หนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน : ...มากกว่ารั้วลวดหนาม เราทำอะไรได้บ้าง ? (สโมสรนิสิตคณะมนุษยศาสตร์ฯ)


ต้องไม่ลืมว่ารั้วลวดหนามนั้นล้วนเป็นรั้วที่พาดผ่านหน้าบ้านของแต่ละครัวเรือนอย่างชัดเจน ดังนั้นทุกครัวเรือนจึงจำต้องก้าวออกมาเป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรมนี้ให้มากที่สุด

ถึงแม้การจัดกิจกรรม ๑ คณะ ๑ หมู่บ้านจะมุ่งให้นิสิตในสังกัดสโมสรนิสิตคณะต่างๆ ได้จัดกิจกรรมในหมู่บ้านรอบมหาวิทยาลัยฯ ก็ตาม  แต่ถ้านิสิตลงพื้นที่เมื่อใด  หากไม่ติดภารกิจอื่นใดจนขยับไม่ได้ ผม หรือแม้แต่ทีมงานก็จะลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์ หรือแต่ร่วมลงแรงกายและแรงคิดในภาคสนามด้วยเสมอ

 

กรณีชุมชนบ้านหนองแข้ ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เป็นพื้นที่ปฏิบัติการเรียนรู้ของสโมสรนิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งกิจกรรมที่ชุมชนปักธงให้มหาวิทยาลัยเข้าไปทำกิจกรรมก็คือการสร้างรั้วลวดหนามรอบหมู่บ้าน และปลูกต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะของชุมชน

ดูเหมือนเป็นกิจกรรมที่แปลกไปจากหมู่บ้านอื่นๆ อยู่มาก เพราะสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่แต่ละครัวเรือนสามารถดำเนินการได้เอง ซึ่งผมเองก็สงสัยในประเด็นนี้อยู่ไม่น้อย

แต่ด้วยแนวคิด “ระยะต้น” ที่ใช้โจทย์อันเป็น “ความต้องการ” ของชุมชนเป็นตัวตั้ง  ผมจึงพยายามที่จะมองข้ามในเรื่องราวเหล่านั้นไป หากแต่พยายามสื่อสารไปยังนิสิตว่าควรต้องทำงานแบบบูรณาการ และทำให้ต่อเนื่อง รวมถึงเน้นการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของชาวบ้านเป็นตัวตั้ง

ถึงกระนั้น  ผมก็ยังอดไม่ได้ที่จะขบคิดในเรื่องดังกล่าวอย่างเงียบๆ ว่ามีความจำเป็นอะไรถึงต้องทำรั้วลวดหนามรอบหมู่บ้าน...ผมพยายามมองและคิดตลอดว่านิสิตจะมีส่วนในการทำงานตั้งแต่ “ต้นน้ำ” อย่างไร...

 


ครับ, ก่อนการปฏิบัติงานจริง  ผมไม่เคยละเลยที่จะปฐมนิเทศนิสิตก่อนเสมอ  ยิ่งคราวนี้ผมตระหนักว่าการทำกิจกรรมในชุมชนนั้น เป็นโจทย์ใหญ่ของนิสิตในสังกัดสโมสรคณะอย่างยิ่ง  ดังนั้นจึงพยายามชี้ให้นิสิตได้เริ่มต้นจากการสร้างความสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมพ่อฮักแม่ฮัก...เริ่มจากการลงพื้นที่พบปะพูดคุย ทำความคุ้นเคยกับชาวบ้าน เรียนรู้บริบทของชุมชนในด้านต่างๆ  รวมไปถึงการร่วมคิดและร่วมวางแผนการทำงานกับชาวบ้านอย่างเป็นขั้นเป็นตอน  เพราะนั่นคือสิ่งที่ผมเชื่อว่าเป็น “กระบวนการ” ขั้นพื้นฐานที่สามารถนำพาไปสู่ความสำเร็จของการทำงานภาคสนามที่นิสิตต้องรู้และตระหนัก

กรณีดังกล่าว  เมื่อผมลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจกรรมของนิสิตที่จัดขึ้น ณ บ้านหนองแข้  ผมจึงพบเจอเรื่องราวในบางประเด็นที่ผมอดไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปแลกเปลี่ยนกับผู้นำของนิสิตที่กำลังทำงานอยู่ตรงนั้น

 

 

หลักๆ ผมชวนคิดชวนคุยว่านอกจากกิจกรรมที่มุ่งสร้างรั้วลวดหนามรอบหมู่บ้านนั้น  ควรมีกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น เช่น  นำพาเด็กและเยาวชนมีมีส่วนร่วมกับกิจกรรมเหล่านี้ให้มากที่สุด  หรือไม่ก็แยกเด็กและเยาวชนไปทำกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้และสานสัมพันธ์ร่วมกัน  โดยอาจมีโจทย์ “รักบ้านเกิด” ปะปนแบบเนียนๆ บ้างก็ได้

เช่นเดียวกับการเสนอแนะให้กระตุ้นชุมชนออกมาทำงานร่วมกัน  เพราะต้องไม่ลืมว่ารั้วลวดหนามนั้นล้วนเป็นรั้วที่พาดผ่านหน้าบ้านของแต่ละครัวเรือนอย่างชัดเจน  ดังนั้นทุกครัวเรือนจึงจำต้องก้าวออกมาเป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรมนี้ให้มากที่สุด  มิใช่ปล่อยให้เป็นภาระของ “นิสิตกับแกนนำชาวบ้าน" หรือแม้แต่เฉพาะ "นิสิตกับพ่อช่างแม่ช่าง” เท่านั้น

ครับ,ทุกอย่างที่พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปนั้น  จริงๆ คือการซ่อนแฝงคำถามแบบสบายๆ ไว้ก็คือ "นอกจากรั้วลวดหนามแล้ว เราทำอะไรได้บ้าง" ?  ซึ่งผมไม่แน่ใจว่านิสิตเข้าใจหรือเปล่าก็ไม่รู้...

 

ครับ,ประเด็นเหล่านั้น ผมยังเชื่อมโยงถึงการฝากแนวคิดให้นิสิตชวนพ่อฮักแม่ฮักออกมาช่วยกันจัดทำรั้วเหล่านั้นร่วมกัน  ตลอดจนการแบ่งกลุ่มนิสิตออกไปสำรวจข้อมูลต่างๆ ของชุมชน  เพื่อเป็นฐานความรู้ที่จะนำมาสังเคราะห์ต่อยอดในกิจกรรมอื่นๆ เฉกเช่นกับการแนะนำให้เข้าไปพบปะพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน  เป็นการเสริมแรงให้ท่านได้หายเหงา และได้บอกกล่าวถึงเรื่องราวในอดีตทั้งในมิติของประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่ภูมิปัญญาที่ก่อร่างสร้างชุมชน  ซึ่งสิ่งเหลานี้สามารถนำมาจัดกระทำเป็นข้อมูล หรือเวทีการสร้างสื่อการเรียนรู้ในท้องถิ่นนั้นๆ ได้ด้วยเหมือนกัน

และนั่นก็ยังรวมถึงการสำรวจ “ฮีตคอง” ในหมู่บ้านว่ามีอะไรบ้าง  ประเพณีทางสังคมมีช่วงใดบ้าง  เพราะสิ่งเหล่านี้นิสิตสามารถนำกลับมาเป็นข้อมูลในการวางระบบกิจกรรมที่จะสานสัมพันธ์เข้าสู่ชุมชนได้ตลอดปี

 

 

ครับ,นั่นคือสิ่งที่ผมได้เสนอแนะ หรือแลกเปลี่ยนกับนิสิตและเจ้าหน้าที่ซึ่งพบปะกันในภาคสนาม...

ส่วนกระบวนการของการทำรั้วลวดหนาม  ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การตัดแต่งเสาไม้  การขุดหลุม จัดเรียงเป็นระบบระเบียบ หรือแม้แต่การเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจว่าเมื่อชาวบ้านไม่จำเป็นต้องควักเงินมาทำรั้วบ้านตัวเองแล้ว ทำอย่างไรล่ะชาวบ้านถึงจะก้าวออกมาจากครัวเรือนตัวเอง เพื่อวางเสาและล้อมรั้วเหล่านั้นด้วยมือตนเอง-สิ่งเหล่านั้นผมมองว่านิสิตและแกนนำชาวบ้านต้องช่วยกันไขปริศนานี้ให้จงได้

แต่ที่แน่ๆ ถึงแม้ผมจะไม่ค่อยชอบรั้วลวดหนามมากนัก แต่ก็สุขใจที่เห็นรั้วแบบนี้เป็นเอกลักษณ์เดียวทั่วทั้งหมู่บ้าน  ที่สำคัญอีกประการก็คือรั้วแบบนี้  ช่วยให้มองทะลุถึงเพื่อนบ้านได้อย่างถ้วนทั่ว  ซึ่งดีกว่ารั้วกำแพงทึบที่ทำจากซีเมนต์เป็นร้อยเท่าพันเท่า...

ยิ่งหากสามารถนำต้นไม้ พันธุ์ไม้มาปลูกแบบ “รั้วกินได้”  ผมคิดว่าน่าสนใจ และพืชผักเหล่านั้น เมื่อโตแตกใบแผ่กิ่งก้านก็จะกลายเป็นรั้วที่มีชีวิต มีมิตรภาพให้เพื่อนบ้านได้มาร่วมเก็บกิน และเก็บใช้ร่วมกัน

 

 

นี่คือความสุขเล็กๆ ที่ผมสัมผัสได้จากการที่นิสิตออกไปเรียนรู้และช่วยเหลือสังคม เฉกเช่นกับปรัชญาและอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่มุ่งให้นิสิตเป็นผู้มี “จิตสำนึกสาธารณะ” ด้วยการตระหนักในบทบาทและหน้าที่ของการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม

 

 

และนี่คือภาพสะท้อนการเรียนรู้ที่ผมได้รับการยืนยันมาจากนิสิตและเจ้าหน้าที่หลังกิจกรรมผ่านพ้นมาได้ในระยะหนึ่ง


          “...๑ คณะ ๑ หมู่บ้าน ก่อให้เกิดสายสัมพันธ์ของพ่อฮัก แม่ฮักและลูกฮัก  ทุกวันนี้ยังไปมาหาสู่กันตามปกติ  มีประเพณีหรือกิจกรรมในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็จะบอกกล่าวให้ลูกฮักและทางคณะไปร่วมกิจกรรมอยู่บ่อยๆ  โดยล่าสุดก็เป็นผ้าป่า...”

           “...ภายหลังกิจกรรมจัดทำรั้วเสร็จสิ้นลง  นิสิตก็ยังลงหมู่บ้านไปทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน  เช่น  ทำความสะอาดถนนหนทางในหมู่บ้าน  พอน้ำท่วมก็รวมกลุ่มกันไปช่วยทำแนวกั้นน้ำ ช่วงเข้าพรรษาก็พากันไปถวายเทียนพรรษาและปัจจัย...”

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 464678เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2011 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

เพิ่งกลับมาจากงาน EDUCA 2011 ที่กรุงเทพฯ นะครับ

ได้มีโอกาสพูดคุยกับนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ด้วยนะครับ

ฝากความคิดถึงไปยังคุณแผ่นดิน จาก ... ครับ

เห็นว่า น้อง ๆ เขาจะประชุมกับคุณแผ่นดินพอดี ;)...

เป็นกิจกรรมที่ยอดเยี่ยมมากครับ

การไปล้อมรั้วให้กับหมู่บ้าน แต่นั่นก็คือการเปิดรั้วของมหาวิทยาลัยไปหาชุมชน ครับ

วันนั้นผมไม่ได้อยู่ในช่วงของกิจกรรม แต่ทว่าแรกเริ่มเดิมทีก็ได้ร่วมคิดร่วมวางแผนกับน้องๆนิสิตกลุ่มนี้อยูอควรครับ

ถึงแม้ว่ารั้วลวดหนามที่น้องๆนิสิตร่วมกันขึงล้อมให้ชาวบ้านจะไม่ได้ลงทุนมากมายเหมือนกำแพงที่คงทน แต่ผมคิดว่าหากสิ่งที่เกิดขึ้น มาจากความต้องการของหมู่บ้าน นั่นก็เป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางจิตใจมหาศาล โดยเฉพาะ พ่อฮัก-แม่ฮัก ของเด็กๆ

อาจจะมีปัญหาทางด้านการบูรณาการของกิจกรรมที่นิสิตพยายามทำแบบเก้ๆกังๆ นั่นก็คือความพยายามที่น่ายกย่องครับ....

 

ขอบคุณทุกท่านที่ไม่ปล่อยให้ชุมชนต้องรู้สึกเขินอายที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัย...

ขอขอบคุณชุมชนที่อุทิศพื้นที่ของท่านให้นิสิตเราได้ใช้ประโยชน์...

ขอบคุณมากครับ...

สวัสดีครับ อ.โสภณ เปียสนิท

เห็นภาพนี้แล้ว คิดถึงช้วงชีวิตที่ผมต้องต้อนวัวออกไปเลี้ยงที่ทุ่ง หรือแม้แต่ริมเขื่อน และโคกท้ายหมู่บ้านจังเลยครับ  บางวันสนุก ตื่นเต้น  บางวันรู้สึกเหนื่อยและไม่อยากไปจริงๆ ยิ่งบางทีวันไหนเกิดวัวหาย ยิ่งวิตกกังวลนานาประการ..

แต่อวันนี้ นึกย้อนกลับไปอีกรอบ กลับเต็มไปด้วยความสุข และเห็นชัดว่าหลายอย่างของอดีต บ่มเพาะภูมิคุ้มกันให้ตัวเองได้อย่างมาก

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.วัสฯ ...Wasawat Deemarn

ตกลงฝากความคิดถึงมากับใครน้อ  ผมยังไม่ได้รับเลย (55)
จะว่าไปแล้ว คิดถึงโรงเรียนแห่งความสุขน่าดูเลยนะครับ

สวัสดีครับ คุณบีเวอร์

ตอนนี้ก็เริ่มจะมีการถอดบทเรียนเป็นระยะๆ...เน้นเชิงบุคคลก่อน
ในอนาคตอันใกล้จะจัดเวทีการถอดบทเรียนเกี่ยวกับโครงการนี้อย่างเป็นรูปธรรม  ทั้งนิสิตละชาวบ้าน  เพื่อเป็นชุดความรู้ในการขับเคลื่อนต่อไป  เพราะโดยส่วนตัวแล้ว คิดว่ากิจกรรมเหล่านี้จะยังต้องมีต่อไป แต่อาจจะขับเคลื่อนไปในรูปของการบริการวิชาการแก่สังคมให้มากขึ้น หรือแม้แต่เน้นไปในเรื่องการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมฯ ...

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ ขุนแผ่นดินเย็น

ขอบคุณที่ช่วยเป็นส่วนหนึ่งกับเรื่องเหล่านี้นะครับ

เป็นประโยชน์มากครับสำหรับมุมมองเหล่านี้ "การไปล้อมรั้วให้กับหมู่บ้าน แต่นั่นก็คือการเปิดรั้วของมหาวิทยาลัยไปหาชุมชน"...

หรือแม้แต่ "ถึงแม้ว่ารั้วลวดหนามที่น้องๆนิสิตร่วมกันขึงล้อมให้ชาวบ้านจะไม่ได้ลงทุนมากมายเหมือนกำแพงที่คงทน แต่ผมคิดว่าหากสิ่งที่เกิดขึ้น มาจากความต้องการของหมู่บ้าน นั่นก็เป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางจิตใจมหาศาล โดยเฉพาะ พ่อฮัก-แม่ฮัก ของเด็กๆ..."

ผมมองว่าหากมีการขับเคลื่อนครั้งต่อไป มีการถอดบทเรียนที่ดี เน้นตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม มีกระบวนการติดตามที่ต่อเนื่อง  เตรียมคนให้พร้อมก่อนลงสู่ชุมชน  ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีสู่การได้มาซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ขอบคุณครับ

รั้วแบบนี้  ช่วยให้มองทะลุถึงเพื่อนบ้านได้อย่างถ้วนทั่ว  ซึ่งดีกว่ารั้วกำแพงทึบที่ทำจากซีเมนต์เป็นร้อยเท่าพันเท่า...

เป็นมุมมองที่แยบคายดีจังคะ..เห็นด้วยว่าถ้าปลูกต้นไม้เลื้อย ผักกินได้ ก็จะลดความหยาบกระด้างของลวดหนามไปได้ด้วย

..

แต่แอบคิดในใจ ถ้าไม่มีรั้วจะเป็นอย่างไร ทำไมต้องมีรั้วกั้น ??

 

เรียนท่านอาจารย์

  • พี่ติดตามกิจกรรมของอาจารย์มาตลอดนะคะ ชื่นชมมากๆ ดูแล้วมีความสุขค่ะ
  • ขอให้มีความสุขกับการทำงานนะคะ
  • สุขสันต์วันหยุดค่ะ

แผ่นดินไทย ยังมีโอกาสฟื้นฟู เพราะมีคนทำงานอย่างอาจารย์ คนที่ทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ที่จะออกไปเป็นพลังให้แผ่นดินต่อไป ให้ทำงานด้วยหัวใจและสมองควบคู่กันไป

น้ำท่วมครั้งใหญ่นี้เราได้เห็นสิ่งดีๆมากมาย จิตอาสาของผู้คน แต่เมือมองให้ลึก มองให้ชัด พี่ได้เห็นบางมุมที่คนไปช่วยเหลือต้องคิดมากๆ การช่วยแบบสังคมสงเคราะห์แม้ยังต้องมีอยู่แต่ไม่ควรเป็นแค่มิติเดียวของการทำงานกับชุมชน หรือ ทำงานกับคนมีทุกข์ ประสบภัยนะคะ

  • หากเราล้อมรั้วด้วย..มิตรไมตรีและความรัก มิใช่ลวดหนาม คงมั่นคงแข็งแรงยิ่งกว่า
  • ขอบคุณมากๆเลยนะคะ ที่แวะไปเยี่ยมและถ่ายทอดการร่วมแรงกายใจอันดีนี้..
  •  การล้อมรั้วลวดหนาม  ทำทั้งหมู่บ้าน  ก็สวยงามดีค่ะ  แต่ละบ้านยังพูดคุยผ่านร้ัวได้  แต่ถ้าทำเป็นรั้วกินได้  ยิ่งดีมาก  เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของแต่ละบ้าน  แต่ละด้านปลูกไม่ซ้ำกัน  เช่นตำลึง  อัญชัน  มะระป่า ฯลฯ  แล้วก็มีการแลกเปลี่ยนกัน เพิ่มความสัมพันธ์ที่แนบแน่น   ยิ่งขึ้น 
  • มหาวิทยาลัยสร้างนิสิตนักศึกษา ที่มีจิตอาสารับใช้สังคม ทำงานเพื่อส่วนรวม เท่ากับปลูกฝังให้เขาเป็นคนมีคุณภาพ  เยี่ยมมากค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท