ตั้งทิฏฐิให้ถูก (๑)


 

หลังจากที่ท่านชยสาโรจบการพูดคุยกับเด็กๆ แล้ว ท่านก็มานำคุณครูปฏิบัติธรรม โดยเริ่มจากการตั้งทิฏฐิให้ถูกต้องด้วยการแสดงธรรมบรรยาย ที่มีใจความสำคัญดังนี้

 

เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่คาดไม่ถึง คนเรามักจะลืมหลัก เราจึงต้องการเวลาที่จะทบทวน อริยสัจ ๔ เริ่มจากทุกข์ ในการปฏิบัติให้เราสนใจศึกษาทุกข์ และศึกษาการดับทุกข์

 

น้ำท่วมทำให้เราลำบากเดือดร้อน เราต้องรู้จักแยกแยะส่วนที่เป็นธรรมชาติที่เราต้องยอมรับ และส่วนที่เป็นกิเลศที่เราต้องละ ความลำบากที่เกิดขึ้นชัดเจนแน่นอนเป็นความลำบากทางกาย แต่ชีวิตของเราไม่ได้จบที่กาย ที่สำคัญคือใจ ทำอย่างไรทุกข์จึงจะดับ หรือบรรเทาทุกข์ที่มีอยู่ลงไปได้ ทำอย่างไรเราจึงจะไม่ไปสร้างทุกข์ให้กับคนอื่นนั้นขึ้นอยู่กับอารมณ์ จิตใจ แนวความคิด และปัญญาในการมองเหตุการณ์

 

พระพุทธองค์เคยให้หลักว่าจะรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ต้องเอากุศลธรรม และอกุศลธรรมเป็นมาตรฐาน ถ้าทำอะไรแล้วเพิ่มกุศลธรรม ลดอกุศลธรรม แปลว่ามาถูกทาง

 

ถ้าน้ำท่วมแล้วให้เราทำได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำอย่างไรเราจึงจะไม่เป็นทุกข์ ไม่ให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นในจิตใจ ทำอย่างไรจะให้กุศลธรรมงอกงาม เวลาดูให้ดูอารมณ์ ดูตัวเอง จะโทษกันไปโทษกันมาเพื่ออะไร การโทษคนอื่นเราได้อะไรเป็นกำไร การคิดเพ่งโทษทำให้ใจเป็นทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากการพูด การว่า ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย

 

การคิดบวกบางทีก็เป็นโทษ เพราะจะทำให้เราไม่รับทราบต่อข้อบกพร่อง หรือปัญหา กลายเป็นประมาทไป  การบุกยึดอิรักของ CIA ที่มีงบประมาณมากกว่างบประมาณของประเทศไทย คิดเพียงแค่พอปลดปล่อยอิรักได้แล้วทุกอย่างจะดี แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น

 

การคิดจะทำอะไรเริ่มจากการคิดวิเคราะห์แล้วลงมือทำ เมื่อลงมือแล้วต้องใช้ความอดทน  ต้องพยายามรักษาจิตใจให้ดีในระหว่างที่เรายังทำอะไรไม่ได้  แต่หลังจากนั้นต้องมาคิดป้องกันไม่ให้สิ่งนั้น เรื่องนั้น เกิดขึ้นอีก 

 

ทุกวันนี้ ทุกคนมีสื่อของตัวเอง เราต้องฟังหูไว้หู ถ้าเรามีอคติอยู่แล้ว และได้ข่าวที่ตรงกับความคิดของเรา เราจะเชื่อง่าย ต้องมีอินทรีย์สังวรณ์ ไม่เชื่อข่าว  ไม่พูดต่อ ระมัดระวังในการพูด การฟัง

 

เมื่อปัญหามาถึงเราแล้ว ทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเราคืออะไร ทุกข์กายทุกข์ใจ ต้องวางใจยอมรับ ไม่ใช่ไม่ยอมรับความจริงโดยไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ควรจะเป็น น่าจะเป็น ถ้าเช่นนั้นจิตใจจะเป็นอกุศลโดยไม่มีประโยชน์อะไรเลย

 

คนที่ไม่เครียด ไม่กังวล การไม่พูดร้าย ไม่ทำร้าย ไม่อยาก ไม่คิดร้าย เป็นเนื้อนาบุญของสังคม  การคิดว่าไม่น่าเป็นอย่างนี้ เป็นการเบียดเบียนตัวเอง เป็นความเคยชินของคนที่ไม่เห็นโทษในการคิดอย่างนั้น

 

ถ้าไม่เคยปฏิบัติ การกำหนด จะปล่อยวางแนวความคิดที่เป็นพิษเป็นภัยจะเกิดขึ้นได้ยาก จิตใจจะคิดไม่หยุด กลัว และกังวลด้วยความคิด  การวางแผนใช้ความคิดไม่กี่นาที แต่สมองที่คิดวนเวียนอยู่กับความคิดไม่รู้กี่ชั่วโมง

 

ความเป็นกลาง รอบคอบ มีเหตุผล ปล่อยวางความคิดให้จิตของเราให้สงบ ไม่เครียด ไม่กังวล การจะเอาตัวรอดในช่วงวิกฤตได้ อยู่ที่ว่าจิตใจของเราอยู่ในสภาพเช่นไร มีกำลังที่จะรักษา และป้องกันความทุกข์ได้แค่ไหน

 

การนั่งคิดเป็นทุกข์กับตนเองมาก การออกไปช่วยคนอื่นจะช่วยให้ลืมเรื่องของตัวเองไปบ้าง เห็นว่าคนอื่นเขาลำบากกว่าเราเยอะ  ไม่เบียดเบียนตัวเองด้วยการคิดผิด ในสถานการณ์ที่แย่เรายังได้กำไร เรายังให้บางสิ่งบางอย่างที่ดีแก่คนอื่นได้ ความเศร้าในจิตใจจะหายไปเยอะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 469132เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2011 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • คนยากจนเจ็บใจไร้รองเท้า
  • เมื่อตัวเขาเดินพ้นคนไร้ขา
  • เกิดความคิดทันทีมีปัญญา
  • ไร้รองเท้าดีกว่าไร้ขาเอย.....

...น้อมรับ..กับคำว่า..รู้แจ้ง..เห็นจริง..และกับคำว่า..ไม่เบียดเบียน ตน และ ผู้อื่น..เจ้าค่ะ..ยายธี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท