ครั้งแรกที่จันทบุรีกับมิตรภาพในหลักสูตร Note Taker ของโรงพยาบาลพระปกเกล้า ตอนที่ ๓


ตอนที่ ๒

          วันแรกของ Workshop ผู้เข้าร่วมจากโรงพยาบาลพระปกเกล้า มากันอย่างพร้อมเพรียง เราเริ่มกระบวนการเรียนรู้ด้วยการให้ผู้เข้าร่วมได้รู้จักกันมากขึ้น โดยให้จับคู่ ๒ คน วาดรูปใบหน้าของคู่ตัวเองลงในกระดาษรูปหัวใจ แล้วให้เปลี่ยนคู่ เพื่อสอบถามความคาดหวังของคู่ตัวเอง ซึ่งบรรยากาศค่อนข้างผ่อนคลายสบายๆ มีเสียงหัวเราะของผู้เข้าร่วมดังเป็นระยะ โดยผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่คาดหวังจะมาเสริมทักษะการจดบันทึก และการจับประเด็น รองลงมา คือ การได้เพื่อนใหม่และได้พักผ่อน

          กิจกรรมถัดมา เป็นกิจกรรมฝึกทักษะสำคัญของการเป็น “คุณลิขิต” หรือ Note Taker คือ การฟังและการจับประเด็นจากสิ่งที่ได้ยิน โดยพยายามที่จะไม่นำประสบการณ์เดิมหรือความคิดของตัวเองเข้ามาตัดสินสิ่งที่ได้ยิน ผู้ที่ทำหน้าที่ Note Taker โดยเฉพาะการบันทึกเรื่องเล่าหรือ Storytelling ที่มีความรู้ฝังลึก หรือ Tacit Knowledge อยู่ หากฟังโดยไม่ได้ยิน ไม่เข้าใจหรือไม่เข้าไปในใจ จะไม่สามารถบันทึกเรื่องเล่าอย่างที่ผู้เล่าต้องการสื่อออกมาได้จริง การสื่อสารที่ว่านี้ อาจไม่ใช่เพียงแค่คำพูด แต่รวมถึงภาษาท่าทาง การสะท้อนผ่านทางแววตา น้ำเสียง...

          เมื่อได้ฝึกทักษะการฟังอย่างมีสติรู้ตัวแล้ว ทักษะอีกอย่างหนึ่งที่ให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกฝน คือ การรับฟังกันและกัน โดยเฉพาะความฟังสิ่งที่แตกต่างจากความคิดความเชื่อของตนเอง

          สำหรับในช่วงบ่าย ผู้เข้าร่วมได้ฝึกทักษะการคิดเชื่อมโยง โดยให้แบ่งกลุ่มย่อย และเลือกสิ่งของกลุ่มละ ๑ ชิ้น แล้วให้สมาชิกในกลุ่มได้ช่วยกันมองและพิจารณาสิ่งของที่ได้ว่า สิ่งของที่เห็นนี้ สามารถคิดหรือเชื่อมโยงไปถึงอะไรได้อีกบ้าง การฝึกทักษะนี้ จะทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ที่ซับซ้อนจากการฟังเรื่องเล่าได้เข้าใจง่ายมากขึ้น

          กิจกรรมถัดมา เป็นการเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องของ Tacit Knowledge ผ่านกิจกรรมกลุ่มและลงมือปฏิบัติจริง กิจกรรมนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจและรู้จัก Tacit Knowledge มากขึ้น เห็นความแตกต่างของความรู้ ๒ ประเภท คือ Tacit Knowledge และ Explicit Knowledge หาก Note Taker ไม่สามารถเข้าใจในความรู้ทั้ง ๒ ประเภท ก็จะไม่สามารถบันทึก Tacit Knowledge จากเรื่องเล่าได้

          หลังจากที่เราได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ที่สำคัญของ Note Taker มาตลอดทั้งวันแล้ว เราก็เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ไปชื่นชมทะเลที่หาดแหลมสิงห์เพื่อผ่อนคลายกันบ้าง แม้ฝนจะยังตกปรอยๆ แต่ก็ทำให้บรรยากาศชายทะเลหน้าฝนดูแปลกตาไปจากทะเลหน้าร้อนไปบ้าง

          ส่วนช่วงกลางคืน เป็นการเรียนรู้ Human KM ผ่าน Best Practice โรงพยาบาลบ้านตาก เมื่อชมวีดิทัศน์เรื่องนี้แล้ว ก็เปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้สะท้อนการเรียนรู้ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ประทับใจกับวีดิทัศน์เรื่องนี้มาก เพราะบริบทอาจจะใกล้เคียงกันกับโรงพยาบาลพระปกเกล้า ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจ KM มากยิ่งขึ้น

         ...คืนนี้ ทีม สคส. นอนหลับพักผ่อนอย่างมีความสุข เพราะมีเสียงเพลงจากคาราโอเกะของกลุ่มผู้เข้าร่วมคลอไปตลอดทั้งคืน...

          (ติดตามตอนต่อไป)

หญิง สคส.

คำสำคัญ (Tags): #สคส. Note Taker
หมายเลขบันทึก: 463815เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2011 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หากฟังโดยไม่ได้ยิน ไม่เข้าใจหรือไม่เข้าไปในใจ จะไม่สามารถบันทึกเรื่องเล่าอย่างที่ผู้เล่าต้องการสื่อออกมาได้จริง การสื่อสารที่ว่านี้ อาจไม่ใช่เพียงแค่คำพูด แต่รวมถึงภาษาท่าทาง การสะท้อนผ่านทางแววตา น้ำเสียง.

เป็นสิ่งที่ต้องใช้ทักษะ บวกกับสติอย่างมาก

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท