สุดยอดการจัดการหน่วยงานวิจัย : HITAP


กลไกการจัดการอย่างหนึ่งที่ใช้คือ การประเมินหน่วยงาน โดยทีมประเมินนานาชาติ การประเมิน คราวแรกทำเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว คราวนี้เป็นครั้งที่ ๒ มีทีมประเมินรวม ๕ คน

สุดยอดการจัดการหน่วยงานวิจัย : HITAP

วันที่ ๑๒ พ.ย.​ ๕๔ ผมไปร่วมการประชุมนำเสนอผลการประเมินหน่วยงาน HITAP โดยคณะผู้ประเมินนานาชาติ   เมื่อกลับมาถึงบ้าน ผมบอกตัวเองว่า นี่คือตัวอย่างที่ดีของการจัดการหน่วยงานวิจัย เพื่อการพัฒนาต่อเนื่อง    เพื่อการทำงานวิจัยในมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับนับถือทั่วโลก ด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ 

ผมเคยเขียนบันทึกเรื่อง HITAP ที่นี่

หน่วยงานวิจัยในมหาวิทยาลัย และในหน่วยราชการ ควรใช้ยุทธศาสตร์การประเมินโดยบุคคลภายนอก แบบนี้

HITAP เพิ่งก่อตั้งมา ๔ ปี  มีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็วกว้างขวาง    ด้วยความสามารถของผู้นำคือ นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์   ที่มีวิธีจัดการหน่วยงานดึงเอาคนหนุ่มสาวที่มีไฟต่อการวิจัยเข้ามาทำงานวิจัยให้ได้ ผลงานที่มีคุณภาพระดับนานาชาติได้อย่างน่าพิศวง    โดยใช้กลไกการจัดการช่วยยกระดับคุณภาพของผลงาน รวมทั้งช่วยยกระดับการทำงาน

โดยกลไกการจัดการอย่างหนึ่งที่ใช้คือ การประเมินหน่วยงาน โดยทีมประเมินนานาชาติ   การประเมิน คราวแรกทำเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว   คราวนี้เป็นครั้งที่ ๒ มีทีมประเมินรวม ๕ คน  มาจากอังกฤษ ๒ คน  เกาหลี ๑ คน  ไทย ๒ คน (ศ. นพ. ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาลจากคณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี  และ ดร. ธีระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัชต์ จาก TDRI)   หัวหน้าทีมเป็นศาสตราจารย์จาก London  School of Tropical Medicine and Hygiene   อีกท่านมาจาก NICE (National Institute for Health and Clinical Excellence)  คือ  Dr. Kalipso Chalkidou จะเห็นว่าทีมประเมินเป็นคนเก่งในวงการวิจัยนโยบายและการประเมินเทคโนโลยี สุขภาพที่เรียกว่า HTA (Health Technology Assessment)   

การประชุมนี้ นำเสนอต่อคณะกรรมการ steering ของการประเมิน ที่มีผมเป็นประธาน   และมีนักวิจัยของ HITAP ทุกคนเข้าร่วมฟัง   ทั้งๆ ที่อยู่ในสถานการณ์น้ำท่วม   และบางคนต้องลี้ภัยมานอนที่ HITAP นี่เอง    บรรยากาศของการประชุมสะท้อน “สุขภาพที่ดี” ของหน่วยงานวิจัยนี้ได้ดีมาก    ผมได้เห็นความกระตือรือร้นของนักวิจัยรุ่นใหม่ที่อยู่ในทีม HITAP อย่างชัดเจน 

การประเมินแบบนี้ ไม่ใช่เพื่อเอาไว้อวดว่า ประเมินผ่านด้วยคะแนนเท่าใด   หรือเอาไว้แสดงต่อสาธารณชนว่า “ฉันผ่านการประเมินนะ”    นั่นมันเป็นการประเมินคนละกระบวนทัศน์ เป็นการประเมินที่เน้นได้-ตก    แต่การประเมินของ HITAP ทำเพื่อหาช่องทางพัฒนาตนเอง    ส่วนไหนที่ได้ผลการประเมินว่าดี ทำมาถูกทาง ก็เท่ากับช่วยยืนยันความไม่แน่ใจของผู้ทำงาน   และข้อเสนอแนะหลายส่วนจะเอามาช่วยลดความขัดแย้งภายใน   ให้สามารถเอาชนะวิธีคิดบางอย่างได้   เพราะหน่วยงานเพื่อการสร้างสรรค์แบบนี้ไม่มีกฎข้อบังคับและสายการบังคับบัญชาตายตัว ต้องเป็น flat organization และ complex adaptive system   ผลการประเมินจะช่วยยืนยันแนวทางการทำงาน    และช่วยแนะแนวทางที่จะช่วยให้ผลงานดียิ่งขึ้น หรือคนมีความสุขยิ่งขึ้น หรือมีวิธีทำงานที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น

คือ HITAP ใช้การประเมินเป็นช่องทาง dialogue และรับฟังความเห็นของผู้ทำงานในองค์กรด้วย   นอกเหนือจากการตรวจสอบผลงาน

การประชุมวันนี้ เหมือนกับการหมุนเข็มนาฬิกาชีวิตของผมย้อนกลับไป ๑๖ ปี   คือกลับไปแถวๆ ปี ๒๕๓๘ ที่ผมใช้การประเมิน สกว. เป็นกลไกเพื่อการเรียนรู้และการปรับปรุงงานของ สกว. และของผู้ปฏิบัติงาน ทุกคนรวมทั้งผม   โดยผมคิดว่าผมได้เรียนรู้มากที่สุด    ตอนนั้นผมยังไม่เข้าใจเรื่องการเรียนรู้โดยการประเมิน แต่สามัญสำนึกช่วยให้ผมใช้ประโยชน์ของการประเมินเพื่อการเรียนรู้ และการปรับปรุงงานโดยอัตโนมัติ 

หลังจากนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการ steering ของการประเมิน เพื่อให้ทีมงานของ HITAP เสนอว่าเมื่อได้รับผลการประเมินเช่นนี้แล้ว    จะดำเนินการปรับปรุงการทำงานของ HITAP อย่างไรบ้าง    เพื่อให้คณะกรรมการ steering ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

รายงานผลการประเมินครั้งที่ ๑ มีการตีพิมพ์เผยแพร่ด้วย   โดยทีม HITAP เขียนความเห็นเชิงปฏิกิริยาตอบ   และส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเขียนความเห็นเพิ่มเติมด้วย   รวมเป็นเอกสาร ๓ ชุด อยู่ในรายงาน   จะเห็นว่า การประเมินหน่วยงานวิจัย สามารถทำเป็นผลงานวิชาการได้   รายงานผลการประเมินครั้งที่ ๒ นี้ ก็จะตีพิมพ์เผยแพร่เช่นเดียวกัน

เมื่อมีผลการประชุมคณะกรรมการ steering ผมจะนำสาระของการประเมินมาเล่า

วิจารณ์ พานิช

๑๓ พ.ย.​๕๔

หมายเลขบันทึก: 469055เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2011 18:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท