วิธีเตรียมตัวจัด KM Workshop


การจัด KM Workshop นั้นมีเรื่องต้องเตรียมตัวมาก ทั้งทางฝ่ายผู้จัด วิทยากร และผู้เข้าร่วม

วิธีเตรียมตัวจัด KM Workshop

         คณะศึกษาศาสตร์ มมส. จะจัดการประชุมฉลองวันก่อตั้งคณะในวันที่ ๑๔ - ๑๕ กย. ๔๙      โดยในวันที่ ๑๕ กย. เป็นเรื่อง KM สำหรับครู     ทางคณะฯ มาขอให้ สคส. ช่วยไปเป็นวิทยากรจัดกระบวนการ     ผศ. ฉลาด จันทรสมบัติ ผู้แทนของ คณะฯ กับผมได้ร่วมกันออกแบบการประชุมไว้แล้วในการพบปะหารือเมื่อวันที่ ๒๑ สค.

         ผมมอบให้ครูใหม่ KM Intern คนที่ ๒ ของเราเป็นผู้รับผิดชอบ workshop นี้     ครูใหม่ได้ อีเมล์ ไปแจ้ง ผศ. ฉลาด ผู้รับผิดชอบทาง มมส. ดังต่อไปนี้

เรียน อาจารย์ ฉลาด ที่นับถือ

     ดิฉันชื่อ วิมลศรี ศุษิลวรณ์   หรือจะเรียกสั้นๆว่า ครูใหม่ก็ได้นะคะ  ดิฉันได้รับมอบหมายจากท่านอาจารย์วิจารณ์ ให้เป็นผู้ประสานงานกับอาจารย์ ในการจัดกิจกรรม "จุดประกายเครือข่ายจัดการความรู้ ครูเพื่อศิษย์"  ที่จะจัดให้มีขึ้นที่ ม.มหาสารคาม ในวันที่ ๑๕ กันยายน นี้

     ดิฉันได้รับคำแนะนำจากท่านอาจารย์วิจารณ์ว่า ให้ศึกษาวิธีการเตรียมตัวผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ จากการทำงานของอาจารย์วิบูลย์ วัฒนาธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ ของม.นเรศวร เพื่อนำมาปรับใช้กับงานของ ม.มหาสารคามในครั้งนี้  ซึ่งพอจะสรุปเคล็ดลับได้ดังนี้

     เงื่อนไขของการจัดการจัดกิจกรรมKM ให้ประสบความสำเร็จคือ

     ๑. ผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่านควรหาโอกาสศึกษาความรู้เรื่อง KM ด้วยตนเอง ก่อนการเข้าร่วมสัมมนาจาก

         - บันทึกเรื่อง วิธีทำ KM ในองค์กรภาครัฐ : เล่นไม่ยากถ้าเริ่มจากความสำเร็จ  ซึ่งหาอ่านได้จาก http://gotoknow.org/blog/thaikm/35021

         - หนังสือ การจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ. ศ.นพ. วิจารณ์  พานิช (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑) หน้า ๑๓๘ -๑๔๘  ที่ว่าด้วยการเล่าเรื่อง (storytelling)

        - หนังสือ จัดการความรู้ ฉบับมือใหม่หัดขับ. ดร. ประพนธ์  ผาสุขยืด

          - หนังสือ การจัดการตวามรู้ กระบวนการปลดปล่อยมนุษย์ สู่ศักยภาพ เสรีภาพ และความสุข. ศ.นพ.ประเวศ  วะสี

         ซึ่งต้องขอรบกวนอาจารย์ให้ช่วยเตรียมเอกสาร และกระจายให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา ทั้ง ๓๐๐ คนไปทำความเข้าใจมาก่อนด้วยนะคะ

     ๒. ต้องมีการเตรียมตัวผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นคุณอำนวย และคุณลิขิต ให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในส่วนนี้ต้องรบกวนอาจารย์สรรหาบุคลากรที่มีความเหมาะสม และให้ความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของคุณอำนวย และคุณลิขิตด้วยนะคะ
    
         - คุณอำนวย หรือ ผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้ ประจำกลุ่ม  ต้องมีกลุ่มละ ๑ คน  (หารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก หนังสือ การจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ. ศ.นพ.            วิจารณ์  พานิช (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑) หน้า ๒๓ - ๓๘

         - คุณลิขิต  หรือ ผู้ทำหน้าที่จดบันทึกในกิจกรรมจัดการความรู้  ต้องมีกลุ่มละ ๑ คน  (หารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก หนังสือ การจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ. ศ.นพ. วิจารณ์  พา           นิช (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑) หน้า ๔๓ - ๔๔

      ๓. ต้องมีการเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการนำเสนอความคิด กลุ่มละ ๑ ชุด  ได้แก่  ขาตั้ง flip chart   กระดาษปรู๊ฟ  ปากกาเคมี สีแดง สีดำ สีน้ำเงิน  สีเขียว

      ๔.ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเขียนเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของตน ที่เป็นความสำเร็จ ความภาคภูมิใจที่ได้ทำเพื่อศิษย์ ในเรื่องต่างๆ   เพื่อให้ผู้ที่มาเข้าสัมมนาเชิงปฏิบัติการได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน  จากเรื่องที่เป็นความรู้ปฏิบัติ  โดยที่อาจารย์และดิฉันจะต้องได้อ่านเรื่องเหล่านั้นก่อนการสัมมนาสัก ๕ วัน  เพื่อที่จะได้ทำการจัดกลุ่มคนตามประสบการณ์         ความสำเร็จ และ ความสนใจที่มีอยู่เดิม
        
                    ไม่ทราบว่าอาจารย์จะจัดส่งเรื่องเล่าความสำเร็จเหล่านี้มาให้ดิฉันภายในวันที่ ๘ กันยายนได้ไหมคะ เพื่อที่ดิฉันจะได้มีเวลาศึกษาความสำเร็จของผู้เข้าสัมมนาล่วงหน้า และจะได้เตรียมตั้งประเด็นของเรื่องที่น่าสนใจ และสามารถนำไปสู่การเป็นเครือข่ายจัดการความรู้ ครูเพื่อศิษย์ ที่น่าจะเกิดขึ้นต่อไปได้จริง จากฐานของความสำเร็จที่เคยมีมาแล้ว  ต่อไป
 
     อาจารย์สามารถติดต่อดิฉันได้ที่ 
[email protected]  หรือที่ โทรศัพท์หมายเลข ๐-๑๖๔๔-๖๖๖๔
     ที่อยู่สำหรับการส่งเอกสาร  
          วิมลศรี     ศุษิลวรณ์
          โรงเรียนเพลินพัฒนา
          ๓๓/๓๙-๔๐  ถนนสวนผัก
          แขวงศาลาธรรมสพน์
          เขตทวีวัฒนา
          กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐

     ดิฉันจะออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๔ กันยายน  โดยเที่ยวบินที่ TG 044  ถึงขอนแก่น เวลา ๑๓.๕๕ น.  ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยจัดรถมารับด้วยนะคะ  เมื่อรับดิฉันแล้ว รถคันนี้จะต้องพาดิฉันไปยัง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ที่อยู่ใน ม.ขอนแก่น  เพื่อรับท่านอาจารย์วิจารณ์ที่ไปบรรยายอยู่ที่โรงพยาบาล จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังมหาสารคาม เพื่อเตรียมการล่วงหน้ากับอาจารย์ และกลุ่มผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นคุณอำนวย และคุณลิขิตประจำกลุ่ม ที่คาดว่าจะมีประมาณ ๖๐ คน  ( จากผู้เข้าร่วมสัมมนา ๓๐๐ คน  แบ่งออกเป็นกลุ่มๆละ ๑๐ คน ได้ ๓๐ กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีผู้ทำหน้าที่ คุณอำนวย ๑ คน  คุณลิขิต ๑ คน)

     หลังจากจบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแล้ว ท่านอาจารย์ และดิฉันจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยเที่ยวบินที่ TG 047 ออกเดินทางจากขอนแก่น เวลา ๒๐.๓๐ น. ค่ะ  เท่าที่ทราบข้อมูลมา ก็คือ การบินกลับกรุงเทพฯ ต้องนั่งรถไปที่สนามบินขอนแก่น  และ TG มีเที่ยวบินจากขอนแก่นเพียงวันละ ๓ เที่ยว ดังนั้น จึงไม่มีเที่ยวบินอื่นที่จะพามาถึงกรุงเทพฯได้เร็วกว่านี้แล้ว  ไม่ทราบว่าข้อมูลของดิฉันถูกต้องไหมคะ รบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำด้วยค่ะ

     หากอาจารย์ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมมากกว่าที่ดิฉันนำมาหารือ ก็สามารถเข้าไปศึกษาได้จาก gotoknow.org/blog /nurqakm นะคะ เป็น blog ของอจารย์วิบูลย์ค่ะ  ดิฉันขอจบการแลกเปลี่ยนแนวทางการจัดกิจกรรมการจัดการความรู้ สำหรับชาวศึกษาศาสตร์ ม.มหาสารคามไว้เพียงเท่านี้ก่อนนะคะ  รบกวนอาจารย์ช่วยให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมด้วยค่ะ

                                                                                                                                                 ขอแสดงความนับถือ                                                    

                                                                                                                                               วิมลศรี   ศุษิลวรณ์

       เอามาเล่าไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่า การจัด KM Workshop นั้นมีเรื่องต้องเตรียมตัวมาก  ทั้งทางฝ่ายผู้จัด  วิทยากร  และผู้เข้าร่วม     เรามีประสบการณ์ว่าผู้จัดและผู้เข้าร่วมมักคิดว่าจัดก็จัด    แค่มีห้องประชุม มีโต๊ะ เก้าอี้ เครื่องขยายเสียง คอมพิวเตอร์ แอลซีดี ก็จัดได้แล้ว      ซึ่งไม่จริงครับ     KM Workshop เป็นการทำกิจกรรมร่วมกันในหมู่ผู้เข้าร่วม     ต้องเตรียมสถานที่ เตรียมบรรยากาศ เตรียมผู้เข้าร่วม มาก่อน     มิฉนั้นกิจกรรมใน workshop ก็จะไม่มีคุณภาพ    ไม่สามารถทำให้ผู้เข้าร่วมเกิดความเข้าใจ KM จากการสัมผัสจริงได้    ไม่สามารถฝึกเปิดใจ เปิดปาก เปิดหู และเปิดตา เพื่อเป็นทักษะในการ ลปรร. ในชีวิตการทำงานจริง

        ที่จริงมีรายละเอียดมากกว่าที่ครูใหม่เขียนใน อีเมล์    แต่เรารู้ว่า ผศ. ฉลาดเคยมีประสบการณ์การจัด KM Workshop แล้ว     จึงไม่ต้องย้ำ

        ที่ผมอยากให้ ผศ. ฉลาด และท่านคณบดี ย้ำกับผู้มาประชุมได้แก่
          ๑. ต้องเตรียมตัวมาก่อน ตามที่ครูใหม่ระบุ     มิฉนั้นกิจกรรมในวัที่ ๑๕ กย. ก็จะได้ผลน้อย     คนที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนไม่ควรมาร่วมเพราะนอกจากตนเองจะไม่ได้อะไรแล้ว ยังจะถ่วงผู้อื่นด้วย
         ๒. ต้องมาร่วมได้ตลอดวัน    การมาเพียงครึ่งวันจะเกือบไม่ได้อะไรเลย     ความรู้ความเข้าใจจะค่อยๆ ซึมเข้าไปในตัวและชัดขึ้นเมื่อครบวัน
         ๓. ต้องมา "เต็มทั้งตัวและใจ"  คือไม่ใช่มาครึ่งๆ ใจ     ไม่สามารถมีใจจดจ่อกับกิจกรรมตลอดวันได้     ก็จะไม่ได้รับประโยชน์
         ๔. ขออย่าเอาโทรศัพท์มา  หรือเอามาก็ขอให้ปิดเสีย     โปรดประกาศด้วยว่าผมจะถือเป็นการเสียมรรยาทมากหากมีโทรศัพท์ของใครดังในห้อง workshop    และถ้าผมได้ยินผมจะไล่ (ย้ำว่าไล่) คนนั้นออกไปจากการประชุมเลยโดยไม่ไว้หน้า

วิจารณ์ พานิช
๒๖ สค. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #km-workshop#เทคนิคkm#มมส.
หมายเลขบันทึก: 46626เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2006 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท