ประวัติหลวงพ่อเงินเทพเจ้าแห่งวัดดอนยายหอม (บ้านเกิดของผมเองครับ)


ประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หรือ พระราชธรรมาภรณ์ จนฺทสุวณฺโณ 
ท่านเกิดเมื่อวันอังคารที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๓๓ ตรงกับวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาล ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นบุตรคนที่ ๔ ของ นางกลอง-นายพรม นามสกุล ด้วงพลู ครอบครัวของหลวงพ่อเงิน ถือได้ว่าว่าเป็นผู้มีอันจะกินครอบครัวหนึ่งใน ต.ดอนยายหอม ในขณะนั้น

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ท่านมีพี่น้องทั้งหมด ๘ คน คือ
นายอยู่  ด้วงพลู
นายแพ  ด้วงพลู
นายทอง  ด้วงพลู
หลวงพ่อเงิน
นายแจ้ง  ด้วงพลู
นายเนียม  ด้วงพลู
นางสายเพ็ญ  ด้วงพลู
และนางเมือง ด้วงพลู

หลวงพ่อเงิน อุปสมบท มูลเหตุแห่งการบวชตลอดชีวิต
 หลวงพ่อเงิน ได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2453 โดยมี พระปลัดฮวย เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายา “จนฺทสุวณฺโณ”

เมื่อหลวงพ่อได้เข้าสู่เพศบรรพชิตแล้ว ท่านได้บอกแก่โยมพ่อของท่านว่า "อาตมาสละหมดทุกอย่างแล้ว โดยขอให้สัจจะปฏิญาณแก่พี่น้องชาวตำบลนี้ว่า อาตมาจะไม่ขอลาสิกขา อาตมาจะเป็นแสงสว่างทางให้เพื่อนมนุษย์ ขอให้โยมร่วมอนุโมทนาด้วยความยินดีและมั่นใจ” ตั้งแต่เริ่มอุปสมบท หลวงพ่อเงิน ท่านมีความตั้งใจอย่างมาก มีขันติ วิริยะ สามารถท่องปาติโมกข์จบ และแสดงในเวลาทำสังฆกรรมได้ตั้งแต่พรรษาแรก หมั่นบำเพ็ญเพียรในการปฏิบัติสมถะ และวิปัสสนากรรมฐาน ตามที่โยมพ่อพรมของท่านแนะนำ เป็นเวลาถึง 4 ปีเต็ม

 ในปลายพรรษาที่ 5 หลวงพ่อเงินพร้อมด้วยพระที่วัดอีก 2 รูป ได้ออกธุดงค์ไปตามชนบท มุ่งหน้าขึ้นภาคเหนือ ผ่านป่าสระบุรี ลพบุรี เรื่อยขึ้นไปถึงนครสวรรค์ ค่ำที่ไหนก็ปักกลดพักแรมที่นั่น อาหารที่ฉันก็เพียงมื้อเดียว การเดินทางในสมัยนั้น เดินทางด้วยเท้าเปล่า บ้านคนก็ไม่ค่อยมี ป่าก็เป็นป่าดงดิบ ที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด ซึ่งยากที่พระภิกษุผู้ที่ไม่มีอาวุธ หรือเครื่องมือเพื่อป้องกันภัย จะธุดงค์ได้ตลอดรอดฝั่งด้วยความปลอดภัย เพราะเหตุที่ต้องประสบกับความยากลำบาก ในการออกธุดงค์ในครั้งนั้น จึงมีเรื่องเล่าต่อมา ภายหลังจากที่หลวงพ่อเงินกลับจากธุดงค์เป็นเวลา 4 เดือน หลวงพ่อเงิน ได้มาปักกลดอยู่ข้างบ้านดอนยายหอม โดยที่มีผิวกายดำกร้าน ร่างกายซูบผอมราวกับคนชรา ชาวบ้านที่เดินผ่านไปมาจึงจำท่านไม่ได้ แม้แต่นายแจ้งซึ่งเป็นพี่ ชาย ก็คิดว่าเป็นพระธุดงค์มาจากที่อื่น แต่พอเข้าไปดูใกล้ๆ ก็ตกตะลึง แทบจะปล่อยโฮออกมา พอได้สติจึงยกมือไหว้ แล้วถามท่านว่า

 “คุณเงินหรือนี่” ซึ่งหลวงพ่อเงินก็ตอบพร้อมกับหัวเราะว่า “ฉันเอง โยมพี่ทิดแจ้ง” ฉันแปลกมากไปเชียวหรือ จึงจำฉันไม่ได้ ฉันมาปักกลดอยู่ที่นี่นานแล้ว เห็นพวกบ้านเราเขาเดินผ่านไปผ่านมาหลายคน แต่ไม่มีใครทักฉันเลย ฝ่ายพ่อพรมนั้น พอทราบข่าวว่า พระลูกชายกลับจากธุดงค์ด้วยความปลอดภัยแล้ว ก็เต็มไปด้วยความปลาบปลื้มยินดี สาเหตุที่ หลวงพ่อเงิน ท่านไม่อยากครองชีวิตแบบคฤหัสถ์ กล่าวกันว่า เพราะท่านมองเห็นว่า ความสุขทางโลกไม่จีรังยั่งยืน เหมือนความสุขทางธรรม เรื่องของทางโลก มีแต่ความยุ่งยาก วุ่นวาย เดือดร้อน ข่มเหง เบียดเบียน และอิจฉาริษยากันไม่สิ้นสุด ผู้เสพรสของความหรรษาทางโลก ย่อมมียาพิษเจือปนอยู่เสมอ ส่วนผู้เสพรสพระธรรม ไม่มีพิษไม่มีโทษแต่อย่างใด

 หลวงพ่อเงิน มักจะปรารภให้ผู้ใกล้ชิด ฟังอยู่บ่อยๆ ว่า ร่างกายมนุษย์เรานี้ ไม่มีแก่น เกิดมาเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร ที่เต็มไปด้วยกองทุกข์ มนุษย์จะหนี ทุกข์ได้ มิใช่มากด้วยสมบัติพัสถาน หรือข้าทาสบริวาร ตรงกันข้าม สิ่งเหล่านี้เป็นพันธะยึดเหนี่ยวจิต เสมือนจิตถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน ต้องพะวักพะวนเศร้าหมอง

 คติธรรมที่หลวงพ่อเงินได้ให้ไว้ คือ รู้จักพอ ก่อสุข ทุกสถาน

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ละสังขาร
หลวงพ่อเงิน ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เมื่อปี พ.ศ.2466 และท่านได้ละสังขารด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2520 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี

 ทั้งนี้ประชาชนใน ต.ดอนยายหอม ตลอดจนประชาชนที่มีจิตศรัทธาต่อวัดดอนยายหอม ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ดังนี้

 1. จัดงานวันคล้ายวันมรณภาพหลวงพ่อเงิน ระหว่างวันที่ 9-13 มกราคม ของทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึงบุญบารมีของหลวงพ่อเงิน เพื่อให้ประชาชนใน ต.ดอนยายหอม และประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาได้สักการะ โดยในช่วงงานจะมีพิธีบวชพราหมณ์ เพื่อเป็นการรักษาศีล ตลอดจนเป็นการสร้างความสามัคคีของชาว ต.ดอนยายหอม

 2.จัดงานปิด ทองกลางเดือน 4 ขึ้น 15 ค่ำ ของทุกปี เป็นงานประจำปีที่จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชน ต.ดอนยายหอม และประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาสักการะทำบุญ บำเพ็ญกุศลปิดทองรอยพระพุทธบาท รูปปั้นคุณยายหอม รูปจำลองหลวงพ่อเงิน ศิลาเสมาธรรมจักร ซึ่งขุดค้นพบที่เนินพระเจดีย์ ใกล้วัดดอนยายหอม

 และ 3.จัดงานคล้ายวันมรณภาพหลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม เจ้าอาวาสรูปต่อจากหลวงพ่อเงิน และเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังอีกท่านหนึ่ง ระหว่างวันที่ 9-13 ธันวาคม ของทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึงบุญบารมีของหลวงพ่อแช่ม ที่มีอุปการคุณต่อชาว ต.ดอนยายหอม ตลอดมา

พระเครื่อง หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม มาจากประสบการณ์ของคนในพื้นที่ และผู้ครอบครองทั่วๆ ไป เป็นการบอกกันปากต่อปาก ประจวบกับพระเครื่องชุดนี้เป็น พระแท้ หาง่าย ราคาไม่แพง จึงถือเป็นเรื่องสะดวกกายสะดวกใจ สบายทรัพย์ ที่คิดจะเก็บสะสมเอาไว้ โดยการสะสมนี้ เริ่มจากศรัทธาตามคำบอกเล่า มิได้เป็นการสะสมในเชิงพาณิชย์เก็งกำไร ตั้งแต่ต้นปี 2548 พระเครื่องหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ยังดังต่อเนื่อง ถึงขั้นขาดแคลน ทั้งมีราคาสูงขึ้น จากที่เคยนิ่งสนิท และไม่เป็นที่สนใจมาเลยก่อนหน้านี้

 สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี คือ ตั้งแต่ต้นปี 2547 มานั้น พระเครื่องชุดหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม อยู่ในสภาพซื้อง่าย ขายคล่อง เป็นที่ต้องการสะสมของคนทั่วไป ทั้งยังเป็นเหตุจูงใจให้พระเครื่องสายนครปฐมทั้งหมดกระเตื้อง ตื่นเต้นตามไปด้วย พระหลวงพ่อเงิน ส่วนใหญ่เป็น พระสร้างแจกฟรี แต่คนไทยส่วนใหญ่จะเป็นไปตามสำนวนที่ว่า ใกล้เกลือกินด่าง อย่างกรณี พระหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม เมื่อครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่ คนใกล้วัดคิดอยู่เสมอว่า จะไปขอพระจากท่านเมื่อไรก็ได้ เพราะท่านสร้างแจกฟรีอยู่แล้ว แต่เมื่อท่านแจกหมด จึงกลายเป็นว่า คนที่อยู่ใกล้วัดมีพระหลวงพ่อเงินน้อยมาก

 แม้ท่านจะมรณภาพไปนาน แล้วก็ตาม แต่สิ่งต่างๆ ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของบรรดาลูกศิษย์ลูกหา โดยเฉพาะชาวดอนยายหอมอย่างไม่มีวันลืม ต่างยังรำลึกนึกถึงท่านอย่างไม่มีวันเลือนหายไปจากความทรงจำ

 ทั้งนี้ท่านได้สร้าง พระเครื่อง-วัตถุมงคลไว้เพื่อเป็นมรดกถึงรุ่นลูกหลาน วัตถุมงคลของท่านยอดเยี่ยมด้านคงกระพันชาตรี เปี่ยมด้วยเมตตามหานิยมยิ่งนัก ประวัติหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ประวัติหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้


พระเครื่องหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม

พระเครื่องหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ดังปรากฏเป็นข่าวหน้าหนึ่งของ หนังสือพิมพ์เป็นประจำ พระเครื่องของหลวงพ่อเงิน ปัจจุบันมีอยู่ 4-5 รุ่น ที่มีค่านิยมอยู่ในหลักหมื่นปลายๆ ถึงหลักแสนต้นๆ ได้แก่

1.เหรียญหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม รุ่นแรก
2.เหรียญหลวงพ่อเงิน ปี 2506 เนื้อทองคำ
3.เหรียญหลวงพ่อเงิน หันข้าง ปี ๒๕๑๓ เนื้อทองคำ และ
4.เหรียญหลวงพ่อเงิน รุ่นโก๋ใหญ่ ส่วนรุ่นอื่นๆ มีค่านิยมลดหลั่นกันไป

หนังสือชีวประวัติของหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม
   หนังสือเรื่องชีวประวัติของหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม หรือพระราชธรรมาภรณ์  (เงิน จันทสุวัณโณ) นี้ ข้าพเจ้าเขียนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2529 หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว อยู่บ้านมีเวลาว่าง จึงเขียนขึ้นเพื่อบูชาพระคุณของหลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ เป็นการศึกษาธรรมะไปด้วย การเขียนประวัติพระอริยสงฆ์เป็นการเขียนเพื่อปฏิบัติบูชา พระสุปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเหมาะสม แก่พระอริยสงฆ์)  พระอุชุปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติงดงามทุกอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง นอน เหยียด คู้ เหลียว มอง พูด ฉัน ขบ เคี้ยว) เป็นพระญายปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะจิต) พระสามีจิปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติด้วยจิตจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า อย่างมอบกายถวายชีวิต ไม่กลัวอดอยาก ไม่กลัวลำบาก ไม่กลัวตาย) หลวงพ่อเงินเป็นพระอริยสงฆ์ตามบทสรรเสริญพระอริยสงฆ์ที่กล่าวไว้ในบทสุปฏิปันโน ไม่ขาดตกบกพร่องเลย จึงไม่ต้องสงสัยว่าพระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน) เป็นพระอริยสงฆ์หรือเปล่า ท่านเป็นพระอริยสงฆ์แน่นอน แต่จักเป็นชั้นไหนเท่านั้นที่เราไม่รู้ ว่าท่านเป็นพระโสดาบัน หรือ พระสกทาคามี หรือพระอนาคามีบุคคล เราไม่รู้

ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้จบเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2529 ใช้เวลา 1 เดือนหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้เขียนอย่างรวบรัด เนื่องจากประวัติโดยพิสดารนั้นนายชื่น ทักษิณานุกุล ลูกบุญธรรมของหลวงพ่อได้เขียนไว้แล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2506 ชื่อหนังสือนั้นว่า "หลวงพ่อเงินเทพเจ้าแห่งดอนยายหอม" หนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากเรื่อง นายชื่น ทักษิณานุกูล เขียนไว้ เพราะนายชื่นเป็น "อันเตวาสิก" ศิษย์ก้นกุฏิ รู้อะไรเกี่ยวกับหลวงพ่อโดยละเอียด ส่วนข้าพเจ้าเป็น "พาหิรวาสิก" ศิษย์ภายนอกที่หลวงพ่อบวชให้เท่านั้น บวชแล้วก็ไปอยู่เสียที่วัดห้วยจระเข้ ไม่ได้อยู่กับหลวงพ่อโดยใกล้ชิดเหมือน นายชื่น ทักษิณานุกูล ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนร่วมชั้นกับ นายชื่น ทักษิณานุกูล ที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และบัดนี้นายชื่น ทักษิณานุกูล ก็ล่วงลับไปนานแล้ว จึงไม่ต้องขออนุญาตคัดลอกเอาเรื่องของเขามาเขียนใหม่ในคราวนี้ เรามีจุดประสงค์ร่วมกันคือเขียนเพื่อเผยแพร่เกียรติคุณครูอาจารย์ให้โลกรู้ นายชื่น คงจะอนุโมทนาด้วย   เขียนเสร็จแล้วก็ทิ้งไว้นาน ไม่กล้าพิมพ์เผยแพร่ กลัวจะขาดทุนเปล่า เพราะมีคนคัดลอกเอาไปเขียนกันหลายคนหลายครั้งแล้ว จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ.2535 ฝันเห็นหลวงพ่อเงินยืนอยู่บนภูเขา ข้าพเจ้ากำลังเดินขึ้นไปหาท่าน แต่ไม่กล้าขึ้นไปถึงท่าน กลัวตกภูเขา ดูเหมือนจะเป็นปริศนาธรรมที่ท่านมาเตือนให้พิมพ์เรื่องนี้ออกเผยแพร่ เมื่อรู้สึกว่าเป็นหนี้ที่ยังมิได้ชดใช้ท่าน จึงได้พิมพ์เรื่องนี้เผยแพร่ในครั้งนี้ ท่านผู้ใดอ่านแล้วไม่จุใจอยากจะทราบรายละเอียด ขอให้อ่านจากเรื่อง "หลวงพ่อเงิน เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม" มีอยู่ที่หอสมุดวัดดอนยายหอมหรือตามร้านหนังสือเก่าคงมีเหลืออยู่บ้าง

เทพ สุนทรศารทูล
10 สิงหาคม 2537

(เขียนทิ้งไว้ถึง 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2529 ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2539)

........................................................................................
โยมบิดา-มารดา

หลวงพ่อเงิน เป็นพระภิกษุ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศมีสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ชั้นราช ที่ พระราชธรรมาภรณ์ แต่คนทั้งหลายรู้จักในนามของ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม

หลวงพ่อเงิน เป็นบุตรของนายพรหม และนางกรอง ด้วงพูล ราษฎรตำบลยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม มีอาชีพทำนา มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 7 คน คือ

1.นายอยู่ ด้วงพูล
2.นายแพ ด้วงพูล
3.นายทอง    ด้วงพูล
4.พระราชธรรมาภรณ์ (เงิน ด้วงพูล)
5.นายเนียม    ด้วงพูล
6.นายแจ้ง     ด้วงพูล
7.นายเมือง    ด้วงพูล

นายพรหม ด้วงพูล โยมบิดาของหลวงพ่อเงินนั้น เป็นอุบาสกผู้เคร่งครัดในศีลธรรม เคยบวชเรียนมา 3 พรรษา มีความชำนาญในทางสมถะภาวนา ได้ฌานโลกีย์ สามารถเข้าฌานเพ่งจิตเห็นอะไรได้ทั้งใกล้ไกล ลี้ลับอย่างไรก็รู้ได้แจ้ง ใครมีทุกข์เดือดร้อนอะไร ไปหาให้ดูให้ นายพรหมดก็สามารถบอกได้ถูกต้อง นอกจากนั้นยังเป็นแพทย์แผนโบราณด้วย ใครป่วงไข้ก็ไปหาให้ประกอบยารักษาโรคให้ คาถาอาคมก็ได้รับความนับถือ โดยเฉพาะทางเมตตามหานิยม และเสกหุ่นพยนต์สำหรับเฝ้าบ้าน เรื่องนี้ ก็มีคนเล่าลือนับถือกันอยู่ในสมัยนั้น เล่ากันว่า นายพรหม มีความเชียวชาญทางกสิณมาก ถึงขนาดผักตบชวาที่ลอยน้ำมาในลำคลอง นายพรหม ก็สามารถเพ่งกสิณสำรวมจิตบังคับให้ผักตบชะวาลอยทวนกระแสน้ำไหลได้ เล่าลือกันถึงกับว่า แม้เรือเหาะ เรือบินที่แล่นอยู่บนอากาศ เมื่อเพ่งกระแสจิตไปก็ทำให้เรือบินหยุดอยู่กับที่ได้ด้วย คนทั้งหลาย จึงนับถือนายพรหม ด้วงพูล เป็นอาจารย์ เรียกกันว่า อาจารย์พรหม หรือ หมอพรหม เป็นที่รู้จักนับถือกันอยู่ในสมัยโน้น

เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ ผู้เขียนก็จะขอแวะเล่าเรื่องจริงประกอบสักเล็กน้อย เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ที่ตำบลตาก้อง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม สมัยเดียวกันนี้ ก็มีคนหนึ่งชื่อ หมอแก้ว มีผู้คนทั้งตำบลนับถือกันมากว่า ท่านนั่งทางในดูอะไรเห็นหมดเหมือนตาเห็น แต่มีเคล็ดอยู่ว่า เมื่อไปหาท่าน เมื่อขึ้นเรือนไปพบหน้าท่านให้บอกเรื่องที่จะดูให้ทราบก่อน ห้ามพูดถึงเรื่องอื่น มีเรื่องจริงอยู่ 3 เรื่อง เรื่องที่แม่ข้าพเจ้าไปดูด้วยตนเอง คือ คราวหนึ่งทองที่บ้านป้าหายไป ป้าก็สงสัยยาย คือแม่ของตัว เพราะยายเฝ้าบ้านอยู่คนเดียว ยายจึงให้แม่ไปดูหมอแก้ว หมอแก้วบอกว่าทองเหน็บอยู่ข้างฝาทิศตะวันตก ห่อกระดาษสีแดงให้กลับไปดู เมื่อกลับมาค้นดูก็พบทองเส้นนั้น เจ้าของเก็บไว้เองแล้วลืมที่เก็บ เรื่องที่สอง ควายออกลูกใหม่ๆ ได้ไม่กี่วันก็หายไป แม่ควายนมคัด ก็ร้องเรียกหาลูกทั้งวัน แม่จึงไปหาหมอแก้วดู หมอแก้วบอกว่าลูกควายนอนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ทางทิศหรดี ให้ไปดูแล้วจะพบ เมื่อกลับมาดูก็พบลูกควายนอนอดนมอยู่ใต้ต้นมะขามใหญ่ เรื่องที่สาม นายผิว ศรีสุข หลานแม่ ไปตัดไม้ในป่าเมืองกาญจน์ ถึงกำหนดกลับไม่กลับ มีคนเล่าลือกันว่า นายผิวตายเสียแล้ว นางเมียก็ร้องไห้มาบอกแม่แม่จึงไปหาหมอแก้วดู หมอแก้วบอกว่าไม่ตายหรอก สบายดี กำลังเดินทางกลับจะถึงบ้านแล้ว ไปนี่ให้หุงข้าวไว้ล่วงหน้าเขาจะได้กลับมากินข้าว ก็จริงเหมือนปากว่า แม่กลับบ้านสักพัก นายผิวก็เดินทางกลับถึงบ้าน เรื่องนั่งทางในเห็นอะไรได้ในที่ไกล จึงเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดในหมู่ผู้ได้ฌานสมาบัติ หรือสำเร็จวิชากสิณ ในพระพุทธศาสนา เรื่องเพ่งอะไรหยุด เพ่งเทียนดับ หรือเพ่งเครื่องยนต์ดับนี้ ก็ได้ยินอยู่บ่อยๆ พระอาจารย์บางองค์นั้นเพ่งเทียนก็ดับ พระอาจารย์ ฝั้นว่าไม่อยากขึ้นเครื่องบิน กลัวจิตจะเผลอไปเพ่งเครื่องยนต์ของเรือบินเข้า เพราะเคยนั่งรถยนต์เพ่งเครื่องรถยนต์ก็ดับ นี่คืออำนาจของฌานสมาบัตินำมาเล่าประกอบเรื่องนี้ไว้ เพื่อแก้สงสัยของนักวิทยาศาสตร์ทางวัตถุ จะโจมตีเอาได้

ก็เอาเป็นว่า นายพรหม ด้วงพูล โยมบิดาของ หลวงพ่อเงิน นั้น มีความรู้ ความชำนาญทางเพ่งฌานสมาบัติ เป็นที่นับถือของชาวบ้านทั้งหลายในสมัยโน้น ซึ่งได้ถ่ายทอดมาสู่บุตรชายคือหลวงพ่อเงินด้วย

...................................................................

กำเนิดอภิชาตบุตร

เมื่อบุตรชายคนที่ 4 ของอาจารย์พรหม จะมาเกิดนั้นนางกรองผู้ภรรยาได้ฝันว่า ได้ยินเสียงดังอู้มาแต่ไกล ๆ คล้ายมีลมพายุพัด จึงออกไปดูที่ชานเรือน ก็แลเห็น วัตถุสีเหลือง ลอยมาจากท้องฟ้า ต้องแสงอาทิตย์เหลืองอร่ามดั่งสีทองคำ เมื่อวัตถุนั้นลอยลงมาใกล้ ก็ตกใจแทบสิ้นสติ เพราะสิ่งที่กำลังลอยลิ่วลงมานั้นคือ พญานาคตัวใหญ่เกล็ดสีเหลืองเหมือนทองคำ พญานาคนั้นชูเศียรขึ้น แลบลิ้น แล้วพูดกับนางกรอง เป็นภาษามนุษย์ว่า

"แม่จ๋า อย่าตกใจเลย ฉันไม่ได้มาร้ายหรอก ฉันมาดี
ฉันจะมาขออาศัยอยู่ด้วย"

พูดเท่านั้น พญานาคก็เลื้อยเข้ามาหา นางกรองก็ร้องหวีดตกใจตื่นขึ้น เนื้อตัวสั่น เล่าความฝันให้สามีฟัง อาจารย์พรหม พิจารณาความฝันของภรรยา ประกอบกับดูฤกษ์ยามตามตำราก็ทำนายฝันว่า

"เราจะได้บุตรชายที่มีบุญวาสนา มีวิชาความรู้ มีศีลมีธรรม มีชื่อเสียง ลูกคนนี้จะได้บวชเป็นสมภารเจ้าวัด มีบุญฤทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ เป็นที่นับถือของคนทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะขึ้นชื่อว่างูนั้น ย่อมมีพิษ นี่ขนาดพญานาค แล้วก็ลอยลงมาจากฟากฟ้า ซึ่งยังมีเกล็ดสีทองด้วย"

นับแต่วันนั้นมา นางกรองก็ตั้งครรภ์หนที่ 4 นางกรองมีผิวพรรณผ่องใส ใคร ๆ ก็ทักทายว่าจะได้บุตรหญิง เพราะได้ลูกชายมาแล้ว ถึง 3 คน นางกรองรู้สึกเบื่ออาหารของคาวจำพวกเนื้อสัตว์ทั้งหลาย อยากจะกินแต่ผักผลไม้ อยากจะกินแต่ขุยปูนาในท้องทุ่ง ไปขุดเอาดินขุยปู อันละเอียดนั้นมาเผากินอยู่เสมอ (เรื่องกินดินขุยปูในท้องนานี้ เคยเห็นแม่ของผู้เขียนไปขุดเอามาเผากินเหมือนกัน ผู้เขียนก็เคยชอบกินด้วย รสมัน ๆ ดี คล้าย ๆ รสอะไรก็บอกไม่ถูก)

ครั้นท้องครบกำหนดทศมาส 10 เดือนทางจันทรคติ คือ 280 วัน ที่พระจันทร์เดินรอบโลก ก็เป็นวันที่มีโฉลกโชคชัยมงคล ตรงกับ วันอังคาร ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 10 ปีขาล สุริยคติ ตรงกับวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2433 นางกรองก็คลอดบุตรเป็นชาย ร่างกายสมบูรณ์ ผิวพรรณขาวสะอาดสะอ้าน ผิดกว่าลูกคนก่อนๆ มีปานขาวอยู่ที่หน้าอกข้างซ้าย มีปานแดงอยู่ที่ต้นแขนซ้าย เป็นรูปใบโพธิ์ ทำให้พ่อแม่พี่น้องดีใจมาก เพราะลักษณะมีบุญวาสนา เพราะปานสีแดงรูปใบโพธิ์นี้ เป็นเครื่องหมายบอกว่า เป็นพระโพธิสัตว์อุบัติเกิดมาเพื่อสร้างบารมี พูดกันตามภาษาชาวบ้านก็ว่า ผู้มีบุญมาเกิด รูปร่างลักษณะก็ต้องโฉลก พ่อแม่ก็จะโชคดี เพราะมีอภิชาตบุตรมาเกิดในตระกูล การก็สมจริงตั้งแต่บุตรคนที่ 4 เกิดมา พ่อแม่ก็ทำมาหากินได้ผลอุดมสมบูรณ์พูนเกิด ขึ้นอย่างทันตาเห็น เรียกว่า "ลาภผลพูนทวี" จึงได้ตั้งชื่อบุตรชายคนนี้ว่า "เงิน" เพราะเกิดมาทำให้พ่อแม่มีเงินมั่งคั่งขึ้น

เด็กชายเงิน บุตรชายคนนี้ เติบโตขึ้นก็มีนิสัยดี ไม่ประพฤติเกเรอะไรเลย ไม่เคยพูดจาคำหยาบคาย ด่าทอใครก็ไม่เป็น ผิดกว่าลูกชายชาวบ้านชายไร่ชาวนาทั้งหลาย อาจารย์พรหมสอนหนังสือให้ที่บ้าน ก็เรียนเก่ง จำแม่นตั้งใจเรียน เรียนหนังสือเก่งเกินวัย เป็นคนขยันขันแข็ง และมัธยัสถ์อดออม พ่อแม่ให้สตางค์ก็ไม่เคยใช้ ไม่เคยเที่ยวงานวัด หิวก็กินข้าวที่บ้าน เวลาไปวัดทำบุญ แทนที่จะไปเที่ยวดูลิเก ก็ช่วยพระทำงานวัด ชอบปรนนิบัติรับใช้พระในวัด นิสัยผิดแปลกกว่าลูกชายชาวบ้านทั้งหลาย จนกระทั่งอาจารย์พรหมพูดด้วยความภาคภูมิใจว่า

"พ่อเงินนี้ ถึงใครจะเอาลูกสาว 5 คนมาแลกก็ไม่ต้องการ"

...............................................................................

ออกบวชในพุทธศาสนา

หลวงพ่อเงิน เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มขึ้นนั้น รูปร่างแข็งแรงสมบูรณ์สูงใหญ่ผึ่งผาย ผิวพรรณสะอาด หน้าตาจัดว่าเป็นชายหนุ่มรูปงามในตำบลนั้น แต่ก็เป็นการประหลาดอยู่ไม่น้อยที่ไม่มีนิสัยเจ้าชู้เลย จึงไม่เคยมีคู่รักคู่ใคร่เหมือนหนุ่มชายคนอื่น ไม่ชอบเที่ยวเตร่ไปไหน เหล้าไม่ดื่ม การพนันไม่เล่น อยู่แต่บ้านทำแต่งาน ทำอะไรก็เรียบร้อยประณีต สะอาดเรียบร้อย ทุก ๆอย่าง เรียกว่า ผู้หญิงสาว ๆ ก็สู้ไม่ได้ อาจารย์พรหมและนางกรอง บิดามารดา จึงมักจะพูด อยู่เสมอ ๆ ว่า "เอาลูกสาว 5 คนมาแลกก็ไม่เอา" มีความหมายว่า ถึงผู้หญิง 5 คนรวมกัน ก็สู้ลูกชายคนนี้ไม่ได้

ครั้นเมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์ ครบบวชแล้ว บิดามารดา จึงได้จัดการบวชให้ตามประเพณี พ่อแม่และลูกชาย มีความคิดตรงกัน คือบวชอย่างประหยัด ไม่จัดงานบวชอย่างเอิกเกริกมโหฬารอะไร ไม่มีการแห่แหน ไม่มีลิเกฉลองเหมือนอย่างชาวบ้านทั่วไป เพียงแต่บอกญาติมิตรคนที่เคารพนับถือกัน จัดเครื่องอัฐบริขาร แล้วก็พากันไปวัด เดินประทักษิณเวียนโบสถ์ 3 รอบ แล้วก็เข้าโบสถ์ ทำพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ สำเร็จเป็นภิกษุภาวะ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2453 เวลา 18.15 นาฬิกา พระอุปัชฌาย์ให้ฉายาว่า "จนฺทสุวณฺโณ" ตามตำราการตั้งฉายาตามวันเกิดของคนวันอังคาร วรรค จ.ฉ.ช.ฌ.ญ. พระอุปัชฌาย์ คือหลวงพ่อฮวย เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม

เป็นที่น่าแปลกอยู่ประการหนึ่งคือ ในขณะทำพิธีอุปสมบทนั้น ได้เกิดลมพายุพัดอย่างแรง แล้วฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก คล้าย ๆ กับว่าเทพยดาฟ้าดิน ก็พลอยปรีดาปราโมทย์ อนุโมทนาในการอุปสมบทของหลวงพ่อเงินด้วย เมื่อบวชได้ 1 พรรษา ก็ท่องบทสวดมนต์ 7 ตำนาน 12 ตำนาน ได้หมดสิ้น แล้วก็ท่องพระปาฏิโมกข์ได้ในพรรษาแรกนั้นเอง เป็นที่โจษขานกันมาก เพราะคนสมัยนั้นนับถือกันว่าใครท่องพระปาฏิโมกข์ในพรรษาแรกได้ พระภิกษุรูปนั้น ปัญญาดี และมีบุญเก่ามาส่งเสริม จะเจริญในทางพระพุทธศาสนา

วันหนึ่ง เมื่อไปบิณฑบาตที่บ้าน โยมบิดาก็พูดว่า

"คุณเงิน คุณอย่าจำวัดแต่หัวค่ำนัก เป็นพระไม่ได้ทำไร่ทำนาก็ควรจะฝึกหัด ให้อดทน"

หลวงพ่อเงิน ทราบดีว่าโยมบิดาทราบเรื่องนี้ได้นั้น เพราะนั่งเข้าฌานเพ่งกสิณ ไปดูพระลูกชาย โดยฌานสมาบัติ หรือที่เรียกว่า นั่งทางใน ต่อมาไม่ช้า เวลาค่ำ อาจารย์พรหม ก็มักจะไปหาพระลูกชาย เพื่อถ่ายทอดวิชาเพ่งฌานสมาบัติให้ อาจารย์พรหม สอนพระลูกชายว่า

"จะเรียนวิชานี้ให้สำเร็จต้องประกอบด้วย ศรัทธา-ความเชื่อมั่น วิริยะ-ความเพียรพยายาม  ขันติ-ความอดทน  สัจจะ-ความถือสัตย์  อธิษฐาน-ความตั้งใจแน่วแน่"

ขั้นแรกต้องมีความเชื่อมั่น(ศรัทธา)
ขั้นสองต้องพากเพียรปฏิบัติ    (วิริยะ)
ขั้นสามต้องมีความอดทน (ขันติ)
ขั้นสี่ ต้องมีสัจจะในใจว่า จะต้องทำให้ได้เหมือนใจคิดและปากพูด ถ้าไม่สำเร็จก็ยอมเสียสละทุกอย่างได้  (สัจจะ)
ขั้นห้า คือ อธิษฐาน-ความตั้งมั่นในจิตใจ อ้างเอาคุณพระรัตนตรัย อ้างเอาคุณบิดามารดา อ้างเอาคุณแห่งศีล คุณแห่งทาน มาตั้งมั่นในใจ เพื่ออธิษฐานให้สำเร็จ"  (อธิษฐาน)

เล่าให้พระลูกชายฟังว่า "เมื่อโยมเรียนวิชากับพระอาจารย์นั้น ท่านหัดให้เพ่งดวงอาทิตย์ตอนเช้า จนสามารถมองดูดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงได้ หลับตาก็มองเห็นดวงอาทิตย์ได้ นั่งสมาธิเพ่งดวงเทียนจับนิ่งอยู่ที่เปลวเทียน จนเมื่อหลับตาแล้ว ก็ยังแลเห็นดวงเทียนสว่างอยู่ที่เดิม ให้นั่งที่ท่าน้ำ ใช้ดวงจิตเพ่งไปที่ผักตบชะวา แล้วภาวนาให้ผักตบชะวานั้น นิ่งอยู่กับที่ด้วยอำนาจกระแสจิตได้ เมื่อทำเช่นนี้ จึงจะสามารถเรียนวิชาสำเร็จได้" หลวงพ่อเงิน จึงฝักใฝ่ตั้งใจฝึกหัด จนสำเร็จวิชาตามที่โยมบิดาสอนให้

........................................................................................
หลวงพ่อเงิน ออกป่าถือธุดงควัตร

สมัยนั้นประมาณ พ.ศ.2450 เศษ นับว่ายังเป็นยุคสมัยโบราณอยู่ ถนนหนทาง รถยนต์โดยสาร วิทยุ หนังสือพิมพ์ ไฟฟ้ายังไม่มีเหมือนปัจจุบันนี้ ตามชนบทบ้านนอก ยังมีสภาพเป็นสังคมไทยแท้แต่โบราณ ประชาชนก็ทำไร่ทำนากันไปพอเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว ไม่ได้ทำเพื่อขายเอาเงินมากมายมั่งคั่งร่ำรวยอะไร เรียกว่าทำมาหากินกันจริงๆ เสร็จจากหน้านา ก็ไม่มีเครื่องหย่อนใจอะไร วัดต่างๆ จึงมักจะจัดให้มีมหรสพ แสดงในวัดบ้างเป็นครั้งคราวในฤดูตรุษสงกรานต์ พอให้ประชาชนได้พักผ่อนหย่อนอารมณ์บ้าง พวกนักล่ำนักเลงก็กินเหล้า เล่นการพนัน ตีไก่ กัดปลา สูบฝิ่นกินยา เล่นโปเล่นถั่วกันไปบ้าง พวกนี้เป็นพวกรักชั่วหามเสา ที่รักดีหามจั่วหวังจะบรรเทาเบาบางความทุกข์ในชีวิตก็มักจะเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ถือศีลอุโบสถ หรือที่มีอุปนิสัยแก่กล้าในทางบุญ ก็บวชเรียนกันคนละ 3-4-5 พรรษา คนที่บวชนี้ก็มีอยู่ 2 พวกใหญ่ๆ พวหนึ่งหวังทางลาภยศ ชื่อเสียง ก็เรียนนักธรรมบาลี เพื่อจะเป็นนักปราชญ์ในทางศาสนา เป็นนักเทศน์ เป็นเจ้าคุณ มียศศักดิ์ มีลาภทานสักการะไปทางหนึ่ง อีกพวกหนึ่งก็มุ่งทางปฏิบัติสมถะ วิปัสสนากรรมฐาน เรียนเวทมนต์คาถา เรียนเพ่งฌานภาวนาสมาบัตินั่งทางใน แต่คนที่เรียนทางนี้มีน้อย ต้องมีอุปนิสัย มีใจรัก ต้องเสียสละ ต้องยอมลำบากลำบน ออกธุดงค์เดินป่า ต้องเคร่งครัดในศีลในวินัยปฏิบัติ จะหาคนที่ใจจริง ยอมอุทิศตน อุทิศชีวิต เพื่อบำเพ็ญบารมีอย่างนี้หายาก

ในจำนวนพระภิกษุที่หายากนี้ ก็มีหลวงพ่อเงินอยู่องค์หนึ่ง เมื่อบวชได้ 5 พรรษาพ้นนิสัยมุตก์แล้ว ก็ตั้งใจปรารถนาจะออกธุดงค์เดินป่าไปต่างบ้านต่างเมือง หลวงพ่อเงินจึงได้เตรียมเครื่องอัฐบริขาร สำหรับธุดงค์เดินป่าพร้อมตามแบบแผนของครูอาจารย์ แล้วก็ออกเดินธุดงค์เท้าเปล่ามุ่งแสวงบุญไปยังภาคเหนือ ได้เดินทางไปจนถึงสระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์สมัยนั้นยังเป็นป่าดง ถนนหนทางไม่มี ต้องเดินป่า ทุ่งนา ป่าละเมาะลัดเลาะเรื่อยไป ค่ำไหนนอนนั่น เหมือนนกขมิ้นเหลืองอ่อน การธุดงค์เดินป่านี้ ต้องตั้งจิตอธิษฐานแต่แรกเดินทางด้วยสัตยาธิษฐานอันมั่งคงว่า จะเดินธุดงค์เพื่อเอาบุญเอากุศล บูชาพระบรมศาสดา สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เป็นการฝึกอบรมจิต อย่างยิ่งยวดกวดขัน ต้องตั้งใจอุทิศชีวิตร่างกายให้เป็นทานแก่สัตว์ ถ้าจะมีสัตว์เสือสิงห์ตัวใดหิวอาหาร จะมากัดกินเสียก็ไม่เสียดาย ไม่กลัวตาย ไม่อาลัยแก่ชีวิต ตั้งใจอุทิศเพื่อเป็นทานบารมี ดังเช่นพระเวสสันดรยอมเสียสละเป็นทานได้ทั้งช้างคู่บ้านคู่เมือง บุตรธิดา และพระมเหสี" การเดินธุดงค์จะต้องไม่ห่วงกังวลเรื่องที่อยู่และอาหาร ว่าพรุ่งนี้จะได้อาหารที่ไหนเลี้ยงชีวิต จะมีผู้ตักบาตร ถวายอาหารหรือไม่ ถ้อยคำของหลวงพ่อที่กล่าวแก่ผู้ไต่ถามระหว่างเดินธุดงค์ ก็คือ

"อาตมาได้ตั้งใจอุทิศสังขารให้เป็นทานแก่สัตว์ที่หิวกระหายอยู่แล้ว จึงไม่กลัวภัยอันตรายจากสัตว์ร้าย"

"อีกอย่างหนึ่งอาตมาเชื่อว่า จิตที่เป็นกุศลด้วยการแผ่เมตตาอยู่เสมอ สัตว์ทั้งหลายก็ต้องไม่มีแก่ใจมาปองร้ายอาตมา"

คราวหนึ่งหลวงพ่อเงินเล่าว่าได้ธุดงค์เข้าไปในบริเวณสนามยิงเป้าของทหาร ที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งทหารกำลังซ้อมยิงเป้ากันอยู่ เมื่อรู้ก็ตกเข้าไปอยู่ในท่ามกลางอันตรายเสียแล้ว หลวงพ่อเงินจึงหยิบเอาพระเครื่องของหลวงพ่อรุ่งขึ้นมา แล้วน้อม

คำสำคัญ (Tags): #เสรี สุขโยธิน
หมายเลขบันทึก: 472196เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2011 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นำของใหญ่มามอบเป็นของขวัญปีใหม่ครับ

 

- ตามมารับความรู้เรื่องพระเครื่องคะ

- เมืองไทยมีอะไรๆดีนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท