เวทีนำเสนอโครงงานเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ LLEN มหาสารคาม ครั้งที่ 1 ประจำปี 2554


วันที่ 9 ธันวาคม 2554 เป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ครบ 44 ปี ตั้งแต่เริ่มตั้งเป็นวิทยาลัยการศึกษา ก่อนจะมาเป็น มศว. และเป็น มมส. ในวันนี้ วันที่ผมภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดงานร่วมเฉลิมเพิ่มกิจกรรม "นำเสนอโครงงานเพื่อพัฒนาการเรียนรู้" ของ LLEN มหาสารคาม

LLEN มหาสารคาม แบ่งดำเนินการมา 2 ปี แบ่งเป็น 4 ก้าวเดิน ทุกย่างก้าวเดินได้รายงานการดำเนินการไว้อย่างละเอียดที่ "ก้าวแรกของ LLEN มหาสารคาม" "ก้าวที่สองของ LLEN มหาสารคาม" และ "ก้าวที่สามของ LLEN มหาสารคาม" และ เรื่องเล่าจาก Best Practice ที่ "การเรียนรู้ผ่านโครงงาน ณ เชียงยืนพิทยาคม" วิธีการคือเข้าไปหนุนเสริมให้โรงเรียนจัดการเรียนรู้ผ่านโครงงานแบบบูรณาการบนฐานปัญหา ณ แหล่งเรียนรู้เชิงพื้นที่ โดยมีสมมติฐานว่า เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการทำโครงงานแล้ว ทักษะการคิดวิเคราะห์ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเจตคติต่อการเรียนจะดีขึ้น โดยยึดหลักว่า นักเรียนจะต้องเป็นผู้ทำโครงงานเองทุกขั้นตอน ครูเป็นเพียงผู้เข้าไปช่วยเหลือ ตั้งคำถาม เอื้ออำนวยให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ เน้นส่งเสริมแรงบันดาลใจของนักเรียนเป็นสำคัญ

วันนี้มีโครงงานทั้งหมด 84 โครงงาน (ตอนประชุมเตรียมงาน ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็น 84 โครงงานให้ตรงกับ พระชนมพรรษา 84 พรรษา ในหลวง) ตอนเปิดงานเข้าใจว่ามีทั้งหมด 80 โครงงาน แต่โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคมแจ้งว่า มีนักเรียนนำมา 17 โครงงาน ไม่ใช่ 13 โครงงาน จึงรวมเป็น 84 โครงงาน เรื่องนี้ผมไม่ได้คิดไว้ แต่อาจจะมีใครตั้งใจก็ขออนุโมทนาด้วยครับ 

ในเวทีครูเครือข่ายในตอนบ่ายวันนี้ เราร่วมกันทำ AAR ด้วยข้อคำถาม 3 ประโยคว่า อะไรที่สมดังหวังไว้ ความประทับใจ และปัจจัยแห่งความสำเร็จ อะไรที่ยังไม่เสร็จแต่อยากให้เกิด และ LLEN จะทำอย่างไรดีในปีหน้านี้และปีถัดๆไป

ผลการจัดกิจกรรมและผลดำเนินการที่ประจักษ์จากตัวนักเรียนนั้นขอยกยอดไปเขียนไว้ใน "ก้าวที่สี่ของ LLEN มหาสารคาม" นะครับ วันนี้ผมขอทำ AAR สำหรับงานที่ผ่านมากทุกก้าว (รวมถึงการจัดงานในวันนี้ด้วยครับ) ในมุมมองของเลขานุการ LLEN มหาสารคาม ครับ

1) สิ่งที่ผมประทับใจที่สุดคงเขียนลงได้ยาก เพราะเรื่องที่ประทับใจนั้นมีทั้งกับมากคน และกับมากเรื่อง ซึ่งไม่อาจเปรียบเทียบให้เห็นที่สุดได้ ขอพูดไว้เป็นด้านๆ ดังนี้ครับ

ด้านเครือข่าย

  • ผมประทับใจและภูมิใจมหาวิทยาลัยของเรามาก เพราะทั้งผู้บริหาร อธิการ ผอ.สำนักศึกษาทั่วไป (หัวหน้าโครงการฯ) ท่านเต็มที่เรื่องการสนับสนุน ให้โอกาส เวลา เงินตรา และผู้ช่วยมือดี มาลุยงานนี้แบบมาทัังใจจริงๆ ครับ ข้อนี้ต้องยอมรับว่าเป็นความแยบยลของ สกว. เพราะเลือกหัวหน้าโครงการได้ตรงประเด็นจริงๆ ผมเคยสงสัยในครั้งแรก ที่เดินทางไปร่วมประชุมกับ สกว. ว่า ทำไมหัวหน้าโครงการมีแต่ผู้บริหารทั้งนั้น (เหมือนว่าจะเป็นคณบดีเยอะมาก) เพราะผู้บริหารไม่น่าจะมีเวลามาทำงานเชิงลุยให้เกิดเครือข่ายจริงๆ "ภายใน" เว้นแต่จะเป็นการพูดคุยให้เกิดเครือข่าย "ภายนอก"  ตอนหลังความคิดผมเริ่มเห็นด้วย เพราะการหา "ขาลุย" สำหรับผู้บริหารที่ "เปิดใจ" นั้นไม่ใช่เรื่องยาก
  • ประทับใจผู้บริหารโรงเรียน 7 ท่าน คือ 1) ผอ.คมณ์ แคนสุข โรงเรียนขามป้อมพทยาคม แต่ก่อนท่านอยู่โรงเรียนหนองโก 2) ผอ.สรุเชษฐ์ ช่างถม 3) รอง ผอ.สมบัติ โรงเรียนเชียยืนพิทยาคม 4) ผอ.องอาจ สว่างทิศ โรงเรียนโคกก่อพิทยาคม 5) ผอ.สุรภีร์ ค่ายหนองสรวง ผอ.กองศึกษาฯ ของ อบจ. 6) ผอ.พิสิษธ์ สุพรรณศรี 7) ผอ.มนูญ เพชรมีแก้ว ท่านทั้ง 7 นี้ผมประทับใจในมุมที่แตกต่างกัน ท่านที่ 1) ผมว่าท่านประสานกับสถานศึกษาในพื้นที่เก่งมาก ข้อเด่นคือท่านไม่ได้ประสานเฉพาะกับผู้บริหารแต่ยังให้โอกาสคนทำงานด้วย ผมว่าบุคลิกและสไตล์คล้ายกับ ผอ.พชรวิทย์ หัวหน้าโครงการเรามาก  ท่านที่ 2) ผมว่าท่านทำงานสไตล์ผู้นำความคิดแบบปฏิบัติให้ดูอยู่แล้ว วิธีการที่เราทำที่ LLEN อาจไม่จำเป็นก็ได้ครับ ท่านที่ 3) ท่านไม่ค่อยพูดมากครับ แต่ปฏิบัติเยอะ คุณอ้อที่ มสส. ก็มากระซิบผมเหมือนกันครับ ท่านที่ 4) ท่านไม่ใช่เฉพาะสนับสนุนอย่างมีระเบียบเท่านั้นครับ ท่านยังไปลุยดูด้วยตนเองด้วย เป็น ผอ.ที่ผมว่าท่านทำงานเชิงลุยเหมือน ผอ.คมณ์ ท่านที่ 5) ท่านคนนี้ไม่ถือตัว ใจกว้างขวาง เปิดโอกาส  และที่สำคัญท่านฉลาดงานกับนักการเมืองแบบวิธีที่ต้องเก็บเป็นความลับไว้ไปปรับใช้ ผมว่าแนวคิดของท่านไม่ต่างจากแนวทางของ สกว.เท่าใดนัก ท่านที่ 6) ตกมาปลายปีนี้ผมก็เริ่มมี่หลักฐานว่า ท่านก็เข้าใจและเห็นด้วยกับแนวทางนี้เช่นกัน ท่านที่ 7) เคยเจอท่านครั้งเดียวที่โรงเรียนขณะไปทำ pre-test ท่านบอกผมหลังจากผมอธิบายว่ามาทำอะไรว่า "ดีแล้ว" ทำต่อไป และอธิบายปัญหาว่าทำไมคะแนนโอเน็ตของนักเรียนจึงต่ำให้ผมเห็นภาพขึ้นเยอะมากครับ
  • ประทับใจผู้บริหารกองการศึกษาฯ ของ อบจ. กับหลักการทำงานของท่าน "โค๊ชก็ไม่พอ เทรนเนอร์ก็ไม่พอ ผมอยากให้ผอ. โรงเรียน อบจ. เป็นครูด้วย คือทำให้ดูได้"
  • ประทับใจเครือข่าย ครูกับครู หรือ ใครกับใคร ที่ใจเปิดให้แก่กัน ได้แก่ ครูเพ็ญศรีครูวิรัตน์ครูต๋อยครูขวัญเชียงยืน ครูเพ็ญศรีนาสีนวนฯ ครูวรารัตน์มะค่า ครูภัทรานิษฐ์โกสุมฯ ครูแจ๋นเขวาไร่ ครูอ๋อยหนองเหล็ก ครูสุจิตต์และครูจินท่าขอนยาง ครูนิคมสาธิตฯ ครูสุทินและครูป๋องนาเชือกฯ ครูพจมานย์และครูป๋องแกดำ ครูต๋อยครูจารุรัตน์และครูสายหยุดบรบือ ครูพยนต์และครูรักสัตย์นาดูน ครูนงเยาว์นาข่า ครูเพียรศรีขามป้อม ครูชุติมาหนองโกฯ และอีกหลายๆ ท่านที่ผมไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งท่านอาจจะอยู่เบื้องหลังเป็นส่วนมาก 
  • เครือข่ายกับ สพม. ถึงแม้ว่าจะยังไม่มี แต่คนที่ผมประทับใจตอนนี้มีแล้วครับ ก็คือ อาจารย์พิทักย์ กับอาจารย์ดุจดาว จาก สพฐ. ผมพยายามเขียน mind map สรุปประเด็นให้ได้อย่างคนแรก และเป็นเรื่องแปลกที่แค่เจอกันเพียงครั้งแรกในเวที PLC_2nd กับท่านหลัง ผมรู้สึกเหมือนดังจะไม่เกรงใจท่านนัก "เปิด และ เย็น" สมกับเป็น คน KM จริงๆ ครับ
  • เครือข่ายระหว่างโรงเรียนกับปราชญ์ชาวบ้าน เครือข่ายระหว่างโรงเรียนกับโรงพยายบาลส่งเสริมสุขภาพ เครือข่ายระหว่างผู้บริหาร อบต.กับโรงเรียน และเครือข่ายระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง เหล่านี้ เกิดมีไม่มากก็ไม่น้อยแล้วใน 2 ปีที่ผ่านมา อยากให้ครู LLEN แต่ละโรงเรียนเขียน  AAR ในข้อนี้ครับ

ด้านพัฒนาศักยภาพครู 

  • ประทับใจ "วิถีและวิธี" ที่ครูเพ็ญศรีใช้กับนักเรียนอย่างยิ่ง ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมากจากการสังเกต อย่างน้อย 7 ประการ ได้แก่ 1) ไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว มานะอัตตาต่ำมาก (คนที่ไม่มีมานะอัตตาคือพระอรหันต์...ฮา) 2) ไม่ยึดตนเองเป็นใหญ่แต่ทุ่มเทใจให้นักเรียนหรือศิษย์เป็นหลัก 3) เรียนต่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทเพื่อไปนำความรู้มาพัฒนาตนเองในการพัฒนาเด็ก (ข้อนี้สำคัญยิ่ง) 4) เก่งเรื่องตั้งคำถามกับเด็ก คำถามประเภทที่ "นำไปสู่คำตอบของคำถามของนักเรียน หรือคำถามที่มีในใจนักเรียน (มี sense) และถามคำถามเพื่อให้นักเรียนค้นหาคำตอบของคำถามที่ควรจะตอบซึ่งนักเรียนยังไม่รู้ได้" และ 5) มีทักษะการเรียนรู้ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย จึงทำให้มีทักษะทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งตรงนี้ผมว่า ครูยุคใหม่ในแต่ละโรงเรียนอย่างน้อยต้องมีสักหลายคน จำเป็นต้องมี ในข้อนี้ครูเพ็ญศรีเป็นต้นแบบได้ครับ 6) สามารถทำวิจัยบนฐานปัญหา "หน้างาน" นำผลการวิจัยมาปรับใช้ได้ 7) มีความต่อเนื่องและให้ความสำคัญกับการทำทุกอย่างเป็นวงจร วงลูป (วงจรแห่งการเรียนรู้ ถ้าเป็นการประกันการศึกษาก็น่าจะเรียกว่า วงจรคุณภาพ...ฮา)  (เดี๋ยวมาเขียนต่อครับ) 
  • ประทับใจใน "จิตวิทยาการสอน" อันล้ำลึกของครูนงเยาว์ครับ แต่ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมท่านต้องไปเรียน "บริหาร" ผมอาจจะมองไม่เห็นในสิ่งที่ท่านเห็นก็ได้ครับ.....
  • ประทับใจ จิตใจที่มุ่งมั่นของครูอัจฉราวรรณ หรือผมเพิ่งกล้าเรียกครูอ๋อยหนองเหล็กแทนอาจารย์อัจฉราวรรณ เมื่อไม่นานมานี้เอง ผมชื่นชมครูอ๋อยใน 3 ประเด็นเด่นดังนี้ 1) ความเข้าใจบริบทของพื้นที่และขีดจำกัดของการเรียนของนักเรียนได้ดีมาก ผมวัดจากที่ครูอ๋อยพัฒนาวิธีการสอนจากฉลากขนม การพานักเรียนทำโครงงานบนฐานผลิตภัณฑ์โอท๊อปจากหมู่บ้าน ซึ่งสามารถสร้างเจตคติต่อการเรียนให้กับนักเรียนได้ดีมาก 2) ความอดทน ความอึด ความเอาใจใส่ ครูอ๋อยจะมาร่วมทุกครั้ง งานเขียนเรื่องเล่าการสอนด้วยฉลากขนมครูอ๋อยส่งต้นฉบับผมมานานแล้ว แต่ผมเองยังไม่ได้ขยับส่งกับคืน นานขนาดนี้ถ้าเป็นคนอื่นๆ คง "ไปแล้ว" 3) ครูอ๋อย "Active" มากครับ ครูที่แอ็คทีฟแบบครู๋มีเหมือนกันครับ แต่มีไม่เยอะนัก ถ้าครูอ๋อยเห็นเป้าและวิธีการของ สกว. ผมว่าเรา "วิ่งฉิว"
  • ประทับใจ ครูเพ็ญศรี นาสีนวน  ใน 3 เหตุ ดังนี้ 1) ครูเพ็ญศรีมีวิธีคิดคล้ายผมคือ ให้ความสนใจกับปัญหา และภูมิปัญญาที่มีในท้องถิ่น ผมจำได้ว่า ครังแรกเราคุยกันเรื่อง "ย้อมสีแห" ซึ่งคนอีสานมีภูมิปัญญาด้านนี้ แต่มีเพียงครูเพ็ญศรีที่เห็นดีว่าจะนำเรื่องนี้มาสอนวิทยาศาสตร์  2) ครูเพ็ญศรีมีวิสัยทัศน์ก้าวหน้า สังเกตจากที่ท่านเตรียมและฝึกฝนทักษะด้านภาษาอังกฤษ และพยายาม สมัครเข้าโครงการต่างๆ ที่จะไปหาประสบการณืที่ต่างประเทศ เป็นต้น 3) ครูเพ็ญศรี ทำงานเชิงรุก นี่คือปัจจัยที่ทำให้ โรงเรียนนาสีนวน ได้ทุน สสค. และกำลังดำเนินต่อ ในแนวของ LLEN  มหาสารคาม 
  • ประทับใจ "ความสามารถและศักยภาพหลายด้าน" ของครูคุณากรหรือครูป๋อง ผมได้แต่หวังว่าครูป๋องจะไม่ไปหลงกระแสเข้าไปหาเงินในเมืองกรุงเหมือนคนอื่นๆ ที่หลงอยู่กับเพียงแค่ความต้องการเพียง 3 ขั้นของ Maslow 
  • ประทับใจ "ความรอบรู้เรื่องสมุนไพรและภูมิปัญญาชาวบ้านของ" ของครูสุทิน ผมว่าผู้ที่จะสอนได้อย่าง "แพรวพราว" บูรณาการบนฐานปัญหาและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ดีมากๆ คือครูสุทินนี่แหละ แต่มีข้อแม้ว่าท่านต้องมีศรัทธาและความเชื่อมั่นในวธี PBL ก่อน 
  • ประทับใจ "ห้องเรียนคณิตศาสตร์ของครูจินตนา" วันที่ผมไปเยียมห้องเรียน ผมประเมินในเบื้องต้นวา ทัศนคติของผู้เรียนแจ๋วนัก เหลือแต่เพียงใช้หลักการสอนแบบ PBL เข้าไป ซึ่งผมว่าครูจินตนา "เก๊ต" แล้วถึงแนวของ สกว.
  • ประทับใจครูป๋อง ฉวีวรรณ ที่ช่วยแบ่งปันหลักคิดของ สกว. ครับ  ครูฉวีวรรณทำวิจัยกับ สกว.มาก่อน ผมเลยโชคดีมีครู "สอนผมแบบถาม" ทำใช้แนวทางชัดเจนขึัน ผมเคยคิดว่าครูฉวีวรรณ คงต้องลำบากหากจะทำแบบ LLEN มหาสารคาม เพราะการเดินทางไปกลับไกลจากโรงเรียน แต่มาวันนี้้ กับหลักที่หมอวิจารณ์เน้นย้ำ ว่า "การสอนที่ถูกต้องไม่เพิ่มภาระครูและนักเรียน" ผมจริงคิดว่าสอนแบบ PBL ทำได้แน่ถึงแม้ว่าจะใช้เฉพาะเวลาเรียน 
  • ประทับใจ "ความสุภาพและความเป็นผู้ใหญ่" ของครูวิรัตน์ ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่เชียงยืนอีกประการคือการทำงานเป็นทีม หลายครั้งที่ผมรู้สึกว่า ครูเพ็ญศรีมีที่ปรึกษาที่ดีมาก ทุกครั้งที่ครูวิรัตน์พูดกับผมจะวางตัวเหมือนผู้ไม่รู้ แต่มักจะยิงคำถามที่ผมฉุกคิดได้ว่า ผมต่างหากที่ไม่รู้ และหลายครั้งที่ผมได้ยินครูเพ็ญศรีเล่าว่าได้ปรึกษากับครูวิรัตน์ "จะเอายังไงดี" บ่อยๆ
  • ประทับใจ "ครูผู้ใหญ่ใจดี อารมณ์ดี ชื่อ ต๋อย" มีครูต๋อยตั้งสองคน (เชียงยืนและบรบือ) ผมทึกทักเอาว่าที่ผมอารมณ์ดีเพราะมีชื่อ "ต๋อย" เหมือนท่านทั้งสอง (ยกเว้นต๋อยไตรภพ คนนี้เครียด) ส่วนคำว่า "ครูผู้ใหญ่" นั้นคงไม่ต้องอธิบาย บ้านเมืองเราปั่นปวนเพราะ ผู้บริหารผู้บริหาร ไม่เป็น "ผู้ใหญ่" นั่นแหละครับ
  • ประทับใจ "ความจริงจังและมั่นใจ" ของครูแจ๋นจากเขวาไร่ ท่านมีวิธีของท่าน มีสไตล์และความเชื่อมั่นของตนเอง ผมคิดถึงครูแจ๋นทุกครั้งที่จะชวนใครไปดูงาน สุดท้าย ผมก็ยังต้องฝากครูแจ๋นไว้คราวหน้า เพราะผมยังเข้าใจว่า ครูแจ๋นคงยังไม่ให้โอกาส การสอนแบบ สกว.
  • ประทับใจ "ความต่อเนื่องติดตาม" ของครูภัทรนิษฐ์ โกสุมฯ ตั้งแต่วันแรก ผมก็ติดต่อท่าน และวันนี้ ครูภัทรนิษฐ์ ก็ยังมาติดตามและตามติด ขอโอกาสผมทำงานต่อนะครับ อาจารย์....
  • ประทับใจ "ความรับผิดชอบ" ของอาจารย์นิคม จากสาธิตฯ ผมรู้ว่างานที่นั่นหนักมาก และสไตล์แตกต่างจาก สกว. แบบคนละทิศ ก็ขอเป็นกำลังใจให้สู้ต่อไปครับ
  • ประทับใจเพื่อนผู้มีแนวปรัชญาชีวิตเหมือนจะคล้ายกัน ครูขวัญเชียงยืน ถึงแม้ว่าตอนนี้ไม่รู้ว่ามีศรัทธากับ จิตตปัญญาอยู่หรือไม่ครับ
  • ประทับใจครูพยนณ์ นาดูนฯ ถึงแม้ว่าทุนสนับสนุนจะไม่เยอะ แต่ท่านมาทุกครั้งที่เราเชิญ ช่วยเหลือเกินงบฯที่ให้ไปแน่ๆ  ขอบพระคุณมากครับ... อย่าเพิ่งไปไหนนะครับอาจารย์ ผมกำลังประสานงานใหญ่...
  • ประทับใจ "ความเก่งในการสนทนา" ของครูรักสัตย์ หากท่านตัดหรือลดเรื่องรางวัล แล้วมาร่วมกันเดินบนทางเพื่อศิษย์ ท่านจะเป็น "ครูฟา" ที่สุดยอดแน่ๆ ครับ
  • ประทับใจความเอาใจใส่นักเรียนของครูพจมานย์แกดำ สิ่งที่ไปดูที่เชียงใหม่คงได้ไปแลกเปลี่ยนกับเด็กไม่มากก็ไม่น้อยนะครับ

ด้านศักยภาพนักเรียน ..... เอาไว้เขียนหลังจากเห็นแบบประเมินก็แล้วกันนะครับ

2) สิ่งที่ยังไม่เสร็จแต่อยากจะให้เกิด/ปัญหาและอุปสรรค

  • เวทีนำเสนอผลงาน โครงการเพื่อการเรียนรู้ ยังดูเป็นเวที "การแสดง" อยู่มาก ตามที่หลายๆ ท่านได้เปรยๆ ครับ ปีต่อไปคงต้องแยกกันให้ชัดเจน
  • เป้าหมายหลักของเวทีวันนี้คือ นักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่างโรงเรียน น่าจะล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า เพราะว่า สถานที่และการวางตำแหน่งของโครงงาน ไม่ได้เป็นกลุ่มๆ ตามหวังไว้ ปัญหาในเรื่องนี้คือ สถานที่ๆ คับแคบเพราะถูกสั่งให้ย้ายจากอาคารพลศึกษามาที่สำนักงานกองกิจฯ กลุ่มที่วางไว้ได้แก่ 1) กลุ่มสิ่งประดิษฐ์ทั่วไป 2) กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง 3) กลุ่มสมุนไพรในบ้านและอาหาร 4)กลุ่มสมุนไพรที่เป็นยา 5) กลุ่มวิทยาศาสตร์ทั่วไป 6) กลุ่มมนุษย์ สังคม และภาษา ฯลฯ ไม่ได้วางตำแหน่งตามกลุ่ม และอีกปัญหาคือ เวลาไม่พอในการแลกเปลี่ยน
  • อยากมีคลีนิคครูหรือศูนย์ครูช่วยครู ที่มีผู้รู้แวะเวียนมาเสมอๆ
  • อยากมีระบบ "โควรับตรงแบบส่งจากเครือข่ายครู" กล่าวคือ ครูเครือข่ายแต่ละโรงเรียนที่รู้ศักยภาพและความถนัดของนักเรียนเป็นรายบุคคล ส่งรายชื่อมายังมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนำรายชื่อนักเรียนทั้งหมดมอบให้คณะจัดสอบวัดศักยภาพรอบแรก (ไม่มีการสอบจัดลำดับ แต่วัดความรู้พื้นฐานที่จำเป็น ว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่) หากมีจำนวนนักเรียนเยอะกว่าที่จำนวนที่รับได้ คณะจัดสอบวัดความถนัดหรือทักษะและสอบสัมภาษณ์ (แล้วคัดเลือก โดยคณะต้องอธิบายว่า นักเรียนคนที่สอบไม่ได้ เป็นเพราะขาดทักษะในด้านใดอย่างไร สมควรพัฒนาอย่างไร ครูแนะแนวควรแนะไปทางใด เป็นต้น) นักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ได้เข้าเรียน จะมีการบันทึกผลการเรียนและความประพฤติ หากผลการเรียนไม่ดีหรือความประพฤติไม่เรียบร้อย จะส่งผลต่อโควต้าหรือเครดิตของโรงเรียนที่นักเรียนมา (ปีต่อมาจำนวนโควต้าจะลดลง พร้อมทั้งส่งผลการเรียนและความประพฤติไปยังโรงเรียนด้วย อาจมีประโยชน์ต่อการวางระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนต่อไป) เป็นต้น ในทางกลับกัน หากนักเรียนจากโรงเรียนนั้น ทำดี ผลการเรียนดี สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย จะเพิ่มเครดิตและโควต้าพร้อมทั้งการยกย่องจากมหาวิทยาลัยไปยังโรงเรียนด้วย.... ไม่ทราบว่าจะดีหรือไม่
  • อยากให้อาจารย์มหาวิทยาลัย มองการศึกษาทั้งระบบว่าเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ของคณะศึกษาศาสตร์ หรือเพียงรอปรามาสเพียงว่า "นักเรียนที่เข้ามามีพื้นฐานอ่อน"
  • อยากให้ครูทุกคน "ลดอัตตาตัวตนลง" เพราะเป็นทางเดียวที่ แนวทาง PLC จะสำเร็จ
  • อยากให้มหาวิทยาลัยหันมาให้ความสำคัญของ "การศึกษา" เปลี่ยนวิธีการคิด เปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอน หันมาเน้นปลูกป้อนอดุมการณ์และความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนเอง
  • อยากให้ครูเข้าใจว่า ขณะนี้ระบบการศึกษาของไทย "หลังพิงฝา" แล้ว 
  • อยากให้นักเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการทำโครงงานด้วยตนเอง
  • อยากให้นักเรียนทุกคนรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของ "ทักษะสำหรับอนาคต"
  • อยากให้นักเรียนรู้จักตนเอง
  • อยากให้นักเรียนมีความภูมิใจในท้องถิ่น บ้านเกิด วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเอง
  • อยากให้ครูและนักเรียนเห็นความสำคัญของ "เกษตรกรรม"
  • อยากให้อาจารย์มหาวิทยาลัยทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อ "เกษตรกรรม" ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่โดยตรงก็ตาม

ฯลฯ

3) แผนการดำเนินงานในปีหน้านี้และปีถัดๆ ไป

  • ค้นหาและผลิต "ครูฟา" ให้ได้มากๆ (เริ่มจากผู้มีใจก่อน)
  • ค้นหา "ครูเพื่อศิษย์" ให้รู้ว่าในจังหวัดนี้มีกี่คน
  • รวม "ครูเพื่อศิษย์" เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์ทักษะที่เราได้จากการสอนขณะนี้
  • รวม เชื่อมโยง ความ "แยกส่วน" ที่ไม่ควร โดดเดี่ยว 

ฯลฯ

ด้วยความมุ่งมั่นและจริงใจครับ

อ.ต๋อย

หมายเลขบันทึก: 470929เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2011 23:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

การจัดงานร่วมเฉลิมเพิ่มกิจกรรม "นำเสนอโครงงานเพื่อพัฒนาการเรียนรู้" ของ LLEN มหาสารคาม มีแต่โรงเรียนในมหาสารคามรึเปล่าครับ หรือมีของต่างจังหวัดด้วย แล้วมีระดับชั้นไหนบ้างคับ ประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือว่ามีหมดทุกระดับครับ

กลุ่มเป้าหมายเป็น โรงเรียน 21 โรงเรียนในจังหวัดมหาสารคามเท่านั้นครับ ลงไปอ่าน AAR ของอาจารย์ได้ที่ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/470929 ครับ ปีต่อไป ต้องดูว่าจะทำได้เท่าใด ทำเต็มที่เท่าที่ทำได้ ครับ

  • แวะมาชื่นชมอาจารย์ครับ
  • และ สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๕ พร้อมฝากความเคารพ ระลึกถึง ไปยัง ท่าน อ. พิศมัย ด้วยครับ
  • อย่าลืมแวะไปอ่านบันทึกของ อ. หมอวิจารณ์ อย่างพินิจด้วยนะครับ
  • http://www.gotoknow.org/blogs/posts/472992

ให้กำลังใจ สู้ต่อไป เพื่อแผ่นดิน สู้ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท