วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : 38. จับอุดมศึกษารับใช้สังคม


หากใช้รายงานนี้เป็นแนวทางสำรวจตนเองอย่างจริงจังและ ซื่อสัตย์ เราจะพบว่าการจัดการระบบอุดมศึกษาในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาผิดพลาดโดยสิ้นเชิง คือเราไม่ได้ใช้ทรัพยากรของชาติอุดหนุนอุดมศึกษาให้ทำงานใกล้ชิดกับสังคมไทย ไม่ว่าจะเพื่อผลต่อการเพิ่ม productivity, growth หรือ equity เราใช้ทรัพยากรแบบเหวี่ยงแห หรือหนุนให้วงการอุดมศึกษาดำเนินการแบบเดิมๆ ไม่โฟกัสทรัพยากรไปที่ผลลัพธ์ ที่ต้องการ หรือยิ่งกว่านั้น ไม่ได้กำหนดผลลัพธ์ที่ชัดเจน

วิชาการสายรับใช้สังคมไทย  : 38. จับอุดมศึกษารับใช้สังคม

ธนาคารโลกจัดการสัมมนาแบบสัมมนาทางไกล ในวันที่ ๑๓ ต.ค. ๕๔ จากจุดสัมมนาที่โตเกียว ไปยัง นครอูลานบาตอร์  มะนิลา  ฮานอย  จาการ์ต้า  กรุงเทพ  พนมเปญ  สิงคโปร์ และแคนเบอร์ร่า  เรื่อง Putting Higher Education to Work : Skills and Research for Growth in East Asia   เพื่อเปิดตัวหนังสือที่เป็นผลการวิจัยชื่อ Skills and Research for Productivity and Growth : Higher Education in East Asia  ซึ่ง download ได้ที่นี่

ผมเคยลงบันทึกวิจารณ์ผลการวิจัยชิ้นนี้ไว้ที่นี่  

หนังสือเล่มนี้หนา ๑๙๐ หน้า การจัดผังความคิดในการนำเสนอไว้ที่หน้า ๑ ช่วยให้อ่านง่ายขึ้นมาก  ทำให้เห็นว่าธนาคารโลกมุ่งมองประโยชน์ของอุดมศึกษาเน้นที่ Productivity และ Growth เท่านั้น   ไม่มองด้านความเป็นธรรมในสังคมเลย   ผมจึงเสนอในที่ประชุมว่า การรับใช้สังคมของอุดมศึกษา ต้องไม่ใช่เพียงเพื่อเป้าหมายที่ Growth อย่างเดียว ต้องมุ่งที่ Equity หรือความเป็นธรรมในสังคมด้วย

แต่คิดดูอีกที การที่มหาวิทยาลัยเข้าไปสนับสนุนส่งเสริมให้มีการเพิ่ม productivity ก็ทำให้เพิ่มความเป็นธรรมในสังคมได้ หากเราเอาใจใส่ดำเนินการเพื่อเพิ่ม productivity ในทุกภาคส่วนของสังคม   และเน้นลงแรงในภาคส่วนที่ด้อยโอกาสมากกว่า ภาคส่วนที่แข็งแรงอยู่แล้ว   ยิ่งถ้าเรามีแนวคิดและดำเนินการหนุนให้มหาวิทยาลัยเข้าไปแสดงบทบาทร่วมสร้างนวัตกรรม (innovation) เพื่อหนุนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ที่มีความเป็นธรรมสูง   เราก็จะภูมิใจได้ว่า อุดมศึกษาได้เข้าไปเป็นหุ้นส่วน ใกล้ชิดสังคมได้

เราสามารถใช้รายงานชิ้นนี้ทำประโยชน์ต่อประเทศไทยได้หลายแบบ   แบบหนึ่งคือ ใช้สำรวจตนเองอย่างจริงจังและ ซื่อสัตย์   แล้วเราจะพบว่าการจัดการระบบอุดมศึกษาในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาผิดพลาดโดยสิ้นเชิง   คือเราไม่ได้ใช้ทรัพยากรของชาติอุดหนุนอุดมศึกษาให้ทำงานใกล้ชิดกับสังคมไทย ไม่ว่าจะเพื่อผลต่อการเพิ่ม productivity, growth หรือ equity    เราใช้ทรัพยากรแบบเหวี่ยงแห หรือหนุนให้วงการอุดมศึกษาดำเนินการแบบเดิมๆ   ไม่โฟกัสทรัพยากรไปที่ผลลัพธ์ ที่ต้องการ   หรือยิ่งกว่านั้น ไม่ได้กำหนดผลลัพธ์ที่ชัดเจน

การจัดการระบบตามที่ดำเนินการมาแล้ว จึงทำให้เรามีระบบอุดมศึกษาที่ Disconnect  5 ประการ ตรงตามรายงาน   คือแยกตัวไม่เชื่อมโยงกับ  (1) Employers (skill users)   (2) Companies (research users)   (3) Research Institutions   (4) HEI อื่น และ Training providers  real sectors   (5) Earlier education    ที่จริงเราอาจตีความ Disconnect ว่า ไม่เชื่อมโยงกับ real sectors ของบ้านเมือง   แยกตัวระหว่างกันในหมู่สถาบันอุดมศึกษา   แยกตัวระหว่างศาสตร์   แยกตัวระหว่างการทำหน้าที่ต่างหน้าที่ของ อุดมศึกษา เช่นแยกตัวระหว่างหน้าที่บริการกับวิจัย แยกตัวระหว่างหน้าที่ผลิตบัณฑิตกับวิจัย  เป็นต้น

ทำให้ผมคิดต่อว่า การประเมินสถาบันอุดมศึกษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นการประเมินที่ไม่ตรงจุด   คือไม่พุ่งเป้าไปประเมินที่ ผลลัพธ์ และผลกระทบต่อสังคมโดยตรง   ไปหลงประเมินตัวแทน (proxy) และในหลายกรณีเป็นตัวแทนปลอมๆ  

รายงานนี้บอกว่า จะให้อุดมศึกษาส่งผลต่อ growth ต้องเอาใจใส่ Skills (ของบัณฑิต) และ Research   ซึ่งหมายความว่าต้องลงทุนเพื่ออุดมศึกษาที่มีคุณภาพ   ไม่ใช่เพียงแค่ให้มีคนได้ปริญญา แต่ต้องให้ได้ Skills ที่สังคมต้องการ   และให้ได้ผลงานวิจัยที่สังคมต้องการ     ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง

เพื่อให้ได้ผลดังกล่าว ต้องไม่ลืมใช้พลังของเทคโนโลยี  ICT ช่วยให้เราเข้าถึงความรู้ของทุกมุมโลก   เอามาเรียนรู้เพื่อยกระดับ skills ของคนของเรา   และเพื่อสร้างผลงานวิจัยที่ส่งผลต่อ productivity, growth, และ equity ของสังคม   โดยที่ผมฝันต่อว่า การยกระดับ skills กับการสร้างผลงาน essential research นั้น ทำได้ผ่านกระบวนการเดียวกัน หรือกระบวนการที่เกี่ยวข้องกัน   โดยที่อุดมศึกษาต้องทำงานร่วมกับภาค real sectors เพื่อบรรลุผลนี้   ต้องไม่ทำงานแบบ disconnect อีกต่อไป   คือการเรียนรู้เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และทักษะ ต้องเน้นเรียนรู้แบบ learning-by-doing ให้มากที่สุด   และส่วนหนึ่งต้องเป็น on-the-job learning   ที่ผมเรียกว่า PBL นั่นเอง

ต้องไม่ลืมว่า skills ที่ต้องเรียนรู้ในระดับมหาวิทยาลัย  กับ skills ที่ต้องเรียนรู้ในระดับอาชีวะ นั้น แตกต่างกัน   ในระดับมหาวิทยาลัยเราเน้น higher order skills และ complex skills เพื่อช่วยให้การเรียนรู้เชิงทฤษฎีมีความแจ่มชัดและลึกซึ้งยิ่งขึ้น   รวมทั้งให้มีทักษะที่จำเป็นอีกมากมายสำหรับการเป็นผู้นำ หรือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง

รายงานนี้เสนอกลไกหลัก ๓ ประการสำหรับสร้าง Connection   ได้แก่กลไกด้าน  (1) Financing  (2) Management  (3) Stewardship  เพื่อให้เกิด  (1) แรงจูงใจเพิ่มขึ้น  (2) เพิ่มขีดความสามารถ  (3) มีสารสนเทศที่ดี

กลไกด้าน Financing เพื่อสร้างแรงจูงใจ และเพิ่มขีดความสามารถทำโดย  (1) กำหนดการใช้จ่ายสาธารณะในเรื่องที่มีลำดับความสำคัญสูง ได้แก่ การวิจัย  การสร้างทักษะ STEM   และการดำเนินการแบบมีส่วนร่วมกว้างขวาง   (2) ใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิผล  แยกแยะสนับสนุนผู้ทำงานได้ผล  และหาทางดึงดูดภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน

กลไกด้านการจัดการเพื่อสร้างแรงจูงใจและสารสนเทศ  ทำโดยเลือกสนับสนุนสถาบันที่มีอิสระและรับผิดชอบ  โดย   (1) ส่งเสริมให้เกิดทั้งความมีอิสระด้านวิชาการ และด้านการจัดการ   (2) สร้างความเข้มแข็งของสภามหาวิทยาลัย  (3) พัฒนาระบบประเมินคุณภาพภายนอก 

กลไกด้าน Stewardship ดำเนินการโดย  (1) สร้างความร่วมมือภายในและข้ามกระทรวง  (2) ให้สถาบันเอกชนได้รับการสนับสนุนด้านนโยบาย  มีการควบคุมที่ดี แต่ไม่เคร่งครัดเกินไป  และมีสิทธิได้รับเงินกู้ยืมทางการศึกษาแก่นักศึกษา รวมทั้งทุนวิจัย  (3) ส่งเสริม University – Industry Linkage   (4) ให้ได้รับผลดีจาก internationalization

หลังจาก Emanuela Di Gropello หัวหน้าทีมวิจัยนำเสนอจบ   ก็เป็นการวิพากษ์โดย ผอ. JICA ที่โตเกียว, ศาสตราจารย์จาก Singapore Management University พูดที่สิงคโปร์   และอธิการบดีของ Asian Institute of Management ที่มานิลา    แต่ละคนพูดโยงเข้าสู่บริบทของประเทศหรือสถาบันของตน   เห็นได้ชัดว่าสิงคโปร์ไปไกลมากในการใช้อุดมศึกษาขับเคลื่อนความเข้มแข็งของประเทศ

หลังจากจบ teleconference  ที่ห้องประชุมของฝ่ายไทยเราก็คุยกันเอง   โดยมี ท่านรองเลขาธิการ กกอ. รศ. ดร. พินิติ รตะนานุกูล เป็นประธาน   ท่านกล่าวสรุปกิจกรรมของ สกอ. ในการสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาทำหน้าที่สร้างความเจริญ แก่สังคม โดยใช้เวลาประมาณ ๑๕ นาที 

ผมให้ความเห็นสั้นๆ ๓ ข้อ

  1. เป้าหมายการใช้ประโยชน์อุดมศึกษาต้องไม่ใช่แค่ด้าน Growth   ด้องเน้นด้าน Equity ด้วย อย่างสมดุล
  2. เสนอเพิ่มกลไกสร้าง connection ด้วยกระบวนการเรียนรู้ของ นศ. แบบ PBL
  3. แจ้งให้ทราบว่า Industry PhD อย่างที่ทางสิงคโปร์พูดถึง ในประเทศไทยก็มี   ดำเนินการโดย คปก. ของ สกว. เรียกว่า คปก. อุตสาหกรรม   ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ และภาคอุตสาหกรรมเริ่มเห็นความสำคัญ

            ผมมีความเห็นว่า สกอ. มีข้อจำกัดในการบริหารระบบอุดมศึกษาตามแนวทางที่ธนาคารโลกเสนอ   เพราะ สกอ. คุ้นกับการใช้อำนาจ   ไม่มีทักษะด้าน Stewardship

           โดยสรุป ผมคิดว่าคำแนะนำของธนาคารโลกเหมาะสม และลึกซึ้งดีมาก    โดยประเทศไทยต้องเอามาย่อยต่อ และสะกัดส่วนทุนนิยมมากเกินไปทิ้ง  ใส่ส่วนที่เน้นประโยชน์เชิงสร้างความเป็นธรรมในสังคมลงไป    ข้อจำกัดของประเทศไทยคือ ระบบจัดการภาครัฐของเรายังไม่เข้มแข็ง ไม่ทันสมัย เล่นพวก ใช้ระบบอุปถัมภ์  และยังมีกลิ่นแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบอยู่มาก ในวงการเมือง    จะทำตามที่ธนาคารโลกแนะนำได้ผลจริง ต้องก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านี้ให้ได้ 

          บันทึกนี้ว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษากับวิชาการสายรับใช้สังคมไทย ในมิติมหภาค (macro)   ว่าจะทำให้มหาวิทยาลัยรับใช้สังคม ได้อย่างไร

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ต.ค. ๕๔

หมายเลขบันทึก: 467553เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2011 07:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท