วิชาการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ



          ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๑ ธ.ค. ๕๔ มีการนำเสนอการดำเนินการต่างๆ ในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพและปริมณฑล    ตามที่ได้เล่าแล้วที่นี่   ซึ่งชาวมหิดลภูมิใจมากที่สามารถ ต่อสู้ป้องกันไม่ให้น้ำเข้าวิทยาเขตศาลายาได้    ซึ่งฟังจากที่เล่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องต่อสู้เหน็ดเหนื่อยสารพัดด้าน   ใช้ทั้งความรู้ทางวิชาการ และความสามัคคีพร้อมใจทำงานเป็นทีม ทุ่มเทสุดสุด   รวมทั้งต้องทำงานมวลชน อย่างหนัก เพราะบริเวณโดยรอบน้ำท่วมหมด เหลือแต่มหิดล ๑,๐๐๐ ไร่ที่กันน้ำไว้ได้  
 
          ผมเห็นภาพกำแพงดินด้านทิศเหนือของพื้นที่ ด้านติดกับตลาดศาลายา ซึ่งเป็นกำแพงสร้างใหม่ ตอนน้ำจะท่วม ก็นึกถึงกำแพงดินของเทศบาลปากเกร็ดที่ช่วยให้ชาวปากเกร็ดรอดพ้นน้ำท่วม เหมือนกันมาก    แต่ทำกำแพงดินอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องคอยซ่อมไม่หยุดหย่อน เพราะดินอ่อน   และต้องเสริมด้วยกระสอบทราย ที่บางส่วนต้องบรรทุกเรือเอาไปซ่อม   และส่วนใหญ่ต้องแบกระยะทางเป็นร้อยเมตร    คือต้องเอาแรงงานคนเข้าแลก  
           แต่ที่สำคัญกว่าแรงงาน คือแรงบันดาลใจ ที่จะสู้ ร่วมกันสู้ ... We Mahidol
          มหิดลโชคดีหลายอย่าง    ตั้งแต่ตอนออกแบบพื้นที่เป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย แถวๆ ปี ๒๕๑๕ มีการเตรียมป้องกันน้ำท่วมอย่างดี   เพราะตระหนักว่าเป็นที่ต่ำ    จึงมีคูคลองล้อมรอบ   และไม่มีท่อติดต่อออก ไปภายนอกเลย   ท่านอธิการบดีปิยะสกลเล่าว่ามีท่อเดียว พอเอาอยู่    นอกจากนั้นเราโชคดีที่ในการปรับปรุง ภูมิทัศน์บริเวณเมื่อ ๒ ปีก่อน มีการออกแบบให้มีคันดินสูงปลูกหญ้าเป็นกำแพง    กำแพงกลายเป็นคันดินกั้น น้ำอย่างดี   เรื่องนี้ต้องยกความดีให้ทีมสถาบันอาศรมศิลป์ผู้ออกแบบและยืนยันแบบที่แปลกไปจากรั้วของสถาบัน อุดมศึกษาอื่นๆ
          มีคนโจ๊กว่า ให้ส่งจดหมายไปขอบคุณสถานทูตกัมพูชา และพม่า    ที่กรุณาส่งกองกำลังมาช่วยมหิดล สู้น้ำ    แรงงานของบริษัทก่อสร้างอาคารหลายหลังในมหิดลศาลายาถึง ๔๐๐ คน ช่วยปกป้องมหิดลไม่ให้น้ำท่วม    บริษัทก่อสร้างเหล่านี้ช่วยด้านเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ด้วย
         มีการอภิปรายกันว่า ศาสตร์ว่าด้วยการรับมือภัยพิบัติ เพื่อป้องกันและลดความเสียหายทุกข์ยากหลาก หลายด้าน ในสังคมไทยเป็นเรื่องที่สังคมต้องการอย่างยิ่ง    เป็นศาสตร์รับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก   สภาฯ ขอให้ผู้บริหารชุดใหม่ไปคิดวางยุทธศาสตร์การทำงานวิชาการชุดสำคัญยิ่งต่อบ้านเมืองชุดนี้    โดยที่จะต้อง ครอบคลุมครบทุกศาสตร์หรือทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และธรรมชาติ
          เริ่มด้วยการบันทึกเหตุการณ์แบบถอดความรู้ แบบจัดการความรู้จากประสบการณ์ปี ๒๕๕๔ นี้   ซึ่งผมมองว่า หากถอดความรู้แบบเอาทฤษฎีเข้าไปจับข้อมูลที่รวบรวม จะกลายเป็นผลงานวิจัยชิ้นเยี่ยม   และหากมีการเสนอประเด็นความรู้ที่ต้องการศึกษาทำความเข้าใจเพิ่มเติม   ก็จะเป็นฐานของการสร้างศาสตร์ ว่าด้วยการจัดการสังคมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
          นี่คือโอกาสทำงานพัฒนาวิชาการแบบสหวิชาการ   โอกาสพัฒนาวิธีจัดการงานวิจัยแบบพุ่งเป้า    ซึ่งเป้าหมายคือการนำพาสังคมไทยฝ่าวิกฤตภัยพิบัติระยะยาว ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก    และนอก จากนั้นยังเป็นโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ก่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ    คือต้องมองเป้าหมายทั้งด้านสวัสดิภาพสาธารณะ และด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ เชื่อมโยงกับการพัฒนาธุรกิจที่ก่อผลดีทางเศรษฐกิจด้วย
 
วิจารณ์ พานิช
๒ ธ.ค. ๕๔
หมายเลขบันทึก: 471934เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2011 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท