อยู่กับน้ำ...อยู่ให้เป็น...เช่นไม้น้ำ


เมื่อแก้วิกฤติมหาอุทกภัยไม่ได้ และไม่อยากจะหนีปัญหา ก็คงจะมีเพียงทางเลือกเดียว นั่นก็คือ "การทำใจและปรับตัวให้อยู่ได้อย่างกลมกลืนไปกับน้ำ"

 

 

 

ด้วยพบพาน พิษภัย จากสายน้ำ     ต่างชอกช้ำ จิตสลด ไม่สดใส

เมื่อวิกฤติ ไม่ลุล่วง ขอปวงไทย            "พึงทำใจ อยู่ให้เป็น เช่นไม้น้ำ"  

 

          ในแต่ละวัน ผู้เขียนได้ติดตามข่าวน้ำท่วมในท้องที่ต่างๆ ได้เห็นถึงความยากลำบากในการดำเนินชีวิตของผู้ประสบอุทกภัย ทำให้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ อยากให้วิกฤติครั้งนี้ผ่านพ้นไปโดยเร็ว คอยเอาใจช่วยให้จังหวัดต่างๆ รวมทั้งกทม. และรัฐบาล สามารถป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมได้สำเร็จ 

รูปภาพ รูปน้ำท่วม น้ำท่วมครั้งนี้สัตว์ก็ลำบากไม่แพ้คน

        (ขออนุญาตใช้ภาพประกอบจากความเห็นของท่าน ผศ.โสภณ เปียสนิท ขอบพระคุณมากนะคะ)

          ความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงของมหาอุทกภัยในเมืองไทย ก็คือ การได้เห็นภาพของหน่วยงาน องค์กร สื่อมวลชน คณะบุคคล บุคคลต่างๆ รวมทั้งกัลยาณมิตรชาว GotoKnow ที่มีน้ำใจเสียสละกำลังทรัพย์ กำลังกาย กำลังสติปัญญา และกำลังใจในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสพอุทกภัย ผู้เขียนเองก็ได้แต่ส่งกำลังใจไปช่วย และบริจาคทรัพย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในโอกาสต่างๆ

         ช่วงนี้ ผู้เขียนอยู่ที่ "ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" เพื่อกำจัดวัชพืช (ที่ขึ้นหนาแน่นมากเพราะกำจัดไม่ไหวในหน้าฝนที่ผ่านมา) บริเวณสวนหย่อม ต้นไม้ที่ปลูกรอบๆ บริเวณบ้าน และต้นไม้สำคัญใกล้บ้าน แล้วจัดสวนหย่อมใหม่ และพรวนดินใส่ปุ๋ยต้นไม้ที่ได้รับการกำจัดวัชพืชแล้ว 

 

 สวนหย่อมป้ายยินดีต้อนรับ ต้นคอเดียร์ ต้นพู่จอมพล และสวนหย่อมข้างเรือนไทย ตามลำดับ (ภาพเก่า)

        เมื่อเย็นวานนี้ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองฝาง (ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งฟาร์ม) ได้ไปเรี่ยไรเงินและของอุปโภคบริโภคจากครัวเรือนต่างๆ ในหมู้บ้าน เพื่อส่งไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่กรุงเทพมหานคร เห็นกุ้นถุงที่ใส่ของบริจาคมีอะไรตุงอยู่เพียงเล็กน้อย เข้าใจว่าจะเป็นข้าวสาร ผู้เขียนคาดว่า น่าจะได้ของบริจาคไม่มาก เพราะบ้านหนองฝางเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กมีแค่ประมาณ 50 หลังคาเรือนเท่านั้น และชาวบ้านส่วนใหญ่ก็มีฐานะไม่ค่อยจะดีด้วย พ่อใหญ่สอเองได้บริจาคเงินค่อนข้างมาก โดยบอกว่า คนเดือดร้อนมากมายเช่นนี้ต้องช่วยมากหน่อย รอให้รัฐบาลช่วยอย่างเดียวช่วยไม่ไหวหรอก และวันนี้พ่อใหญ่ก็จะนำเงินไปบริจาคช่วยผู้ประสบอุทกภัยที่ อ.วารินชำราบ ซึ่งเป็นอำเภอที่ตั้งฟาร์มฯ ในจำนวนเท่ากับที่ช่วยชาวกทม. ผู้เขียนขออนุโมทนาบุญในจิตอันเป็นกุศลของพ่อใหญ่สอในครั้งนี้

      สำหรับผู้เขียนเองได้บริจาค (ด้วยความรู้สึกที่อยากบริจาคจริงๆ) โดยใส่เงินตามที่มีในกระเป๋า (เหลือติดกระเป๋าไว้นิดหน่อย) ในตู้รับบริจาคที่สนามบินสุวรรณภูมิ ขณะเข้าแถวรอรับการตรวจคนเข้าเมือง ขากลับจากไปทัศนศึกษาปักกิ่งกับคณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฏอุบลฯ เวลาเกือบสองนาฬิกาของวันที่ 16 ต.ค. 54  (โครงการทัศนศึกษากำหนดจัดในเดือนมีนาคม แต่มีปัญหาเรื่องนิวเคลียร์จากญี่ปุ่นจึงเลื่อนมาจัด 11-15 ต.ค. 54 ไม่ใช่เป็นการหนีน้ำท่วมไปเที่ยวนะคะ ...พาพ่อใหญ่สอไปเปิดหูเปิดตาด้วย) ในวันที่กลับ ได้นัดลูกๆ ทานข้าวเที่ยงไว้ก่อนไปทัศนศึกษาแล้ว (ก่อนวันเดินทางก็ได้ไปเที่ยวและทานข้าวเย็นกับลูกๆ มาแล้วครั้งหนึ่ง) แต่ก็ได้พบเฉพาะลูกชาย ส่วนลูกสาวติดไปช่วยทำกระสอบทรายที่รังสิต หลังจากกลับถึงอุบลฯ แล้ว ผู้เขียนได้ติดต่อลูกๆ ทางโทรศัพท์ เพื่อสอบถามเรื่องน้ำท่วม แต่ติดต่อไม่ได้ทั้งลูกสาวและลูกชาย จึงเข้าไปหาร่องรอยใน Facebook จึงรู้ว่า ลูกทั้งสอง (ซึ่งทำงานอยู่ที่กทม. โดยทำธุรกิจส่วนตัว [Self Enterprising] เพราะไม่ชอบการเป็นลูกจ้างใคร จึงกำหนดกิจกรรมของตนเองได้ตามความพอใจ) ได้ออกไปช่วยทำกระสอบทรายที่รังสิตคลอง 6 หลังจากนั้นลูกสาวก็ได้ไปช่วยลำเลียงข้าวของที่ส่งไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีก

     ก่อนไปทัศนศึกษา ได้ไปเที่ยวตลาดมหานคร และทานข้าวเย็น (กินปู ดูเรือบิน [ภาพขวาสุด]) กับลูกๆ 

    

        ทัศนศึกษาปักกิ่ง (Beijing Field Trip) 11-15 ต.ค. 54 ภาพแรกถ่ายก่อนออกจากพระราชวังฤดูร้อน ภาพที่ 2 ถ่ายกับอาจารย์สาขาวิชาพลศึกษาบนกำแพงเมืองจีน ที่เคยไปเผชิญภูเขาหิมะมังกรหยกด้วยกันในปี 2551 (มีแต่อาจารย์อาวุโสปีน อาจารย์หนุ่มสาวกลับไม่ยอมปีน พ่อใหญ่สอบ่นที่ผู้เขียนไม่ห่วงหน้าตา ไม่สวมหมวกและแว่นกันแดดเหมือนคนอื่นๆ : ก็อยากสัมผัสแดดลมบนกำแพงเมืองจีนให้ได้มากที่สุดนี่นา) ภาพที่ 3 เส้นทางการบินกรุงเทพ-ฮ่องกงและฮ่องกงปักกิ่ง (ถ่ายจากจอ TV บนเครื่อง)  ภาพที่ 4 สนามบินฮ่องกง (บน) สนามบินปักกิ่ง (ล่าง) และภาพที่ 5 ถ่ายก่อนเข้าชมพระราชวังต้องห้าม 

        จากการที่ได้ติดตามลุ้นการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมของผู้เกี่ยวข้องในท้องที่ต่างๆ ส่วนใหญ่พบว่า ต่างก็สู้กับปริมาณน้ำที่มากมายมหาศาลและพลังน้ำที่รุนแรงและมาจากทุกทิศทุกทางไม่ไหว ทำให้มีผู้ประสบภัยเพิ่มมากขึ้นทุกเวลานาทีที่ผ่านไป และภัยพิบัติที่รุนแรงในครั้งนี้จะยังคงอยู่ไปอีกนาน เมื่อแก้วิกฤติมหาอุทกภัยไม่ได้ และไม่อยากจะหนีปัญหา ก็คงจะมีเพียงทางเลือกเดียว นั่นก็คือ "การทำใจและปรับตัวให้อยู่ได้อย่างกลมกลืนไปกับน้ำ" ประดุจ "ไม้น้ำ (Aquatic Plants)" แม้พี่น้องและมวลมิตรผู้ประสบอุทกภัยทั้งหลายจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ใต้น้ำได้ ดังสาหร่ายที่เป็นไม้ใต้น้ำ (Submerged Plants)” ก็ขอจงทำใจและปรับตัวให้อยู่กับน้ำให้ได้ ดังเช่น ไม้น้ำที่ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ ดังภาพล่าง ได้แก่ จอก แหน (Duckweed) ซึ่งจัดอยู่ในประเภท “ไม้ลอยน้ำ (Floating Plants)” บัวชนิดต่างๆ ซึ่งจัดอยู่ในประเภท “ไม้ที่เติบโตเหนือน้ำ (Emerged Plants)” กก (อยู่ในภาพที่ 3) และลานไพลิน ซึ่งจัดอยู่ในประเภท “ไม้ชายน้ำ (Marginal Plants)" 

 

     ผู้เขียนขอส่ง "ภาพไม้น้ำฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" มาให้พี่น้องและมวลมิตรผู้ประสบอุทกภัย และผู้ทำหน้าที่ป้องกัน/แก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ได้ชมเพื่อเป็นการผ่อนคลายความอ่อนล้าทั้งกายและใจ และเป็นสิ่งปลุกปลอบใจรวมถึงเป็นข้อคิด "ในการดำเนินชีวิตให้กลมกลืนไปกับน้ำ" สำหรับผู้ประสบอุทกภัยทั้งปวง

 

       ภาพจากซ้ายไปขวาตามลำดับ ได้แก่ แว่นแก้ว (Water Pennywort) จอก (Water Lettuce) และ ลานไพลิน (Giant Bacopa) ซึ่งปลูกในอ่างมุมระเบียงหน้าบ้านด้านซ้าย 

 

     ภาพจากซ้ายไปขวาตามลำดับ ได้แก่ อ่างบัวป๊อบปี้ (Water Poppy) กกอียิปต์ (Egyptian Payrus) และดอกบัวป๊อบปี้ ที่มุมระเบียงหน้าบ้านด้านขวา

  

            ภาพจากซ้ายไปขวาตามลำดับ ได้แก่ อ่างบัวหลวงหรือปทุมชาติ (Lotus) ที่มุมระเบียงหน้าบ้านด้านซ้าย ดอกบัวหลวงสีชมพูตูม และบาน (ดอกไม้ประจำจังหวัดอุบลราชธานี ที่มาของผ้ากาบบัว ผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุบลฯ)

 

บัวเผื่อน หรือ บัวผัน หรือ หรือบัวขาบ ที่มีชื่ออันเพราะพริ้งว่า "นิโลบล หรือ นิลุบล (Water Lily)" สายพันธุ์ไทย ที่ปลูกในท่อปูนเรียงรายข้างบ้านด้านทิศตะวันออก 

 

ดอกนิลุบล (ใช้ชื่อที่ฟังไพเราะเสนาะโสต) สายพันธุ์ไทย สีเหลืองอ่อน สีขาว สีม่วงน้ำเงิน และสีชมพู 

 

ดอกนิลุบลสายพันธุ์อเมริกัน ที่ปลูกบริเวณเดียวกันกับนิลุบลสายพันธุ์ไทย

 

ดอกนิลุบลสายพันธุ์อเมริกัน สีชมพู สีขาว และสีโอโรส

 

และขอฝากข้อคิดทิ้งท้าย ไว้ว่า...

เมื่อพบพาน พิษภัย จากสายน้ำ     ฤาชอกช้ำ จิตสลด จงสดใส

แก้วิกฤติ ไม่ลุล่วง ขอปวงไทย            “จงทำใจ ให้ชุ่มเย็น เช่นไม้น้ำ"  

 

       ขอให้พี่น้องผองผู้ประสบมหาอุทกภัย...จงมีความเข้มแข็งในการมองโลก...คือมองว่า...ปัญหาจะไม่อยู่กับเราตลอดไป...เมื่อปัญหาผ่านเข้ามา...ย่อมมีเวลาที่จะผ่านไป...ขอเพียงเราอยู่กับวันนี้ให้ได้...แล้ววันที่ฟ้าใสจะกลับมา      

หมายเลขบันทึก: 465974เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2011 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่าน


ความเห็น
  • ขอบคุณมากนะคะ สำหรับกำลังใจแรกของบันทึกนี้ ที่ "คุณบุศยมาศIco24" กรุณามอบให้
  • นี่เป็นการตอบครั้งที่ 3 ค่ะ (ตอบตอนเข้าเมืองแล้ว) การตอบ 2 ครั้งก่อนตอบที่ฟาร์มซึ่งมีปัญหาการใช้ Internet ค่ะ พอตอบเสร็จ Click จัดเก็บข้อมูล 'net ก็หลุดไป
  • เมื่อคืนนี้ดิฉันได้ใช้ความพยายามที่จะเพิ่มบันทึกอยู่จนเกือบตีสองแต่ก็ไม่สำเร็จ เลยถอยเพื่อตั้งหลัก (ไม่ต่างจากการแก้ปัญหาน้ำท่วม) ตอนเช้าได้ใช้ความพยายามอีกพร้อมกับกำจัดวัชพืชและจัดสวนหย่อมไปด้วย กว่าจะทำได้สำเร็จก็ 08.37 น. ทั้งนี้ต้องลองเปลี่ยนไปใช้วิธีใส่เฉพาะเนื้อหาก่อนแล้วจัดเก็บข้อมูล ต่อจากนั้นจึงทำการแก้ไขบันทึกเพื่อเพิ่มภาพ จึงเพิ่มบันทึกได้สมบูรณ์ค่ะ ความสำเร็จดังกล่าวเป็นไปตามคติที่ว่า "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายาม เอ๊ย ความสำเร็จอยู่ที่นั่น (Where there is the will, there is the way." ค่ะ
  • หวังว่า คุณบุษยมาศจะไม่ "พบพานพิษภัยจากสายน้ำ" นะคะ 
  • ขอบคุณ "อาจารย์หมอป.Ico24" มากนะคะ ที่เข้ามาให้กำลังใจ
  • ดิฉันยังติดหนี้อาจารย์หมอป.อยู่นะคะ ที่บอกว่าอยากจะอ่านบทคัดย่องานวิจัยของดิฉันเกี่ยวกับการพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ของนักศึกษา (ด้านนิสัยรักการอ่านและทักษะในการอ่าน ซึ่งเป็นส่วนย่อยในหลายๆ ส่วนที่พัฒนาค่ะ) ดิฉันเห็นว่า บทคัดย่อไม่น่าจะเพียงพอกับการนำไปใช้ตามที่อาจารย์หมอกล่าวถึงนะคะ เอาเป็นว่า ดิฉันจะเขียนบันทึกเกี่ยวกับการวิจัยในส่วนนี้ ใน Blog "Learntoknow" แต่ต้องขออภัยที่ต้องรอสักระยะหนึ่ง เพราะช่วงนี้มีงานด่วนหลายงานค่ะ   

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์

-เห็นภาพดอกบัวแล้ว รู้สึกมีความเบิกบานใจมากเลยครับ

-มีโอกาส จะไปเยี่ยมชมดอกบัวที่บ้านของอาจารย์ที่อุบลฯ นะครับ

-ดอกนิโรบล.... ในพจนานุกรมใช้คำว่า "นิโลบล" (นิล(เขียว)+อุบล(ดอกบัว)=นิโลบล) นะครับ ซึ่งเป็นภาษาบาลี แปลว่า "ดอกบัวเขียว" ครับ(เพราะใบสีเขียว....แต่ดอกอาจจะสีอื่นก็ได้)

-ทราบข่าวว่า ที่อุบลฯ ก็น้ำท่วมเช่นกัน ไม่ทราบว่าตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้นหรือยังครับ?

  • ขอบคุณ "ผศ.โสภณ เปียสนิทIco48" มากนะคะ สำหรับกำลังใจ และภาพที่ส่งมาให้ดูแทนความเห็น ราวกับ ท่านจะล่วงรู้ว่า จริงๆ แล้วดิฉันอยากได้ภาพเกี่ยวกับน้ำท่วมในแนวกระทบใจ เพื่อประกอบบันทึก (เพราะเป็นบันทึกที่กล่าวถึงการเผชิญอุทกภัย แต่กลับไม่มีภาพเกี่ยวกับอุทกภัยแม้แต่ภาพเดียว) แต่ไม่ค่อยสะดวกในการสืบค้นภาพเพราะอยู่ที่ฟาร์มจะมีปัญหาการใช้ Internet  การสงเคราะห์ของท่าน ตรงกับความต้องการของผู้รับจริงๆ ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพที่ให้มาเป็นภาพในแนวที่ดิฉันต้องการเสียด้วยซีคะ
  • นึกถึงที่คุณครู K.Paully พยายามไขปริศนาภาพรังนกบนพื้นที่ท่าน ผศ.โสภณ ส่งไปให้เธอ ซึ่งเธอก็ช่างคิดวิเคราะห์และมีจินตนาการอย่างหลากหลายในการอธิบายภาพเสียจริง ทำให้ดิฉันเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำภาพที่ท่านผศ.โสภณส่งไปให้ เพื่อประกอบกิจกรรมการพัฒนาทักษะการคิดให้กับนักศึกษาในภาคเรียนที่ 2/2554 ขออนุญาตและขอบคุณมากนะคะ (ดิฉันเคยจัดกิจกรรมพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ โดยให้นักศึกษาเขียนระบุว่า ตนคิดว่าคนในภาพกำลังพูดว่าอย่างไร ให้เขียนมาให้มากที่สุด)

   

  • ขอบคุณ "ดร.ปฐมพงศ์ ศุภเลิศIco64" มากนะคะ สำหรับปิยวาจาที่ว่า "ยอดเยี่ยมมากครับ" แม้จะเข้าใจความหมายไม่ค่อยกระจ่าง แต่ก็สร้างกำลังใจได้มากทีเดียวค่ะ
  • และดิฉันรู้สึกยินดีมากค่ะ ที่ได้รู้จักผู้ทรงภูมิทางการศึกษา ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับวงวิชาชีพครูอย่างมากมาย 
  • สวัสดีค่ะ "คุณพ่อของน้องพอเพียงIco48"
  • ดีใจมากค่ะ ที่ภาพดอกบัวสร้างความเบิกบานใจให้กับคุณอักขณิศได้ ในบรรดาดอกไม้ทั้งหลายดิฉันเองชอบดอกบัวมากที่สุด เพราะดูดอกบัวแล้วรู้สึกสงบเย็น ค่ะ
  • ขอบคุณจริงๆ ค่ะ ที่คุณอักขณิศแนะนำว่า "นิโรบล" คำเขียนที่ถูกต้องคือ "นิโลบล" พร้อมแสดงให้เห็นถึงคำที่นำมาสนธิกันและอธิบายความหมายไว้ด้วย จริงๆ แล้วดิฉันเองก็เคยเห็นคำว่า "นิโลบล และ นิลุบล" มาก่อน แต่ตอนที่เข้าไปสืบค้นข้อมูลใน Internet โดยพิมพ์คำค้นว่า "Water Lilly" คำอธิบายเขียนเป็น "นิโรบล" ดิฉันก็ไม่ได้เฉลียวใจและไม่ได้ตรวจสอบกับพจนานุกรม เพราะเขียนบันทึกตอนอยู่ที่ฟาร์มค่ะ พอฟังคำอธิบายของคุณอักขณิช ซึ่งเป็นเวลาที่ดิฉันได้เข้ามาอยู่ในเมืองแล้ว ดิฉันจึงได้เปิดพจนานุกรมดูประกอบ ได้ข้อมูลว่า นิลุบล นิโลตบล และนิโลบล เป็นสิ่งเดียวกันกับบัวขาบ (ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของบัวผัน บัวเผื่อน) แต่พจนานุกรมไม่ได้ให้รายละเอียดชัดเจนอย่างที่คุณอักขณิชได้ช่วยอธิบาย การช่วยแก้ไขสิ่งที่ผิดโดยกัลยาณมิตรเช่นนี้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าจริงๆค่ะ
  • ดอกบัวที่ฟาร์มไอดินฯ จะรอต้อนรับการมาเยือนของคุณอักขณิชค่ะ
  • ตอนที่ดิฉันขับรถเข้าฟาร์ม โดยขับไปทางสะพานเสรีประชาธิปไตย เห็นครอบครัวที่สร้างบ้านอยู่ริมแม่น้ำมูล ต้องมาใช้ชีวิตในเต๊นท์ที่ตั้งอยู่ตามขอบถนนเต็มไปหมด แต่ก็ยังไม่เห็นน้ำเข้ามาใกล้ถนน แตวันนี้ขากลับเข้าเมืองเห็นน้ำเอ่อมาจ่อขอบถนนแล้วค่ะ ไม่ทราบต่อไปจะท่วมถนนหรือเปล่า   

       

สวัสดีค่ะ

  • เข้ามาอ่านบันทึกเพราะชอบชื่อเรื่องและคิดว่าน่าจะมีข้อคิดสำหรับการนำไปสอนลูกๆที่อยู่ที่กรุงเทพฯได้
  • เข้ามาแล้วไม่ผิดหวังนอกจากได้จากเนื้อหาสาระ ยังมีดอกบัวต่างๆของชอบที่สุดแต่ตนเองเคยซื้อมาปลูกแล้วมันมีแต่ใบเยอะมาก  ดอกน้อยไปหน่อย
  • ขอบคุณมากค่ะ

ดีจังค่ะทั้งข้อคิดและภาพดอกไม้น้ำสวยงาม

จะทุกข์ใจไปใยเล่า ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป อย่างมีคุณค่านะคะ

  • ขอบพระคุณ "ท่านนงนาท สนธิสุวรรณIco48" มากนะคะ ที่ทำงานหนักในการช่วยเหลือผุ้ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีน้ำใจและอุตส่าห์สละเวลามาให้กำลังใจกับดิฉันอย่างต่อเนื่อง ดิฉันซาบซึ้งใจจริงๆ ค่ะ รักษาสุขภาพด้วยนะคะ
  • ขอขอบพระคุณกับกำลังใจที่ท่านมอบให้ว่า "ดีจังค่ะทั้งข้อคิดและภาพดอกไม้น้ำสวยงาม"
  • เป็นกำลังใจได้มากเลยค่ะ กับข้อคิดทีว่า "แม้จะประสบกับปัญหา แต่ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไปอย่างมีคุณค่า"  
  • ดีใจต่อที่ 1 ที่ชื่อเรื่องของบันทึกนี้ จูงใจให้ "คุณ KrusornIco48" เข้ามาอ่าน ค่ะ
  • ดีใจต่อที่ 2 ที่ คุณ Krusorn บอกว่าได้สาระจากการอ่าน
  • และดีใจต่อที่ 3 ที่ดอกบัว เป็นดอกไม้ที่ คุณ Krusorn ชอบที่สุด (เราชอบดอกบัวมากที่สุดเหมือนกันเลยนะคะ) 
  • ดอกบัวที่ คุณ Krusorn ปลูก ได้ใส่ปุ๋ยดอกบ้างหรือเปล่าคะ ปุ๋ยที่ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อแล้วฝังลงไปในดินตรงเหง้าบัวน่ะค่ะ 

เรียนท่าน ผศ.

แวะมาให้กำลังใจครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ หนูประทับใจบันทึกของอาจารย์มากนะคะ...

จากการติดตามข่าว สถานการณ์น้ำท่วม กทม. และเขตพื้นที่ภาคกลางอื่นๆในตอนนี้ก็คลี่คลายลงมากแล้ว..(หนูดีใจเป็นอย่างมากค่ะ ที่พี่น้องชาวไทยผู้เคยประสบเหตุการณ์อันเลวร้าย...กลับมามีความหวังในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง) แต่ในตอนนี้พี่น้องทางภาคใต้ต่างก็ประสบชะตากรรมเหตุการณ์ดินโคลนถล่ม ซึ้งสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน ไม่น้อยไปกว่าเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่เคยเกิดขึ้นเลย...พวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่บนมวลน้ำมหาศาล แต่เขาต้องเผชิญกับภัยจากแผ่นธรณีซึ่งพร้อมที่จะให้โทษได้เสมอ...ถ้าหากเป็นเช่นนี้ แน่นอนว่าพวกเขาจะต้องมีความต้องการกำลังใจและการช่วยเหลือจากพี่น้องชาวไทยด้วยกัน...ในฐานะที่หนูเป็นเพียงนักศึกษาคนหนึ่ง..(แต่จะก้าวไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติไทยของเราแน่ๆค่ะ) ซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้โดยตรง คงได้แต่ส่งข้อความให้กำลังใจทางรายการข่าว บริจาคทรัพย์ตามกำลัง (ที่น้อยนิด..แต่เปี่ยมด้วยความตั้งใจค่ะ) หนูอยากให้อาจารย์ช่วยหาวิธีการ หรือข้อคิดที่เราจะสามารถให้กำลังใจพี่น้องภาคใต้ดังเช่นพี่น้องที่ประสบอุทกภัยในครั้งนี้...ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ..

ก่อนฝันดีค่ะอาจารย์แม่ท่านพี่ฯ

ตอนนี้กำลังลุ้นๆ ขอให้น้องน้ำ อย่าได้มาพิศวาสทางใต้ซ้ำอีกเลยค่ะ สาธุ

ราตรีสวัสดิ์นะคะ

สวัสดียามเช้าค่ะ

สวยงามด้วยดอกบัว ขอบคุณมากค่ะ

มีเรื่องราวประสบการณ์การใช้น้ำมันมะพร้าวหรือเปล่าค่ะ

เตรียมเขียนเป็นหนังสือค่ะ 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท