ครูที่ยืนอยู่ด้วยครูต้นแบบและครูแห่งสายเลือด


แม้ในตอนท้ายอาจจะจบด้วยการสรุปของครู แต่กระบวนการเริ่มต้นนั้นถือว่าเป็นการเริ่มต้นการเรียนการสอนที่มีคุณค่ายิ่ง เป็นการเรียนรู้ที่เรียกว่า "ผู้เรียนเป็นสำคัญที่แท้จริง"

            ร่วมสี่ปีมาแล้ว นับตั้งแต่การฝึกประสบการณ์สอนที่คนทั่วไปเขาใช้คำที่มีความหมายว่า "หนัก" เรียกแทนชื่อของเราว่า "ครู" ซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้เริ่มต้นในหัวสมองตั้งแต่ยังเด็ก เนื่อมาจากความคิดนี้ถูกสร้างขึ้นในสมองภายหลังจากที่เวลาผ่านไป เห็นได้จากการตัดสินใจเรียน ศศ.บ. ภาษาไทย แทนที่จะเรียน กศ.บ. ภาษาไทย

            ภาพของคนที่ทำหน้าที่สั่งสอนเราหน้าห้องเรียนมันเกิดเป็นแรงขับให้เราได้มาทำอย่างนั้นได้อย่างไร คำตอบที่พอจะพิจารณาออกในสมองของผมในตอนนี้เห็นว่าน่าจะมีเหตุผลสำคัญอยู่สองประการหลัก ๆ คือ ครูต้นแบบและครูสายเลือด

            ความเป็นครูที่อยู่กับผมมาตลอดทั้งชีวิต นับตั้งแต่เกิดจนปัจจุบันคือ "ความเป็นครูโดยสายเลือด" คือการอยู่ในครอบครัวที่ชาวบ้านเขาเรียกว่า "ครู" ซึ่งนับเป็นครูที่เป็นแบบอย่างได้เป็นอย่างดีและนับเป็นแรงขับที่มีพลังอย่างหนึ่ง และคงเป็นไปไม่ได้หากแบบอย่างนี้เป็นแบบอย่างทางสายเลือดที่ไม่ดี

           ผมเป็นลูกครู แต่การใช้ชีวิตในโรงเรียนก็ไม่แตกต่างจากเด็กโดยทั่วไป ซึ่งจะไม่ลงรายละเอียดมาก จะขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่สำคัญที่ผมไม่เข้าใจและเริ่มที่จะเข้าใจเมื่ออายุมากขึ้น คือ ๑. ผมเป็นนักเรียนในโรงเรียนเดียวกับครอบครัว แต่ผมไปโรงเรียนช้ากว่า ทั้งที่เป็นนักเรียนแต่ครูไปก่อน ๒. ผมไม่เคยได้นั่งรถไม่ว่าจะไปหรือกลับจากโรงเรียนพร้อมกับครอบครัวทั้งที่อยู่โรงเรียนเดียวกัน เราต้องเดินไปคนเดียวในตอนเช้า และต่อแถวเดินกลับบ้านตามเพื่อน ๆ นี้คือตัวอย่างในบางมุม และขอนำเสนอไว้เพียงเท่านี้ในส่วนของ "ครูสายเลือด"

           ครูที่สอง "ครูต้นแบบ" ผมเชื่อครับว่าในห้วงคิดของคนที่เป็นครูจะมีภาพของครูต้นแบในใจเสมอ อาจจะมีมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป ผมก็มีครูที่เป็นต้นแบบอยู่ในใจหลายท่าน ซึ่งวันนี้จะขอเล่าให้ฟังเพียงท่านเดียว

           ครูที่จะเล่าต่อไปนี้คือ "ครูที่รู้จักกันเมื่อเรียนปริญญาตรี และปริญญาโท" เนื่องจากว่าระยะเวลาทำให้จดจำรายละเอียดได้สมบูรณ์ที่สุด

           ผมรู้จักครูคนนี้ในนาม รศ.จารุวรรณ ธรรมวัตร (ตำแหน่งในขณะนั้น ปัจจุบันเป็น รศ.ดร.จารุวรรณ ธรรมวัตร ซึ่งเกษียณอายุราชการเมื่อ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๔) ตอนนั้นผมรู้จักและได้เรียนด้วยขณะที่กำลังศึกษาอยู่ปีที่สาม ภาคเรียนที่ ๒ แล้ว

          ผมจดจำได้เนื่องมาจากความแตกต่างในวิธีการสอนที่แตกต่าง โดยมีเพื่อน ๆ หลายคนบ่นว่าไม่เข้าใจไม่รู้เรื่อง แต่ผมกลับคิดว่าเข้าใจ รู้เรื่อง และชอบวิธีการสอนมากที่สุด ที่กล่าวอย่างนี้เพราะว่าวิธีการสอนที่แตกต่างนั่นเอง

          วิธีการสอนที่ว่าคือ การสอนที่ไม่เริ่มจากการตีกรอบทางความคิด ลองพิจารณาดูนะครับว่าเวลาที่เราเรียนในห้องเรียนไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตามเรามักจะเริ่มต้นด้วยประเด็นเรื่อง "นิยามและความหมายเสมอ" นั่นละคือการตีกรอบทางความคิด เวลาเรียนเราก็จะลากเอากรอบตรงนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ความคิดจึงขาดอิสระ หรืออาจเป็นความคิดที่ถูกพันธนาการไว้ด้วยนิยามและความหมายโดยครู

          ประกอบกับการสอนที่ไม่มีครูหรือผู้เรียน กล่าวคือ "เราเรียนรู้ไปพร้อมกัน ผู้เรียนอาศัยครู ครูก็อาศัยเรียนรู้จากนักเรียน ครูเชื่อมั่นว่าครูและนักเรียนมีความรู้" มันทำให้เกิดการพูดคุย การแลกเปลี่ยนความรู้มากกว่าการว่าไปตาม POWER POINT ของอาจารย์ เช่น ครูทิ้งคำว่า "บุญบั้งไฟ" หลายคนมองมิติเรื่องประเพณีวัฒนธรรม หลายคนใช้มิติของความเชื่อความคิด หลายคนใช้มุมมองสัญญะความหมายอุดมการณ์ บางคนมองในมิติของการท่องเที่ยวหรือธุรกิจประเพณี แต่ทั้งหมดล้วนเป็นการพยายามที่จะอธิบายสิ่งที่เรียกว่า "บุญบั้งไฟ" นี้คือจุดร่วมกันของเนื้อหา

         การไม่นิยามจะพบว่าขอบเขตของการเรียนกว้าง หลากหลายและที่สำคัญได้แลกเปลี่ยนแทนที่จะบริโภคจากครูเพียงคนเดียว นอกจากนี้ในการแสดงความคิดในมุมมองต่าง ๆ ยังสะท้อนให้เห็นว่าผู้เรียนมีความรู้ที่หลากหลาย มีวิธีการมอง วิธีการคิดที่แตกต่าง ทั้งหมดเป็นแผนที่ครูเตรียมไว้นั่นเอง เพื่อที่จะโยงเข้าสู่ความรู้หรือความเข้าในวิธีการที่เป็นหลักวิชาการด้วยคำถามที่ว่า "ทำไมจึงคิดเช่นนั้น"

          "ทำไมจึงคิดเช่นนั้น" เป็นการโยนหินถามทางว่าความคิดของผู้เรียนถูกต้องตามหลักวิชาการมากน้อยเพียงใด ซึ่งคำตอบต่าง ๆ เหล่านี้จึงเป็นการนำพาผู้เรียนก้าวเข้าไปสู่สิ่งที่เราเรียกมันว่า "ทฤษฎี Theory" นั่นคือการประยุกต์ใช้ของผู้เรียนที่สามารถถึงเอาผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสู่การคิดของตนเองได้ และยังชี้ให้เห็นถึงความเข้าใจที่มีมากหรือน้อย ตรงนี้แหละจึงเป็นหน้าที่ของครูที่จะแนะนำหรือชี้ให้เห็นความน่าจะเป็นด้วยความรู้และประสบการณ์ของครูที่มีมากกว่า

          แม้ในตอนท้ายอาจจะจบด้วยการสรุปของครู แต่กระบวนการเริ่มต้นนั้นถือว่าเป็นการเริ่มต้นการเรียนการสอนที่มีคุณค่ายิ่ง เป็นการเรียนรู้ที่เรียกว่า "ผู้เรียนเป็นสำคัญที่แท้จริง"

          ทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ได้รับจาก "ครูต้นแบบ" ที่อยากนำเสนอโอกาสที่ผมได้เดินมาทำหน้าที่ "ครู" และ "ครูสายเลือด" ที่คอยขับเสริมแรงกล้าให้ก้าวเดิมมาตามทางสายนี้ที่แสนจะลำบากอย่างที่เข้าหมายถึงว่า "หนัก" แต่ยังเชื่อและศรัทธาในคำกล่าวเสมอที่ว่า "ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน"

หมายเลขบันทึก: 472217เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2011 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมไม่ได้มีพ่อแม่เป็น"ครูสายเลือด"

แต่ผมมี"ครูต้นแบบ"เป็นเสมือนพ่อแม่...เพราะฉะนั้นคำว่าครูที่ผมได้สัมผัส คือ"บุคคลที่ทำหน้าที่ของตนได้ทุกอย่าง ทุกที่ เป็นได้ทุกอย่าง จนทำให้จิตใจเราสงบงามและยึดถือบุคคลนั้นเป็นต้นแบบของทางเดิน...ขอบคุณครับสำหรับขั้อเขียนดีๆเกี่ยวกับครู

ถึง ครูกร (น้องรัก)

ไม่จำเป็นต้องมีครูสายเลือด ขอแค่มีครูต้นแบบ และใจศรัทธา โดยเฉพาะอย่างหลัง หากเรามีความศรัทธาแล้วมันจะเป็นไปได้โดยตัวเอง

ขอบคุณที่ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน จงทำต่อไปอย่าย่อท้อ

จริงแท้ที่สุดครับ เป็นกำลังใจให้นะครับคุณครู

ถึงคุณนาย ธนากรณ์ ใจสมานมิตร ที่เคารพ

ขอขอบคุณในความคิดเห็นครับ เรามีครูในใจเป็นแบบอย่าง และผมก็เชื่อว่า เด็กๆๆ ก็กำลังมองหาครูที่เขาจะเอาเป็นแบบอย่างอยู่เช่นกัน

เป็นกำลังใจให้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท