ตักบาตรเทโวโรหณะมหาปวารณาออกพรรษา จังหวัดเชียงราย


ตักบาตรเทโวโรหณะมหาปวารณาออกพรรษา จังหวัดเชียงราย

    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2554  เทศบาลนครเชียงราย  ร่วมกับพุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งพระสงฆ์   385 รูป เนื่องในวันเทโวโรหณะมหาปวารณาออกพรรษาในณ บริเวณเชิงบันไดวัดดอยงำเมืองไปจนถึงสี่แยกศาลจังหวัดเชียงราย     

       เทศบาลนครเชียงราย ได้ร่วมกับคณะสงฆ์ในจังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรมการตักบาตรเทโวโรหณะขึ้น และในปีนี้วันปวารณาออกพรรษาคือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2554 ในการนี้เทศบาลนครเชียงราย ได้เชิญชวนหัวหน้าส่วนราชการทุกภาคส่วน ภาคเอกชน รวมถึงคณะศรัทธาพี่น้องประชาชนชาวพุทธศาสนิกชนร่วมกันทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแด่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร จำนวน 385 รูป โดยจัดสถานที่ประกอบพิธี ณ บริเวณเชิงบันไดวัดดอยงำเมือง โดยมีกำหนดการ ดังนี้
    เวลา 06.00 น.- ร่วมถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร จำนวน 385 รูป

     เวลา 06.30 น. - เริ่มพิธีทางศาสนา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเทศบาลนครเชียงราย

    เวลา 06.39 น. - พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ออกรับบิณฑบาต ตั้งแต่เชิงบันไดวัดดอยงำเมือง ผ่านถนนงำเมือง ถนนธนาลัย ถึงสี่แยกศาลจังหวัดเชียงราย

           วันตักบาตรเทโวหมายถึง วันทำบุญตักบาตรในเทศกาลวันออกพรรษา ตามความเชื่อของพุทธศาสนิชน ว่าเป็นวันที่เสด็จลงจากสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์หลังจากเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดา ความเป็นมา เทโว ย่อมาจากคำว่า เทโวโรหนะ ซึ่งแปลว่า การหยั่งลงจาก เทวโลก หมายถึง การเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้า ตามตำนาน กล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงเทศนาโปรดประชาชนในแคว้นต่าง ๆ ของอินเดียตอนเหนือ ตั้งแต่ เมืองราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองสาวัตถี ตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นบิตุภูมิของพระองค์ ทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติทั้งหลายถ้วนหน้า แล้วทรงปรารถนาจะสนองพระคุณมารดา ซึ่งหลังประสูติพระองค์ ได้ ๗ วัน ก็สิ้นพระขนม์ และได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ฉะนั้นในพรรษาที่ ๗ หลังจากตรัสรู้พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่ง ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จึงเสด็จลงจาก สวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาประทับที่เมืองสังกัสสะประชาชนพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น การตักบาตรเทโวนี้ บางวัดทำในวันออกพรรษา คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ บางวัดก็ทำในวันรุ่งขึ้น คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ทั้งนี้ แล้วแต่ความตกลงร่วมใจทั้งทางวัดและทางบ้าน พิธีที่ทำนั้นทางวัดอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบก ซึ่งตั้ง อยู่บนล้อเลื่อนหรือคานหาม มีบาตรขนาดใหญ่ใบหนึ่งตั้งไว้หน้าพระพุทธรูป มีคน ลากล้อเลื่อนไปช้า ๆ นำหน้าพระสงฆ์ สามเณร ซึ่งถือบาตรเดินเรียงไปตามลำดับ พุทธศาสนิกชนต่างก็นำข้าว อาหารหวานคาว มาเรียงรายกันอยู่เป็นแถวตามแนวทางที่รถบุษบกเคลื่อนผ่าน คอยตักบาตร อาหารที่นิยมตักในวันนั้น นอกจากข้าวและอาหารคาวหวาน ธรรมดาแล้วก็จะมีข้าวต้มลูกโยนด้วย ซึ่งบางท่านสันนิษฐานว่าในครั้งนั้นผู้คนรอใส่บาตรกันแออัดมาก เข้าไม่ถึงพระ จึงใช้ข้าวก่อ หรือปั้นโยนลงบาตร ประเพณีการตักบาตรเทโวนี้ เนื่องมาจากการเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อมีเหตุการณ์อะไรปรากฏในตำนาน ก็จะปรารภเหตุนั้นๆ เพื่อบำเพ็ญบุญกุศลเช่นการถวายทาน รักษาศีล เป็นต้น ตักบาตรเทโวจึงเป็นการทำบุญอย่างมโหฬารของพุทธศาสนิกชน นับแต่นั้นมา
การตักบาตร
การตักบาตร คือ การถวายอาหารแด่พระภิกษุสามเณร รูปเดียวหรือหลายรูป จะปฏิบัติเป็นประจำหรือเป็นครั้งคราวก็ได้ วัตถุประสงค์ของการตักบาตร นอกจากจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการให้ทานเพื่อบูชาคุณแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เฉพาะดังนี้
๑. ธำรงส่งเสริมและสืบทอดพระพุทธศาสนา
๒. ส่งเสริมและบำรุงพระภิกษุสามเณร ผู้ทรงศีล ทรงธรรม
๓. ส่งเสริมคุณความดีของผู้ปฏิบัติ ทั้งผู้ตักบาตรและพระภิกษุสามเณรผู้รับบิณฑบาตร การตักบาตรจึงเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติ เพราะเป็นการให้กำลังแก่พระภิกษุสามเณรได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ประพฤติปฎิบัติธรรมตามพระธรรมวินัย และสั่งสอนประชาชนเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรสืบไป ทั้งนี้จะเป็นผลดีแก่ผู้ปฏิบัติด้วยเพราะทำให้เป็นผู้มีใจบุญกุศลและเป็นการส่งเสริมผุ้ทรงคุณธรรม ประวัติการทำบุญตักบาตร การทำบุญตักบาตรนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงผนวชใหม่ๆ ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงประทับที่สวนมะม่วง พระองค์เสด็จบิณฑบาตผ่านกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ ชาวเมืองเห็นพระมาบิณฑบาตก็ชวนกันนำอาหารมาตักบาตรเป็นครั้งแรก นับแต่นั้นมา การตักบาตรจึงถือเป็นประเพณีมาจนบัดนี้ และเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ควงไม้เกด มีพ่อค้า ๒ คน นำข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับเดินทางเข้าไปถวาย พระพุทธองค์ทรงรับไว้ด้วยบาตร นี่ก็เป็นที่มาของการตักบาตรทางพระพุทธศาสนาด้วยประการหนึ่ง บาตรเป็นภาชนะจำเป็นของพระภิกษุจะขาดเสียมิได้ นับเข้าในจำนวนบริขารอย่างหนึ่งในบริขาร ๘ ตามปกติพระจะไปอยู่ที่ใดต้องมีบาตรประจำตัวไปด้วย และการออกบิณฑบาตก้ออกในเวลาเช้าตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าองค์ทรงบำเพ็ญเป็นพุทธกิจประจำวัน
 
    โดยปกติ พระภิกษุสามเณรจะเดินเรียงลำดับอาวุโสไปบิณฑบาตตามละแวกบ้าน เมื่อถึงหมู่บ้านที่ชาวบ้านกำลังรออยู่ ก็จะยืนเรียงเป็นแถว แต่ในกรุงเทพฯ หรือในบางจังหวัด พระภิกษุสามเณรมักไปตามลำพัง ไม่ได้เดินเรียงแถว ทั้งนี้เพราะพระภิกษุสามเณรในกรุงเทพฯ มีเป็นจำนวนมากจึงไม่สะดวกที่จะเดินเรียงแถวกันไป และผู้ที่จะนำอาหารมาตักบาตรได้ไม่ครบทุกรูป เมื่อพระภิกษุสามเณรต้องออกบิณฑบาตตอนเช้าทุกวัน ชาวบ้านก็ตักบาตรทุกวัน แต่บางคนตักบาตรเฉพาะในรอบวันเกิดประจำปี และมักจะตักบาตรพระจำนวนเท่าอายุหรือเกินกว่าอายุ ถ้าเป็นวันสำคัญทางศาสนาก็มักจะพากันไปทำบุญตักบาตรที่วัด แต่บางคราวเช่นในเทศกาลปีใหม่ และตรุษสงกรานต์ จะมีการชุมนุมตามที่ที่กำหนดไว้ เช่น สนามหลวง พุทธมณฑล ในโรงเรียน ในสถาบัน หรือ ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งแล้วแต่จะนัดหมายกัน นอกจากนี้ยังมีการตักบาตรที่มีชื่อเฉพาะอีก เช่น ตักบาตรเทโว ตักบาตรข้าวสาร ตักบาตรดอกไม้ธูปเทียน เป็นต้น
 
วิธีปฏิบัติในการตักบาตร
โดยปกติ พระภิกษุสามเณรจะเดินเรียงลำดับอาวุโสไปบิณฑบาตตามละแวกบ้าน เมื่อถึงหมู่บ้านที่ชาวบ้านกำลังรออยู่ ก็จะยืนเรียงเป็นแถว แต่ในกรุงเทพฯ หรือในบางจังหวัด พระภิกษุสามเณรมักไปตามลำพัง ไม่ได้เดินเรียงแถว ทั้งนี้เพราะพระภิกษุสามเณรในกรุงเทพฯ มีเป็นจำนวนมากจึงไม่สะดวกที่จะเดินเรียงแถวกันไป และผู้ที่จะนำอาหารมาตักบาตรได้ไม่ครบทุกรูป การตักบาตรเป็นสังฆทาน คือการถวายโดยไม่เจาะจง จึงควรตั้งใจว่าจะทำบุญตักบาตรแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรในพระพุทธศาสนาโดเยไม่เจาะจงว่าเป็นรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อพระภิกษุสามเณรรูปใดผ่านมาก็ตั้งใจตักบาตรแก่พระภิกษุสามเณรรูปนั้นและรูปอื่นๆ ไปตามลำดับโดยปฏิบัติดังต่อไปนี้
 ๑. จัดเตรียมอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะใส่ภาชนะเรียบร้อย มากหรือน้อยตามความต้องการ
๒. นำอาหารที่เตรียมไว้ไปคอยตักบาตร ก่อนที่จะตักบาตรควรตั้งจิตถวายด้วยศรัทธาและความเคารพ ตั้งความปรารถนา เพื่อทำกิเลสให้ลดน้อยลงจนถึงหมดสิ้นไป
๓. ขณะที่ตักบาตร ควรอยู่ในอาการสำรวมและเคารพ
๔. เมื่อตักบาตรเสร็จแล้ว ควรแสดงความเคารพด้วยการไหว้
๕. หลังจากตักบาตร ควรอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษหรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล คำอธิษฐาน ในการตักบาตรจะใช้ภาษาบาลีหรือภาษาไทยหรือใช้ทั้งสองภาษาก็ได้ ดังนี้ สุทินนัง วะตะเม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ” ถอดความว่า ทานของเราให้แล้วด้วยดี ขอจิตข้านี้จงสิ้นอาสวกิเลสเทอญ” คำกรวดน้ำ แบบย่อ “อิทัง เม ญาตินัง โหตุ “ถอดความว่า “ขอส่วนแห่งบุญกุศล จงสัมฤทธิ์ผลแก่ญาติข้าดั่งตั้งใจ “

หมายเลขบันทึก: 464676เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2011 20:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 10:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การให้ทาน เป็นการทำบุญ เป็นการสร้างบารมี ส่วนศีล ภาวนา เป็นการสร้างบารมีทีสูงขึ้นไปอีก

แต่มนุษย์มุ่งถนัดจะทำแต่ทาน ต่อไปมีทรัพย์สมบัติมาก ร่างกายไม่แข็งแรง ขาดสติปัญญา

ถ้าถนัดแต่เพียงถือศีล ผลบุญที่ได้เพียงร่างกายแข็งแรงไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ แต่ขาดทุนทรัพย์ ไม่มีอุปกรณ์เครื่องใช้ย่อมลำบากการอยู่ในโลกนี้

ไม่ภาวนา ไม่สติปัญญา

ครั้นถนัดแต่เพียงภาวนาอย่างเดียว ได้ผลบุญด้วยเปี่ยมล้น ด้วยสติปัญญาอำนวยให้ พบหนทาง วิมุติ หลุดพ้นทุกข์ แต่เป็นไปด้วยความยากลำบากนานาประการ ในการปฏิบัติย่อมไม่เป็นผลดี เพราะขาดกายที่สมบูรณ์ ขาดสถานที่อำนวยให้สัปปายะ ขาดศีลซึ่งเป็นบาทฐานสำคัญของการทำสมาธ และวิปัสสนา ย่อมไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางต้องเนิ่นช้าออกไปอีก

ฉะนั้น ท่านจึงสั่งสอนให้ทำให้ครบทั้ง ทาน ศีล ภาวนา เพื่อให้ได้ครบถ้วน ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีทรัพย์สินเลี้ยงชีพ มีสติปัญญาดี

และใครทำได้ผลแค่ไหน สามารถรู้ได้ที่จิตใจของตน ไม่ต้องให้คนอื่นมาบอกเหมือนทางโลกที่คนอื่นมายกย่องให้เราเก่ง ให้เราเป็นหัวหน้า

ให้เราเป็นแชมป์

ส่วนทีเด็ดในการทำแต่ละอย่างว่าให้ได้ผลสูงสุดให้ศึกษาจากสุดยอดลิ้งค์ข้างล่าง

ซึ่งรวบรวมเรื่องรายละเอียดการทำบุญ การสร้างบารมีทุกชนิดไว้ครบถ้วนที่สุดที่เคยพบเห็น

.........................................................................................................................................................

ขอนำเสนอข้อมูล เรื่องทาน ศีล ภาวนา อย่างกว้าง ดังนี้

ตัดตอนมาอีกที

การให้ธรรมทานแม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ "อภัยทาน" แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้อภัยทานก็คือ "การไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่นแม้แต่ศัตรู" ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน เพราะเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อ "ละโทสะกิเลส" และเป็นการเจริญ "เมตตาพรหมวิหารธรรม" อันเป็นพรหมวิหารข้อหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น อันพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นคุณธรรมที่เป็นองค์ธรรมของโยคีบุคคลที่บำเพ็ญฌานและวิปัสสนา ผู้ที่ทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ย่อมเป็นผู้ทรงฌาน ซึ่งเมื่อเมตตาพรหมวิหารธรรมได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อใด ก็ย่อมละเสียได้ซึ่ง "พยาบาท" ผู้นั้นจึงจะสามารถให้อภัยทานได้ การให้อภัยทานจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยากเย็น จึงจัดเป็นทานที่สูงกว่าการให้ทานทั้งปวง

อย่างไรก็ดี การให้อภัยทานแม้จะมากเพียงใด แม้จะชนะการให้ทานอื่น ๆ ทั้งมวล ผลบุญนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า "ฝ่ายศีล" เพราะเป็นการบำเพ็ญบารมีคนละขั้นต่างกัน

การรักษาศีลเป็นการเพียรพยายามเพื่อระงับโทษทางกายและวาจา อันเป็นเพียงกิเลสหยาบมิให้กำเริบขึ้น และเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงขึ้นกว่าการให้ทาน

การที่ได้บวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แล้ว รักษาศีล ๑๐ ไม่ให้ขาด ไม่ด่างพร้อย แม้จะนานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาที่มี ศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม

ฉะนั้นในฝ่ายศีลแล้ว การที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาได้บุญบารมีมากที่สุดเพราะเป็นเนกขัมบารมีในบารมี ๑๐ ทัศ ซึ่งเป็นการออกจากกามเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติธรรมขั้นสูง ๆ คือการภาวนาเพื่อมรรค ผล นิพพาน ต่อ ๆ ไป ผลของการรักษาศีลนั้นมีมาก ซึ่งจะยังประโยชน์สุขให้แก่ผู้นั้นทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เมื่อได้ละอัตภาพนี้ไปแล้วย่อมส่งผลให้ได้บังเกิดในเทวโลก ๖ ชั้น ซึ่งล้วนแต่ความละเอียดประณีตของศีลที่รักษาและที่บำเพ็ญมา ครั้นเมื่อสิ้นบุญในเทวโลกแล้ว ด้วยเศษของบุญที่ยังคงหลงเหลืออยู่แต่เพียงเล็กๆน้อยๆหากไม่มีอกุลกรรมอื่นมาให้ผล ก็อาจจะน้อมนำให้ได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ที่ถึงพร้อมด้วยสมบัติ ๔ ประการ เช่น อานิสงส์ของการรักษา ศีล ๕ กล่าวคือ

อานิสงส์ของศีล ๕ มีดังกล่าวข้างต้น สำหรับศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ก็ย่อมมีอานิสงส์เพิ่มพูนมากยิ่ง ๆ ขึ้นตามระดับและประเภทของศีลที่รักษา แต่ศีลนั้นแม้นจะมีอานิสงส์เพียงไรก็ยังเป็นแต่เพียงการบำเพ็ญบุญบารมีในชั้นกลาง ๆ ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะเป็นแต่เพียงระเบียบหรือกติกาที่จะรักษากายและวาจาให้สงบ ไม่ให้ก่อให้เกิดทุกข์โทษขึ้นทางกายและวาจาเท่านั้น ส่วนทางจิตใจนั้นศีลยังไม่สามารถที่จะควบคุมหรือทำให้สะอาดบริสุทธิ์ได้

ฉะนั้น การรักษาศีลจึงยังได้บุญน้อยกว่าการภาวนา เพราะการภาวนานั้น เป็นการรักษาใจ รักษาจิต และซักฟอกจิตให้เบาบางหรือจนหมดกิเลสคือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง อันเป็นเครื่องร้อยรัดให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสงสารวัฏ การภาวนาจึงเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงสุด ประเสริฐที่สุด ได้บุญมากที่สุดเป็นกรรมดีอันยิ่งใหญ่เรียกว่า "มหัคคตกรรม" อันเป็นมหัคคตกุศล

การเจริญภาวนานั้น เป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นแก่นแท้และสูงกว่าฝ่ายศีลมากนัก การเจริญภาวนานั้น

มี ๒ อย่างคือ "สมถภาวนา (การทำสมาธิ)"และ "วิปัสสนาภาวนา (การเจริญปัญญา)"

เหตุใดไม่เร่งขวนขวายสร้างสมบุญบารมีที่เป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐ์ ซึ่งจะติดตามตัวไปได้ในชาติหน้า แม้หากว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่มีจริงดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ อย่างเลวพวกเราก็เพียงเสมอตัว มิได้ขาดทุนแต่อย่างใด หากสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนเอาไว้ว่ามีจริงดั่งที่ปราชญ์ในอดีตกาลยอมรับ แล้วเราท่านทั้งหลายไม่สร้างสมบุญและความดีไว้ สร้างสมแต่ความชั่วและบาปกรรมตามติดตัวไป เราท่านทั้งหลายไม่ขาดทุนหรอกหรือ เวลาในชีวิตของเราที่ควรจะได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ เมื่อเวลาหมดไปเท่ากับเสียเปล่า หรือเรียกว่าโมฆะ คือเสียหมดมาแต่ต้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท