เมื่อปี 2541 ผมมาอยู่บ้านตากได้ 1 ปี จากการตรวจผู้ป่วย จากการออกเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องการการฟื้นฟูสุขภาพด้วย และจากการให้บริการแบบผสมผสานของโรงพยาบาลจะพูดถึงกิจกรรมสำคัญ 4 ประการคือส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู แต่ปรากฎว่าอย่างหลังนี่ได้รับการพูดถึงแลพสนับสนุนน้อยมากทั้งที่เป็น 1 ใน 4 สำคัญ เห็นได้จากในโรงพยาบาลชุมชนมีนักกายภาพบำบัดและเจ้าพนักงานเวชกรรมฟื้นฟูน้อยมาก เมื่อ 7 ปีก่อนโรงพยาบาลบ้านตากเพิ่งยกฐานะเป็น 30 เตียงได้ 2 ปี มีหอผู้ป่วยเพิ่มมา 1 หลัง มีอาคารโอพีดีอีก 1 หลัง แต่บริการอื่นๆเท่าเดิม ไม่มีงานเวชกรรมฟื้นฟูหรือกายภาพบำบัด ในขณะที่เรามีปัญหาของชุมชนอยู่ จะทำอย่างไรจึงจะเกิดบริการนี้ขึ้น ขณะที่ผมตรวจคนไข้ในหลายๆโรคก็ใช้แต่ยา ซึ่งเราก็รู้ว่าแค่ยาหลายโรคก็ได้แค่ทุเลาชั่วคราว บางโรคอาจไม่ต้องใช้ยาแต่ใช้วิธีทางกายภาพบำบัดได้ ตอนนั้งก็ได้คัดเลือกพี่อ้อยหรือคุณเรณู(พยาบาลวิชาชีพ)ที่สนใจงานด้านนี้ก็ส่งไปอบรมหลักสูตร 3 เดือน กลับมาเราก็เปิดบริการเวชกรรมฟื้นฟูขึ้น เครื่องมือก็ได้จากการหาบริจาคมาจำนวนหนึ่ง แม้ไม่มาก ไม่ครบแต่นี่คือจุดเริ่มต้น ดังนั้นต้นกำเนิดของบริการกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลบ้านตากก็คือความตั้งใจจริงของคุณเรณู พอทำไปได้ประมาณ 6 เดือน เราก็ได้รับการติดต่อจากน้องนักกายภาพที่เพิ่งจบจาก มช.ว่าต้องการทำงานใกล้บ้าน ผมดีใจมากที่เราจะได้ทำมากขึ้นกว่าเดิมอีก ก็ได้น้องนักกายภาพคือน้องไอ(ประภารัตน์)มาทำงานแต่ไม่ได้บรรจุ ไม่ได้ตำแหน่ง ต้องเป็นลูกจ้างชั่วคราวในตำแหน่งผู้ช่วยเหลือคนไข้ ได้เงินเดือน 4,100 บาทและผมได้ไปขอบริจาคจากชุมชนมาตั้งเป็นกองทุนและสมทบเป็นค่าจ้างจนเงินเดือนเท่ากับอัตราขั้นต่ำของปริญญาตรีและก็พยายามที่จะขออัตรากำลังบรรจุเป็นข้าราชการจนถึงเมื่อ4 เดือนก่อนน้องไอก็ขอลาออกไปทำงานที่มหาวิทยาลัยมหิดลเพราะรอมา 6 ปีแล้วก็ยังไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการแม้เจะขึ้นเงินเดือนให้ทุกปีก็ยังไม่ได้สิทธิอื่นๆด้วยก็เป็นที่น่าเสียดายของชาวโรงพยาบาลบ้านตากมาก เมื่อเดือนที่แล้วก็ได้รับน้องนักกายภาพใหม่เข้ามาและยังโชคดีที่หลังจากน้องไอมาทำงานไม่ถึงปี โรงพยาบาลบ้านตากก็ได้รับจัดสรรเจ้าพนักงานเวชกรรมฟื้นฟูมาช่วย ประกอบกับโรงพยาบาลขยายเป็นขนาด 60 เตียงด้วยเงินบริจาคที่เรียกว่าขยายขนาดแบบพึ่งพาตนเอง(เพราะไม่ได้งบประมาณสนับสนุน)แต่ผมว่าน่าจะเป็นยกฐานะแบบพึ่งพาชาวบ้านดูจะเหมาะกว่า เราขาดพยาบาลเพราะอัตรากำลังมีน้อยกว่ากรอบ 30 เตียงอีก พี่อ้อยเลยต้องเสียสละมาช่วยงานในหอผู้ป่วยจนถึงปัจจุบัน ณ วันนี้งานเวชกรรมฟื้นฟูของโรงพยาบาลบ้านตากก็มีนักกายภาพบำบัด 1 คน เจ้าพนักงานเวชกรรมฟื้นฟู 1 คน มีเครื่องมือทางกายภาพบำบัดครบครันทั้งจากเงินบริจาค เงินบำรุงและบางส่วนจากเงินงบประมาณ มีผู้ป่วยรับบริการจากการนัดตรงและการปรึกษาจากจุดต่างๆมากกว่า 50 รายต่อวันทั้งผู้ป่วยในและนอก มีการออกชุมชนเพื่อไปให้บริการในชุมชนในลักษณะของทีมHome Health Care ทุกสัปดาห์ มีส่วนร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วย ในโรคหลายๆโรคที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการรักษาได้อย่างดีมากเช่นกระดูกเสื่อมทับเส้นประสาททั้งที่คอและเอว ก็สามารถทำการดึงคอดึงหลังช่วยได้ ผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบหรือมีเสมะมากก็ช่วยในการเคาะปอด ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตก็ช่วยฝึกเดิน ฝึกการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อก็มีทั้งประคบร้อนเย็น มีการใช้คลื่นอัลตร้าซาวด์ การใช้คลื่นความร้อนช่วงสั้น การฝึกการหายใจในผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง และอีกหลายๆโรค ซึ่งตอนนี้แม้จะมีถึง 2 คน ก็เกือบจะไม่เพียงพอต่อการให้บริการ มีการจัดบริการสำหรับผู้ปกติโดยการตรวจสมรรถภาพทางร่างกายและคลินิกออกกำลังกายด้วย ในกรณีที่มีผู้มาตรวจร่างกายประจำปีเราก็จะจัดบริการตรวจความฟิต ความจุปอด การใช้ออกซิเจน ความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อมาช่วยด้วย ตลอด 7 ปีของการบริการเวชกรรมฟื้นฟูของโรงพยาบาลบ้านตากที่ต้องพยายามจัดหาบริการภายใต้ความจำกัดด้านต่างๆ มาถึง ณ วันนี้แม้จะบริการได้มากขึ้น เราก็พบว่ายังคงไม่ครอบคลุมในด้านของการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดสำหรับเด็กที่มีปัญหาเรื่องพัฒนาการ ซึ่งเราได้ให้พยาบาลวิชาชีพปริญญาโทด้านกุมารเวชกรรมช่วยดูแลอยู่ ด้วยการที่ไม่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้แรงดึงดูดให้คนอยากเข้ามาทำงานด้านนี้จึงน้อย ก็ฝากว่าหากนักกายภาพบำบัดหรือนักกิจกรรมบำบัดท่านใดที่กำลังหางานทำและอยากได้ประสบการร์ที่มีค่า ประสบการณ์ในการช่วยเหลือคนไทยที่อยู่ห่างไกลหรือด้อยโอกาสมาร่วมทำงานกับเราที่งานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลบ้านตาก เราก็ยินดีต้อนรับครับ เรารับได้อีกประมาณ 2 คนโดยเป็นลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่งนักกายภาพบำบัดตามวุฒิโดยเงินเดือนก็จะสูงกว่าเงินเดือนขั้นต่ำของปริญญาตรีพอประมาณครับ