรือถูกทำลายโดยสิ้นเชิง
5.สถานการณ์เปลี่ยนแปลง ในการที่จะอ้างเรื่องนี้คู่สัญญาทุกฝ่ายต้องยอมรับด้วย
อนุสัญญาเวียนนา 1969 มาตรา 67 ว่า ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญของสถานการณ์ จากสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นขณะทำสนธิสัญญาเป็นอย่างหนึ่ง แต่หลังจากสัญญาผูกพันไปแล้วสถานการณ์เปลี่ยนแปลง หรือเหตุที่ก่อให้เกิดสัญญาไม่มีอยู่แล้ว ทำให้สัญญาสิ้นสุดลง

 

คำสำคัญ (Tags): #สนธิสัญญา
หมายเลขบันทึก: 473790เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2012 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับสำหรับความรู้เรื่องสนธิสัญญา มีประโยชน์มากๆ ขอบคุณอีกครั้งนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท