ครั้งแรกที่จันทบุรีกับมิตรภาพในหลักสูตร Note Taker ของโรงพยาบาลพระปกเกล้า ตอนที่ ๒


การพูดคุยกับทีมประสานงานบนโต๊ะอาหารเย็น ทำให้คืนนั้น เราได้นำข้อมูลที่ได้รับจากทีมประสานงาน มาปรับกระบวนการที่เราเตรียมไว้แล้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์กับโรงพยาบาลพระปกเกล้ามากขึ้น

ตอนที่ ๑

          เมื่อถึงวันเดินทาง คือ วันที่ ๒๑ กันยายน ทีม สคส. ต้องเดินทางไปล่วงหน้า เนื่องจากระยะทางจาก กรุงเทพฯ – จันทบุรี ใช้เวลาขับรถประมาณ ๔ ชั่วโมง

          ระหว่างเดินทาง เราไม่เหงา เพราะเรามีฝน (ตก) ไปเป็นเพื่อนตลอดทาง จนถึงโรงพยาบาลพระปกเกล้า รถตู้ที่มารับเรา แวะไปรับทีมประสานงานของโรงพยาบาลพระปกเกล้า ซึ่งมี พี่ปุ๊ก พี่หมู และน้องวิ เป็นการพบเจอกันเป็นครั้งแรก แต่พวกเราสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว ด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ดียิ่ง

          จากโรงพยาบาลพระปกเกล้า เราต้องเดินทางต่อไปอีกราวครึ่งชั่วโมง เพื่อไปถึงแหลมสิงห์ เนเชอรัล บีช รีสอร์ท สถานที่จัดงานในครั้งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเล ปากน้ำแหลมสิงห์

          พี่สมศักดิ์ สารถีรถตู้ เมื่อรู้ว่าเราไม่เคยมาจันทบุรี เลยขับอ้อมไปเล็กน้อย เพื่อให้เราได้ชื่นชม “ตึกแดง” และ “คุกขี้ไก่” อนุสรณ์แห่งความหลังที่ฝรั่งเศสสร้างและทิ้งไว้ให้เราดูต่างหน้า เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยของทีมผู้จัดที่ต้องการให้เราได้ประทับใจกับจังหวัดจันทบุรี

          เมื่อไปถึงแหลมสิงห์ เนเชอรัล บีช รีสอร์ท ฝนยังต้องตกปรอยๆ พอให้เราได้ชื่นใจ แหลมสิงห์ เนเชอรัล บีช รีสอร์ท เป็นรีสอร์ททำเลดีด้านหลังติดทะเล เป็นรีสอร์ทเปิดใหม่ สวยงาม สะอาด ที่สำคัญไม่พลุกพล่าน ดูเงียบสงบ เหมาะแก่การมาพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง

          เราเข้าไปดูห้องสัมมนากันก่อนว่าเป็นอย่างไร ห้องสัมมนานี้ เป็นห้องประชุมห้องเดียวของรีสอร์ท แต่ขนาดก็ใหญ่พอสมควร เราขอให้เจ้าหน้าที่รีสอร์ทได้จัดห้องให้เหมาะสมกับจำนวนผู้เข้าร่วม ซึ่งเดิมทีกำหนดไว้ว่า ไม่เกิน ๓๐ คน แต่เมื่อไปเห็นการจัดห้อง โดยเราขอให้จัดตามแบบ สคส. Model คือ ปูผ้าที่พื้นและมีเก้าอี้ล้อมรอบพร้อมหมอนหนุนเท่ากับจำนวนผู้เข้าร่วม และเราก็เหลือบไปเห็นด้านหลังของห้องที่มีโต๊ะอยู่ ๒ แถวๆ แรกจำนวน ๖-๗ ที่นั่ง แถวหลังอีกจำนวน ๖-๗ ที่นั่ง

          สอบถามทีมประสานงานของโรงพยาบาลพระปกเกล้า ได้ความว่า จัดไว้สำหรับผู้สังเกตการณ์รวมทีมประสานงานด้วย เราตกใจ ไม่คิดว่า จะมีผู้สังเกตการณ์เป็นสิบคนเช่นนี้ เลยหารือกับทีมประสานงานว่า หากไม่นับรวมทีมประสานงาน เหลือผู้สังเกตการณ์กี่คน ได้คำตอบว่าประมาณ ๘-๙ คน

          เราเลยตัดสินใจขอให้ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมวงเรียนรู้ด้วยเลย ทีมประสานงานสุดแสนดีใจ เพราะมีบุคลากรของโรงพยาบาลพระปกเกล้า ได้เข้าร่วมเรียนรู้จำนวนมากขึ้น แม้ทีมประสานงานจะบอกว่า เกรงใจ สคส. เพราะเห็นกำหนดมาว่า ผู้เข้าร่วมไม่ควรเกิน ๓๐ คน

          เมื่อดูแลเรื่องการจัดห้องเรียบร้อยแล้ว ทีมประสานงามก็พาเราไปรับประทานอาหารเย็นที่ร้านเสม็ดแดง ซึ่งต้องนั่งรถข้ามเกาะไปอีกฟากฝั่งหนึ่ง แต่บรรยากาศดีมาก ติดปากน้ำแหลมสิงห์ น่าเสียดายที่กล้องแบตเตอรี่หมดเสียก่อน เลยไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ชม

          อาหารทะเลสดๆ ราคาไม่แพง รสชาติดี แม้จะไม่จัดจ้านมากก็ตาม เรากินกันไป พูดคุยกันไป ทั้งเรื่องทั่วไป และเรื่องงาน

          การพูดคุยกับทีมประสานงานบนโต๊ะอาหารเย็น ทำให้คืนนั้น เราได้นำข้อมูลที่ได้รับจากทีมประสานงาน มาปรับกระบวนการที่เราเตรียมไว้แล้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์กับโรงพยาบาลพระปกเกล้ามากขึ้น

          (ติดตามตอนต่อไป)

หญิง สคส.

คำสำคัญ (Tags): #Note Taker สคส.
หมายเลขบันทึก: 462692เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2011 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จัดตามแบบ สคส. Model คือ ปูผ้าที่พื้นและมีเก้าอี้ล้อมรอบพร้อมหมอนหนุนเท่ากับจำนวนผู้เข้าร่วม 

หมอนหนุน เพื่อให้บรรยากาศผ่อนคลาย หรือเปล่าคะ :-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท