ปัจจุบันบอกอนาคต


ทำบุญได้บาป/ ปัจจุบันบอกอนาคต

 

                    แสงเงินแสงทองเริ่มจับขอบฟ้าหรือหากวันไหนฟ้าครึ้มเมฆมากพอแสงสว่างเริ่มปรากฏ เสียงโปงหรือเสียงระฆังดังมาจากวัด แม่จะเรียกให้ผู้เขียนลุกขึ้นจากที่นอนเตรียมตัวใส่บาตร มือถือก่องข้าวเหนียว(กระติบข้าว)ไปทำบุญใส่บาตรกับพระที่วัดประจำหมู่บ้าน (อธิษฐานบ้าง ไม่อธิษฐานบ้าง) สิ่งที่ตักบาตเป็นข้าวเหนียวล้วนๆไม่มีกับข้าว เพราะกับข้าวแม่จะนำไปส่งที่วัดทีหลังพอพระบิณฑบาตกลับเข้าวัดแล้วประมาณ 7 นาฬิกา ถ้าช่วงทำนาก็ราว 6 นาฬิกา  ชาวบ้านก็ถืออาหารตามกันไปวัด บรรยากาศเช่นนี้เป็นภาพที่เห็นประจำตั้งแต่เป็นเด็ก

        เมื่อโตขึ้นได้ออกมาทำงานที่ต่างจังหวัดกลับบ้านมาก็เห็นประเพณียังดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน พระรับบิณฑบาต(ก้อนข้าว)เสร็จก็เดินสำรวมกันต่อกันเป็นแถวเดินห่างกันราวรูปละประมาณ 90 เซนติเมตรพอประมาณคนเดินผ่านได้ พระไม่ให้พร แต่วันไหนที่แม่ไม่ไปจังหันแม่จะกรวดน้ำที่หน้าบ้าน

           ชีวิตในเมืองเวลาเราใส่บาตรจะเห็นคนส่วนมากเอากับข้าวใส่บาตรด้วยและก็ขอให้พระให้พรด้วยโดยบอกว่าไม่มีเวลาไปวัด แรกๆก็ดีแต่ต่อมาพอมีกับข้าวถวายมีขนมถวายมากขึ้นบาตรเต็มแล้วพระก็เริ่มสะพายย่ามรับบาตรให้พรไปด้วยอีกมือก็ล้วงขนมและอาหารจากบาตรใส่ในย่าม และหลายวันที่ผู้เขียนเข้าไปถึงวัดจะเห็นพระที่ให้พรถือย่ามขึ้นกุฏิเอาขนมไปเก็บไว้และก็ลงมาฉันจังหันปกติ คิดในใจเหมือนกันว่าท่านเอาไปไว้ให้ใคร

           วันที่ 5 พฤศจิกายน 2554 เป็นวันทำบุญทอดกฐินเพื่อสร้างกุฏิจึงมีโอกาสได้เรียนถามเจ้าอาวาสถึงเรื่องพระบิณฑบาตให้พร(อภิวาทนสีลิสส  วุฑฒาปจายิโน /จัตตาโร  ธัมมาวัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง) สะพายย่ามใส่ขนมกับพระที่บ้านนอกรับบิณฑบาตเต็มบาตรแล้วก็หยุดรับ ไม่ให้พร ใครผิดใครถูก

             พระสรุปว่าการบิณฑบาตตามวินัย ถ้าไม่มีงานเทศกาลให้รับเต็มบาตรแล้วก็พอ ไม่ต้องให้พร (ถ้ามีงานให้รับได้สามบาตร ของในบาตรที่ได้มาต้องแบ่งพระภิกษุสามเณรในวัด) พระเดินสำรวมกลับวัด นี้คือวินัยบัญญัติที่พระที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้  ถ้าเราไปประเทศลาวก็เหมือนเราใส่บาตรพระที่หลวงพระบางประเทศลาวประมาณนั้น 

           การที่ชาวพุทธในเมืองไทยใส่อาหารแรกๆก็ดีสะดวกชาวบ้านแต่พอพระได้อาหารและขนมเยอะก็เกิดกิเลสสะสมอาหาร แบบที่เขาว่า “บวชแรกๆอยากได้นิพพาน บวชนานๆ สังฆทานเต็มห้อง” บางรูปรับปั๊บขายคืนให้แม่ค้าปั๊บแล้วยืนรอรับต่อไปจนสายเห็นบางรูปทำตอนอยู่ในเมือง

              ชาวพุทธเราทางภาคอีสานเราควรรักษาพุทธประเพณีใส่ข้าวในบาตรพระแล้วเอาอาหารไปส่งที่วัดจะดีกว่าเพราะพระจะได้ไม่สะสมอาหารผิดอาบัติแล้วศาสนาเราจะเจริญต่อไป หากเรามักง่ายขอพรตามถนนถือว่าเราทำบุญแลกบาปพระยืนให้พรก็ผิดศีล บางวันฝนตกให้พรด้วยคนใส่บาตรก็ถือร่มพระก็ถือร่มก็ผิดวินัยอีก แล้วอนาคตคนไม่เข้าวัดพระก็ต้องทำเอาใจชาวบ้านศาสนาพุทธเราก็คงเหลือแต่พุทธเปลือก ส่วนพุทธบัญญัติพุทธธรรมก็คงค่อยๆเลือนหาย

              “ หากรักพุทธศาสนา เรามาใส่บาตรด้วยการใส่แค่ข้าว ส่วนอาหารตามไปถวายตอนเช้าจะดีกว่า”  ได้บุญมากด้วย ไม่มีเวลาก็ไปมอบให้แม่ครัวที่วัดจัดถวายจะดีกว่า

               เดี๋ยวนี้ พระหลายรูปสิ้นทางทำมาหากิน หรือเมื่อร่างกายชราจึงบวชเลี้ยงชีพ ถ้าเราไม่ใส่อาหารใส่แค่ข้าว พระที่บวชด้วยใจไม่ศรัทธาในพระศาสนาและพระหลวงตาที่บวชตอนแก่จะไม่ได้หอบอาหารไปเก็บไว้เลี้ยงภรรยาเก่าลูกชายหญิงที่ท่านบอกว่าทิ้งบ้านสละบ้านบวชมรณภาพในถ้าเหลือง “ปัจจุบันมันบอกอนาคต” ให้เรารู้ว่าเรากำลังร่วมกันทำลายพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัว

                                          (ข้อมูลจาก หนังสือวินัยมุขเล่ม 1/วินัยมุขเล่มที่ 2/วินัยมุขเล่ม 3 หลักสูตรนักธรรม ตรี โท เอก)

                        

หมายเลขบันทึก: 467555เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2011 08:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท