พาเด็กทำกิจกรรมเพื่อสร้างชีวิตชุมชนและสร้างคนรุ่นอนาคต : โรงเรียนสันป่าตองกับกฐินสายศรัทธาวัดห้วยส้ม เชียงใหม่


ในงานกฐินสามัคคี ซึ่งท้องถิ่นล้านนาเรียกกันว่า กฐินสาย ของศรัทธาวัดห้วยส้ม บ้านห้วยส้ม ตำบลสันกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบสอง ตรงกับวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันพระ ๑๕ ค่ำของเดือนออกพรรษา อีกทั้งเป็นวันเทศกาลลอยกระทงด้วยนี้ กลุ่มศรัทธาที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อยเป็นเจ้าภาพ ๑๕๐ กองๆละ ๒,๕๐๐ บาท จะตั้งกองกฐินอยู่ที่บ้านและหน่วยงานของตนเอง พร้อมกับเตรียมแห่แหนเป็นหมู่คณะอย่างเบ็ดเสร็จเรียบร้อย

กฐินสายครั้งนี้ นอกจากเป็นกฐินสายหรือกฐินสามัคคีแล้ว ดูจากกระบวนการและได้ฟังจากเสียงบรรยายของกำนันกับพระคุณเจ้าซึ่งเป็นผู้ดำเนินพิธีการ ได้สอดแทรกให้การเรียนรู้และบอกกล่าวให้ข้อมูลแก่ผู้ร่วมงานอยู่เป็นระยะๆแล้ว ก็ดูเหมือนจะเป็นจุลกฐินด้วย จุลกฐินก็คือ กฐินที่ระดมพลังและทรัพยากรจากกลุ่มศรัทธา ที่ต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียว ในขณะที่กฐินหลวงและกฐินแบบทั่วไป จะจัดเป็นงานใหญ่ สามารถทำได้เกิน ๑ วันไปจนถึงรวมเข้ากับการจัดงานเฉลิมฉลองให้เป็นเทศกาลรื่นรมย์หลังฤดูเก็บเกี่ยวไปจรดอีกกับ ๑ ช่วงวันพระหนึ่ง 

เมื่อถึงเวลานัดหมายประมาณบ่ายโมงถึงสองโมง กลุ่มศรัทธาและจุลกฐินแต่ละกองก็จะเริ่มทยอยไปรวมตัวกันที่วัด ทางวัดจะเตรียมปรัมพิธีไว้ที่กลางลานวัด เมื่อมาถึงวัดแล้ว ก็จะนำกองกฐินไปตั้งวางเรียงรายต่อเนื่องกันไป ต้นกฐินทรงคล้ายๆกันที่วางเรียงรายเต็มไปทั้งปรัมพิธี ๑๕๐ กองนั้น ดูงดงามเหมือนงานศิลปะจัดวางแบบซ้ำจังหวะ (Repetition Composition) ซึ่งการจัดวางองค์ประกอบทัศนภาพแบบซ้ำจังหวะนี้ จะเหมาะสำหรับสื่ออารมณ์ให้สัมผัสได้ถึงความอลังการระรานตา สอดคล้องกับการที่จะทำให้ความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นของสังคมบนพื้นฐาน 'ความศรัทธา' และความยึดเหนี่ยวด้วย 'ความเป็นบุญกุศล' สามารถเห็นและสัมผัสทางโสตประสาทได้่

การนำเอากองกฐินไปรวมกันที่วัดดูเรียบง่ายและมีความเป็นชาวบ้านมาก บางกลุ่มศรัทธามีมโหรีปี่กลองนำขบวน ซึ่งก็พบว่ามีเพียง ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นกองกฐินของโรงเรียนสันป่าตอง กับอีกกลุ่มหนึ่งเป็นของ อบต.และกลุ่มศรัทธาขององค์กรท้องถิ่น มโหรีนำขบวนของทั้งสองกลุ่ม นอกจากนำขบวนกองกฐินของตนเองแล้ว หลังจากตั้งกองกฐินบนปรัมพิธี ก็หมุนเวียนออกไปนำขบวนให้กับกองกฐินจากกลุ่มศรัทธากลุ่มอื่นๆด้วย

มโหรีนำขบวนขององค์กรท้องถิ่น บรรเลงโดยกลุ่มคนหนุ่มและดัดแปลงเครื่องดนตรีผสมผสานจากหลายชนิดมาอยู่รวมกัน เครื่องเล่นทำนองเพลงมีเพียงปี่ไนหรือปี่ชวาชิ้นเดียว กลองและเครื่องเคาะจังหวะเป็นลูกผสมระหว่างแตรวงกับชุดกลองบองโก้ที่มักดัดแปลงมาใช้ในขบวนวงดุริยางค์สำหรับการสวนสนาม กลองใหญ่กับฉิ่งฉาบและลูกขัดจังหวะเป็นเครื่องเล่นของแตรวง เพลงที่นำมาบรรเลงเป็นเพลงของแตรวง แต่เสียงของปี่ไน ทำให้ได้อารมณ์เพลงออกโรงดนตรีหนังตะลุงของทางปักษ์ใต้ ให้บรรยากาศสนุกและมีสีสัน ไม่มากและไม่น้อยเกินไป

มโหรีนำขบวนกองกฐินจากโรงเรียนสันป่าตองนั้น เป็นขบวนกองสบัดชัยของเด็กๆ เด็กๆและคณะครูรวมกันเดินเป็นขบวนประมาณด้วยสายตาสัก ๒ ร้อยคน ดูแล้วเด็กๆน่าจะอยู่ในวัยประถมและมัธยมต้น ดูแแววตาอยากรู้อยากเห็น ตื่นเต้น และแอบเย้าแหย่กันเล่นกับหมู่เพื่อนหยุกหยิกคิกคัก กลุ่มฉิ่งฉาบนั้น มือก็ตีไป ส่วนสายตาของความอยากรู้ ก็กวาดมองซ้ายขวา ดูผู้คน ดูเพื่อน ดูครู ชาวบ้านมาร่วมรำฟ้อน เด็กมือกลองสบัดชัยดูเป็นประธานของวง มุ่งมั่น และได้ยินเสียงความมีศิลปะของการลงไม้กลองที่สื่ออารมณ์สะท้อนไปกับบรรยากาศโดยรอบ

ขบวนกองสบัดชัยของเด็กๆจากโรงเรียนสันป่าตอง ได้รับการขอให้ไปนำแห่ขบวนกฐินให้กับกลุ่มศรัทธาอื่นๆด้วย เช่น กลุ่มศรัทธาจากศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณของวัดห้วยส้ม กำนันบ้านห้วยส้มและชาวบ้านเรียกหาขบวนมโหรีของเด็กๆและโรงเรียนเหมือนเป็นสมบัติสาธารณะของสังคม และเด็กๆก็ได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนชีวิตวัฒนธรรม ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในคติของชุมชน

ได้ร่วมทำบุญและได้อยู่ในบรรยากาศเหล่านี้แล้ว ก็ทำให้ได้เห็นอีกบทบาทหนึ่งของโรงเรียนและสถานศึกษา อันได้แก่บทบาททางด้านความเป็นหน่วยทางวิชาการของชุมชนเชิงพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในชุมชนชนบท ดังสะท้อนอยู่ในบ้านห้วยส้มและโรงเรียนสันป่าตอง ว่ามีบทบาทต่อการสร้างสรรค์สุขภาวะสังคมของชุมชนหลายด้าน ที่บูรณาการไปกับประเพณีและวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชน 

บทบาทดังกล่าวมีความเป็นการให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาต่อถิ่นฐานของท้องถิ่น รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กๆได้เรียนรู้ ผ่านการปฏิสัมพันธ์และทำหน้าที่ต่อสังคม ได้สร้างสรรค์ชีวิตชุมชนและเข้าถึงสิ่งดีงามด้วยการปฏิบัติ ตลอดจนพัฒนาการเรียนรู้ทางสังคมวัฒนธรรม ทำให้กิจกรรมส่วนรวมในวิถีชีวิตชุมชน มีการสืบทอดและเกิดการเคลื่อนไหวข่าวสารการเรียนรู้ เป็นวงจรมีชีวิตดำเนินไปกับการดำรงอยู่ของชุมชน.

หมายเลขบันทึก: 467987เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2011 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • อาจารย์ครับ
  • ผมชอบกิจกรรมแบบนี้จังเลย
  • เด็กๆๆจะได้เรียนรู้เรื่องในท้องถิ่น
  • จะได้ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง
  • ต่อไปจะได้สืบสานภูมิปัญญาต่อไป
  • ขอบคุณมากๆๆครับ
  • วันนี้ไม่ไปโขลกหมากรุกหรือครับ 555

สวัสดีค่ะอาจารย์

อากาศแจ่มใส ท้องฟ้าสดใส

สายตาคนมองแจ่มชัด จิตใจปลอดโปร่ง

เรื่องราวจึง...คม ชัด ลึก

ขอเลียนแบบ อ.ขจิต

วันนี้ก็ไม่ได้ไปให้น้ำไก่...น่ะซิคะ

สวัสดีครับอาจารย์ ดร.ขจิตครับ

  • เท่าที่ทราบ กิจกรรมในลักษณะนี้และในชุมชนระดับอำเภอนั้น บางโรงเรียนเท่านั้นที่จะมีการริเริ่มดำเนินการขึ้น ต้องอาศัยทักษะวิชาการหลายด้านของครู รวมทั้งต้องอาศัยความมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหารมากทีเดียวนะครับ
  • กิจกรรมอย่างนี้ โรงเรียนจะมีบทบาทเป็นหน่วยวิชาการที่ดีที่สุดในชุมชน ที่นำเอาความเข้มแข็งและทรัพยากรทางภูมิปัญญาต่างๆมาจัดการด้วยคุณครูซึ่งเป็นคนที่มีวิชาการ แล้วทำให้มีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวชีวิตชุมชน โรงเรียนจึงเป็นองค์กรทางปัญญาของชุมชน ไม่ใช่เพียงกลไกดึงเอาเด็กๆและกำลังทางปัญญาที่ติดไปกับลูกหลานของชุมชนออกไปจากชุมชนด้านเดียว
  • แต่หลายแห่งที่มีกิจกรรมลักษณะนี้ ก็ต้องช่วยกันโค้ชให้เห็นแง่มุมที่มีความหมายในลักษณะนี้ให้มากๆด้วยเหมือนกันนะครับ

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ

  • วันสองวันนี้ ท้องฟ้าทั้งกลางวันและกลางคืนถ่ายรูปได้สวยดีจังเลยครับ
  • กลางคืนก็ดวงจันทร์กลมโต ตอนกำลังขึ้นนั้น ถ่ายรูปออกมาดูแล้วอย่างกับพระอาทิตย์กำลังตกดินเลยครับ ตอนกลางวันก็มีเมฆสวย
  • วันนี้เอาดอกบัวมาจัดแจกันตั้งดูเล่นครับ ให้มือโขลกหมากรุกกับไก่พักผ่อนกับเทศกาลลอยกระทงสักหน่อยก่อน

ชื่อวัดห้วยส้มนี้คุ้นหูจังคะ

ไม่แน่ใจว่าทางวัด มีกิจกรรมอะไรสักอย่างเกี่ยวกับทางการแพทย์หรือเปล่า

สวัสดีครับอาจารย์หมอปัทมาครับ

  • เป็นโครงการวิปัสนาหรือเปล่าครับ ที่วัดห้วยส้มนี้มีศูนย์วิปัสนาด้วยครับ ผมเคยเดินไปชื่นชมบรรยากาศภายในวัดและเห็นกิจกรรมของกลุ่มปฏิบัติวิปัสสนาด้วย
  • ชาวบ้านบอกว่าโครงการวิปัสนานี้มักจัดขึ้นสำหรับกลุ่มคนทำงาน อาจารย์ นักศึกษา เจ้าของธุรกิจที่มาจากแหล่งต่างๆ
  • เคยมีชาวมหิดลมาร่วมโครงการปฏิบัติวิปัสนา ที่ศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่ที่วัดห้วยส้มนี้ เล่าให้ฟังว่าคณะผู้จัดเป็นทีมจากคณะแพทย์ฯ มช. ทั้งได้ทราบจากคนทำงาน มช.เหมือนกันบ้างครับว่า มีโครงการพานักศึกษาของคณะแพทย์ฯ มช.ไปฝึกปฏิบัติธรรมอยู่ที่ศูนย์วิปัสสนานี้อยู่เสมอ จึงเป็นโครงการนี้หรือเปล่านะครับ ผมได้ลิ๊งก์ช่วยกันเผยแพร่ไว้ด้วยนะครับ วัดห้วยส้ม บ้านห้วยส้ม
  • ดร.สิทธิณัฐ ประพุทธนิติสาร คณบดีคณะสังคมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยไปร่วมเสวนาด้วยกันที่กอง สสส. ก็นำเสนอบทเรียนจากงานวิจัยที่กรณีตัวอย่างหนึ่งของท่าน ก็มีบ้านห้วยส้มเป็นพื้นที่ศึกษาด้วย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท