เช็คที่มีการแก้ไขวันที่ออกเช็คเด้งสองครั้ง...รับผิดอย่างไร....


เช็คที่มีการแก้ไขวันที่ออกเช็คซึ่งถือเป็นการแก้ไขข้อความสำคัญ...ทำให้เช็คดังกล่าวเป็นอันเสียไปหรือไม่...และจะทำให้เกิดเช็คฉบับใหม่ขึ้นได้หรือไม่....

ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้ใจก่อนครับว่า...การออกเช็ค...กับการใ้ช้แบบพิมพ์เช็คที่ธนาคารจัดทำขึ้นตามรูปแบบและมาตรฐานเช็คที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด...เป็นแต่เพียงมาตรการสร้างเชื่อมั่นและสร้างความน่าเชื่อถือเบื้องต้นเท่านั้น...ไม่ใช่หลักประกันว่าเช็คดังกล่าวนั้นจะมีการจ่ายเงินจริง...

ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็มิได้กำหนดว่าจะต้องใช้แบบพิมพ์ที่ธนาคารกำหนด...แต่กำหนดเพียงให้มีรายการครบถ้วนตามที่มาตรา 988 กำหนดไว้...ดังนั้น หยิบกระดาษ A4 แล้วกรอกรายการให้ครบถ้วนก็สมบูรณ์เป็นเป็นเช็คตามกฎหมายแล้ว...แต่รับรองครับว่าธนาคารคงไม่ยอมจ่ายเงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายเช็คแน่ๆ...เพราะธนาคารเขาก็มีมาตรฐานการจ่ายเงินและระเบียบประฏิบัติของธนาคารอยู่...แต่ผู้ทรงเช็คก็สามารถนำไปฟ้องร้องไล่เบี้ยผู้สั่งจ่ายให้ใช้เงินตามเช็คที่ทำจากกระดาษ A4 ดังกล่าวได้ครับ...แต่ในทางปฏิบัติคงไม่มีใครเขาทำกันเพราะคงไม่มีคนหล้ารับกระดาษ A4 ดังกล่าวเป็นแน่...

กรณีที่ใช้แบบพิมพ์เช็คที่ธนาคารจัดทำให้ให้แก่ลูกค้าที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคาร..โดยครั้งแรกทำการสั่งจ่ายเช็คลงวันที่และรายการต่างๆครบถ้วนสมบูรณ์เป็นเช็คไว้แล้ว...ต่อมาผู้ทรงเช็คนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธาคารผู้จ่ายแต่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน...ผู้ทรงนำเช็คมาทรวงถามเงินจากผู้สั่งจ่าย...ผู้สั่งจ่ายจึงแก้ไขวันที่ใหม่แล้วให้ผู้ทรงนำกลับไปให้ธนาคารจ่ายเงินอีกครั้งและยืนยันว่าคราวนี้ธนาคารจ่ายแน่นอน...แต่ผลก็เหมือนเดิมคืนเงินในบัญชีไม่พอจ่าย/ไม่มีจ่ายให้...เช็คเด้งๆๆๆๆ รวมแล้ว 2 รอบ...

เกิดคำถามทางกฎหมายว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นการสั่งจ่ายเช็คโดยมีเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 กี่ครั้ง(กรรม) หากพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง จะต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ.มาตรา 1007

     มาตรา 1007 "ถ้าข้อความในตั๋วเงินใด หรือในคำรับรองตั๋วเงินรายใด มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญโดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้ ท่านว่าตั๋วเงินนั้นก็เป็นอันเสีย เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น หรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นกับทั้งผู้สลักหลังใน ภายหลัง
แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ แต่ความเปลี่ยน แปลงนั้นไม่ประจักษ์ และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วย กฎหมายไซร้ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้ เสมือนดั่งว่ามิได้มีการเปลี่ยนแปลงเลย และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อ ความแห่งตั๋วนั้นก็ได้
กล่าวโดยเฉพาะ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านถือ ว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลง อย่างใดๆ แก่วันที่ลงจำนวนเงินอันจะพึงใช้ เวลาใช้เงิน สถานที่ใช้เงิน กับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไป ไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงินไปเติม ความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย"

    ดังนั้น ในทางแพ่งกรณีมีการแก้ไขวันสั่งจ่ายเช็คและผู้ทรงยินยอมเช็คก็ไม่ได้เสียไปและไม่ใช่การออกเช็คขึ้นอีก 1 ฉบับเป็นฉบับใหม่ แต่หมายถึงเช็คฉบับเดิมแต่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญตามมาตรา 1007 กรณีฟ้องร้องทางแพ่งก็ถือเอาวันที่ลงในเช็คตามที่มีการแก้ไขไหม่นั่นเอง....

 

   แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ การฟ้องให้รับผิดในทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ว่ากรณีดังกล่าวจะถือว่าเป็นความผิดฐานสำเร็จเมื่อใดหรือกระทำความผิด 2 กรรม (ถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน  2 ครั้ง โดยถือว่าเป็นการออกเช็คฉบับใหม่ขึ้นอีก)

ผม...เขียนนำเรื่องดังกล่าวไว้เพราะว่า...มีโอกาสได้อ่านแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่  13/2553 ซึ่งตัดสินในคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 โดยเนื้อหาและเหตุผลในการตัดสินคดี...รวมทั้งมีผู้เขียนหมายเหตุท้ายฎีกาไว้น่าสนใจดีครับ...เลยขออนุญาตนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันครับ...

................................................................

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13/2553 (ย่อ)

ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 215, 225

พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4(1), 4(3)

          การที่จำเลยนำเช็คที่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วมาแก้ไขวันที่และลงชื่อ กำกับวันที่แก้ไขไว้ แม้จะเจตนาให้มีผลผูกพันเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่จำเลยทำสัญญากับผู้เสีย หาย และเป็นการแก้ไขวันสั่งจ่ายซึ่งเป็นข้อสำคัญในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 ก็ตาม แต่การลงวันที่ใหม่และลงนามกำกับการแก้ไขโดยจำนวนเงินและลายมือชื่ออันเป็น รายการที่มีอยู่ในเช็คเดิมจึงเป็นเพียงการแก้วันที่ในเช็คเพียงอย่างเดียว เช็คยังคงเป็นเช็คฉบับเดิม ไม่เป็นการออกเช็คฉบับใหม่แต่อย่างใด เมื่อเช็คถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินมาครั้งหนึ่งแล้ว ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันนั้นแล้ว การที่ผู้เสียหมายนำเช็คไปเรียกเก็บเงินอีกและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็น ครั้งที่สองจึงหาได้เกิดความผิดขึ้นใหม่อีกไม่ เพราะเป็นการกระทำอันเดียวกันนั้นเอง การกระทำอันเดียวกันจะเป็นความผิดสองครั้งหาได้ไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

 ________________________________

           โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (3) จำคุก 3 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...ข้อเท็จจริง ที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2541 นายธรรมนูญ สามีจำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถแบ็คโฮและรถแทรกเตอร์ รวม 3 คัน ไปจากผู้เสียหาย โดยจำเลยออกเช็คฉบับพิพาทลงวันที่ 25 กันยายน 2541 สั่งจ่ายเงินจำนวน 400,000 บาท กับเช็คอีก 2 ฉบับลงวันที่ต่างกันให้แก่ผู้เสียหายเพื่อชำระค่าเช่าซื้อดังกล่าว ต่อมานายธรรมนูญผิดสัญญาเช่าซื้อจำเลยจึงเข้าทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้เสียหาย เพื่อใช้ประโยชน์รถทั้งสามคันตามสัญญาเช่าซื้อเดิมต่อไปโดยตกลงค่าเช่าซื้อ จำนวน 850,000 บาท แบ่งชำระค่าเช่าซื้อเป็น 2 งวด ในการชำระค่าเช่าซื้องวดแรกได้นำเช็คพิพาทซึ่งธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินมา แล้วมาแก้ไขวันที่เป็นวันที่ 15 กันยายน 2544 โดยจำเลยลงนามกำกับการแก้ไขมอบให้ผู้เสียหาย ต่อมาเมื่อถึงกำหนดใช้เงินตามวันที่แก้ไข ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเนื่องจากเงินในบัญชีไม่พอจ่าย

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยนำเช็คที่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วมาแก้ไขวันที่และลงชื่อ กำกับวันที่แก้ไขไว้ แม้จะเจตนาให้มีผลผูกพันเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่จำเลยทำสัญญากับผู้เสีย หาย และเป็นการแก้ไขวันสั่งจ่ายซึ่งเป็นข้อสำคัญในเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1007 ก็ตาม แต่การลงวันที่ใหม่และลงนามกำกับการแก้ไขโดยจำนวนเงินและลายมือชื่ออันเป็น รายการที่มีอยู่ในเช็คเดิมจึงเป็นเพียงการแก้วันที่ในเช็คเพียงอย่างเดียว เช็คพิพาทยังคงเป็นเช็คฉบับเดิมไม่เป็นการออกเช็คฉบับใหม่แต่อย่างใด เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินมาครั้งหนึ่งแล้ว ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามพระราชบัญญัติว่าด้วย ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันนั้นแล้ว การที่ผู้เสียหายนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินอีกและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เป็นครั้งที่สอง จึงหาได้เกิดความผิดขึ้นใหม่อีกไม่ เพราะเป็นการกระทำอันเดียวกันนั้นเอง การกระทำอันเดียวกันจะเป็นความผิดสองครั้งหาได้ไม่การกระทำของจำเลยจึงไม่ เป็นความผิดตามฟ้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาแต่ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความ สงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185, 195 วรรคสองประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ที่โจทก์ฎีกาว่าคดีไม่ขาดอายุความจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเนื่องจากไม่ทำให้ผล แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นด้วยในผล”

          พิพากษายืน

 

( สิงห์พล ละอองมณี - ธานิศ เกศวพิทักษ์ - บุญส่ง โพธิ์พุทธชัย )

.......................................................

 หมายเหตุ 

          คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้วินิจฉัยเดินตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเดิมๆ มา เช่น

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7095/2540 การที่เช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามวันสั่งจ่ายครั้งแรก นั้นความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ย่อมเกิดขึ้นและเป็นความผิดสำเร็จแล้วนับแต่วันนั้นแม้ต่อมาผู้เสียหายกับ จำเลยจะได้ตกลงแปลงหนี้ใหม่โดยจำเลยได้ใช้เช็คฉบับเดิมมาแก้ไขเปลี่ยนแปลง วันสั่งจ่ายใหม่แล้วมอบชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายก็หาได้ทำให้เป็นเช็คฉบับใหม่ขึ้นมาไม่ เมื่อเช็คถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินอีก ก็ไม่ทำให้เกิดการกระทำความผิดขึ้นใหม่เป็นครั้งที่สอง เพราะเป็นการกระทำความผิดอันเดียวกันจะเกิดเป็นความผิดสองครั้งไม่ได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิด

           เช็คเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่งซึ่งเป็นตราสารเปลี่ยนมือ ดังนั้น เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เช็คนั้นย่อมเสียไปเพราะการที่ผู้ทรงรับโอนเช็คก็เพื่อให้ธนาคารตามเช็คจ่ายเงิน แต่เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นอกจากผู้ทรงจะไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากธนาคารแล้ว ผู้รับโอนเช็คถัดมาก็ไม่อาจเรียกให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คได้เช่นกัน จึงถือได้ว่าเช็คนั้นเสียไป (ดูหมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5477/2550)

           ผู้หมายเหตุไม่เห็นว่า การนำแบบพิมพ์เช็คฉบับใหม่มากรอกข้อความหรือพิมพ์ข้อความและลงลายมือชื่อ จะแตกต่างกับนำเช็คที่เสียแล้วมาแก้ไข ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 988 กำหนดรายการในเช็คไว้ว่าต้องมี

           (1) คำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค

           (2) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน

           (3) ชื่อ หรือยี่ห้อและสำนักของธนาคาร

           (4) ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ

           (5) สถานที่ใช้เงิน

           (6) วันและสถานที่ออกเช็ค

           (7) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย

           ถึงแม้เช็คจะขาดรายการบางรายการไป เช่น สถานที่ออกเช็ค ไม่ลงวันที่ออกเช็คกฎหมายก็บัญญัติทางแก้ไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 989 ประกอบมาตรา 910

           จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ถ้าผู้ออกเช็คหรือผู้สั่งจ่ายนำกระดาษเปล่ามาเขียนข้อความให้ครบถ้วนดัง กล่าว ก็มีผลเป็นเช็คตามกฎหมาย หาจำต้องนำแบบพิมพ์ของธนาคารมาใช้แต่อย่างใด ดังนั้น ในกรณีดังต่อไปนี้

           1. ผู้ออกเช็คหรือผู้สั่งจ่ายนำกระดาษเปล่าที่เคยลงลายมือชื่อไว้ มากรอกข้อความให้ครบถ้วนเป็นเช็คแล้วส่งมอบให้แก่ผู้ถือ

           2. ผู้ออกเช็คหรือผู้สั่งจ่ายนำแบบพิมพ์เช็คมาเขียนข้อความจนครบถ้วนแล้วตัดลาย มือชื่อของตนในเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินมาติดไว้โดยผู้ถือยินยอม

           3. บุคคลอื่นนำเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วมาขีดฆ่าวันที่และลายมือชื่อ เดิมออก แล้วเขียนขึ้นใหม่ และลงลายมือชื่อให้มีผลเป็นเช็ค

           ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้ง 3 กรณีเช่นนี้ ผู้ออกเช็คจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คหรือไม่ หากยึดติดกับแบบพิมพ์เช็คของธนาคาร ก็อาจพิจารณาว่าไม่ผิด แต่ความเป็นจริงแล้ว หากเข้าองค์ประกอบของกฎหมายก็เป็นความผิดได้เช่นกัน เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้การที่จำเลยนำเช็คที่ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินมาแก้วันที่ใหม่ แต่ยังคงใช้ข้อความอื่นและลายมือชื่อเดิม ก็ถือได้ว่าเป็นการออกเช็คใหม่แล้ว เพราะธนาคารตามเช็คมีหน้าที่พิจารณาว่าวันที่ลงในเช็ค เงินในบัญชีมีพอจ่ายหรือไม่ หากพอจ่ายธนาคารก็ต้องจ่ายเงินให้หากไม่พอจ่ายก็ต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน ความผิดก็ย่อมเกิดขึ้นใหม่ กล่าวคือ เกิดเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินซึ่งเป็นวันเกิดเหตุคนละวันกับวัน เกิดเหตุที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในครั้งก่อน ดังนั้น การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การแก้ไขวันที่ในเช็คไม่ทำให้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดขึ้นมาใหม่นั้น น่าจะไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

           ในคดีแพ่ง แม้เช็คที่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินไปแล้วเป็นเช็คที่เสีย แต่ข้อความในเช็คนั้น หาได้เสียไปแต่อย่างใด ถ้าหากผู้ลงลายมือชื่อในเช็คต้องการให้มีผลเป็นเช็คอีก โดยผู้รับเช็คซึ่งจะเป็นผู้ทรงหรือผู้ถือยินยอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจำนวนเงินในเช็คตรงกับจำนวนเงินที่ต้องชำระ ก็คงแก้เฉพาะวันที่มีผลใช้บังคับได้

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1043/2534 เช็คพิพาทเป็นเช็คผู้ถือซึ่งเดิม ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2526 แม้จะถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินไปแล้วก็ยังคงมีสภาพเป็นเช็คที่สามารถโอน เปลี่ยนมือกันต่อไปได้ ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 วรรคแรกและวรรคสาม ก็ได้บัญญัติให้ผู้สั่งจ่ายสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาใช้เงินในเช็ค ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยผู้สั่งจ่ายเป็นผู้ขีดฆ่าแก้ไขวันที่ลงในเช็ค จึงต้องผูกพันรับผิดชดใช้เงินตามเช็คดังกล่าว โดยถือว่าเช็คพิพาทมีกำหนดเวลาใช้เงินในวันที่ 15 ตุลาคม 2526 ตามที่แก้ไขนั้น กรณีหาใช่เป็นเรื่องตกลงขยายอายุความฟ้องร้องไม่ โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็คพิพาทจากจำเลยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2527 ยังไม่พ้นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่เช็คถึงกำหนดใช้เงิน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

           จากคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ตรงตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยดูวันสั่งจ่ายเช็คใหม่เป็นเกณฑ์ ดังนั้น คดีอาญาน่าจะต้องถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้เพื่อให้สอดคล้องต้องตามตัว บทกฎหมาย

           ศิริชัย วัฒนโยธิน

...................................

ความเห็นส่วนตัวของผม...เห็นว่า...เมื่อ ป.พ.พ.มาตรา 1007 ไม่ได้ถือว่าเป็นเช็คฉบับใหม่(มิได้เกิดนิติกรรมสัญญาหรือออกเช็คเป็นอีกฉบับแยกต่างหากจากฉบับเดิม) ก็ไม่ถือเป็นการสั่งจ่ายเช็คโดยมีเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คอันเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งขึ้นมาได้...จึงเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13/2553 และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7095/2540

แต่ก็เห็นด้วยกับหมายเหตุท้ายฎีกาดังกล่าว ในประเด็นเกี่ยวกับการไม่จำเป็นต้องใช้แบบพิมพ์เช็คก็ได้...แต่เป็นคนละประเด็นกับเรื่องของการเจตนาให้กล่ายเป็นเช็คฉบับใหม่ขึ้นอีกหนึ่งฉบับ..กรณีจะเปลี่ยนไปหากปรากฏข้อเท็จจริงว่า...ผู้สั่งจ่ายกับผู้ทรงเช็คมาตกลงกันอย่างชัดเจนว่า...เช็คฉบับเดิมยกเลิกไปแล้วขอออกฉบับใหม่ให้แทน...โดยอาจทำใน  2 ลักษณะ คือ (1) เวนคืน/ทำลายเช็คฉบับเดิมแล้วออกฉบับใหม่ให้ครับ หรือ (2) อาจเป็นกรณีแบบพิมพ์เช็คหมดพอดี จึงนำเช็คเดิมมาตกลงกันใหม่และขอแก้วันใหม่โดยมีเจตนาเป็นฉบับใหม่ไม่ใช่การแก้ๆไขข้อความสำคัญตามมาตรา 1007 หากเป็นเช่นนี้ ผมเห็นว่าเป็นความผิดสองกรรมได้ครับ....

อุดม งามเมืองสกุล

7 ม.ค.55

หมายเลขบันทึก: 473786เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2012 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท