โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร กระเบื้องมุงหลังคา


มาทำความรู้จักกระเบื้องมุงหลังคาของคนในอดีตกันเถอะ

 สวัสดีเพื่อนๆ ชาว gotoknow ทุกท่าน วันนี้พิพิธภัณฑ์ฯ ชุมพร ขอนำเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับกระเบื้องมุงหลังคาของคนในอดีตกันนะคะ  

โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร 

กระเบื้องมุงหลังคา 



กระเบื้องมุงหลังคาและกระเบื้องเชิงชาย พบที่วัดบางลึก จ.ชุมพร

                กระเบื้องมุงหลังคา หมายถึง เครื่องปั้นดินเผาทำเป็นแผ่นแบนบาง ใช้สำหรับมุงหลังคาเพื่อกันลม แดด และฝนจากเอกสารในสมัยอยุธยาทำให้ทราบว่าคนในสมัยนั้นมีการใช้กระเบื้องมุงหลังคา โดยจะใช้กับอาคารของชนชั้นสูง เช่น ปราสาทราชมณเฑียร โรงช้าง บ้านขุนนาง ใช้กับวัด เช่น โบถส์ วิหาร และใช้กับตึกของชาวต่างชาติ ส่วนบ้านของคนธรรมดา หรือชาวบ้านทั่วไปก็จะใช้ใบจาก หรือใบไม้มุงหลังคาแทน

การมุงกระเบื้องลอน(ที่มา:กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา หน้า ๒๓ )

                จากการดำเนินงานทางโบราณคดีในสมัยอยุธยา มักจะพบกระเบื้องมุงหลังคาในบริเวณของโบราณสถาน เช่น ในบริเวณพระราชวังหลวง วัดในกรุงศรีอยุธยา และหมู่บ้านของชาวต่างชาติ เช่น หมู่บ้านโปรตุเกส หมูบ้านฮอลันดา เป็นต้น

การมุงกระเบื้องแผ่นเรียบ(ที่มา:กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา หน้า ๒๔ )

                  กระเบื้องมุงหลังคามีลักษณะที่แตกต่างกันไป ซึ่งมักจะเรียกตามรูปแบบที่พบ เช่น กระเบื้องลอน ประกอบด้วยกระเบื้องตัวผู้และกระเบื้องตัวเมีย กระเบื้องตัวผู้มีลักษณะเป็นแผ่นโค้งคล้ายกระบอกไม้ไผ่ผ่าซีกหรือกาบกล้วย กระเบื้องตัวเมียมีลักษณะเป็นแผ่นแบนขอบทั้งสองข้างงอขึ้นเล็กน้อย ในการมุงหลังคาจะวางกระเบื้องตัวผู้ครอบลงบนขอบของกระเบื้องตัวเมีย กระเบื้องลอนมีชื่อเรียกอื่นๆว่า กระเบื้องกาบกล้วย กระเบื้องกระบู หรือกาบู

กระเบื้องดินขอ (ที่มา:รายงานเบื้องต้นการขุดแต่งและขุดค้นโบราณสถาน หมู่บ้านฮอลันดา . คลองสวนพลู อ. พระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา ปีงบประมาณ พ.ศ.2547 หน้า ๘๕)

 

กระเบื้องราง(ที่มา:ายงานเบื้องต้นการขุดแต่งและขุดค้นโบราณสถานหมู่บ้านฮอลันดา . คลองสวนพลู อ. พระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา ปีงบประมาณ พ.ศ.2547 หน้า ๘๘)

               กระเบื้องแผ่นเรียบ มีลักษณะเป็นแผ่นแบนเรียบ กระเบื้องมุงหลังคาที่จัดว่าเป็นกระเบื้องแผ่นเรียบ เช่น กระเบื้องดินขอ และกระเบื้องเกล็ดเต่า

  • กระเบื้องดินขอ เป็นกระเบื้องแผ่นเรียบปลายตัดตรง
  • กระเบื้องเกล็ดเต่า เป็นกระเบื้องแผ่นเรียบปลายตัดเป็นมุมแหลม คล้ายกระดองเต่า

             กระเบื้องราง เป็นกระเบื้องมุงหลังคาแบบจีน ลักษณะเป็นแผ่นโค้งหงายคล้ายคลื่น เมื่อใช้มุงหลังคาจะต้องใช้ปูนปั้นเป็นสันโค้งทับรอยต่อระหว่างแผ่น

การมุงกระเบื้องราง(ที่มา:ศัพทานุกรมโบราณคดี หน้า ๑๕)

                 สำหรับในจังหวัดชุมพรพบกระเบื้องมุงหลังคาที่วัดบางลึก ซึ่งเป็นกระเบื้องลอน นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุอื่นๆ เช่น กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา ภาชนะดินเผา กระปุกเคลือบแบบต่างๆ เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าแต่ก่อนในบริเวณวัดบางลึกคงจะมีสถาปัตยกรรมที่มีหลังคาคลุม ซึ่งอาจจะเป็นโบสถ์ หรือวิหาร และวัดบางลึกคงจะเป็นวัดสำคัญซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

 

 

ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ 

กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2550.

ประทีป เพ็งตะโก. “กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา.” วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) คณะโบราณคดี    มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2540.

พิทักษ์ สุขพิพัฒนามงคล. รายงานเบื้องต้นการขุดแต่งและขุดค้นโบราณสถาน หมู่บ้านฮอลันดา . คลองสวนพลู อ. พระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา ปีงบประมาณ พ.ศ.2547. 

 


หมายเลขบันทึก: 471930เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2011 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท