จิตตปัญญาศึกษาชุมชนที่ล้านนา


เมื่อเสาร์อาทิตย์ ๕-๖ ตุลาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ได้มีกิจกรรมความเคลื่อนไหวหลายกิจกรรมที่น่าสนใจและจัดขึ้นพร้อมกันในหลายแห่งของเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ส่วนหนึ่งเป็นเครือข่ายการทำงานในแนวมุ่งสร้างการรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวสังคมด้วยประเด็นความสนใจต่างๆ ที่เน้นการพัฒนาสุขภาวะและคุณภาพแห่งชีวิตด้านใน ชี้นำการสร้างสรรค์สังคมและการพัฒนาระบบภายนอก ทั้งหมดจะมีเครือข่ายคนทำงานและผู้ที่ผมเคารพนับถือร่วมอยู่ในโครงการเหล่านั้นด้วย ซึ่งปรกติก็มักมีโอกาสได้พบปะกันบนการทำงานและในเวทีวิชาการหลายแห่งของประเทศอยู่เป็นระยะๆ เลยถือโอกาสไปร่วมกิจกรรมในบรรยากาศเยี่ยมเยือนกันถึงถิ่น

กิจกรรมหลายอย่างที่จัดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกันนี้ เมื่อมองผ่านความเคลื่อนไหวในภาพรวมแล้ว ก็จัดว่าเป็นคลื่นเดียวกันของความเคลื่อนไหวสังคมทางด้านจิตตปัญญาศึกษาชุมชน ที่มุ่งพัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาการจัดการต่างๆของสังคม ที่เป็นการสร้างสุขภาวะและคุณภาพแห่งชีวิตด้านใน นำการสร้างสรรค์สังคมและการพัฒนาระบบภายนอก สรุปให้เห็นภาพรวมในบางแง่จากหลายกิจกรรม ที่มีความน่าสนใจมากดังนี้

  • กลุ่มเป้าหมาย : กิจกรรมหลายกิจกรรม มีกลุ่มเป้าหมายผสมผสาน ประกอบด้วยกลุ่มประเด็นความสนใจและชุมชนเชิงพื้นที่ คือ กลุ่มสนใจการดูแลสุขภาพตนเองแนวองค์รวม, เครือข่ายเรียนรู้สร้างสุขภาวะสาธารณะผ่านการฟื้นฟูชีวิตและจิตวิญญาณเมืองเก่า, เด็กและเยาวชนชนเผ่า, เด็กและเยาวชนสร้างสรรค์เขตภาคเหนือ, เครือข่ายปัจเจกและคนทำงานแนวประชาคม, นิสิตนักศึกษาจากการรวมตัวกันเป็นชมรมความสนใจ, สื่อ นักวิชาการ นักวิจัย และคนทำงานความรู้ในแนวทางเลือก, ชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่น
  • ประเด็นการขับเคลื่อนและวาระที่ใช้ทำงาน : ศิลปะและบ้านดิน ศิลปะและสถาปัตยกรรมชุมชน วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน สุขภาพและการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม สื่อและการพัฒนาการเรียนรู้ทางสังคม การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ชุมชน
  • เครื่องมือ รูปแบบ และวิธีการ : ได้เห็นรูปแบบ วิธีการ รวมทั้งสิ่งที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้ เป็นโอกาสสร้างคน และพัฒนาเครือข่ายทำงานบนประเด็นที่จัดว่าเป็นวัฒนธรรมจิตใจและเป็นกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาหลายรูปแบบและต่างเหมาะสมไปตามเงื่อนไขที่แตกต่างกัน คือ กาดผญา นิทรรศการศิลปะในร้านอาหารบ้านดิน กฐินสามัคคี การบรรเลงวงออเคสตร้าสัญญจร ทุกรูปแบบมีมิติกระบวนการเรียนรู้และการทำงานทางความคิดผสมผสานอยู่ในกิจกรรมต่างๆ

   ๑.กาดผญาล้านนา    
จิตตปัญญาชุมชน
โฮงเฮียนภูมิปัญญาล้านนา
กับเครือข่ายของรายการทุ่งแสงตะวัน

ในวัฒนธรรมล้านนาและวัฒนธรรมชาวอีสานนั้น ผญา หมายถึง ปัญญา ซึ่งเป็นองค์ประกอบมูลฐานของการสร้างสรรค์วิถีชีวิตและระบบการผลิตสุขภาวะต่างๆของสังคม ส่วน กาด นั้น หมายถึง ตลาด ซึ่งเป็นระบบแลกเปลี่ยนทรัพยากรและสิ่งที่ต้องการในวิถีชีวิตชาวบ้าน โฮงเฮียนภูมิปัญญาล้านนาและเครือข่ายของรายการทุ่งแสงตะวัน ได้ร่วมกันสร้างพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเอาภูมิปัญญาต่างๆของล้านนามาจัดแสดง การเข้าถึงความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรมชุมชนในพื้นถิ่น แล้วนำมาจัดเวทีแลกเปลี่ยนแบ่งปันทางปัญญาและต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีลักษณะของระบบตลาด อีกทั้งมี 'กาด' อยู่ในวิถีชีวิตชุมชนรองรับ จึงนำมาสู่รูปแบบการจัดงาน กาดผญา [1]

ในกาดผญา ได้จัดเวทีเคลื่อนไหวทางวิชาการและการเสวนาสร้างความรู้ที่น่าสนใจ เรื่อง สื่อสร้างเด็ก เด็กสร้างสื่อ และ เด็กวิถีสร้างสรรค์ มีผู้ซึ่งเป็นแหล่งประสบการณ์หลายสาขามาร่วมกันอภิปรายและเสวนา เช่น คุณสำรวย ฟักผล จากเครือข่ายคนฮักเมืองน่าน พี่ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือกและผู้อำนวยการโฮงเฮียนภูมิปัญญาล้านนา ครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกวุฒิสภา คุณนิรมล เมธีสุวกุลและทีมงานรายการทุ่งแสงตะวันของป่าใหญ่ครีเอชั่น และอีกหลายท่าน

บรรยากาศของงานกาดผญาล้านนาเหมือนเป็นมหรสพทางปัญญาและแหล่งบ่มเพาะความริเริ่มสร้างสรรค์ โดยเฉพาะของเด็กและเยาวชนจากเมืองล้านนา ซึ่งเป็นเครือข่ายเด็กวิถีสร้างสรรค์ของรายการทุ่งแสงตะวัน และจากพี่น้องชนเผ่าของชุมชนในที่สูง

เด็กและเยาวชนดาระอั้ง มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนกาดผญาล้านนา พร้อมกับสร้างสรรค์การสื่อและถ่ายทอดชีวิตและจิตวิญญาณของสังคมชนเผ่าดาระอั้งด้วยการใช้ตนเองเป็นสื่อที่มีชีวิต บอกเล่าเรื่องราวต่างๆในความเป็นพี่น้องดาระอั้งและภูมิปัญญาอันหลากหลายในโลกทัศน์ของดาระอั้ง ทั้งมีความเป็นตัวของตัวเองและการแสดงให้เห็นแง่มุมความเป็นสากลกับสังคมไทยและสังคมสุขภาวะทั้งมวลของมนุษยชาติ

เด็กวิถีสร้างสรรค์ของชุมชนดาระอั้งเล่าว่า ชาวดาระอั้งทุกคนนั้น เป็นลูกหลานของเหล่านางฟ้า๑๒ ตนที่บินลงมาจากสวรรค์เที่ยวชมป่า แล้วเจอกับนายพราน นางฟ้าถูกนายพรานขโมยปีก ทำให้บินกลับสวรรค์ไม่ได้ ต่อมาได้พบรักกับวีรชนบรรพบุรุษของชาวดาระอั้ง ได้อยู่กินและออกลูกหลานสืบเชื้อสายเป็นชาวดาระอั้งดังปัจจุบัน

นอกจากได้ความประทับใจต่อเด็กๆ ที่สร้างสรรค์วิธีถ่ายทอดความเป็นมาของชุมชนแล้ว เมื่อได้ฟังก็มีอันต้องยิ้มและให้ตระหนักถึงความเป็นพี่น้องจากสายรกเดียวกันของชนเผ่าดาระอั้งกับชนพื้นราบในสังคมไทยและอีกหลายแห่งของโลก เพราะเรื่องราวที่เด็กๆเล่าให้ผู้คนในงานฟังนั้น ก็คือเค้าโครงเรื่องนาง ๑๒ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาและโลกทัศน์ชร่วมกันของสังคมต่างๆในอุษาคเนย์นั่นเอง หากไปที่ชุมชนหนองบัว นครสวรรค์บ้านผม ก็จะได้ยินเรื่องเค้าโครงเดียวกันนี้ ของนางเกษรซึ่งเกิดจากดอกบัวกับนายพรานเรวัตน์และฤาษีตาไฟ ที่ทำให้หนองบัวได้ชื่อว่าหนองบัวกับหนองกลับ ดังเล่าสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้

   ๒. ศิลปะกับดิน ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  

จากโฮงเฮียนภูมิปัญญาล้านนาและงานกาดผญาล้านนา ผมก็รีบตรงไปหอศิลปวัฒนธรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุดหมายเดิมนั้น ก็ต้องการไปฟังการเล่นโอคารินา ขลุ่ยดินเผา ของด้าและนา เพื่อนบ้านของผม ซึ่งจะไปเล่นนำรายการเปิดนิทรรศการทางศิลปะ แต่เมื่อไปแล้ว ก็ได้พบกับการจัดวางองค์ประกอบทางศิลปะและการเคลื่อนไวสังคมหลายอย่าง เพื่อเล่นกับดิน

งานแสดงทางศิลปะที่ด้าและนาไปเล่นขลุ่ยโอคารินาเปิดนั้น เป็นการแสดงศิลปะที่จัดในบ้านดินที่สร้างขึ้นเหมือนกับเป็นงานศิลปะกลางแจ้งของหอศิลปวัฒนธรรมไปด้วย ในบ้านดินนั้นมีชาวญี่ปุ่นมาเช่าทำร้านกาแฟ ซึ่งหากมองในแง่ศิลปะก็เป็นศิลปะจัดวางองค์ประกอบชีวิต เรียนรู้เพื่อการใช้สอยและสร้างคุณค่ากับความหมายใหม่ๆด้วยพลวัตรของสังคมซึ่งมีบ้านดินเป็นสื่อ ในร้านกาแฟจัดแสดงงานศิลปะ ๒ ส่วนในรูปแบบศิลปะติดตั้งเคลื่อนที่ขนาดเล็กซึ่งกำลังเป็นที่แพร่หลายในญี่ปุ่นและหลายแห่งของโลก งานชุดหนึ่งเป็นภาพเขียนขนาดเล็ก และอีกชุดหนึ่งเป็นงานโลหะซึ่งทำเป็นงานศิลปะ มีดนตรีไขลานบรรจุอยู่ข้างใน

บ้านสตูดิโอ Nada ของนากับด้า

งานตุ๊กตาดินญี่ปุ่นและเปเปอร์มาเช่
ฝีมือของนา ก่อนลงสีและตบแต่งรายนละเอียด

ชิ้นงานลงสีและตบแต่งรายละเอียดแล้ว

งานที่สร้างขึ้นด้วยความสุข แบ่งปันกับผู้อื่นให้ได้ของรักแบบมีชิ้นเดียว
ให้มีความสุขต้นด้วยทุนต่ำ จากคุณค่าและความหมายทางใจ

ด้ากับนาเพื่อนบ้านผมเป็นลูกหลานของครอบครัวต่างจังหวัด พวกเขานอกจากดำเนินชีวิตที่สัมผัสได้ถึงความเรียบง่ายและมีความเป็นธรรมชาติมากแล้ว ก็จบการศึกษาศิลปะของคณะวิจิตรศิลป์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ใช้ความรู้ทำงานศิลปะที่ตนเองรัก มาสร้างสรรค์งานศิลปะและดำเนินชีวิตกับศิลปะ ด้าทำขลุ่ยดินเผาโอคารินา นาทำตุ๊กตาดินญี่ปุ่นและเปเปอร์มาเช่

   ๓. การแสดงครั้งแรก TUSO Lives in Chiang Mai  
วงออเคสตร้าสัญญจรของชมรมดนตรีคลาสสิคมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ออกจากหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมก็รีบตรงไปที่หอประชุม ๑๐๐ ปีของโรงเรียนปริ๊นซ์รอย ข้างโฮงเฮียนภูมิปัญญาล้านนาอีกรอบหนึ่ง เพื่อไปฟังการบรรเลงบนเวทีครั้งแรกของวงออเคสตร้าสัญญจรของชมรมดนตรีคลาสสิคมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน ธีม TUSO Lives in Chiang Mai

วงออเคสตร้าที่มาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และขึ้นมาบรรเลงเป็นครั้งแรกที่เมืองเหนือนี้ เป็นวงที่เกิดจากการก่อตั้งขึ้นด้วยความสนใจของนักศึกษาเป็นชมรมดนตรีคลาสสิคของธรรมศาสตร์ ดังนั้น จึงไม่ใช่วงออเคสตร้าเพื่อเล่นดนตรีเป็นจุดหมาย แต่ใช้ดนตรีเป็นสื่อเชื่อมโยงกลุ่มสนใจ ก่อตั้งเป็นชมรมเพื่อสร้างประสบการณ์ชีวิตและสร้างประสบการณ์ต่อโลกกว้างผ่านกลุ่มสนใจการเล่นดนตรี จัดว่าเป็นชุมชนแห่งรสนิยมและแนวดำเนินชีวิตที่ก่อเกิดขึ้นบนความมีจินตภาพและความสนใจสอดคล้องกัน (Community of  Cultural and Art of Living Practice)

นับว่าเป็นมิติใหม่ที่แต่เดิมก็ทำให้ต้องทำใจและคิดหนักอยู่เหมือนกัน เพราะจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมจิตใจสำหรับผมแล้ว ก็จะอยู่ที่โขนและงิ้วการเมือง กับการจัดเวทีวิชาการและดนตรีเพื่อชีวิต บทกวี วรรณกรรมสะท้อนสังคม หนังสือทำมือ เหล่านี้เป็นต้น เมื่อพบว่ามีดนตรีในแนวซึ่งจัดว่าสื่อสะท้อนความเป็นอีกบุคลิกหนึ่ง ที่ต่างจากความเป็นชีวิตจิตใจของธรรมศาสตร์อย่างที่เคยติดยึด ก็ต้องเปิดใจกว้าง ยอมรับต่อการริเริ่มในสิ่งที่ต่างออกไป ของคนรุ่นลูกหลานของเราในยุคที่โลกได้เปลี่ยนไปไกลมากแล้ว

เมื่อได้ไปนั่งอยู่ในบรรยากาศการบรรเลงแล้ว ก็ได้อรรถรสและความมีชีวิตชีวาที่ต่างออกไปมากอย่างยิ่งจากวงแบบดนตรีคลาสสิคในรูปแบบที่คุ้นเคย เด็กๆนั่งบรรเลงเพลง บางครั้งก็ส่งสายตาและรอยยิ้มพยับเพยิดให้เป็นกำลังใจแก่เพื่อน บ้างก็ลุกขึ้นมาคิดแง่มุมสร้างบรรยากาศให้มีชีวิตชีวา ได้ความงาม ความเป็นธรรมชาติ และได้พลังชีวิตที่เล่นออกมาด้วยใจ เห็นความเป็นสื่อ รวมทั้งการสร้างประสบการณ์ต่อสังคมและโลกกว้างด้วยดนตรี เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำด้วยใจ ได้อย่างดียิ่ง

  ๔. สุขภาพและการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม 

รุ่งขึ้นอีกวัน ก็มีครอบครัวน้องรักสองสามีภรรยามาเยี่ยม สุสินีย์ และวรชัย วรศรีโสทร ซึ่งทำธุรกิจและเป็นครอบครัวปฏิบัติดูแลสุขภาพแบบองค์รวมให้กับตนเอง และอาสาเป็นวิทยากรให้กับชุมชนต่างๆทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นนักวิจัยและอาสาทำงานวิชาการในแนวสร้างพลังการเรียนรู้เพื่อมีส่วนร่วมดูแลสุขภาพแบบองค์รวม

ครอบครัวสุสินีย์ และวรชัย วรศรีโสทร

 

ทางเข้าที่พักและห้องนั่งสนทนาในบ้านดิน อำเภอแม่ริม

ทั้งสองท่านจะไปเข้าเวิร์คช็อป การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมและการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่บ้านดินของคุณวราภรณ์ เขื่อนแก้ว ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เลยถือโอกาสแวะมาเยี่ยมผมกับครอบครัวด้วย

ท้องนา และชีวิตชนบทอำเภอแม่ริม เชียงใหม่ โอบล้อมด้วยขุนเขา

บ้านดิน อำเภอแม่ริม

หลังจากนั่งคุยกันแล้ว ก็เลยได้ชวนกันให้ผมและภรรยาได้ไปเยือนชุมชนกับบ้านดิน ซึ่งเป็นแหล่งสร้างสรรค์สังคมสุขภาวะและพัฒนาการเรียนรู้เพื่อดำเนินชีวิตอย่างเป็นองค์รวม

  ๕. สุขภาวะชุมชนเมืองกับกระบวนการเรียนรู้ 

นอกจากนี้ ก็มีกิจกรรมที่ได้รับทราบ แต่ไม่มีโอกาสได้ไปร่วมโดยตรง คือ ทีมงานของบางกอกฟอรั่ม สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม (Civicnet) ได้ร่วมกับคนทำงานเชิงพื้นที่ของลำพูน ทอดกฐินสามัคคีด้วยกันกับชาวบ้าน วัดที่ไปทอดกฐินกันเป็นวัดเก่าแก่ เป็นศูนย์กลางชุมชน มีศิลปะและสถาปัตยกรรมที่สะท้อนภูมิปัญญาสร้างสรรค์อย่างลึกซึ้งยาวนานของล้านนา แต่ผมเคยไปชมและเครือข่ายที่จัดงานก็เป็นทีมงานที่ผมเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการให้

  การสั่งสมทุนทางสังคมและพัฒนาระบบจัดการตนเองของสังคม 

กิจกรรมที่มีเหตุปัจจัยเอื้อให้มีส่วนร่วมได้เหล่านี้ หาใช่กิจกรรมแปลกหน้าหรือห่างไกลจากประสบการณ์ความสนใจของผม อีกทั้งกล่าวได้เลยทีเดียวว่า ล้วนเป็นเครือข่ายที่มีความเชื่อมโยงกันบนการทำงานทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอยู่แล้ว แม้จะมีบ้างที่ต่างกันในเชิงรูปแบบและพื้นที่ดำเนินการ แต่แนวการเคลื่อนไหวทางสังคมและสร้างภูมิปัญญาปฏิบัติ ก็จัดได้ว่าทุกกิจกรรมที่กล่าวมามีความเชื่อมโยงกันในสาระสำคัญ และจัดอยู่ในกลุ่มของการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ (New Social Movement) ที่เน้นวัฒนธรรมจิตใจและภูมิปัญญาความสร้างสรรค์ ซึ่งอยู่ในชุดกระบวนทัศน์ทางเลือกการพัฒนาที่ยั่งยืนและแบบองค์รวม [2]

กิจกรรมความเคลื่อนไหวเหล่านี้ จัดว่าเป็นทุนทางสังคมและทุนทางภูมิปัญญาที่มีชีวิตของล้านนาและของสังคมไทย หรืออาจจะกล่าวได้ว่ามีความเป็นสากลที่จะทำให้เกิดคุณค่าและความหมายใหม่ๆของสุขภาวะสังคม ที่ชี้นำออกมาจากภูมิปัญญาของชีวิตด้านใน เชื่อมโยงอย่างเป็นองค์รวมกับระบบชีวิต สู่สังคมและสิ่งแวดล้อมภายนอก มีคุณค่าต่อมนุษย์ทั้งระดับท้องถิ่นและในทุกสังคมของโลก

แม้นจะไปเยือนแบบไม่ได้คาดหวังมากไปกว่าได้ไปสันถวะคนทำงานหลายท่านที่รู้จัก แต่ก็กลับได้เห็นความงอกงามของการสั่งสมการทำงานเชิงสังคมในแนวทางดังกล่าวนี้ที่น่าสนใจหลายมิติ ทั้งการสังเคราะห์บทเรียนและองค์ความรู้ที่อธิบายตนเองทางการปฏิบัติในชีวิตของชุมชนทางเลือก, ยุทธศาสตร์เครือข่ายและการยกระดับพัฒนาโครงสร้างเชิงระบบจัดการในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ, การพัฒนากลุ่มเป้าหมายจำเพาะและกลุ่มเป้าหมายพิเศษ, การพัฒนาเวทีเคลื่อนไหวนโยบายสาธารณะชุมชน, การสร้างคน, การพัฒนาสื่อและการเรียนรู้พลังสร้างสรรค์ที่ยั่งยืน, การเชื่อมโยงกับการปฏิรูปกระบวนทัศน์ทางสัขภาพ, การศึกษาและพัฒนาศิลปะ, ผังเมือง, และสถาปัตยกรรมชุมชน เหล่านี้เป็นต้น

ผมมอบหนังสือพลังองค์ความรู้ของการวิจัยแบบ PAR ซึ่งผมเขียนในบล๊อก gotoknow นี้ [3] และได้หยิบติดมือไปด้วย ๑ เล่มเผื่อว่าจะได้เจอคนรู้จักสักคน ให้แก่สำรวย ฟักผล เครือข่ายคนฮักเมืองน่าน เพื่อสื่อทางอ้อมไปด้วยว่า เครือข่ายชุมชนและภาคประชาชนที่ทำงานในแนวนี้มีพลังการจัดการตนเองดีมากยิ่งๆขึ้นในประเทศ การพัฒนาเครือข่ายวิชาการและสร้างองค์ความรู้ต่างๆเป็นฐานรองรับการขยายผลการปฏิบัติไปอยู่เสมอจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จำเป็นมาก ซึ่งการพัฒนาจิตตปัญญาชุมชนและสุขภาวะชุมชนศึกษาที่เน้นการพัฒนาด้านในนั้น ต้องการบ่มสร้างคนมาก การพัฒนาวิธีวิทยาที่เหมาะสมที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตกับโลกกว้างได้อย่างลงตัว ต้องพัฒนาขึ้นเองไปด้วยเสมอๆ 

การค่อยทำไปและถอดบทเรียน พัฒนาองค์ความรู้และยกระดับกระบวนการจัดการมิติอื่นๆไปด้วยอย่างต่อเนื่อง จะเป็นองค์กรอิสระอีกองค์กรหนึ่งที่สามารถนำเสนอคลื่นความเปลี่ยนแปลงแบบใหม่ๆให้กับสังคมได้เป็นอย่างดียิ่ง ที่สำคัญคือ เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ของสังคมที่ให้ความหมายใหม่แก่คนชายขอบและคนในชนบท ในการเป็นผู้ชี้นำการเปลี่ยนแปลง ด้วยภูมิปัญญาการสร้างสุขภาวะในชีวิต ที่สะท้อนขึ้นจากวิถีชีวิตชุมชน ให้หลากหลายและพอเพียงแก่ความจำเป็นยิ่งๆขึ้น.

...........................................................................................................................................................................................................

เชิงอรรถ

[1] ในสังคมดั้งเดิมยุคชุมชนเกษตรกรรมของวัฒนธรรมต่างๆ จะมีการผลิตและแลกเปลี่ยนทรัพยากรอยู่ในวัฒนธรรมชุมชน ในแนวคิดเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ จัดว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบตลาดเรียกว่า ตลาดแบบแลกเปลี่ยนสิ่งของ โดยเป็นระบบที่ไม่ได้ใช้เงินเป็นสื่อกลาง แต่ใช่สิ่งของที่ต่างมีแตกต่างกัน ต่างเป็นที่ต้องการ อีกทั้งต่างตกลงใจกันเองว่ามีความทัดเทียมและเหมาะสมเพียงพอที่จะแลกเปลี่ยนกันได้ จึงก่อให้เกิดการใช้สิ่งของแลกเปลี่ยนกันโดยตรง ทำให้ 'ความเป็นชุมชน' มีความเป็นสื่อกลางอย่างหนึ่ง ที่สาธารณชนจะสามารถเดินเข้าไปเป็นสมาชิกและสร้างปฏิสัมพันธ์ เพื่อเข้าถึงทรัพยากรและได้โอกาสต่างๆที่เป็นจุดหมายอันจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ที่การอยู่อย่างเอาตัวรอดเอกเทศ จะไม่สามารถเข้าถึงสุขภาวะดังกล่าวได้ แต่แนวการศึกษาดังกล่าวนี้ก็มีข้อจำกัด ไม่สามารถเข้าถึงปรากฏการณ์ทางสังคมที่อยู่ในวิถีวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งการแลกเปลี่ยนสิ่งของและความหมายแห่งชีวิตระหว่างกัน เป็นการแลกเปลี่ยนบนความหมายและคุณค่าที่ออกมาจากจิตใจ ไม่ได้เกิดจากการใช้ประโยชน์ที่ตนเองจะได้จากผู้อื่นหรือจากสิ่งของภายนอกเป็นตัวตั้ง แต่เกิดจากปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุขและต้องการให้โดยไม่คาดหวังสิ่งตอบแทนกลับคืน อีกทั้งมุ่งได้ความสุขความสบายใจจำเพาะตนและจำเพาะบริบท เช่น วิธีคิดของการบริจาคในวัฒนธรรมอิสลามซึ่งมุ่งปฏิบัติการให้เพื่อเป็นหน้าที่ของชีวิตและเป็นการนอบน้อมต่อสิ่งศรัทธาสูงสุด, การทานและปฏิบัติจาคะในวัฒนธรรมชาวพุทธเพื่อปฏิบัติธรรมขัดเกลาตนเองให้ลดความหยาบกระด้าง เบาบาง คลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งมายา, การอาสาและทำประโยชน์บำรุงสาธารณะอย่างไม่แสดงตนในวัฒนธรรมชาวคริสต์และชาวจีน เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งวิถีชุมชนดังกล่าวนี้ก็จะอยู่ในชุดความคิด การทำบุญกุศล มากกว่าจะอยู่ในวิธีคิดของระบบตลาด นอกจากนี้ ในแนวชุมชนศึกษาและการศึกษาเชิงเคลื่อนไหวสังคมในแนวประชาคม ก็จะศึกษาการแลกเปลี่ยนและการสร้างปฏิสัมพันธ์ในฐานะ การจัดความสัมพันธ์เพื่อสร้างความเป็นชุมชน และการปฏิสัมพันธ์เพื่อสร้างชุมชนทางจินตภาพ ดังนั้น การใช้แนวคิดระบบตลาด ก็อาจจะมีข้อจำกัดสำหรับใช้ศึกษาระบบสังคมในโครงสร้างความสัมพันธ์แบบชุมชน แต่จะสามารถใช้ศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมในระบบซับซ้อนที่จัดความสัมพันธ์กันบนพื้นฐานนอกความเป็นชุมชน หรือมีขนาดใหญ่และสมาชิกมีความห่างเหินกันมากกว่าการดำเนินชีวิตบนความเป็นชุมชน และต้องใช้เงินหรือสื่อกลาง ที่ให้ความสำคัญต่อระบบคุณค่าและการร่วมกันสร้างความหมายทางจิตใจของการให้ น้อยกว่าผลประโยชน์ทางวัตถุและความต้องการที่จะได้ผลกำไรแก่ตนเองเหนือกว่าผู้อื่น

[2] ในอดีตนั้น ตัวแบบในการวิเคราะห์ระบบสังคมโดยทั่วไป แบ่งความเป็นส่วนรวมของสังคมออกเป็น ๒ ภาคส่วน คือ ภาครัฐ และภาคเอกชนหรือภาคส่วนที่ไม่ใช่รัฐ  ดังนั้น การเคลื่อนไหวทางสังคมแบบเก่า จึงมีอยู่สองแนวทาง คือ แนวโน้มน้าวและกำกับควบคุมให้เป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งเคลื่อนไหวโดยภาครัฐ กับแนวต่อต้านรัฐ ซึ่งเคลื่อนไหวโดยภาคส่วนที่ไม่ใช่รัฐ แต่การศึกษาสังคมหลังการเติบโตและขยายตัวมากขึ้นของคนชั้นกลางและภาคประชาสังคม ซึ่งความเป็นส่วนรวมมีความหลากหลายและซับซ้อนมากกว่าจำกัดอยู่กับช่วงชิงภาวะการนำบนความเป็นส่วนรวมที่ทับซ้อนกัน ทำให้เกิดชุดปรากฏการณ์ทางสังคมอีกชุดหนึ่ง ที่เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมซึ่งมุ่งบรรลุความจำเป็นและเข้าถึงความเป็นจริงด้วยการสร้างขึ้นด้วยตนเองของปัจเจกและชุมชน แนวคิดและทฤษฎีการศึกษาทางสังคมสมัยใหม่จะจัดชุดปรากฏการณ์ดังกล่าวให้เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ (New Social Movement) ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่มุ่งเป็นผู้ริเริ่มและมีส่วนร่วมด้วยตนเองของปัจเจกและหน่วยทางสังคมในภาคประชาสังคม ในฐานะที่เป็น Active Citizenship และ Empowered Consumerrian มากกว่าที่จะเป็น Passived Participant และ Powerless Consumerrian ซึ่งอาจทั้งต่อต้านกับภาครัฐและให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เมื่อมีจุดหมายสอดคล้องและขัดแย้งกันต่อประเด็นส่วนรวมเดียวกัน รวมทั้งอาจจะไม่เกี่ยวข้องกันเลยเมื่อจุดหมายดังกล่าวเป็นจุดหมายจำเพาะตนที่ปัจเจกและภาคประชาชนต้องร่วมกันริเริ่มสร้างขึ้นเอง ซึ่งกลไกภาครัฐและระบบตลาดไม่สามารถสนองตอบได้ตรงกับความจำเป็นที่ต้องการ

[3] พลังความรู้ของการวิจัยแบบ PAR : Participatory Action Research โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ สนับสนุนการพิมพ์เผยแพร่โดย สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ และภาควิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ๒๕๕๔

หมายเลขบันทึก: 467692เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2011 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมและการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่บ้านดินของคุณวราภรณ์ เขื่อนแก้ว ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

น่าสนใจจังเลยคะอาจารย์ เพิ่งทราบว่ามีผู้จัดกิจกรรมนี้ในเชียงใหม่ เป็นนิมิตหมายที่ดี :-)

น่าสนใจมากอย่างยิ่งครับอาจารย์หมอปัทมาครับ แทบจะทุกอย่างเลยทีเดียว
ทั้งเนื้อหา องค์ความรู้ วิสัยทัศน์ทางสังคม การจัดชุมชน การสร้างบ้านดิน
การพัฒนากิจกรรมและบทบาทต่อสังคม โดยเฉพาะในภูมิภาคล้านนากับอินโดจีน
ทราบว่าตอนนี้ท่านพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล มาร่วมเป็นวิทยากรให้ด้วยครับ
สองวันนี้ผมว่าจะได้ไปสักหน่อย แต่ดูแล้วสงสัยวันนี้ก็คงไม่ได้ไปอีก

สวัสดีครับท่านอาจารย์

ชอบเรื่องกาดผญาครับ...สร้างสรรค์มากๆ...น่าขยายผล น่ามีในถิ่นอื่นๆบ้างจังเลยครับ...

และมีอีกหลายๆ ที่ที่น่าไปเยือน ได้ไปเรียนรู้

ภาคภูมิใจแทนชาวล้านนา ในความสร้างสรรค์ครับ ..เป็นกระแสที่ดูแล้ว น่าตื่นตาตื่นใจ..

ขอบพรคุณสำหรับการจุดประกายครับ

สวัสดีครับอาจารย์ดร.ภิญโญครับ
เป็นรูปแบบที่มีรากทางสังคมวัฒนธรรมของล้านนารองรับอยู่ครับ ได้กลิ่นอายของตลาดนัดและตลาดแบกะดินของชาวบ้าน
นอกจากเป็นรูปแบบที่ใกล้ชิดชาวบ้านแล้ว ก็เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบเพิ่มพูนพลังให้กับสิ่งดีมีอยู่ของชุมชน ทำให้ปัจเจก ครอบครัว และชุมชน ได้พัฒนาการเรียนรู้และมีความเข้มแข็งในการจัดการตนเองอยู่เสมอเลยนะครับ

  • ชอบบ้านดินครับอาจารย์
  • ไม่ได้พบพี่แดงนานมาก
  • อาจารย์กลับไปได้เครือข่ายครบเลยครับ
  • จำได้ว่าพี่หนานเกียรติรู้จักพี่สำรวยและพี่ชัชวาลย์

สวัสดีครับอาจารย์ดร.ขจิตครับ

  • บ้านดินที่เขาทำดีๆนี่ ดูดีมากเลยละครับอาจารย์ เป็นศิลปะของการหวนคืนสู่ดิน เพื่ออยู่กับธรรมชาติ ที่ดีอย่างยิ่งเลยนะครับ
  • เจอกันพร้อมหน้าพร้อมตายิ่งกว่าเมื่อตอนหาจังหวะไปเจอกันในกรุงเทพฯเสียอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้
  • หลายท่านนี่ไปจากกรุงเทพฯและได้เจอกันทั้งครอบครัวเลยเชียว แถมได้คุยกันอย่างเอ้อระเหยลอยชาย ชวนกันดูกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็กกับชุมชนได้อีก เมื่อตอนอยู่กรุงเทพฯนี่นัดกันย๊าก-ยาก
  • หนานเกียรติเขาเป็นเครือข่ายของการทำงานแนวนี้เลยละครับ เขาเคยพูดถึงพี่ชัชวาลย์อยู่หลายครั้ง เขานับถือเป็นครูและเป็นพี่ที่รักคนหนึ่ง

เกือบไปแล้วท่านพี่ ... งานนี้ที่โฮงเฮียนสืบสานฯ จัด

เป็นสัปดาห์ที่ผมไม่ได้พานักศึกษาไปเรียน เนื่องจากทางโฮงเฮียนสืบสานฯ กำลังยุ่งกับการจัดงานนี้แหละครับ

สัปดาห์ ... คงได้ไปแน่ ๆ ;)...

สวัสดีค่ะอาจารย์

ชื่นชมการทำงานของอาจารย์จังค่ะ

ถ้ามาเชียงใหม่เมื่อไร จะพยายามหาโอกาสมาเยี่ยมโฮงเฮียนแห่งนี้บ้างค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ

  • ผมเองก็ไปถึงจนเขาเกือบเลิกหมดแล้วครับ วันที่ไปนั้นเป็นวันเสาร์ และไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น รถในเชียงใหม่ติดน่าดู
  • มีหลายคนบอกว่าน่าจะเป็นเพราะมีการจัดงานออกร้านหลายงาน เช่น งานคอมพ์  งานโอท็อป รวมทั้งมีคนหนีน้ำท่วมจากกรุงเทพฯและอีกหลายแห่ง ถือโอกาสที่ต้องหนีน้ำและออกจากบ้าน จัดโปรแกรมให้ตัวเองได้ขึ้นมาเที่ยวเชียงใหม่เสียเลย คนก็เลยเยอะและเกิดรถติดจอแจกว่าปรกติ
  • แต่เดิมนี่ผมก็ไม่ทราบหรอกครับ โน่น น้องๆที่กรุงเทพฯ คืออาจารย์ณัฐพัชร์โน่นแน่ะครับที่บอกว่าเขามีกิจกรรมกาดผญาที่โฮงเฮียนภูมิปัญญาล้านนากัน

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ

  • แนวการทำงานของคุณณัฐรดานี่ สามารถเป็นกิจกรรมเรียนรู้และเวิร์คช็อปเพื่อผสมผสานกับงานฝีมือและความสร้างสรรค์ของล้านนา ให้กับชาวบ้านและกลุ่มสนใจที่ชอบแนวนี้ได้เป็นอย่างดีเลยนะครับ สภาพแวดล้อมในโฮงเฮียนภูมิปัญญาล้านนานี่ เป็นแหล่งที่เหมาะสำหรับจัดเป็นกลุ่มสนใจได้อย่างดีเหมือนกัน
  • ที่บ้านผมนี่ เมื่อจัดให้ลงตัวแล้ว ก็ขอปวารนาสำหรับอำนวยความสะดวกให้คุณณัฐรดาในลักษณะนี้ด้วยเหมือนกันนะครับ อย่างน้อยตอนนี้ก็มีงานหนังสือของคุณณัฐรดาสำหรับจัดดิสเพลย์แล้ว ๓ เล่ม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท