ขุนช้าง คนหัวหมอ (1)


 ขุนช้าง คนหัวหมอ (1) 

       

 วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนมีเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกับการพิจารณาคดีความอยู่หลายตอน  ตัวละครที่หัวหมอขยันฟ้องร้องอยู่ไม่ขาดก็คือขุนช้าง             ตอนขุนแผนลุแก่โทษ ขุนช้างฟ้องสมเด็จพระพันวษาว่าขุนแผนเป็นกบฏ  สมเด็จพระพันวษาจึงให้กองทัพยกไปจับขุนแผนมา  แต่ขุนแผนต่อสู้  ขุนแผนพาวันทองหลบหนีพระราชอาญาอยู่ในป่า  จนกระทั่งนางวันทองตั้งครรภ์  ขุนแผนจึงมอบตัวสู้คดี  ขุนแผนและวันทองเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวษากราบทูลเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ  ขุนแผนชนะความขุนช้างและได้นางวันทองคืน  ขุนช้างมีโทษถึงตายแต่ขุนแผนไม่เอาความ  ขุนช้างจึงถูกปรับสินไหม

          วันศุกร์เดือนแปดขุนช้างโจทก์

ฟ้องกล่าวโทษใจความว่า

ได้หาผู้เฒ่าผู้แก่มา

สู่ขอภรรยาชื่อวันทอง

เฒ่าศรีประจันยกลูกให้

ทำขันหมากใหญ่ได้ร่วมห้อง

เป็นคู่ผัวตัวเมียครอบครอง

ประมาณได้สักสองเดือนครา

เที่ยงคืนขุนแผนแสนสะท้าน 

สะกดคนอาจหาญขึ้นเคหา

ทำชู้ร่วมรักแล้วลักพา

วันทองภรรยาขุนช้างไป

ขุนแผนไม่รับในข้อหา

ว่าใช่ภรรยาขุนช้างไม่

เดิมวันทองชื่อพิมพิลาไลย

กับขุนแผนรักใคร่เป็นชู้กัน

จึงไปสู่ขอต่อมารดา 

ได้เลี้ยงเป็นภรรยาเกษมสันต์

นอนหอกับวันทองได้สองวัน 

มีราชการพลันต้องไปทัพ

ครั้นกลับลงมาแต่เชียงทอง

เห็นขุนช้างร่วมห้องเข้านอนหลับ

ขุนแผนไม่ฟ้องปองสินทรัพย์

อาลัยเมียก็กลับรับเมียมา

ขุนแผนนำสืบก็สมอ้าง

ทั้งต้องคำคนกลางให้การว่า

ขุนช้างนำเฒ่าศรีประจันมา

ขุนแผนค้านว่าเป็นแม่ยาย

ลูกขุนปรึกษาให้ลงโทษ

ว่าเพราะแม่ยายโฉดทำมักง่าย

ยกลูกให้ครองทั้งสองชาย

ประจานเฒ่าแสนร้ายแทนวันทอง

ขุนช้างบอกว่าขุนแผนตาย

จะหมายเมียเขาประสมสอง

บังอาจรื้อหอเขาเข้าครอบครอง

ต้องปรับตามบทพระอัยการ

ให้ยกเอาศักดิ์ขุนแผนปรับ

เป็นทรัพย์ผิดเมียเสียตามฐาน

ศรีประจันขุนช้างเป็นคนพาล

ให้เทียบไถ่ค่าประจานแทนวันทอง

แล้วให้ทวนขุนช้างศรีประจัน

ยายกลอยยายสานั้นทั้งสอง

ถ้าเจ้าผัวกลัวผิดไม่คิดปอง

ต้องบทให้เอาสินไหมไป

ถ้าเจ้าผัวไม่กลัวซึ่งเวรา

จะฟันฆ่าเสียก็ตามอัชฌาสัย

วันทองส่งคืนขุนแผนไป

ตามในพระราชกฤษฎีกา

       สมเด็จพระพันวษาจึงให้ขุนแผนในฐานะผู้เสียหายเลือกว่าจะให้ลงโทษขุนช้างด้วยการประหารชีวิตหรือเปรียบเทียบปรับสินไหม  ซึ่งขุนแผนกราบทูลว่า

กระหม่อมฉานหาให้เป็นเวราไม่

ตามแต่สินไหมแลพินัย

จะโปรดปรับอย่างไรก็อย่างนั้น

       ขุนช้าง  จึงต้องเสียค่าปรับทดแทนความผิดในฐานที่ผิดลูกผิดเมียผู้อื่น  ส่วนนางศรีประจัน มีความผิดที่ยกนางวันทองซึ่งมีสามีอยู่แล้วให้กับขุนช้าง ยายกลอย  ยายสา เป็นเฒ่าแก่มาสู่ขอนางวันทองจากนางศรีประจันก็มีความผิดด้วย  จึงต้องเสียค่าปรับกันครบถ้วนทุกคน

    ขุนช้างนิสัยไม่ดีพยายามติดบนพระหมื่นศรี

...เจ้าคุณได้เมตตาปรานี

อันตรงที่วันทองต้องขอคืน

จะแทนคุณทั้งนี้ยี่สิบชั่ง

ยกทูนหัวตั้งให้พระหมื่น...

      แต่พระหมื่นศรีไม่ยอมรับสินบนของขุนช้าง  หากเป็นสมัยนี้พระหมื่นศรีต้องได้รับโล่ในฐานะข้าราชการดีเด่นแน่ๆ

หมายเลขบันทึก: 471941เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2011 12:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท