คุณอำนวยในงานโครงการครุวิจัย


ฟังอย่างลึกซึ้งและทำตนเสมือนถ้วยที่ว่างเปล่า อยากรู้อยากเห็น และซักถามด้วยคำถามเชิงบวก สร้างสรรค์

  

      ในช่วงเย็นของวันที่ 21 สิงหาคม 2549 มีนัดเข้าร่วมประชุมคุณอำนวย เพื่อซักซ้อมก่อนร่วมงานการประชุมวิชาการ สกว. ปี 2549  ที่กำหนดขึ้นในวันที่ 24-26 สิงหาคม 2549 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยมีเป้าหมาย คือเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีการประชุมวิชาการ ผลงานของ สกว. และเกิดความเข้าใจกระบวนการทำงานของ สกว.             

      ในวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2549 เป็นการประชุมวิชาการ ครุวิจัย ซึ่งแนวทางการประชุมเน้นการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมโดยผู้เข้าร่วมคือ นักวิจัยในโครงการครุวิจัย ครู ผู้บริหาร นักการศึกษา ประมาณ 300 คนกำหนดการที่สำคัญคือ

ช่วงเช้า  การเสวนา ครุวิจัยจากแนวคิดสู่การปฏิบัติ”                             

ช่วงบ่าย ปาฐกถาพิเศษ โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี และเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ : แนวทางการสร้างครู เรียนรู้ผ่าน ครุวิจัยดำเนินรายการโดยคุณปรีดา เรืองวิชาธร จากเสมสิขลาลัย  

ดังนั้น ในช่วงเย็นจ๊ะจ๋าและพี่ สคส. รวมทั้ง สกว. จำนวน 20 กว่าชีวิตได้ซักซ้อมการเป็นคุณอำนวยในงานวันเสาร์ที่จะถึงนี้ โดยคุณคุณปรีดา เรืองวิชาธร จากเสมสิขลาลัย  ก่อนจะเริ่มกระบวนการซึ่งมีเวลาแค่ 2 ชั่วโมง  รศ.สุชาตา ชินะจิตร เข้ามาร่วมการซักซ้อมครั้งนี้....แหมเป็นการซักซ้อมที่เข้มข้นและสร้างความเข้าใจมากขึ้น  ท่านเริ่มเล่าเรื่องที่ไปที่มาของโครงการฯ ว่า โครงการครุวิจัย เป็นรูปแบบหนึ่งของงานวิจัยในการเรียนรู้ ให้ครูได้ร่วมงานวิจัยกับทีมนักวิทยาศาสตร์ เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปสร้างแรงบันดาลใจและกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน ในโครงการนี้ครูจะได้เรียนรู้เชิงลึกในหัวข้อที่ครูจะนำไปใช้ในการเผยแพร่ในโรงเรียนและสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียน ผลงานที่ได้สามารถนำไปใช้เสริมสร้างความก้าวหน้าในอาชีพครูต่อไปได้ และในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้นำครู 100 คนไปอยู่ในศูนย์วิจัยพี่เลี้ยง คือ

  1.  ศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ จ.กาญจนบุรี
  2.  ศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว กรมทรัพยากรธรณี จ. กาฬสิทธุ์
  3. โครงการบัณฑิตศึกษาวิทยาการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

      เพื่อผลิตผลงานวิจัย และเมื่อเกิดการเรียนรู้งานวิจัยจะได้ประโยชน์ไปใช้ในการเรียนการสอนด้วย การประชุมครั้งนี้มีโจทย์ 3 ข้อที่คุณอำนวยจากสกว. 20 กว่าชีวิตต้องไขความลับออกมาจากครูผู้ที่ได้รับ คือ

  1.  สิ่งที่ได้เรียนรู้ (1 เดือน)?
  2. สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้อย่างไร?
  3.  จากประสบการณ์ที่ได้ มีข้อเสนอแนะต่อ สกว. ?

     และแล้วคุณปรีดา เรืองวิชาธร ก็เริ่มกระบวนการซักซ้อม จริง.......แล้วคือการระดมความคิดช่วยออกแบบกระบวนการต่างๆ และการใช้เทคนิคสร้างบรรยากาศให้ผู้ร่วมมีความรู้สึกอิสระ  ปลอดภัย ไม่บีบคั้น เพื่อให้ผู้เล่าเรื่องมีความรู้สึกผ่อนคลายและเล่าได้อย่างลื่นไหล เริ่มด้วยการตรวจสอบกันก่อนเปรียบได้กับคำว่า 

          Check in นั่นคือ การทำความรู้จักระหว่างกัน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ดีของการสร้างบรรยากาศ และในการแนะนำตัวมีเคล็ดลับนิดหน่อย ให้บอกชื่อเล่นจะทำให้สร้างบรรยากาศของความคุ้นเคยกันและมีความเป็นกันเองมากขึ้น ไม่ต้องบอกตำแหน่งที่ตนมี ปลดปล่อยโซ่ตรวน เป็นการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และเป็นสิ่งที่สำคัญในการดึงความรู้คะ

          เปิดใจ  คุณอำนวยต้องเปิดใจในการรับฟังรวมถึงผู้เข้าร่วมด้วย  ฟังอย่างตั้งใจ ปฏิบัติตนเสมือนถ้วยที่ว่างเปล่าถึงแม้เราจะมีความรู้ในสิ่งนั้นๆ แต่ในแง่มุมหนึ่ง ผู้เล่าอาจจะมีมุมมองที่ต่างจากเรา การทำให้รู้สึกว่า...ไม่รู้ และอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการ กลุ่มเป้าหมายคือ ครู 100 คนนี้ ได้แบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม และอยู่ที่การบริหารจัดการของคุณอำนวยใน 10 กลุ่มนี้จะออกแบบกระบวนการต่อไปอย่างไร อาจแบ่งเป็นกลุ่มย่อย 2 วง เพื่อให้ได้พูดคุยกัน หรือ เป็นวงใหญ่เลย และสิ่งที่ได้จากการเล่าเรื่อง จะต้องนำเสนอในกลุ่มใหญ่ 100 คน  สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการซักซ้อมคือ ทักษะที่จำเป็น

  1. การสังเกตกลุ่ม หรือ การอ่านกลุ่ม
  2. การสร้างบรรยากาศ
  3. การฟังอย่างลึกซึ้ง การจับประเด็น
  4. การเชื่อมโยงประเด็น ขึ้นกับวิธีคิด  Facilitator 
  5. วิธีคิด   โดยวิธีคิดของ facilitator อาจมีหลายแบบ หรือ หลายลักษณะ อาทิเช่น

                 1) เข้าถึงความจริงตามที่เป็นจริง

                 2) ง่ายต่อการแก้ปัญหา

                 3) ช่วยให้ออกจากกรอบพื้นที่ความคิดเดิม ไม่ตกร่องความคิดเดิม

การไปให้ถึงธงหรือ เข็มทิศ

  1. การหาความสนใจร่วม
  2. การแยกแยะองค์ประกอบของแต่ละคนที่ร่วมในวง อาทิเช่น  จากโจทย์ ข้อ 1 
  •  พฤติกรรม
  •  วิธีคิด-ความคิด-ความเชื่อ ทัศนคติ
  • วิถีชีวิต/ความเป็นอยู่ความคุ้นเคยเดิมเปลี่ยน
  • ความมั่นคงทางจิตใจ
  • ทักษะบางอย่าง การพูดการ ฟังการจับประเด็น
  •  ความสัมพันธ์ของตัวเองกับผู้อื่น ต่อชุมชน ต่อสังคม 

     จ๊ะจ๋าคิดว่าเป็นการระดมความคิดด้วยการให้ทุกคนมีส่วนร่วม และใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่ามาก เพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้นเองแต่สามารถสกัดความรู้และเป็นประโยชน์อย่างมากในการนำไปปฏิบัติงาน ด้วยบรรยากาศของความเป็นมิตรและเปิดใจ กลั่นกรองผ่านความคิดและไม่ยึดติดกรอบเดิม มีความคิดสร้างสรรค์ ออกมาเป็นเนื้อหาสาระที่นำไปใช้จริงได้ และอาจปรับใช้ตามสภาวะแวดล้อมของแต่ละคน ตามบริบทของตน  

หมายเลขบันทึก: 46458เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2006 10:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท