ศักยภาพการผลิตพืชอาหารสัตว์ในภาคใต้


ศักยภาพการผลิตพืชอาหารสัตว์ในภาคใต้

                          ตามที่กรมปศุสัตว์ได้จัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์ดีในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับกรมฯ มีนโยบายที่จะส่งเสริมการเลี้ยงโคเพื่อการส่งออกในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 การผลิตพืชอาหารสัตว์ซึ่งเป็นอาหารที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงโคเนื้อ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้การเลี้ยงโคประสบผลสำเร็จหากมีความรู้ความเข้าใจในการหาพันธุ์หญ้าและถั่วพืชอาหารสัตว์ที่เหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคใต้ ตลอดจนมีวิธีการจัดการใช้ประโยชน์จากแปลงพืชอาหารสัตว์นั้นให้ได้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี

ศักยภาพการผลิตพืชอาหารสัตว์ในภาคใต

 

                        พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายู ขนาบด้วยทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดียทางฝั่งตะวันตก ส่วนทางฝั่งตะวันออกติดกับทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิค พื้นที่ภาคใต้จึงได้รับอิทธิพลจากทั้งลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน) และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ตั้งแต่เดือนตุลาคม-มกราคม) และลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ (ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม) ซึ่งทำให้เกิดฝนตกตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงเดือนมกราคม และช่วงที่ฝนตกชุกที่สุดจะอยู่ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม สำหรับช่วงที่ฝนตกน้อยที่สุดอยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปีมากกว่า 2,000 มิลลิเมตรต่อไป

                        พืชเศรษฐกิจที่สำคัญในภาคใต้ได้แก่ยางพารา มะพร้าว กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ข้าวและไม้ผล ต่าง ๆ แม้ว่าข้าวจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ผลผลิตยังไม่เพียงพอสำหรับบริโภค ส่วนพืชไร่และพืชผัก ต่าง ๆ มีปลูกกันน้อย เช่นเดียวกันกับการเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น โค กระบือ ก็ยังมีเป็นส่วนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดการถือครองพื้นที่การเกษตร อย่างไรก็ตาม บริเวณพื้นที่ที่น่าจับตามองว่าจะเป็นแหล่งที่จะพัฒนาการเลี้ยงโคได้ดี ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา นราธิวาส พัทลุง สุราษฎร์ธานีและปัตตานี เนื่องจากมีศักยภาพทางด้านพื้นที่และความพร้อมของประชากร หากได้รับการสนับสนุนทางด้านปัจจัยการผลิต เงินทุน อัตรา ดอกเบี้ยและระยะเวลาผ่อนชำระหนี้นานจากรัฐบาล น่าจะทำให้การพัฒนาการเลี้ยงโค-กระบือในภาคใต้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ความต้องการโค-กระบือของตลาดทั้งภายในประเทศและนอกประเทศยังอยู่ในระดับสูง

 

 

                        ภาคใต้ของประเทศไทยมีความเหมาะสมที่จะผลิตพืชอาหารสัตว์เพื่อเลี้ยงโค-กระบือได้ดี ไม่ด้อยกว่าภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยการต่อการเลี้ยงโค- กระบือดังต่อไปนี้

                    1. สภาพภูมิอากาศ เป็นที่ทราบกันดีว่าบริเวณภาคใต้ของไทยมีช่วงเวลาที่ฝนตกนานถึง 8

เดือนและปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยมากกว่า 2,000 มิลลิเมตรต่อปี จึงสามารถปลูกพืชอาหารสัตว์เลี้ยงสัตว์ได้เกือบตลอดทั้งปี ปัญหาการขาดแคลนอาหารหยาบคุณภาพดีในช่วงแล้งจึงพบน้อยกว่าภาคอื่น แต่อาจจะมีปัญหาทางด้านน้ำท่วมขัง จึงควรเลี้ยงสัตว์บริเวณพื้นที่ดอนและหาพันธุ์พืชอาหารสัตว์ที่ทนทานต่อสภาพน้ำขังได้

                      2. การใช้ประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกร เกษตรกรในภาคใต้นิยมปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น อาทิเช่น มะพร้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผลชนิดต่าง ๆ กันอย่างแพร่หลาย ระยะระหว่างต้นจะมีตั้งแต่ 4 x 6 เมตร 6 x 8 เมตร จนถึง 8 x 8 เมตร ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชและความอุดมสมบูรณ์ของดินในช่วงตั้งแต่เริ่มปลูกถึง 7 ปี ขณะที่ไม้ผล ไม้ยืนต้นยังเล็กอยู่ เกษตรกรสามารถใช้พื้นที่ระหว่างแถวของพืชหลักเหล่านี้ปลูกพืชอาหารสัตว์แซมแล้วตัดนำมาเลี้ยงโค-กระบือ นอกจากนี้ในสวนมะพร้าวที่อายุมากกว่า 7 ปี ยังคงมีร่มเงาไม่หนาทึบ สามารถใช้ปลูกพืชอาหารสัตว์บางชนิดที่ทนต่อร่มเงาได้ ซึ่งนอกจากจะมีอาหารหยาบสำหรับเลี้ยงสัตว์เพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืชในสวน และมูลโค-กระบือที่ได้สามารถนำกลับไปใช้เป็นปุ๋ยคอกเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของดินในสวนไม้ผล ไม้ยืนต้นให้ดีขึ้นด้วย

                                ยางพารา มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน นอกจากจะให้ผลผลิตปกติแล้ว ผลพลอยได้จากการแปรรูป เช่น กากเมล็ดยางพารา กากมะพร้าว กากปาล์มน้ำมัน (palm press fiber, palm kernel cake) ยังใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพอีกด้วย

                         3. นโยบายด้านการพัฒนาการปศุสัตว์ในภาคใต้ของรัฐบาล รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านปศุสัตว์ในภาคใต้มากกว่าภาคอื่น ๆ จะเห็นได้จากนโยบายที่ทำให้ภาคใต้เป็นเขตปลอดโรคระบาด ซึ่งจุดนี้ทำให้ภาคใต้ได้เปรียบภาคอื่น ๆ อยู่มาก เนื่องจากสัตว์มีโอกาสเป็นโรคระบาดน้อยลง และสัตว์ที่ปลอดโรคระบาดย่อมเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายสำคัญที่สนับสนุนการพัฒนาด้านปศุสัตว์ในภาคใต้ อาทิเช่น แผนปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร แผนฟื้นฟูการเกษตร และโครงการพัฒนาจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อเกษตรกรทั้งสิ้น

                    4. พืชพรรณตามธรรมชาติ ภาคใต้มีอากาศชุ่มชื้น ฝนตกชุก จึงมีพืชพรรณตามธรรมชาติขึ้นอยู่มากมายหลายชนิด และใช้เป็นแหล่งอาหารเลี้ยงโค-กระบือได้ ซึ่งจะพบพืชอาหารสัตว์พื้นเมืองในสภาพพื้นที่ต่าง ๆ กันดังนี้

                            ก. ในพื้นที่ทุ่งหญ้าธรรมชาติ ป่าสงวน ภูเขา เหมืองร้าง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ดอน

                                    1. หญ้าคา (Imperata cylindrica )

                                    2. หญ้าหนวดเสือ (Heteropogon contortus )

                                    3. หญ้าเจ้าชู้ต้นใหญ่ (Chrysopogon orientalis )

                                    4. หญ้ากลม (Themeda triandra)

                                    5. หญ้าขจรจบดอกเหลือง (Pennisetum setosum )

                            ข. ในพื้นที่ลุ่ม เช่น พื้นที่ชายขอบพรุ ริมหนอง ชายคลอง

                                    1. หญ้าชันกาด (Panicum repens )

                                    2. หญ้าปล้อง (Hymenachne pseudointerrupta )

                                    3. หญ้าข้าวผี (Oryza rufipogon )

                                    4. หญ้าหวาย (Ischarumu aristatum )

                                    5. หญ้าไทร (Leesia hezandra )

                                    6. พืชสกุลกกต่าง ๆ (Cyperus spp.)

                            ค. ในพื้นที่ร่มเงา เช่น ในสภาพสวนยางพารา, สวนมะพร้าว, สวนปาล์ม สวนไม้ผล

                                    1. หญ้าข่มคา (Microstegium citiatum )

                                    2. หญ้าเห็บ (Paspalum conjugatum )

                                    3. หญ้าใบมัน (Axonopus compressus )

                                    4. หญ้าตีนติด (Brachiaria distachya )

                                    5. หญ้าละมาน, ขุยไผ่ขน (Ottochloa nodusa )

                        นอกจากนี้ยังพบพืชอื่น ๆ ขึ้นแซมทั่วไป เช่น ถั่วเกล็ดหอย (Desmodium spp.), ถั่วผี (Phaseolus lathyroides ), ผักโขมหนาม (Amaranthus spinosus ), ชุมเห็ดไทย (Cassia tora ), ถั่วคนทีดิน (Desmodium heterocarpon ) ฯลฯ

                    5. ปัญหาเกี่ยวกับสภาพพื้นดินในภาคใต้ ปัญหาพื้นฐานที่สำคัญเรื่องหนึ่งของภาคใต้ที่เกี่ยว-ข้องกับเกษตรกรรม คือปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของดิน นอกจากจะมีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำโดยธรรมชาติแล้ว ยังมีดินที่มีลักษณะพิเศษที่สร้างปัญหาในการจัดการเรียกว่าดินที่มีปัญหา และที่นับว่าสร้างปัญหาให้กับการเกษตรกรรมที่สำคัญ ๆ มีดังนี้

                                 1. ดินที่มีชั้นดาน

                                2. ดินตื้น ดินมีหินลูกรังปน

                                3. ดินทรายจัด

                                4. ดินเปรี้ยวจัด/ดินเค็ม

                                5. ดินอินทรีย์ (ดินพรุ)

                                6. ดินเหมืองแร่

                        จะเห็นได้ว่าดินที่มีปัญหาดังกล่าวไม่ค่อยเหมาะสมสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ นอกจากจะนำมาพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และทุ่งหญ้าตามธรรมชาติ ส่วนมากให้ผลผลิตและคุณค่าทางอาหารสัตว์อยู่ในเกณฑ์ต่ำ เพื่อให้ได้ทุ่งหญ้าที่มีคุณภาพดีและให้ผลผลิตสูงพอเพียงกับความต้องการของโค-กระบือ จึงควรพิจารณาพืชอาหารสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของภาคใต้

                                  6. พันธุ์พืชอาหารสัตว์ที่เหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่ของภาคใต้

สภาพพื้นที่

พันธุ์พืชอาหารสัตว์

- เขตพื้นที่ราบลุ่ม ดินเนื้อละเอียดหรือเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์ ค่อนข้างต่ำ การระบายน้ำไม่ดี มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน จัดเป็นดินนาที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

- หญ้าพลิแคทูลั่ม หญ้าซีตาเรีย หญ้าขน

- เขตพื้นที่ราบ ดินเนื้อหยาบปานกลางหรือค่อนข้างเป็นทรายหยาบ มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีการระบายน้ำไม่ดี มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน

หญ้าพลิแคทูลั่ม หญ้าซิทาเรีย หญ้าขน หญ้าซิกแนลเลื้อย ถั่วโสนบก

- เขตพื้นที่ลาดชันเล็กน้อยถึงชันปานกลางหรือค่อนข้างเป็นทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีการระบายน้ำดีหรือดีปานกลาง มีการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นและยางพารา

- หญ้ากินนี หญ้ากินนีสีม่วง หญ้าโคไร ถั่วเซนโตรซิมา ถั่วลิสงเถา

- เขตพื้นที่ดินตื้น มีชั้นหินเศษหินหรือศิลาแลง ภายในความลึก 50 ซม. จากผิวดิน มีความลาดชันเล็กน้อยถึงมาก มีการระบายน้ำดีถึงดีปานกลาง

- หญ้าซิกแนลเลื้อย หญ้าซิกแนลนอน หญ้าพลิกแคทูลั่ม ถั่วเวอราโนสไตโล ถั่วแกรมสไตโล กระถิน ถั่วไมยรา

- เขตพื้นที่ลุ่มมีน้ำหรือน้ำทะเลท่วมขังเกือบตลอดปี เป็นดินตม ดินเลนหรือดินอินทรีย์ (ดินพรุ)

- หญ้าขน หญ้าชันกาด

- เขตพื้นที่ดินทรายจัด บางแห่งจะมีชั้นอินทรีย์วัตถุทับถมในระดับ ความลึก 100 ซม. จากผิวดิน พบตามชายหาด มีการระบายน้ำดีเกินไป

- หญ้าซิกแนลเลื้อย หญ้าพลิแคทูลั่ม หญ้าโคโร ถั่วแกรมสไตโล

                   7. การกระจายพันธุ์พืชอาหารสัตว์ไปสู่เกษตรกร มีพันธุ์พืชอาหารสัตว์หลายชนิดที่สามารถปลูกได้เลยด้วยเมล็ด เช่น หญ้าพลิแคทูลั่ม รูซี่ กินนีสีม่วง ถั่วเวอราโนสไตโล ถั่วแกรมสไตโล ถั่วเซนโตรซีมา โสนบก กระถินและไมยรา ซึ่งเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ศูนย์วิจัยอาหารสัตว์ สถานีอาหารสัตว์และสำนักปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอสามารถจัดหามาได้ อาจจะมาจากแหล่งผลิตเมล็ดในภาคอื่นเนื่องจากพื้นที่ภาคใต้มีฤดูกาลที่ไม่แน่ชัด ทำให้การผลิตเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ทำได้ลำบาก

                                พันธุ์พืชอาหารสัตว์ที่ต้องขยายพันธุ์โดยการใช้หน่อพันธุ์ ท่อนพันธุ์ และเหมาะสมที่จะปลูกในสภาพพื้นที่ภาคใต้มีหลายพันธุ์ เช่น หญ้าขน หญ้าซิกแนลเลื้อย หญ้าซีตาเรีย หญ้าโคไร หญ้ากินนี หญ้าเนเปียร์ หญ้าชันกาด ถั่วลิสงเถา เป็นต้น ในการขยายพันธุ์พืชเหล่านี้ สมจิต (2537) ได้เสนอข้อควรดำเนินการดังนี้ คือ

                               1. คัดเลือกพื้นที่เหมาะสมเป็นแหล่งขยายหน่อพันธุ์ ท่อนพันธุ์ โดยพิจารณาดูความอุดม สมบูรณ์ของดิน แหล่งน้ำ และไม่ไกลจากพื้นที่เป้าหมายเพื่อสะดวกในการขนย้ายท่อนพันธุ์ไปปลูก

                                2. คัดเลือกเกษตรกรที่มีศักยภาพสูงและมีคุณสมบัติดี เข้าร่วมโครงการขยายพันธุ์พืชอาหารสัตว์

                                3. มีการเตรียมการล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี

                                4. การปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลและเกษตรกรจะต้องมีความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

                    8. ผลการวิจัยด้านพืชอาหารสัตว์ในภาคใต้ จากการทดลองวิจัยในศูนย์วิจัยอาหารสัตว์นราธิ-วาสและสถานีอาหารสัตว์ในเขตพื้นที่ภาคใต้หลายแห่ง พบว่ามีพันธุ์หญ้าและถั่วหลายพันธุ์ที่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตพืชอาหารสัตว์ได้

                        ตารางที่ 1 จะเห็นได้ว่าในดินชุดบ้านทอน (ดินทราย) พืชอาหารสัตว์ที่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ซึ่งพบว่า หญ้าซิกแนล เฮมิล ซีตาเรีย เนเปียร์ และกินนีธรรมดา ให้ผลผลิตน้ำหนักค่อนข้างดีอยู่ระหว่าง 4,345 - 6,431 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่หญ้าบัฟเฟลและถั่วเซอราโตรเจริญเติบโตได้ไม่ดี ให้ผลผลิตน้ำหนักสด 357 และ 1,056 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ

                        ตารางที่ 2 แสดงให้เห็นว่า ในสภาพดินพรุ หญ้ามอริซัสและหญ้าชันกาด สามารถเจริญเติบโตได้ดีกว่าหญ้าพลิแคทูลั่ม

                                อย่างไรก็ตาม ในสภาพดินชุดบ้านทอนซึ่งเป็นดินทรายจัดว่ามีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และ ดินพรุผลผลิตพืชอาหารสัตว์ที่ได้ยังค่อนข้างต่ำอยู่มาก ดังนั้น การที่จะปลูกพืชอาหารสัตว์ในสภาพดังกล่าว นอกจากจะหาพืชที่สามารถเจริญเติบโตขึ้นได้ดีแล้ว การปรับปรุงดินก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง

                        จากตารางที่ 3 และ 4 จะแสดงให้เห็นว่าในสภาพการปลูกพืชอาหารสัตว์ในสวนมะพร้าวและสวนยางพารา สามารถทำได้โดยจะเห็นได้ว่าในสวนมะพร้าวที่อายุมาก 15 ปี พืชอาหารสัตว์หลายชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ดี (ตารางที่ 3) ในขณะที่ในสวนยางพารามีอายุมาก 20 ปี การเจริญเติบโตของพืชอาหารสัตว์ลดลง (ตารางที่ 4) ทั้งนี้เนื่องมาจากในสวนมะพร้าวที่อายุมากจะมีทรงพุ่มที่โปร่งขึ้น ทำให้การบังเงามีน้อยลงเมื่อมะพร้าวมีอายุมากขึ้น ในขณะที่สวนยางพารามีอายุมากทรงพุ่มจะหนาทึบ มีการบังร่มเงามากขึ้น ทำให้พืชอาหารสัตว์ที่ปลูกภายใต้สวนยางพาราที่อายุมากเจริญเติบโตได้น้อยลง

 

ตารางที่ 1

การเจริญเติบโตของพืชอาหารสัตว์ที่ปลูกในชุดดินบ้านทอน (จ.นราธิวาส)

พันธุ์พืช

ผลผลิตน้ำหนักสด (กก./ไร่)

หญ้าซิกแนล

6,431

หญ้าเฮมิล

5,722

หญ้าซีตาเรีย

6,005

หญ้าเนเปียร์

4,646

หญ้ากินนีธรรมดา

4,345

หญ้าบัฟเฟล

357

ถั่วเซอราโตร

1,056

 

ตารางที่ 2

การเจริญเติบโตของพืชอาหารสัตว์ในสภาพดินพรุ

พันธุ์พืช

ผลผลิตน้ำหนักสด (กก./ไร่)

หญ้ามอริชัส

3,535

หญ้าพลิแคทูลั่ม

1,506

หญ้าชันกาด

2,786

ตารางที่ 3

การเจริญเติบโตของพืชอาหารสัตว์ภายใต้สวนมะพร้าว (น้ำหนักแห้ง กก./ไร่)

พันธุ์พืช

สวนมะพร้าวอายุ 2 ปี

สวนมะพร้าวอายุ 15 ปี

หญ้ารูซี่

1,440

2,084

หญ้ากินนีธรรมดา

1,603

2,000

หญ้าซิกแนลเลื้อย

2,110

1,720

หญ้าโคไร

1,995

1,624

หญ้าใบมัน

304

801

หญ้าตีนติด

1,140

793

หญ้าขุยไผ่ขน

387

681

ถั่วเซนโตรซีมา

737

571

ถั่วเวอราโนสไตโล

292

324

ตารางที่ 4

การเจริญเติบโตของพืชอาหารสัตว์ภายใต้สวนยางพารา (น้ำหนักแห้ง กก./ไร่)

พันธุ์พืช

สวนยางพาราอายุ 2 ปี

สวนยางพาราอายุ 20 ปี

หญ้ารูซี่

4,908

460

หญ้ากินนีธรรมดา

4,607

699

หญ้าซิกแนลเลื้อย

4,187

462

หญ้าโคไร

3,708

697

หญ้าใบมัน

1,156

537

หญ้าตีนติด

2,336

268

หญ้าขุยไผ่ขน

1,836

464

ถั่วเซนโตรซีมา

1,717

267

ถั่วเวอราโนสไตโล

1,017

376

(Egara et.al, 1989)

สาส์นไก่ และข่าวปศุสัตว์ : มีนาคม 2539

ความเป็นไปได้ในการพัฒนาผลิตพืชอาหารสัตว์ในภาคใต้

 
คำสำคัญ (Tags): #kmanw
หมายเลขบันทึก: 465968เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2011 07:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท