เปิดประตูแหล่งความรู้ชุมชน


ผมนึกถึงบรรยากาศตอนที่ทำงานจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน ในพื้นที่ 3 ตำบล ของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ร่วมกับ 9 องค์กร ที่มีพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเจ้าภาพหลัก ว่ามันบรรยากาศคล้ายๆกัน กับจัดการความรู้แก้จนเมืองนครก็เป้าหมายคล้ายกัน....ผมได้เครือข่ายคนทำงานจากพี่น้องชาว พช. คนคอเดียวกันหลายท่านครับ

        ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน

        ระหว่างวันที่ 23 - 25 สิงหาคม 2549     กรมการพัฒนาชุมชน จัดประชุมสัมมนาโครงการศึกษารูปแบบศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ขึ้น ณ วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตั้งชื่องานประชุมเสวนาครั้งนี้ว่าเปิดประตูแหล่งความรู้ชุมชน

        เรื่องนี้ผมคิดว่ามันไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับผมเท่าไหร่นะครับ แต่ในที่สุดมันก็มาเกี่ยวข้องจนได้ เมื่อกรมการพัฒนาชุมชนได้ติดต่อ สคส.เพื่อเชิญไปเป็นวิทยากร แต่จะด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ อาจจะไม่มีใครว่างไปหรืออย่างไรนี่แหละ น้องอ้อ จาก สคส.ในฐานะคนรู้จักคุ้นเคยกันกันคงจะแว้ปนึกถึงผมขึ้นมา เลยแนะนำให้กรมการพัฒนาชุมชนเชิญผมให้ไปร่วมงานครั้งนี้ ผมจึงต้องไปครับ จะไม่ไปก็ไม่ได้ เพราะเกรงใจน้องอ้อและคณะจาก สคส.ครับ มันเหมือนว่าเป็นญาติกันไปแล้ว หัวข้อเรื่องที่คณะผู้จัดกำหนดให้ไปร่วมพูดคุย  คือ "การใช้เครื่องมือในการบันทึกและการจัดกระบวนการขับเคลื่อนและเผยแพร่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนให้สามารถเป็นชุมชนต้นแบบ" ซึ่งหัวข้อนี้จัดโปรแกรมไว้ในระหว่าง 09.00-12.00 น.ของวันที่ 25 ส.ค.49

        เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องไปร่วม ผมจึงตัดสินใจเดินทางในเช้าวันที่ 24 ส.ค.49 ไปถึงจังหวัดชลบุรีสิบเอ็ดโมงกว่าๆ ไม่แวะที่ไหน มุ่งตรงไปห้องประชุมอย่างเดียว กิจกรรมในห้องประชุมสัมมนาขณะนั้น คุณพี่ขจร ทิพาพรหม จากชุมชนไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช กำลังเล่างานศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไม้เรียงอยู่พอดี อุ่นใจขึ้นมาหน่อยเมื่อเจอคนบ้านเดียวกัน  คลายความกังวลไปได้เยอะ ผมเรียกคุณขจรว่าพี่จร เพราะพี่เขาทำงานอยู่กับเครือข่ายยมมนา กับคุณน้าประยงค์ รณรงค์ (รางวัลแมกไซไซ) อยู่ในโครงการแก้จนเมืองนครด้วยกัน

      ผมเองนั้นไม่ค่อยเข้าใจเป้าหมาย      รายละเอียดของโครงการนี้เท่าใดนัก จึงพยายามที่จะศึกษาทำความเข้าใจกับเป้าหมายรายละเอียดของโครงการ โทรศัพท์พูดคุยกับเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโครงการคือน้องขวัญดาว เวชกุล ผอ.สุณี สุทธิวานิช ผอ.กลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาระบบบริหารจัดการชุมชน และอ่านศึกษาเอกสารโครงการที่แนบไปด้วย 1 หน้า เกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย ทำให้เข้าใจว่า เป้าหมายคือคือต้องการที่จะนำความรู้ที่แต่ละชุมชนมีอยู่แล้ว สั่งสมมายาวนาน ดึงออกมาเป็นความรู้ภายนอก จัดระบบความรู้อย่างไร ให้น่าศึกษา น่าใช้สำหรับการพัฒนาและขับเคลื่อนชุมชนต่อไป ในรูปแบบของศูนย์การเรียนชุมชน และเมื่อได้ศึกษาต่อไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วม จำนวน 32 คน ทำให้ทราบว่าล้วนแล้วแต่เป็นผู้นำชุมชน ที่คัดแล้วว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ เรียกว่าเป็น best practice กันทั้งนั้น อีกทั้งเมื่อศึกษาวิธีการประชุมสัมมนาที่ทางคณะผู้จัดออกแบบไว้ก็เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างกลุ่มเป้าหมายผู้นำต่างๆ ทำนองพี่สอนน้อง เพื่อนสอนเพื่อน ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเตรียมข้อมูลข้อมูลคนเก่งของชุมชนเป็นใคร เทคนิคการทำงานของคนเก่ง รูปแบบการถ่ายทอดการทำงานของคนเก่งสู่ผู้ปฏิบัติคนอื่นๆและสรุปชุดความรู้จากการลงมือปฏิบัติกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง เรียกว่าเมื่ออ่านวิธีการประชุมสัมมนาแล้วก็จะทำให้รู้ว่าเป็นกิจกรรม KM เอามากๆเลย เนียนจริงๆ ผมคิดว่าการที่ผมได้โทรศัพท์พูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง อ่านศึกษาเอกสาร และได้ไปถึงที่ประชุมก่อนทำหน้าที่ครึ่งวัน ทำให้ผมมีต้นทุนความรู้ความเข้าใจมากพอที่ผมจะต่อเนื่องในเรื่องที่ผมจะต้องทำหน้าที่นำพูดคุยในเช้าวันรุ่งขึ้นได้

             พอถึงช่วงเช้าวันรุ่งขึ้น เช้าวันที่ 25 ส.ค.49   หลังจากที่ผมเล่างานที่ผมทำที่จังหวัดนครศรีธรรมราชว่าทำอะไรมามั่งแล้ว ได้สร้างเครื่องมือบันทึกความรู้สำหรับคุณกิจอะไรมามั่ง ผมจึงให้แต่ละท่านได้บันทึกเรื่องเล่าของตนเองที่ได้เล่าไปเมื่อวานลงในกระดาษ เอ 4 คนละ 1 เรื่อง เป็นการฝึกเขียนดึงเอาความรู้ในตัวออกมา  ในที่สุดได้เรื่องเล่ามามากมาย ตัวอย่างชื่อเรื่องเล่าที่ฝึกเขียนกัน เช่น เรื่องเล่าของผู้หญิงกับการเรียนรู้ทั่วๆไป  สิ่งที่ภูมิใจของนักพัฒนา วิธีการทำศูนย์การเรียนชุมชนตำบลทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ครั้งหนึ่งที่ก่อตั้งออมทรัพย์ของตำบล ปัจจัยที่ทำให้งานทำสำเร็จ เป็นต้น จากนั้นผมได้ให้ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาได้ฝึกถอดบทเรียนในงานที่ทำ ก็อาศัยงานจากที่เล่า / เรื่องที่เพิ่งได้บันทึกแล้วนั่นแหละครับ ว่ายังจะต้องปรับปรุงพัฒนาอะไรอีกหรือไม่  (กิจกรรมช่วงนี้ใช้แบบฟอร์มถอดบทเรียนในโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครที่ผมนำไปแลกเปลี่ยน) ถอดบทเรียนเสร็จก็ให้เล่าให้ที่ประชุมฟัง จากนั้นก็ให้ที่ประชุมช่วยกัดสกัดความรู้เพิ่มเติมเพื่อเอาไปเป็นประโยชน์กับงานตนเองหรือช่วยกันแนะนำเจ้าของผลงานต่อไป ซึ่งเป็นกิจกรรมฝึกการสกัดความรู้ ความรู้ที่ถอดและสกัดได้หล่านี้ ผมโยงไปให้เห็นว่ามันจะเป็นประโยชน์กับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต่อไป การจัดกิจกรรมต่อเนื่องในศูนย์การเรีนยรู้ชุมชนได้อย่างไร เช่น การจัดตลาดนัดความรู้ในชุมชน เป็นต้น

         จากการที่ได้ไปร่วมประชุมสัมมนาครั้งนี้ ทำให้ผมได้ความรู้และได้ประสบการณ์หลายอย่าง ได้เห็นถึงความตั้งใจจริง ทั้งของผู้เข้าร่วม และของผู้จัดการประชุมสัมมนา ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของประชาชน ผมนึกถึงบรรยากาศตอนที่ทำงานจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน ในพื้นที่ 3 ตำบล ของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ร่วมกับ 9 องค์กร ที่มีพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเจ้าภาพหลัก ว่ามันบรรยากาศคล้ายๆกัน กับจัดการความรู้แก้จนเมืองนครก็เป้าหมายคล้ายกัน....ผมได้เครือข่ายคนทำงานจากพี่น้องชาว พช. คนคอเดียวกันหลายท่านครับ

หมายเลขบันทึก: 47128เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2006 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • เนียนจริงๆ ทั้งคนจัด และวิธีการของครูนง
  • เห็นด้วยครับ คนทำKMเหมือนเป็นญาติกันครับ ไม่เชื่อก็ลองลงมือทำดู...ใช่ไหมครับครูนง
     มาดูไซครับ ดักไว้ตั้งแต่เมื่อวาน ตั้งหม้อแกงต้มส้ม (มะขาม) ไว้แล้ว เดี่ยวจะเอาปลาไปแกงครับ กะว่าจะแกงส้มเพราะได้ปลาตัวเติบครับวันนี้
     วันที่ 25 ผมไม่ได้ไปเจอครูนง นึกเสียดายอยู่ครับ แต่ก็คาดหวังที่จะได้พบเจอกันเร็ว ๆ นี้นะครับ
  • ตามท่านสิงห์ป่าสัก กับท่านชายขอบมาครับ
  • อ.จำนงช่วงนี้เดินทางช่วยเพื่อนหลายที่นะครับ
  • มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนอย่างนี้ได้ประสบการณ์เพียบเลยนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท